ดร.ตั้ว ลพานุกรม คณะราษฎรผู้ริเริ่มสร้างโรงงานผลิต “ยาฝรั่ง” สู่กำเนิดองค์การเภสัชกรรม

ผลิตยา ดร.ตั้ว ลพานุกรม ผู้ชาย
(ซ้าย) เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ เมื่อ 2007 ภาพจาก GPO / AFP (ขวา) ดร. ตั้ว ลพานุกรม

“ยา” หนึ่งในปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต ที่ปกติจะไม่ค่อยได้ใช้ แต่ในยามที่ต้องใช้แล้วไม่มีก็เดือดร้อนหนักหนาอยู่ เพราะนั่นเป็นเวลาเจ็บป่วย ซึ่งโดยส่วนใหญ่ประเทศต่างๆ ก็เริ่มจากการใช้ยาสมุนไพรก่อน จนเมื่อการแพทย์และเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าจึงเริ่มมีการใช้ “ยาฝรั่ง” หรือยาแพทย์ปัจจุบันในภายหลัง สำหรับประเทศไทย “ดร.ตั้ว ลพานุกรม” เป็นผู้ริเริ่มให้ผลิตยาแผนปัจจุบันในปี 2482

หลายคนอาจคุ้นชื่อของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม (21 ตุลาคม 2441- 27 สิงหาคม  2484) หนึ่งในสมาชิกก่อตั้งคณะราษฎร แต่คุณูปการที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ ผลงานในฐานะเภสัชกรและนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ที่ท่านทุ่มเทจนได้การยกย่องว่าเป็น “รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโลยีของไทย”

ดร.ตั้ว ลพานุกรม

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการเปลี่ยนแปลงการปกครองและงานการเมือง ดร.ตั้วก็กลับมาทำงานที่กรมของศาลาแยกธาตุ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เช่นเดิม จนถึงเดือนเมษายน 2478 มีการยกฐานะกรมเป็น “กรมวิทยาศาสตร์” ดร.ตั้ว นักเคมี และรักษาการเจ้ากรมของศาลาแยกธาตุ ได้รับโปรดเกล้าให้ดำรงแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก ท่านได้แบ่งงานกของกรมออกเป็นกองเคมี, กองอุตสาหกรรมเคมี, กองเกษตรศาสตร์ และกองเภสัชกรรม ด้วยต้องการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศดังที่ ดร.ตั้ว เคยบันทึกไว้ว่า

“…เราย่อมจะพึงเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีความต้องการและจำเป็นที่จะต้องรีบบำรุงการวิทยาศาสตร์เพียงใด ผู้มองเห็นการณ์ไกลจะไม่รอช้าในอันที่จะส่งเสริมวิทยาศาสตร์ให้ก้าวหน้า เพราะวิทยาศาสตร์นาแล้วก็คือยาอันจะนำประชาชาติไทยให้วิ่งไปในอารยวิถี”

ในช่วงที่ ดร.ตั้วเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่งตั้งให้เป็น “หัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์” ด้วย ดร.ตั้ว จึงได้พัฒนาการศึกษาเภสัชศาสตร์ ได้แก่ พัฒนาหลักสูตรจากระดับอนุปริญญา 3 ปี เป็นระดับปริญญา 4 ปี, สร้างอาคารเรียนคณะเภสัชศาสตร์ที่มีห้องบรรยา และห้องปฏิบัติการ ครบทุกแผนกวิชา, มีงบประมาณโดยตรงจากรัฐบาล, มีตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะเป็นครั้งแรก ฯลฯ

ตั้งแต่ ดร.ตั้วรับตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ก็มีแนวคิดว่า ไทยควรมีโรงงานผลิตยาเอง เพื่อลดป้องกันเงินตรารั่วไหลออกนอกประเทศ มียาสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน เมื่อพิจารณาจากสมุนไพรและวัตถุดิบในประเทศก็มีความพร้อมที่สามารถดำเนินการได้ ดังที่ดร.ตั้วเขียนไว้ในบทความ “งานเภสัชกรรม” ในหนังสือที่ระลึกในงานรัฐพิธีพระราชเพลิงศพ พณฯ ดร. ตั้ว ลพานุกรม (4 ธันวาคม 2484) ตอนหนึ่งว่า

“ในปีหนึ่งๆ ประเทศเราสั่งยามาจากต่างประเทศเป็นจำนวนล้านๆ บาท เช่น พ.ศ. 2476 เป็ฯเงิน 1,835,761 บาท พ.ศ. 2480 เป็นเงิน 2,143,441 บาท เป็นต้น ถ้าหากเราทำยาของเราเองขึ้น และใช้ประโยชน์ได้เท่ากันแล้ว เราก็จะสามารถตัดรายจ่ายจำนวนมหึมานี้ลงได้มาก ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจมีสมุนไพรบางอย่าง ที่เราสามารถจะจำหน่ายให้แก่ต่างประเทศได้ด้วย นี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ”

ปี 2479 รัฐบาลมีดำริที่จะสร้างโรงงานอุตสาหกรรมผลิต ตลอดจนมีการตราพระราชบัญญัติ ควบคุมการขายยา พ.ศ. 2479  (ฉบับแรก) ขึ้นมารับรองสิทธิและหน้าที่ของเภสัชกรด้านบริการยาดที่ชัดเจนมากขึ้น (เดิมการเปิดร้านขายยาไม่ต้องมีเภสัชกร เพราะ พ.ร.บ. การแพทย์ พ.ศ. 2466 ควบคุมและคุ้มครองเฉพาะ “การปรุงยา” )

เดือนมกราคม 2482 ดร.ตั้ว ลพานุกรม จึงได้จัดการสร้างโรงงานเภสัชกรรมขึ้น ณ ตำบลพญาไท ในเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ ในระยะแรกได้ผลิตยาจำพวกทิงเจอร์ ยาสะกัด ยาเม็ด ยาฉีด ปละโอนเอายาสะกัดวิตามินบีกับการทำยาน้ำมันกระเบา ซึ่งเดิมกองอุตสาหกรรมเคมีทำอยู่มาจัดทำด้วย ต่อมีการปรับองค์กรและเป็นชื่อเป็น “องค์การเภสัชกรรม” ในปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

มูลิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา. ดร.ตั้ว ลพานุกรมเภสัชกรผู้ยิ่งใหญ่ รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย, พฤศจิกายน 2552

https://www.gpo.or.th/  สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มีนาคม 2563