กำเนิดฟอร์ด รถไม่สนกำไร (มาก) ทำมาให้คนไม่ใช่เศรษฐี ต้นตอสู่หนัง Ford v Ferrari

เฮนรี่ ฟอร์ด ภรรยา รถโมเดลแรกของฟอร์ด
เฮนรี่ ฟอร์ด และภรรยา บนรถโมเดลแรกของฟอร์ด เมื่อปี 1896 ภาพจาก FRANCE PRESSE / AFP

ในธุรกิจรถยนต์ทุกวันนี้ ถ้าจะถามว่าวันหนึ่ง ๆ มีจํานวนรถยนต์ออกสู่ท้องตลาดกี่คัน คงบวกลบคูณหารกันไม่เสร็จ ด้วยศักยภาพในการผลิตนั้นว่ากันเป็นชั่วโมง โดยมีระบบสายพานเข้ามาเป็นตัวส่งต่อวัสดุในการประกอบรถยนต์ ประสานกับเทคโนโลยีอันก้าวหน้าของเครื่องจักรกล ซึ่งผู้ที่มีส่วนสําคัญในการพัฒนาระบบการผลิตรถยนต์ก็คือ เฮนรี่ ฟอร์ด ผู้ให้กําเนิดรถยนต์ฟอร์ดนั่นเอง

เฮนรี่ ฟอร์ด มีพื้นเพอยู่ในตระกูลกสิกรรมในมลรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เขาออกจากบ้านเมื่ออายุได้ 16 ปี เดินทางเป็นระยะทางถึง 5 ไมล์เพื่อเข้ามาหางานทําในเมืองดีทรอยต์ โดยเริ่มงานที่ร้านผลิตเครื่องยนต์แห่งหนึ่ง กระทั่งก้าวเข้าสู่วงการผลิตรถยนต์เต็มตัว

ความที่เป็นคนถ่อมตน เขาไม่สนใจกับคําแนะนําที่ว่าถ้าต้องการทํากําไรมาก ๆ ในวงการรถยนต์ ต้องผลิตรถยนต์เพื่อเศรษฐี กลับมุ่งผลิตรถยนต์เพื่อประชาชนทั่วไป โดยมีพื้นฐานความคิดที่ว่าคนที่ผลิตรถยนต์น่าจะสามารถเป็นเจ้าของรถยนต์ได้เช่นกัน

และแล้วความฝันของเขาก็เริ่มบรรลุผล เมื่อรถยนต์รุ่นโมเดล ที ของเขาออกสู่ตลาดใน ค.ศ. 1908 ไม่นานก็เป็นที่นิยมอย่างล้นหลามราวกับเป็นรถยนต์ของชาวอเมริกัน

ฟอร์ดเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ขึ้น โดยความตั้งใจที่จะให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคของมวลชนอย่างแท้จริง เขาคิดว่าถ้าสามารถทําให้โรงงานของตนเองผลิตรถยนต์ได้เป็นจํานวนมากในราคาขายที่ต่ำ ทุกคนจะสามารถซื้อหามันได้

ระบบแฟรนไชส์ที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักจากธุรกิจแมคโดนัลด์ แฮมเบอร์เกอร์ ของเรย์ คร็อก นั้น ก่อนหน้านั้นราวครึ่งศตวรรษฟอร์ดได้นํามาใช้แล้ว เพื่อกระจายส่วนการขายและการให้บริการรถยนต์ฟอร์ด เป็นผลให้ในปี 1912 ฟอร์ดมีดีลเลอร์มากถึง 7,000 รายทั่วประเทศ พร้อมกับผลักดันให้มีสถานีแก๊สทั่วประเทศ เพื่อดูแลและให้บริการแก่ลูกค้าฟอร์ด ไม่เพียงเท่านั้น ความใส่ใจต่อลูกค้าของเขายังครอบคลุมไปถึงเรื่องสภาพถนน ถนนขรุขระแปรสภาพเป็นระบบถนนไฮเวย์ระหว่างรัฐก็เพราะเขา

จริงๆ แล้วความเก่งกาจของฟอร์ดไม่ได้อยู่ที่เรื่องการประดิษฐ์รถยนต์ แต่เป็นเรื่องการสร้างกระบวนการผลิตมากกว่า สาเหตุประการหนึ่งมาจากนิสัยที่เป็นสารพัดช่างของเขา ชอบแก้โน่นแก้นี่ สามารถหยิบเอาเศษเหล็กมาประกอบเป็นรถยนต์ได้

ดังเช่นในปี 1891 เขาเคยเอารถสองคันมาเชื่อมเข้าด้วยกัน และโมเดล ที ก็เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้โลกตระหนักถึงความเป็นนักประดิษฐ์ของเขาที่สามารถเชื่อมเทคโนโลยีเข้ากับการตลาดได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะระบบการประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ โดยอาศัยสายพานเป็นตัวส่ง ต่อวัตถุดิบแต่ละชิ้นให้กับคนงานแต่ละส่วนประกอบกันเป็นรถยนต์คันหนึ่ง ทําให้ศักยภาพการผลิตรถยนต์ของฟอร์ดเป็นไปได้สูงถึง 93 นาทีต่อการผลิตรถยนต์หนึ่งคัน

