ปมสงครามญี่ปุ่นบุกเกาหลี ภูมิหลังอิงเรื่องจริงใน Kingdom สู่ภัย “ซอมบี้” ที่ถูกเติม

(ซ้าย) โปสเตอร์ซีรีส์ Kingdom ภาพจาก Facebook / Netflix (ขวา) ภาพคลิปตัวอย่างซีรีส์ Kingdom Season 2 จาก YouTube/ Netflix

การส่งออกวัฒนธรรมจากเกาหลี (ใต้) ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา ระหว่างปี ค.ศ. 2019-2020 ก็ปรากฏสื่อร่วมสมัยจากเกาหลีที่ได้รับความนิยมมากมาย ผลงานซึ่งถูกพูดถึงมากที่สุดอีกชิ้นคือซีรีส์ Kingdom ซีรีส์แฟนตาซีย้อนยุคเล่าความวุ่นวายอันเกิดจากโรคระบาดปริศนาที่ทำให้ผู้คนในแผ่นดินเกาหลีสมัยราชวงศ์โชซอนกลายเป็น “ซอมบี้”

แน่นอนว่าบุคคลในเรื่องเป็นตัวละครสมมติเสียเป็นส่วนใหญ่ วิกฤตในโครงเรื่องก็เป็นจินตนาการจากผู้เขียนคอมิกเช่นกัน จากนั้นเรื่องราวถูกดัดแปลงมาเป็นซีรีส์เผยแพร่ทางสตรีมมิง Netflix และได้รับความนิยมอย่างมาก

แม้องค์ประกอบส่วนใหญ่จะเป็นการขีดเขียนขึ้นจากจินตนาการ แต่มีองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่อ้างอิงมาจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดยฉากหลังของเรื่องนี้มีปมบางส่วนที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์สงครามครั้งใหญ่ที่เกาหลีตั้งรับการรุกรานของญี่ปุ่นเริ่มจากปี ค.ศ. 1592 (พ.ศ. 2135) ไปสิ้นสุดปี ค.ศ. 1598 (พ.ศ. 2141) เรื่องราวที่เกิดขึ้นซีรีส์ในสมัยราชวงศ์โชซอนบอกเล่าเหตุการณ์ภายหลังผ่านสงครามครั้งใหญ่นี้เอง

****บทความเปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของซีรีส์****

ภูมิหลังสงคราม(แบบย่อ)

ในสมัยราชวงศ์โชซอน ช่วงเวลาหนึ่ง เกาหลีต้องรับมือการรุกรานของญี่ปุ่น การรุกรานครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1592 สมัยพระเจ้าซอนโจ (Seonjo) กษัตริย์ลำดับที่ 14 ของราชวงศ์โชซอน

ด้านฝั่งญี่ปุ่น การปกครองดินแดนอาทิตย์อุทัยเวลานั้นยังอยู่ที่ไดเมียว มิใช่โชกุน ไดเมียวอันเป็นตำแหน่งเจ้าเมืองที่มีอำนาจสูงสุดเวลานั้นคือ โตโยโตมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi) ตามพงศาวดารญี่ปุ่น ในเวลานั้นฮิเดโยชิ มั่นใจว่าตนเองเป็นใหญ่ทั้งราชอาณาจักรโดยปราศจากผู้ขัดขวางแล้ว จึงเตรียมการยกทัพไปปราบประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงตามความนิยมในสมัยนั้น

จากการศึกษาของนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ ฮิเดโยชิ ขึ้นมามีอำนาจในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1590 โดยรวบรวมดินแดนต่างๆ เข้ามาอยู่ใต้การปกครองได้สำเร็จ ขณะที่เนื้อหาใจความพงศาวดารญี่ปุ่น ฉบับฮีโช ไซโต และอลิซาเบธ ลี (ชาวญี่ปุ่นเขียนร่วมกับชาวต่างชาติ) เล่าว่า เมื่อฮิเดโยชิ ตกลงจะยกทัพไปปราบประเทศใกล้เคียงจึงชักชวนให้กษัตริย์เกาหลีเตรียมทัพไว้ช่วยและจะให้เป็นผู้นำทางเข้าสู่จีน แต่กษัตริย์เกาหลีปฏิเสธ และพอใจให้จีนเป็นใหญ่มากกว่าญี่ปุ่น เป็นเหตุให้เกาหลีกลายเป็นเป้าหมายของญี่ปุ่นในการรุกรานและปราบให้ราบคาบ

