ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“ปลาพระราชทาน” ยุคแรกๆ ของรัชกาลที่ 9 ไม่ใช่ ปลานิล แต่เป็น ปลาหมอเทศ
ปลานิล เป็น “ปลาพระราชทาน” ที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมาร น้อมเกล้าถวายแก่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ท่านทรงทดลองเลี้ยงในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
ต่อมาในปี 2509 จึงได้พระราชทานลูกปลาพันธุ์จำนวน 10,000 ตัว แก่กรมประมง เพื่อแจกจ่ายไปยังสถานีประมงประจำจังหวัด และนำลูกปลาที่ได้จากการขยายพันธุ์แจกจ่ายแก่ราษฎรต่อไป
แต่ก่อนหน้า “ปลานิลพระราชทาน” นั้นมี “ปลาหมอเทศพระราชทาน” มาแล้ว
สารานุกรมพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรอบ 60 ปี แห่งการครองราชย์ (คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2551) บันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า
“…ปลาหมอเทศพระราชทาน เป็นปลาพันธุ์ที่มีถิ่นกําเนิดในทวีปแอฟริกา ลักษณะคล้ายปลาหมอไทย ลําตัวป้อมสั้นสีเขียว ปนเทา วันที่ 15 สิงหาคม พุทธศักราช 2492 กรมประมงแห่งปีนัง (ขึ้นกับรัฐมาลายูหรือประเทศมาเลเซียปัจจุบัน) ได้มอบพันธุ์ปลาจำนวน 258 ตัว แก่แผนกทดลองเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กรมประมง บางเขน (สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ ในปัจจุบัน) เพื่อทดลองเลี้ยงขยายพันธุ์ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพาะเลี้ยงง่าย โตเร็ว ขยายพันธุ์เร็ว และเนื่องจากเป็นพันธุ์ปลานําเข้า จึงเรียกกันว่า ปลาหมอเทศ
พุทธศักราช 2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชานุญาตให้นําปลาหมอเทศไปทดลองเลี้ยงในโครงการตามพระราชดําริ ที่บ่อน้ำหน้าพระที่นั่งอุดรภาค บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาเมื่อปลาหมอเทศขยายพันธุ์มากขึ้น จึงทรงย้ายไปยังบ่อน้ำบริเวณพระตําหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต และพระราชทานแก่กรมประมง ประมงจังหวัดต่างๆ และเกษตรกร เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2496 เพื่อนําไปเพาะเลี้ยงหรือปล่อยลงแหล่งน้ำให้เป็นอาหาร โปรตีนสําหรับชุมชน ส่งเสริมอาชีพประมง และส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักการเลี้ยงปลาในบ่อเสริมรายได้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสนับสนุนกิจการเลี้ยงปลาในประเทศไทย ทั้งเพื่อเพาะขยายพันธุ์ เพื่อบริโภค และเพื่อการค้า
ปลาหมอเทศไม่ได้รับความนิยมเท่ากับปลานิลซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกัน เนื่องจากเนื้อหยาบและมีกลิ่นคาวมากกว่า ทำให้ราคาไม่สูง ไม่สามารถพัฒนาเป็นปลาเศรษฐกิจได้” [เน้นคำโดยกองบรรณาธิการ]
อ่านเพิ่มเติม :
- “ปลาบ้า” ปลาที่ได้รับพิษอันตรายแต่ไม่เป็นอะไร แต่สะสมพิษไว้ทำร้ายคนกิน
- “ซามารอเด็ง” หรือ “กือโป๊ะ” อาหารทานเล่นของคนใต้ ต้นตำรับ “ข้าวเกรียบปลา”
- หลวงมัศยจิตรการ ช่างเขียน สมัย ร. 6 ผู้วาดภาพปลาเหมือนจริงยังกะก๊อบปี้
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2564