ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2543 |
---|---|
ผู้เขียน | ปรามินทร์ เครือทอง |
เผยแพร่ |
“สะพานปรีดี-ธำรง” สะพานกู้กรุงศรีฯ ของ ปรีดี พนมยงค์ ที่นำคนอยุธยากลับสู่ เกาะเมืองอยุธยา
หลังจากกรุงแตกไปเมื่อปี 2310 กรุงศรีอยุธยาก็ตกเป็นสภาพเมืองร้างมาอย่างยาวนานเกือบ 200 ปี
จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 ก็ได้พยายามที่จะ “บูรณะ” กรุงเก่าเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะหัวแรงสําคัญคือ พระยาโบราณราชธานินทร์ ได้สำรวจกรุงเก่าโดยละเอียด และบูรณะวัดสำคัญ ๆ ไว้หลายแห่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะพลิกฟื้นกรุงเก่าให้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง
กรุงศรีอยุธยาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีสภาพเป็นเมืองร้าง ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่ตามลำน้ำรอบเกาะเมือง การอยู่อาศัย การค้าขาย และการคมนาคม ยังคงยึดลําน้ำเป็นหลัก ภาพภายในกำแพงเมืองจึงรกร้าง เปลี่ยว เต็มไปด้วยสัตว์ป่า โจรผู้ร้าย ดังจะเห็นได้จากแผนที่ของพระยาโบราณราช ธานินทร์ และภาพถ่ายทางอากาศปี 2496
การพลิกฟื้นอดีตของกรุงเก่าครั้งสําคัญนี้ เกิดขึ้นโดยนาย ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะเป็นชาวอยุธยาโดยกำเนิด ซึ่งแนวความคิดที่ว่า ต้องย้ายคนจากลำน้ำเข้าสู่ เกาะเมืองอยุธยา ให้ได้ เริ่มต้นด้วยการออกพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และที่วัดร้างภายในกำแพงเมืองปี 2481 ซึ่งแต่เดิม รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สงวนที่ดินในเกาะเมืองไว้ห้ามมิให้ผู้ใดเข้ามาถือครอง มาเป็นของกระทรวงการคลัง
โดยในขณะนั้น นายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่ในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม แล้วขายที่ดินให้กับราษฎร เพื่อจูงใจให้เข้ามาตั้งบ้านเรือนในเกาะเมือง งานทั้งหมดนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะสอดคล้องกับการรณรงค์เรื่องวัฒนธรรมของชาติอยู่พอดี
และตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา การปรับปรุงพัฒนาบ้านเมืองมักมี “ถนน” เป็นตัวแปรสำคัญ ตลาดบกเริ่มมาแทนที่ตลาดน้ำ ในเกาะเมืองกรุงเก่าก็เช่นกัน มีการสร้างถนนเพิ่มขึ้น ติดตามมาด้วยหัวใจสำคัญของแผนคืนชีวิตให้กับกรุงศรีอยุธยาก็คือ สะพานปรีดี-ธำรง ถือเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนกรุงเก่า จากที่เคยเดินทางขนส่งสินค้าทางเรือจากจังหวัดต่าง ๆ มาสู่การใช้ถนน ซึ่งสะดวกรวดเร็วกว่า
นอกจากนี้ยังมีการสร้างถนนเชื่อมต่อกับถนนพหลโยธิน ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ โดยตรง รวมถึงการสร้างศาลากลางจังหวัดให้อยู่กึ่งกลางของเกาะเมือง ตรงดิ่งจากตัวสะพาน การจัดสร้างสาธารณูปโภค และอาคารพาณิชย์ให้เช่า แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเมืองสำเร็จรูปในยุคนั้นทีเดียว ประชาชนจึงค่อย ๆ ขยับขยายเข้าสู่ภายในเกาะเมืองมากขึ้น
การก่อสร้างสะพานปรีดี-ธำรง เริ่มในปี 2483 เสร็จในปี 2486 และตั้งชื่อตามชาวอยุธยาในคณะรัฐมนตรี 2 ท่าน คือ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหลวงธํารงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
หากพิจารณาจากจุดที่สร้างสะพานคือบริเวณวัดพิชัยสงคราม ก็เป็นจุดเดียวกับที่พระเจ้ากรุงธนบุรีรวบรวมไพร่พลตีฝ่าวงล้อมพม่าก่อนปักหลักที่บ้านโพธิ์สามหาว จะเป็นความบังเอิญหรือความตั้งใจก็แล้วแต่ ที่สำคัญจุดนี้คือจุดเริ่มต้นในการกู้กรุงศรีอยุธยา และประสบความสำเร็จทุกครั้ง
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ความปรารถนาดีนี้จะส่งผลให้กรุงศรีอยุธยากลับมามีชีวิตอีกครั้ง แต่การพัฒนาที่ไร้ทิศทางทำให้เราพบความผิดเพี้ยนของการบูรณะ และการบุกรุกโบราณสถาน จนเกิดภาพเศร้าใจทุกครั้งที่เห็น
ต้องไม่ลืมกลับไปดูแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์ ว่าเราสูญเสียวัดไปเท่าไหร่ในการตัดถนน และสร้างเมืองในครั้งนี้ และต้องไม่ลืมกลับไปดูการสำรวจของ น. ณ ปากน้ำ กลางซากอิฐซากปูนว่าเราสูญเสียอะไรไปบ้างหลังจากสร้างเมืองแล้ว
อ่านเพิ่มเติม :
- “ปรีดี พนมยงค์” เห็นควรใช้ชื่อประเทศว่า “Muang Thai” ดีกว่า “Thailand”
- บันทึกสนทนา ปรีดี-เจียง ไคเชก เผยข้อมูล จอมพล ป. ร้อนใจอยากร่วมมือกับจีนรบญี่ปุ่น?
- 26 กุมภาพันธ์ 2492: ปรีดีกับพวกใช้กำลังหวังยึดอำนาจจากคณะปฏิวัติ แต่เหลว ตกเป็นกบฏ
หมายเหตุ : บทความในนิตยสารชื่อ สะพานปรีดี-ธำรง แผนกู้กรุงศรีอยุธยาของปรีดี พนมยงค์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มกราคม 2563