ในแง่เหตุผลของการเข้าโจมตี วิเชียร อินทะสี อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า ญี่ปุ่นยื่นข้อเรียกร้องให้เกาหลีเปิดประเทศเพื่อค้าขาย และยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านเพื่อไปโจมตีจีน แต่เกาหลีปฏิเสธ ฮิเดโยชิ จึงส่งกองทัพรุกรานเกาหลีในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1592 จนเกิดเป็นสงครามที่เรียกกันว่า สงครามอิมจิน (Imjin War)

ยุทโธปกรณ์-กองทัพแต่ละฝ่ายโดยคร่าว

ญี่ปุ่นในเวลานั้นมีอาวุธ “ปืนไฟ” ที่ได้มาจากโปรตุเกส ในช่วงที่อิทธิพลของตะวันตกเข้ามาถึงญี่ปุ่นก่อน ขณะที่ปืนใหญ่ของเกาหลียังไม่สามารถปรับปรุงให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการรบบนแผ่นดิน ส่วนปืนขนาดเล็กของญี่ปุ่นกลับเป็นอีกหนึ่งอาวุธที่ทำให้ได้เปรียบในการรบบนแผ่นดินและเข้ายึดครองดินแดน แต่กล่าวโดยรวมได้ว่า ญี่ปุ่นได้เปรียบในการรบบนผืนดิน ขณะที่เกาหลีคุมสนามรบทางทะเลได้เหนือกว่า

พงศาวดารญี่ปุ่น ระบุว่า ฮิเดโยชิ บัญชาการและคุมทัพหนุนอยู่ที่นาโงยา แม่ทัพของกองทัพที่ยกไปตีเกาหลีคือ โคนิชิ ยุกินะงะ และคะโต คิโยะมะซะ ซึ่งมีฉายาว่า “พยัคฆ์หนุ่ม” (The Young Tiger) ส่วนฝั่งเกาหลีเรียกเขาว่า “แม่ทัพปีศาจ” สืบเนื่องจากความโหดร้ายของเขา พงศาวดารญี่ปุ่นเล่าต่อไปว่า การรุกรานระลอกแรก “ทหารญี่ปุ่นเข้าหักหาญศัตรูได้ง่ายประดุจดัง ‘หักไม้ไผ่’ 20 วันภายหลังที่ยกขึ้นเหยียบดินแดนเกาหลีก็รุกเข้ายึดพระนครคือกรุงโซลได้”

การรุกรานครั้งที่ 1 

ช่วงต้นของสงคราม ญี่ปุ่นได้เปรียบและเป็นฝ่ายเหนือกว่าในการรบทางบก นักประวัติศาสตร์ชี้ว่า ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1592 กองทัพญี่ปุ่น 150,000 นาย ยกพลเหยียบปูซาน (Busan) ภายในเวลาแค่ 3 สัปดาห์ กองทัพญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยนักดาบสามารถยึดครองโซลและหลายเมืองในโชซอน

ขณะที่กองทัพญี่ปุ่นกำลังเคลื่อนพลไปทางเหนือของเกาหลี ทัพญี่ปุ่นเคลื่อนพลได้ช้าเนื่องจากต้องห่วงเรื่องการขนส่งเสบียงซึ่งเสียงต่อการถูกโจมตีจากกองกำลังฝ่ายเกาหลีที่เริ่มรวมตัวกันติด ประกอบด้วยกลุ่มเจ้าของดินแดน, ขุนนาง และพระนักรบ

ยุทธการหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากสำหรับเกาหลีคือ กองทัพเรือของอี ซุนชิน เมื่อปี ค.ศ. 1592 ภายหลังจากญี่ปุ่นเข้ามายึดเปียงยางไว้ได้ ทัพญี่ปุ่นหวังข้ามแม่น้ำยาลู (Yalu) และใช้น่านน้ำฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรเกาหลีเพื่อลำเลียงเครื่องใช้ทางการทหารที่จำเป็นสำหรับการทำสงครามยึดครองดินแดน แต่อี ซุนชิน ผู้บัญชาการกองทัพเรือฝั่งซ้าย ในเขตชอลลา สามารถทำลายเรือขนส่งเสบียงของญี่ปุ่นไว้ได้จนทำให้ญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนแผนการบุกทะลวงไปถึงจีนมาเป็นสยบเกาหลีก่อน

