ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
อาลักษณ์อิหร่านบันทึกถึง “ชาวสยาม” สมัยพระนารายณ์ ไว้อย่างไรบ้าง?
ในสมัยพระนารายณ์ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นช่วงเวลาที่ได้มีการติดต่อเจริญสัมพันธไมตรีกับหลายเชื้อชาติ ชาวต่างชาติที่เข้ามาในดินแดนนี้จึงได้บันทึกเกี่ยวกับชาวสยาม ที่ฉายให้เห็นสภาพบ้านเมือง วิถีชีวิต อุปนิสัย และอื่นๆ นอกเหนือจาก “จดหมายเหตุลาลูแบร์” แล้ว ยังมี “สำเภากษัตริย์สุลัยมาน” อีกหนึ่งหลักฐานชิ้นสำคัญที่ฉายให้เห็นภาพได้เป็นอย่างดี
“สำเภากษัตริย์สุลัยมาน” (แปลโดย ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์. สำนักพิมพ์มติชน, 2545) เป็นบันทึกของอาลักษณ์ชาวอิหร่านนามว่า อิบนิ มูฮัมหมัด อิบรอฮีม ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทูตเปอร์เซียที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ราว ค.ศ. 1686 ซึ่งเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีตอบ หลังจากที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ส่งคณะราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับเปอร์เซีย
อิบรอฮีมได้จดบันทึกการเดินทางและบันทึกเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างน่าสนใจหลายประการเกี่ยวกับ “ชาวสยาม” ทั้งสภาพบ้านเมือง วิถีชีวิต อุปนิสัย วัฒนธรรม กฎหมาย อาหาร และอื่นๆ
ชีวิตและอุปนิสัย
อิบรอฮีมบันทึกว่า “พวกอิหร่านและพวกฝรั่งเรียกชาวเมืองชะฮฺริ เนาว์ (แปลว่า เมืองใหม่ หรือเมืองที่มีเรือมาก หมายถึงกรุงศรีอยุธยา) ว่า ชาวสยาม แต่ชาวพื้นเมืองสืบสาวเชื้อสายของพวกเขาไปถึงคนไต…”
อย่างไรก็ตาม อิบรอฮีมยังอธิบายเพิ่มเติมว่า “…ถึงแม้ว่าชาวสยามไม่ได้สืบสาวถึงท่านนบีอาดัม แต่พวกอิหร่านเชื่อว่าคงมาจากลูกหลานคนหนึ่งของอาดัมที่ชื่อ สาน บุตรของยาฟุษ บุตรของนูหฺ…” ซึ่งอิบรอฮีมได้พยายามเชื่อมโยงว่า คำว่า สยาม เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า สาน อิบรอฮีมยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นการคาดเดาของเขาเท่านั้น เพราะในที่สุดแล้ว “…พระผู้เป็นเจ้านั้นทรงทราบดี”
เมื่ออิบรอฮีมได้พบเจอชาวสยามในช่วงแรก ๆ ที่เข้ามาในสยาม ในตอนที่คณะราชทูตไปเมืองลพบุรีเพื่อเข้าเฝ้าพระนารายณ์ อิบรอฮีมบันทึกไปว่า “…ชาวพื้นเมืองต่างไม่สวมเสื้อและรองเท้า เป็นเช่นนี้ทุกฤดูกาล พวกเขาตัดผมสั้นและเรียบ มีทหารยืนเรียงรายสองข้างทางที่เราผ่าน สวมหมวกทอด้วยกกหรือสานด้วยไม้ไผ่ นุ่งผ้าชิ้นเดียว เป็นกางเกง บางคนก็ถือปืน แต่ที่จริงแล้ว พวกเขาเดินเท้าเปล่า ไม่มีม้าสำหรับขี่”