ปีนั้นเอง (ค.ศ. 1914) ฟอร์ดก็ทําให้ทั่วโลกตื่นตะลึงอีกครั้ง เมื่อเขาปรับอัตราค่าจ้างเป็นวันละ 5 ดอลลาร์เป็นอย่างต่ำ เทียบกับค่าจ้างทั่วไปในอุตสาหกรรมรถยนต์ 2.34 ดอลลาร์ต่อการทํางานวันละ 9 ชั่วโมง ไม่เพียงการเพิ่มค่าจ้างเป็นเท่าตัว เขายังลดชั่วโมงการทํางานลง ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์ต่างๆ นานา ขนาดที่หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal เรียกการกระทําเช่นนี้ว่า เป็นการฆาตกรรมเศรษฐกิจ

แน่นอน กับตัวฟอร์ดเอง การเพิ่มค่าจ้างสูงขึ้นเป็นเท่าตัวไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด ในเมื่อเขามีค่าใช้จ่ายที่ต่ำเมื่อเทียบกับจํานวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในแต่ละวัน ตรงกันข้าม กลับเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้คนจํานวนมากมีโอกาสซื้อรถยนต์มากขึ้น จึงไม่แปลกเลยที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผู้คนจํานวนมากพากันเดินทางมาที่เมืองดีทรอยต์ ด้วยความหวังว่าจะได้เป็นลูกจ้างในโรงงานสักแห่งของฟอร์ด เพราะนั่นหมายถึงว่าพวกเขาจะสามารถมีรถยนต์เป็นของตนเองได้

อย่างไรก็ตาม โมเดล ที แม้จะเป็นความสําเร็จที่ยิ่งใหญ่ของเฮนรี่ ฟอร์ด แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นเหมือนโซ่ตรวนที่จองจําความคิดสร้างสรรค์ของเขา

ความจําเจในรูปแบบเดิม ๆ ของฟอร์ดทําให้ผู้คนเริ่มหันไปหาความแตกต่าง ที่สุดเจเนอรัล มอเตอร์ โดย อัลเฟรด พี. สโลน ก็ก้าวขึ้นมาช่วงชิงความเป็นที่หนึ่งของโลกรถยนต์ไปจากฟอร์ด สโลนได้รวมบริษัทผู้ผลิตรถยนต์มากมาย ผลิตรถยนต์ออกมาในหลากรูปแบบ หลายราคา เพื่อตอบสนองรสนิยมของคนทุกระดับ

ทั้งนี้ ธุรกิจของฟอร์ดยังคงสืบทอดต่อมาได้ก็เพราะเฮนรี่ ฟอร์ด จูเนียร์ ที่เข้ามาบริหารงานต่อจากปู่ แม้จะผาดโผนในแบบฉบับของเขา แต่กับรถยนต์รุ่นแรก ก็ทําให้ฟอร์ดกลายเป็นบริษัทแรกที่สามารถผลิตรถยนต์ออกมาในช่วงหลังสงคราม อันเป็นผลพวงมาจากชื่อเสียงแต่เดิม ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่ามีถนนที่ไหน มีฟอร์ดที่นั่น ฟอร์ดสามารถขยายอาณาจักรไปถึง 33 ประเทศ เป็นที่รู้จักทั่วโลก

แม้ว่า เฮนรี ฟอร์ด จะจากโลกนี้ไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ ด้วยวัย 83 ปี แต่ชื่อของเขายังคงเป็นประวัติศาสตร์แห่งโลกอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกัน

เหนืออื่นใด ถ้าไม่มีเฮนรี่ ฟอร์ด คนที่พยายามผลิตรถยนต์เพื่อตลาดมวลรวมแล้ว อเมริกาก็คงไม่มีชนชั้นกลางอย่างทุกวันนี้

เก็บความจาก นิตยสารไทม์ ฉบับวันที่ 9 ธันวาคม 2541

ปล. ภายหลังฮอลลีวูดหยิบเรื่องราวที่อ้างอิงบุคคลเฮนรี่ ฟอร์ด ที่ 2 หลานชายของ “เฮนรี่ ฟอร์ด” ซึ่งเฮนรี ฟอร์ด ที่ 2 เคยพยายามเจรจาซื้อ “เฟอร์รารี่” เพื่อขยับขยายที่ทางของ “ฟอร์ด” ในแวดวงแข่งรถโดยรวม และที่เน้นคือในรายการ “Le Mens 24 Hours” แต่การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ จึงทำให้เฮนรี่ ฟอร์ดที่ 2 ออกคำสั่งให้แผนกรถแข่งของบริษัท ออกแบบรถที่จะทำให้พวกเขาขย่มบัลลังก์เฟอร์รารี่ในสนามแข่ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “มีถนนที่ไหนมีฟอร์ดที่นั่น : บิดาแห่งอุตสาหกรรมอเมริกัน ศตวรรษที่ 20” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ธันวาคม 2562