วีรกรรมของอี ซุนชิน ในการรบทางทะเลตลอดช่วงปี ค.ศ. 1592 เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้กองทัพเรือญี่ปุ่นเสียหายอย่างมาก ทั้งที่กองทัพญี่ปุ่นมีเรือมากกว่า แต่ถูกกองเรือเกาหลีถล่มยับเยิน มีรายงานหลายแห่งบันทึกว่า กองเรือเกาหลีไม่สูญเสียเรือในการรบที่อ่าว Okpo เลย

ในการรบทางทะเลครั้งนี้เกาหลีมีสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “เรือรบเต่า” (turtle ship) เป็นเรือที่ถูกดัดแปลงขึ้นจากแบบของเรือเดินสมุทรในศตวรรษที่ 15 เชื่อกันว่า เรือถูกพัฒนาให้สามารถป้องกันธนูจากศัตรูด้วยการติดตั้งแผ่นเหล็กโค้ง พร้อมติดตั้งเหล็กแหลมยื่นออกมาทำให้ข้าศึกบุกขึ้นเรือได้ยาก เรือยังติดตั้งปืนใหญ่รอบด้านสามารถยิงโจมตีได้ทุกทิศ มี 2 ใบเรือ

เชื่อกันว่า เรือเต่าเป็นเรือรบซึ่งเคลื่อนที่ได้รวดเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออก แม้ว่าเรือชนิดนี้มีจำนวนไม่มากนัก แต่มันมีประสิทธิภาพมากในการโจมตีสร้างความปั่นป่วนให้ฝ่ายตรงข้าม เชื่อกันว่า กองเรือของแม่ทัพอี ทำลายเรือรบญี่ปุ่นจำนวนมาก บางแห่งบอกกันว่า เรือรบญี่ปุ่นที่ถูกทำลายมีถึงหลายร้อยลำภายในปี ค.ศ. 1592

สงครามครั้งนั้น พงศาวดารญี่ปุ่นบันทึกไว้ว่า จักรพรรดิจีนให้แม่ทัพคุมทัพมาช่วยเหลือเกาหลีด้วย พงศาวดารและนักวิชาการบอกตรงกันว่า กษัตริย์เกาหลีขอความช่วยเหลือจากจักรพรรดิจีน เวลานั้นตรงกับราชวงศ์หมิง สมัยกษัตริย์ว่านลี่ (Wanli) จักรพรรดิจีนส่งทัพมาช่วยกษัตริย์เกาหลี เนื่องด้วยสถานะมหาอำนาจในเวลานั้น จีนจึงจำเป็นต้องปกป้องดินแดนที่อยู่ภายใต้ปีกของตัวเอง และอีกส่วนคือจีนน่าจะหวังป้องกันการรุกรานของญี่ปุ่นตั้งแต่ที่เกาหลีก่อนที่จะลามมาถึงจีน ซึ่งการรบของฝั่งหมิง-โชซอนมีทั้งที่ได้ชัยและพ่ายแพ้ แต่โดยรวมแล้วทัพจากจีนที่ยกมาช่วยเกาหลีมีผลต่อการรุกรานครั้งแรกอย่างมาก

ท้ายที่สุด โคนิชิ และคะโต จำเป็นต้องถอยทัพชั่วคราวเนื่องจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องเสบียงที่ได้รับความเสียหายจากการโจมตีของจีน และเรื่องการข่มขู่จากจีน เมื่อพิจารณาว่าเป็นฝ่ายตกอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมกว่า ญี่ปุ่นจึงเริ่มถอยทัพ หลังจากนั้นฝ่ายจีนได้จัดทูตไปเจรจาสัญญาสันติ แต่การเจรจาเป็นไปอย่างยากลำบากและซับซ้อน ทูตของแต่ละฝ่ายต่างสื่อสารไปถึงเจ้านายแต่ละฝ่ายไม่สอดคล้องตามสถานการณ์

