“พระเจ้าตาก” ส่งพระราชสาส์นถึงจีน ขอเลื่อนส่งบรรณาการ ด้วยเอกสารระดับเจ้าหน้าที่

พระราชสาส์น บิ้น พระเจ้าตาก
พระราชสาส์นของพระเจ้ากรุงธนบุรีเขียนด้วยภาษาจีน มีตราบัวแก้วสีชาดประทับอยู่บนตัวอักษรจีน อ่านว่า “บิ้น” (稟) ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานพระราชวังแห่งชาติ กรุงไทเป สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)

ครั้งหนึ่ง “พระเจ้าตาก” ส่งพระราชสาส์นถึงจีน ขอเลื่อนส่งบรรณาการ ด้วยเอกสารระดับเจ้าหน้าที่

เอกสารการติดต่อระหว่างจีนกับสยามมีอยู่หลายแบบ แบบหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ พระราชสาส์นที่ทำจากแผ่นทองคำที่เรียกว่า “สุพรรณบัฏ” ซึ่งปรากฏหลักฐานอยู่ทั้งในเมืองฝรั่ง เมืองจีน และญี่ปุ่น

ในสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นรัตนโกสินทร์ สยามได้ติดต่อกับจีนอยู่บ่อยครั้ง โดยมีหลักฐานชี้ให้เห็นว่า ราชสำนักสยามมีผู้รู้ภาษาจีนให้การรับใช้อยู่ ส่วนมากเป็นชาวจีนสังกัดกรมท่าซ้าย หน่วยงานซึ่่งทำหน้าที่ติดต่อค้าขายกับจีน อยู่ภายใต้การดูแลของเสนาบดีกระทรวงการคลัง มีบรรดาศักดิ์เป็นโกษาธิบดี

เอริกะ มาซูดา นักวิจัยจากศูนย์เอเชียแปซิฟิคศึกษา สถาบัน Academia Sinica ของไต้หวัน กล่าวว่า เอกสารที่ฝ่ายสยามใช้ในการติดต่อกับฝ่ายจีนนอกจากสุพรรณบัฏแล้ว ยังมีอีก 2 แบบ

แบบแรกเรียกว่า “พระราชสาส์นคำหับ” ซึ่งคำว่า “คำหับ” มาจากภาษาจีน (勘合)มีความหมายว่า เปรียบเทียบให้เห็นความคล้ายกันหรือความแตกต่างกัน พระราชสาส์นแบบนี้จะเขียนด้วยภาษาจีนบนกระดาษสีเหลือง บนเอกสารประทับตราโลโตดวงหนึ่ง และตราพนมศกอีดวงหนึ่ง โดยตราโลโตก็คือตราประทับที่จักรพรรดิจีนพระราชทานให้กับกษัตริย์ประเทศราชนั่นเอง

ส่วนเอกสารอีกแบบก็คือ เอกสารที่ออกจากฝ่ายเสนาบดีคลังที่เรียกว่า “หนังสือโกษาธิบดี” เขียนด้วยภาษาจีน บนกระดาษขาวปิดตราโกษาหนึ่งดวง และตราพนมศกหนึ่งดวง

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ที่พิพิธภัณฑสถานพระราชวังแห่งชาติ (National Palace Museum) ในกรุงไทเป สาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน มีเอกสารชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าเป็นพระราชสาส์นของ พระเจ้าตากสินมหาราช เขียนเป็นภาษาจีนใน พ.ศ. 2321 แต่มิได้เขียนขึ้นด้วยรูปแบบพระราชสาส์น

กลับกัน เอกสารชิ้นนี้เขียนบนกระดาษมีตราบัวแก้วสีชาดประทับอยู่ต้นหนังสือลงบนตัวอักษรจีนที่อ่านว่า “บิ้น” (稟) ซึ่งมาซูดาให้รายละเอียดว่า “บิ้น” เป็นเอกสารทางการประเภทหนึ่งในสมัยราชวงศ์ชิง ใช้สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการติดต่อกับจีน และไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าหรือทูต ก็ต้องส่งเอกสารประเภทนี้มาให้เจ้าหน้าที่จีนพิจารณาเสียก่อน

การใช้เอกสารผิดประเภทดังกล่าว มาซูดา อธิบายว่า “ฝ่ายสยามในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับประเภทเอกสารของทางฝ่ายจีนมากนัก”

ส่วนเนื้อความในพระราชสาส์น เป็นเรื่องที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงขอเลื่อนการส่งบรรณาการให้กับจีนออกไปก่อน เนื่องจากพระราชอาณาจักรของพระองค์ยังไม่พ้นความบอบช้ำจากการทำศึกกับพม่า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง: “พระราชสาส์นจารึกแผ่นสุพรรณบัฏพระราชทานจักรพรรดิจีน”. เอริกะ มาซูดา. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2551


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2559