รัชกาลที่ 9 ทรงตั้งหน่วยฉีดวัคซีนพระราชทานที่พระตำหนักจิตรลดาฯ รับมือ “อหิวาต์”

รัชกาลที่ 9 ทรงช่วย อหิวาตกโรค
(ภาพจาก หนังสืออนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบ 20 ปี พ.ศ. 2485-2505)

ระหว่างปี 2501-2502 ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 (ทรงครองราชย์ 9 มิถุนายน 2489 ถึง 13 ตุลาคม 2559) เกิด อหิวาตกโรค ระบาดในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายแรกที่อำเภอราษฎร์บูรณะ จังหวัดธนบุรี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2501

เชื้อโรคแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปยังพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดธนบุรี, จังหวัดพระนคร และพื้นที่อื่นในภาคกลาง ก่อนระบาดในภูมิภาคต่างๆ โดยภาคใต้ระบาดไปจนถึงนครศรีธรรมราช ภาคเหนือถึงจังหวัดตาก และบางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเดือนมิถุนายน มีผู้ป่วยทั่วประเทศสูงสุดถึง 7,205 ราย

Advertisement

ครั้งนั้นโรคระบาดอยู่ประมาณ 1 ปี 6 เดือน กินพื้นที่ทั้งหมด 38 จังหวัด มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 19,359 ราย เสียชีวิต 2,372 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยในจังหวัดพระนครและธนบุรี 11,401 ราย เสียชีวิต 869 ราย

ส่วนสาเหตุการเกิดโรคนั้นไม่ได้ความแน่ชัดว่ามาจากที่ใด แต่มีข้อสังเกตว่าในเมืองโกลกาตา ประเทศอินเดีย ในช่วงเวลาดังกล่าวมีอหิวาตกโรคระบาดมากขึ้นผิดปกติ จากสถิติขององค์การอนามัยโลกระบุว่าระหว่างเดือน มกราคม -พฤษภาคม 2501 มีผู้ป่วยด้วยโรคอหิวาตกโรค 3,741 ราย เสียชีวิต 1,310 ราย

แม้ในครั้งนั้นโรคระบาดอย่างรวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่ก็สงบลงได้รวดเร็วกว่าการระบาดที่เคยมีมาเช่นกัน อาจเพราะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานสาธารณสุขต่าง เช่น องค์การและสภากาชาดต่างประเทศ มอบวัคซีนจำนวน 5,089,700 ซี.ซี, มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ส่งนักศึกษาแพทย์, นักศึกษาพยาบาล ฯลฯ มาให้บริการออกหน่วยฉีดวัคซีนแก่ประชาชน

ซึ่ง 1 ใน หน่วยบริการฉีดวัคซีนครั้งนั้นคือ “พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงจัดตั้งหน่วยฉีดวัคซีนพระราชทานสำหรับป้องกัน อหิวาตกโรค แก่ประชาชนในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และตามพื้นที่ต่างๆ เช่นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนจังหวัดอื่นในภูมิภาคต่างๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดหน่วยฉีดวัคซีนตามเสด็จไปให้บริการแก่ประชาชนด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบ 20 ปี พ.ศ. 2485-2505, กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2505


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มีนาคม 2563