ตัวแทนเจรจาของฮิเดโยชิ แจ้งว่าฝ่ายจีนต้องการสันติและเตรียมยอมรับฮิเดโยชิ เป็นจักรพรรดิ แต่ฮิเดโยชิ ยื่นข้อเสนอไปว่า ต้องการทำสัญญาในฐานะที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะ พร้อมระบุข้อเรียกร้องว่า ให้เจ้าหญิงจีนถูกส่งตัวมาอภิเษกสมรสกับจักรพรรดิญี่ปุ่น ดินแดนทางตอนใต้ของโชซอนต้องตกเป็นของญี่ปุ่น และเปิดการค้าระหว่างจีนกับญี่ปุ่นกลับมาเป็นปกติ และสุดท้ายคือเจ้าชายเกาหลีต้องถูกส่งตัวมาที่ญี่ปุ่นพร้อมกับข้าราชการชั้นสูงจำนวนหนึ่งในฐานะองค์ประกัน

พงศาวดารฝั่งญี่ปุ่น อธิบายเหตุต่อมาว่า “ทูตฝ่ายจีนหาได้เสนอข้อความสัญญานี้ไปกราบทูลให้จักรพรรดิของตนทรงทราบไม่ ฝ่ายข้างจีนมิทันใดก็ส่งคณะทูตอีกสำรับหนึ่งมาตั้งให้ฮิเดะโยะชิเป็นพระราชาธิราชญี่ปุ่นขึ้นภายในความคุ้มครองของจีน พอฮิเดะโยะชิทราบความประสงค์ของทูตเหล่านี้ก็มีความโกรธแค้น จัดแจงเตรียมทัพไปรบกับจีนและเกาหลีอีก”

การสงครามเมื่อปี ค.ศ. 1592 ในรัชศกวั่นลี่ของจีน มีบันทึกในเอกสารจีนว่า “หลังจากที่ญี่ปุ่นเข้าไปตีเกาหลีได้ สยามแอบเสนอจีนอย่างลับๆ ว่าจะส่งกองทัพไปบุกญี่ปุ่นเพื่อเป็นกำลังเสริมให้จีน ฉือฉิง เสนาบดีกระทรวงกลาโหมคิดที่จะรับข้อเสนอนี้ไว้ แต่ข้าหลวงใหญ่มณฑลกวางตุ้งกวางสีชื่อเชียวเยี่ยนไม่เห็นด้วย เรื่องเลยตกไป” 

อ่านการสืบค้นหลักฐานเกี่ยวกับบทบาทของสยามในสงครามครั้งนั้นจากบทความ “จริงหรือที่พระนเรศวรฯ เคยคิดยกทัพบุกญี่ปุ่น : ส่องข้อมูลจาก คิมุระ คานาโกะ” (คลิกอ่านบทความที่นี่)

การรุกรานครั้งที่ 2 

พงศาวดารญี่ปุ่นระบุว่า ในปี ค.ศ. 1596 (พ.ศ. 2139) ฮิเดโยชิ บุกโจมตีเกาหลีเป็นครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นยึดดินแดนเกาหลีทางตอนใต้ และยังเคลื่อนไปถึงตอนกลางใกล้กับเมืองฮันยาง (Hanyang) เมืองหลวงของเกาหลีในเวลานั้น (บันทึกจากฝั่งตะวันตกบอกว่า การรบกลับมาปะทุขึ้นในปี ค.ศ. 1597)

ก่อนการโจมตีเกาหลีครั้งที่ 2 ฝ่ายเกาหลีมีปัญหาภายในราชสำนัก แม่ทัพอี ซุนชิน ถูกปลดและถูกคุมขังโดยราชสำนักเกาหลี ผู้ที่ขึ้นทำหน้าที่แทนคือวอน กุน ก็พ่ายแพ้การรบในยุทธการที่ Chilcheollyang กองทัพญี่ปุ่นรุกคืบเข้ามาเรื่อยๆ ฝ่ายเกาหลีที่เริ่มเข้าตาจนต้องคืนตำแหน่งให้แม่ทัพอี ซุนชิน

แต่ช่วงเวลานั้นเกาหลีเหลือเรือรบเพียง 12 ลำ (บางแห่งบอกว่า 13 ลำ) อย่างไรก็ตาม แม่ทัพอี สร้างความเสียหายให้ทัพเรือญี่ปุ่นอีกครั้งในการรบยุทธการ Myeongnyang ปี ค.ศ. 1597 ซึ่งเกาหลีได้ชัยอย่างงดงาม และถือเป็นการรบทางเรือครั้งใหญ่อีกครั้งของเกาหลี เชื่อกันว่า ญี่ปุ่นเสียเรือให้ทัพเกาหลีไม่ต่ำกว่าร้อยลำในการรบครั้งนั้น แต่บางแห่งระบุว่า ญี่ปุ่นสูญเสียเรือ 30 ลำ เสียหายหนักอีก 30 ลำ แต่หากนับรวมเรือสนับสนุนที่ไม่ใช่เรือรบแล้ว จำนวนเรือที่ญี่ปุ่นสูญเสียน่าจะถึงหลักร้อย