แต่ “ฐานะ” ของชาวสยามดูจะไม่สะดวกสบายเท่าใดนัก เพราะ “ในแผ่นดินสยามนั้น ชาวเมืองไม่มีทรัพย์สมบัติ ไม่มีอำนาจที่จะกล้าพูด ชีวิตเป็นไปอย่างผิวเผิน มักจะเปลือยกายบางส่วน ไม่มีบ้านใหญ่โต…”
และ “ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเศร้าก็คือ ชาวสยามนั้นไม่ขยันขันแข็ง ซึ่งพระเจ้ากรุงสยามเองทรงทราบดี…” ซึ่งประโยคนี้อิบรอฮีมอาจหมายถึงอุปนิสัยของชาวสยามโดยทั่วไป ที่สะท้อนไปถึงตำแหน่งที่ปรึกษาของกษัตริย์ด้วย กล่าวคือ พระองค์มักโปรดให้ชาวต่างชาติมากกว่าชาวสยามให้มาเป็นที่ปรึกษา ซึ่งก่อนที่คอนสแตนติน ฟอลคอน จะทำหน้าที่นี้ ก็มีชาวอิหร่านนามว่า อากฺอ มุหัมมัด เป็นที่ปรึกษาของพระนารายณ์มาก่อน
ศาสนา
อิบรอฮีมได้สนทนากับชาวสยามเกี่ยวกับความเชื่อของคนในท้องถิ่น “จากการสนทนากับผู้คงแก่เรียนชาวสยาม เราทราบว่าเขาใช้เวทมนตร์คาถาในการเผยแผ่ความเท็จและความเชื่อในการเวียนว่ายตายเกิด…” และ “เมื่อข้าพเจ้าสนทนากับผู้คงแก่เรียนชาวสยามในเรื่องเหล่านี้ เขาไม่สามารถพิสูจน์ความชื่อของเขาตามเหตุผลได้ นอกจากว่า เราพบพ่อแม่ของเราทำมาอย่างไร เราก็ทำตามอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ทางที่ดีข้าพเจ้าจึงหลีกเลี่ยงการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องนี้”
แน่นอนว่าอิบรอฮีมนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งนับถือพระเจ้าพระองค์เดียวและไม่มีรูปปั้นเพื่อทำการเคารพ สักการะบูชา ต่างจากศาสนาพุทธและความเชื่อท้องถิ่นของชาวสยาม ที่อิบรอฮีมอธิบายว่า “…ชาวสยามนั้นไม่นับถืออะไรแน่นอน เห็นอะไรดีก็ลากเอาเข้ามานับถือ ชาวสยามนับถือรูปปั้น เผาศพ กินสัตว์ทุกชนิด จะเป็นซากสัตว์ที่ตายเองก็ได้ ดื่มสุราเมา พวกเขาไม่เหมือนพวกอื่นที่นับถือรูปเคารพเฉพาะอย่างเดียวแบบเดียว“
อิบรอฮีมยังอธิบายอีกว่าชาวสยามนับถือแนวคิดเวียนว่ายตายเกิด และการให้ความสำคัญกับพระสงฆ์และวัดเป็นอย่างมาก เพราะชาวสยามเชื่อว่าพระสงฆ์เป็นผู้ชี้นำทางอันถูกต้อง ถ้าไม่มีพระสงฆ์แล้ว กิจการงานของพวกเขาจะหลงผิดและไร้ผล ดังนั้นชาวสยามจึงทำนุบำรุงพระสงฆ์อย่างถึงที่สุด รวมถึงวัดวาอารามต่าง ๆ ที่อิบรอฮีมบันทึกว่ามีวัดมากกว่า 5,000 แห่ง ซึ่งถ้าหากมีวัดไม่เพียงพอ พระสงฆ์ก็จะขอให้ชาวบ้านช่วยกันสร้างวัดเพิ่มเติมอีกด้วย
นอกจากนี้ชาวสยามยังมีความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ เช่น ดาวเคราะห์ ไฟ น้ำ ทะเล และพระอาทิตย์ ซึ่งเชื่อว่า “…ทรงแบ่งภาคลงมาจุติเป็นมนุษย์ จึงถือว่าพระเจ้าแผ่นดินนั้นเป็นเทพสมมุติ และโดยที่ดวงตะวันก็เป็นพระเจ้า ชาวสยามจึงเรียกกษัตริย์ของพวกเขาว่า เป็นพี่น้องกับสุริยะ”
ค้าขาย
