จับแพะ-แพะรับบาป ทำไมต้องเรียกเป็น “แพะ” ???

แพะรับบาป แทนคน

การฆ่าคนหรือสัตว์ เป็นเครื่องเซ่นสังเวย ในพิธีกรรมเซ่นวักสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อปกป้องคุ้มครองชุมชนให้พ้นจากสิ่งชั่วร้ายหายนะ พบทั่วไปในชุมชนดึกดําบรรพ์ทั้งโลก จะต่างกันที่รายละเอียดปลีกย่อย

ฆ่าคนก่อนเปลี่ยนเป็นสัตว์หรือฆ่าสัตว์ก่อนฆ่าคน ยังสรุปอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ จึงเปิดช่องไว้ให้ทักท้วงถกเถียงตามสะดวก

แต่ภูมิภาคอุษาคเนย์มีหลักฐานการฆ่าคนและสัตว์ในยุคเดียวกันราว 3,000 ปีมาแล้ว แต่ใช้เซ่นวักต่างผี ดังนี้

ฆ่าคน เซ่นวักตีนผีดิน

ฆ่าหมา เซ่นวักผีข้าว (เพราะเชื่อว่าหมาเก้าหางนําพันธุ์ข้าวจากฟ้าลงมาให้มนุษย์ปลูกกิน)

หลังรับศาสนาจากอินเดีย อาจเป็นเหตุให้เปลี่ยนการเซ่นวักผีน้ำผีดินจากการฆ่าคนเป็นฆ่าควาย มีในนิทานตำนานปราสาทวัดพู ที่จําปาสัก ในลาว

พิธีฆ่าสัตว์และคนเพื่อเซ่นวักสิ่งศักดิ์สิทธิ์สมัยแรกๆ ยังไม่พบชื่อเรียกพิธีอะไร?

เพิ่งพบ พิธีฆ่าแพะบูชายัญ เรียกชื่อว่าแพะรับบาป เมื่อ ค.ศ. 1530 (ตรงกับยุคต้นอยุธยา พ.ศ. 2073 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร)

มีคําอธิบายในหนังสือ ปรักปรําศาสตร์ (Scapegoat A History of Blaming Other People by Charlie Campbell) แปลโดย อลิสา กันตสมบัติ บอกว่า

คําว่า “แพะรับบาป” ถูกใช้เป็นครั้งแรกโดย วิลเลี่ยม ทินเดล ผู้แปลพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับ ปี 1530 เขาคิดคํานี้ขึ้นเพื่ออธิบายพิธีกรรมวันไถ่บาปของชาวยิวในหนังสือเลวีนิติที่มีการบูชายัญแพะสองตัว

ตัวแรก ใช้บูชายัญถวายพระยาห์เวห์ พระเจ้าของชาวยิว เพื่อที่พระองค์จะได้ยกโทษให้ชาวอิสราเอล แพะตัวนี้เป็น “บรรณาการไถ่บาป” และการบูชายัญก็เป็นการกระทำเพื่อไถ่บาปมนุษย์ ซากที่เหลือจะถูกเผาทิ้งนอกบริเวณชุมชน

ตัวที่สอง อุทิศให้อาชาเซล เทพเจ้าแห่งโลกหลังความตาย แพะตัวนี้จะถูกนำออกไปปล่อยไว้นอกเขตหมู่บ้าน

หลังจากนั้นแพะรับบาปก็แพร่หลาย แล้วถูกใช้ในความหมายต่างๆ กัน

http://www.metmuseum.org/art/collection/search/399367

แต่ที่สําคัญ คือใช้เรียกคนที่ถูกปรักปรำ (เป็นแพะ) ให้รับบาปแทนคนอื่นว่า “แพะรับบาป”

ตกถึงยุคใหม่ในการเมืองปัจจุบัน จู่ๆ แพะรับบาปก็ไม่ใช่การกระทำในพิธีกรรม และไม่ใช่วิธีปกป้องชุมชนอีกต่อไป แต่กลายเป็นวิธีปกป้องคนคนหนึ่งหรือสองคนแทน

ทุกครั้งที่มีเหตุหายนะ คนส่วนมากจะหาทางกล่าวโทษคนส่วนน้อย

ทางการเมืองสมัยใหม่ มีตัวอย่างเป็นรูปธรรมมากมายทั้งในไทยและในโลกว่า

แพะรับบาปหมายถึงใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งถูกผลักให้รองรับความโกรธ และการกล่าวโทษอันหลากล้นที่ตามมาหลังเหตุหายนะ

ปรักปรำศาสตร์ เป็นหนังสือไม่ปรักปรำใคร แต่แฉการปรักปรำทั่วไปในประวัติศาสตร์โลก (ไม่มีไทย) ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันได้อย่างอัศจรรย์ใจ

แพะรับบาป
“The Scapegoat” (แพะรับบาป) โดย William Holman Hunt, via Wikimedia Commons

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มกราคม 2562