ขณะที่การรบทางบกคราวนี้ ญี่ปุ่นก็พบว่า ฝั่งเกาหลีที่ได้ความช่วยเหลือจากราชวงศ์หมิงก็เตรียมพร้อมมาดี แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายสร้างความเสียหายให้เกาหลีในการยุทธที่ภูเขาอุลซัน (Ulsan) ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1598 หลังการศึกครั้งนี้ เกาหลีก็ได้รับความเสียหายมาก ทั้งสองฝ่ายยังคงดูเชิงกันอยู่อีกหลายเดือน

ญี่ปุ่นหมายมั่นว่าจะครอบครองเกาหลีให้จงได้ จึงตั้งทัพในเกาหลีอยู่นาน และเกิดยุทธการสำคัญอีกหลายครั้ง รวมถึงยุทธการ Noryang การศึกทางเรือครั้งสุดท้ายของสงครามญี่ปุ่น-เกาหลี ซึ่งอี ซุนชิน จบชีวิตลงในปี ค.ศ. 1598

ขณะที่ญี่ปุ่นพยายามอย่างหนักในการครอบครองเกาหลีนั้นเอง ฮิเดโยชิ เกิดล้มป่วยและเสียชีวิตในช่วงเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1598 ญี่ปุ่นจึงต้องถอนทัพกลับ ท้ายที่สุดแล้วการรบที่ยาวนานมาตลอด 5 ปี (หากรวมกับการรุกรานครั้งแรกแล้วเป็น 7 ปี) ไม่ได้ทำให้ญี่ปุ่นได้รับประโยชน์มากเท่าใด

ผลจากสงคราม
***(Spoiler Alert) ใจความด้านล่างเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์***

ผลกระทบจากสงครามส่งผลต่อทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายว่างเว้นสงครามกันอีกนาน ฝั่งญี่ปุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน ต่างฝ่ายต่างแย่งอำนาจกัน สุดท้ายเป็นโทกุงาวะ อิเอยาสุ ขึ้นเป็นโชกุนในปี ค.ศ. 1603

ฝั่งเกาหลีนั้นหลังผ่านสงครามใหญ่ทำให้สูญเสียไม่น้อย และยิ่งทำให้เห็นว่า กองทัพด้อยศักยภาพกว่าญี่ปุ่น เกาหลีจึงขอความช่วยเหลือจากจีนให้ต่อเรือรบ และนำปืนใหญ่มาใช้ นักวิชาการมองว่า เกาหลียังยกย่องจีนเป็นผู้กอบกู้ของพวกเขาด้วยซ้ำ ขณะที่ผลพวงทางสงครามย่อมส่งผลต่อจีนเองด้วย

ส่วนเกาหลีเอง แน่นอนว่า สูญเสียทรัพยากรมากโขในทางการทหาร ขณะเดียวกันจำนวนประชากรก็ลดลงมาก สิ่งก่อสร้างถูกทำลาย เชื่อกันว่า สงครามกับญี่ปุ่นครั้งนี้ส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อเกาหลีมากกว่าสงครามครั้งใดในประวัติศาสตร์

หลังผ่านสงครามไปไม่กี่ปี เกาหลีประสบภาวะข้าวยากหมากแพง ปรากฏโรคระบาด แย่งชิงอำนาจ และเกิดกลุ่มก่อความไม่สงบทั่วหนแห่ง ดังจะเห็นได้ว่า ซีรีส์ Kingdom ซึ่งเอ่ยถึงภูมิหลังของเหตุการณ์ในโครงเรื่องว่า เหตุการณ์ในซีรีส์ตั้งแต่สภาพความเป็นอยู่แสนแร้นแค้น และ “ต้นตอ” ของ “โรคระบาด” (แบบแฟนตาซี) ซึ่งกระจายในวงกว้างล้วนเกิดขึ้นภายหลังสงครามญี่ปุ่น-เกาหลีไม่กี่ปี โดยเฉพาะ “ต้นตอของโรคระบาด” ที่เป็นจุดเริ่มนำมาสู่การแพร่กระจายในวงกว้างก็ถูกอธิบายเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในสงครามด้วยซ้ำ