การขายลูกหรือภรรยาเป็นที่ปรากฏในเอกสารทั้งของไทยและต่างประเทศหลายแห่ง ใน “สำเภากษัตริย์สุลัยมาน” นั้นอิบรอฮีมบันทึกว่า “ชาวสยามยินดีจะขายตนเองหรือลูกชายลูกหญิง… ผู้ใดที่ทำการขายเช่นนี้ก็เอาเงินไปใช้ได้นานปี โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย เมื่อมีเงินพอก็มาไถ่คืนได้ น่าเสียใจที่พ่อแม่ชาวสยามไม่สงสารลูก ๆ ของตน… บ้างก็ถูกนำไปขาย บางทีบางคนก็ขายฝากตนเอง ถ้าหาเงินมาเพื่อไถ่ตนเองไม่ได้ ก็ทำงานไปเยี่ยงทาส บางทีเป็นเช่นนั้นจนตาย แล้วลูกของเขาก็ต้องเป็นขี้ครอกทำงานเป็นทาสสืบต่อจากพ่อต่อไป วิธีนี้ไม่เป็นธรรมในสังคม แต่ชาวสยามถนัดค้าขายแบบนี้”
ส่วนการค้าขายสินค้าที่เป็นสินค้าส่งออกก็มีหลากหลายประเภท เช่น ช้าง ส่งออกไปยังอินเดีย ซึ่งเป็นช้างที่ได้รับการฝึกจนเชื่อง ปีหนึ่งส่งออกราวสามถึงสี่ร้อยเชือกก็มี นอกจากนี้ยังขาย ไม้กฤษณา แร่ หมาก เครื่องเคลือบ พริกไทย และอำพัน เป็นต้น
อาหารการกิน
ตลอดระยะเวลาที่คณะราชทูตอยู่ในพระราชสำนักของพระนารายณ์ พระองค์ทรงให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติ ทั้งที่พักและอาหารการกินก็อยู่ในขั้นหรูหราทีเดียว ในงานเลี้ยงต้อนรับอิบรอฮีมบันทึกถึงงานในวันนั้นว่า
“เมื่อเราเข้าไปในพระราชวัง ก็เห็นมีหมอนอิงเล็กใหญ่วางเรียงรายไว้ต้อนรับพวกเรา ท่านอิบรอฮีม เบก ได้สูบมอระกู่เงิน เขาอบห้องให้หอมด้วย เมื่อรับประทานกาแฟและน้ำชาแล้ว ก็ถึงเวลารับประทานอาหาร มีจานหลายขนาด มีถ้วยเงิน มีขนมหวาน ผักและพริดดอง ขิงดอง ข้าวกวนน้ำนม นมร้อน น้ำส้ม อ้อย น้ำหวาน นี่เป็นเพียงชุดแรก ต่อมามีอีกห้าสิบสำรับ…”
นอกจากนี้ อิบรอฮีม ยังบันทึกเกี่ยวกับอาหารของชาวสยามไว้อีกว่า
“…แปลกที่ว่าตลอดชีวิตชาวสยามไม่กินน้ำมัน ไม่รีดนม ไม่ทำเนย เขาถือว่าอาหารเหล่านี้เป็นบาป…ชาวสยามกินข้าวเป็นอาหารหลัก ไม่เติมเกลือ เนื้อหรือเครื่องเทศ แต่เขากินกับหัวปลาต้ม แทบทุกชั้นมีอาหารเช่นนี้เป็นหลัก ถ้าพบสัตว์ที่ตายเอง ไม่ว่าเป็นชนิดใด แม้เป็นวัวแก่ตายแล้วหลายวัน เขาก็จะพากันแล่เนื้อเอาไปกิน เขาจะไม่ฆ่าสัตว์เพื่อปรุงอาหาร เพราะถือว่าเป็นบาปหนัก ถ้าเขาจะเลี้ยงต้อนรับแขก ก็บีบคอนก (ไก่?) จนมันตาย แล้วก็เอาไปต้มใส่เครื่องชูรสหรือน้ำมันบ้าง แล้วก็กินกัน แม้แต่เวลานี้ก็ยังกินแย้ปิ้งและงู จะเห็นมีวางขายตามตลาด แทนที่จะเห็นเนื้อแกะ อาหารอีกชนิดหนึ่งคือเนื้อเต่า ชาวสยามไม่เว้นกินสัตว์ทะเลหรือสัตว์ป่า มีชาวสยามพวกหนึ่งกินเนื้อช้างและหมาป่า”
อ่านเพิ่มเติม :
- ราชทูตกษัตริย์สุลัยมานบันทึกชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) ช่วย “พระนารายณ์” ยึดบัลลังก์อยุธยา
-
ทูตเปอร์เซียเล่าเหตุ คนกรุงศรี “ตกตะลึง” เมื่อกษัตริย์สั่งรีดนมควายทำเนย!
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 มกราคม 2563