ภายหลังอิเอยาสุ ขึ้นมาเป็นโชกุน ท่าทีของญี่ปุ่นต่อเกาหลีเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ อิเอยาสุ ผูกสัมพันธ์แบบมิตรกับเกาหลี ส่งทูตมาเจรจาขอเปิดทางการค้าและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับราชวงศ์โชซอน ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายจึงเริ่มต้นอีกหนในปี ค.ศ. 1604 (พ.ศ. 2147)

ส่วนในประวัติศาสตร์ ภายหลังกษัตริย์ซอนโจ สวรรคตเมื่อปี ค.ศ. 1608 ราชสำนักเกาหลีตกอยู่ภายใต้ความผันผวน พระราชโอรสของพระองค์คือควางแฮ ซึ่งเป็นองค์รัชทายาทที่มีบทบาทในช่วงต้านเกาหลีและฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม แต่พระองค์กับองค์ชายอิมแฮ พระเชษฐาที่เป็นโอรสของพระราชินี (องค์ชายควางแฮ เป็นโอรสของพระเจ้าซอนโจ กับพระสนมคงบิน ของตระกูลคิม) ต่างมีฝ่ายที่สนับสนุนให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ (นอกจากองค์ชายอิมแฮ ยังมีองค์ชายยองชาง เป็นพระอนุชาอีก)

แม้องค์ชายควางแฮ จะได้ขึ้นครองราชย์ แต่ภายหลังเกิดการแย่งชิงอำนาจกัน สุดท้ายพระองค์ถูกยึดอำนาจ ฝ่ายที่ยึดอำนาจอ้างเหตุผลเรื่อง “ประพฤติผิดต่อพี่น้องและมารดา” (ลองนึกเล่นๆ ถึงปมการตัดสินใจขององค์รัชทายาทช่วงท้ายซีซั่น 2 และก่อนหน้านั้นซึ่งโครงบทวางให้อัครมหาเสนาบดีวางแผนนำกษัตริย์เกาหลีที่อยู่ในสภาพซอมบี้แล้วมาให้องค์รัชทายาทต้องตัดสินใจจนกลายเป็นสาเหตุให้ใส่ร้ายรัชทายาท) พระองค์ถูกเนรเทศไปอยู่เกาะคังฮวา ภายหลังไปที่เกาะเจจู เมื่อสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1641 พระองค์ไม่ได้รับพระนามกษัตริย์เหมือนกษัตริย์โชซอนพระองค์อื่น

อ่านเพิ่มเติม :

ทำไมแยกเกาหลีเหนือ-ใต้ กำเนิดเส้นขนานที่ 38 จากราชวงศ์โชซอน ถึงคิมอิลซองคุมโสมแดง

31 ม.ค. กำเนิด “โทกุงาวะ อิเอยาสุ” ขุนพลชนะสงครามซามูไรที่ยิ่งใหญ่นำญี่ปุ่นสู่ยุคเอโดะ


อ้างอิง :

วิเชียร อินทะสี. เกาหลีในช่วงอลหม่าน ค.ศ. 1864-1953. พิษณุโลก : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนเรศวร, 2561

รงรอง วงศ์โอบอ้อม. ประวัติศาสตร์เกาหลี. กรุงเทพฯ : พี.เอ.ลีฟวิ่ง, 2561

ไซโต, ฮิโช. พงศาวดารญี่ปุ่น. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2561. แปลโดย ยูปิเตอร์

ปิยดา ชลวร. “จริงหรือที่พระนเรศวรฯ เคยคิดยกทัพบุกญี่ปุ่น : ส่องข้อมูลจาก คิมุระ คานาโกะ”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2555. ฉบับออนไลน์ เข้าถึง 17 มีนาคม 2563. <https://www.silpa-mag.com/history/article_9562>

Swope, Kenneth. “Beyond Turtleboats: Siege Accounts from Hideyoshi’s Second Invasion of Korea, 1597–1598” (PDF). Sungkyun Journal of East Asian Studies: 58. <https://web.archive.org/web/20131103200513/http://www.kecla.org/data/krhistory/Topics%20on%20Korean%20History%20II.pdf>

https://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_invasions_of_Korea_(1592%E2%80%931598)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มีนาคม 2563