เผยแพร่ |
---|
ช่วงปลายปี 2019 ยังมีภาพยนตร์ที่หยิบยกกษัตริย์องค์สำคัญของประวัติศาสตร์อังกฤษมาพูดถึง กษัตริย์องค์ที่ว่าก็คือพระเจ้าเฮนรีที่ 5 ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันต่อมาถึงการศึกอันลือลั่นกับฝรั่งเศส แน่นอนว่ามันกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ชื่อ The King โดย Netflix ด้วย
ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ไม่เคยห่างหายไปจากหน้าสื่อ ถ้าลองเปิดรายชื่อไล่เรียงผลงานเชิงบันเทิงคดีในวงการบันเทิงซึ่งเป็นเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จริง คงจะเห็นว่าอัตราส่วนอาจไม่มากนัก แต่ในแง่ความต่อเนื่อง ผลงานเหล่านี้ปรากฏอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
The King เข้าฉายทางสตรีมมิง Netflix และโรงภาพยนตร์บางแห่งตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวของตัวละครหลักคือพระเจ้าเฮนรีที่ 5 นำแสดงโดยนักแสดงวัยรุ่นขวัญใจหญิงสาวอย่าง Timothée Chalamet เนื้อเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้พระองค์ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเฮนรีที่ 4 มาจนถึงการศึกครั้งสำคัญกับฝรั่งเศส ซึ่งเดิมทีแล้วเป็นสงครามที่ดำเนินมายาวนานจนได้รับขนานนามว่าสงครามร้อยปี และในรัชสมัยของพระองค์นั่นเองที่สงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสได้ข้อยุติ (ในช่วงระยะหนึ่ง)
***ข้อมูลบางส่วนอาจเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์ The King (ที่อ้างอิงจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์)***
ข้อเท็จจริงในภาพยนตร์นี้ก็เป็นเช่นเดียวกับสื่อบันเทิงที่อ้างอิงเนื้อหาจากเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ที่ต้องค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบกับเหตุการณ์จริงอยู่เสมอ นอกเหนือจากประเด็นที่เป็นปมให้ชาวเน็ตแซวเล่นอย่างเรื่องสำเนียงฝรั่งเศสของโรเบิร์ต แพททินสัน (Robert Pattinson) นักแสดงหนุ่มหล่อผู้รับบทเป็นหลุยส์ แล้ว ยังมีข้อมูลอีกหลายประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์
โครงเรื่อง
เนื้อเรื่องในเบื้องต้น ภาพยนตร์ก็อ้างอิงโครงเรื่องส่วนหนึ่งจากบทละครอิงประวัติศาสตร์ของเชกสเปียร์ (Shakespeare) ในชุดที่รู้จักกันในชื่อ The Henriad เชกสเปียร์ เขียนขึ้นโดยปรุงแต่งเนื้อเรื่องจากเหตุการณ์ในราชวงศ์อังกฤษช่วงศตวรรษที่ 15
ผลงานของเชกสเปียร์ เอ่ยถึงยุคพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 มาจนถึงพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ส่วนที่ 1 และ 2 ตามมาด้วยพระเจ้าเฮนรีที่ 5 และอื่นๆ โดยรวมแล้วบทละครนี้บอกเล่าถึงพัฒนาการด้านอิทธิพลของสายแลนแคสเตอร์ แห่งอังกฤษในศตวรรษที่ 15 ซึ่งเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นล้วนแล้วสะท้อนถึงการเมือง การทูต สงคราม และการทรยศหักหลังกัน
อ่านเพิ่มเติม : ย้อนดูต้นฉบับ Game Of Thrones “สงครามดอกกุหลาบ” 30 ปี ชิงอำนาจ-ทรยศ-แปรพักตร์
ตัวละคร
โดยส่วนใหญ่แล้ว ตัวละครในภาพยนตร์มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ แต่ก็มีบางรายที่อ้างอิงจากบทละครมา อาทิ เซอร์จอห์น ฟอลสตาฟฟ์ (Sir John Falstaff) ซึ่งภาพยนตร์อ้างอิงบุคคลนี้จากตัวละครที่ได้รับความนิยมจากบทละครของเชกสเปียร์ ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ เกี่ยวกับเซอร์จอห์น ในบันทึกทางประวัติศาสตร์เลย แน่นอนว่านี่เป็นตัวละครในจินตนาการ (นั่นย่อมบอกได้ว่าไม่จำเป็นต้องอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเซอร์จอห์น กับ “ฮัล” หรือพระเจ้าเฮนรีที่ 5 ตามที่ปรากฏในภาพยนตร์อีกด้วย)
ในบทละครของเชกสเปียร์ เอ่ยถึงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นแบบพี่น้องระหว่างทั้งคู่ กระทั่งฮัล ขึ้นเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 5 (ครองราชย์ 1413-1422) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระองค์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเซอร์ จอห์น และอดีตคนสนิทก็ถูกเขียนในบทละครให้เสียชีวิตลงในภายหลังโดยไม่ได้มีคำอธิบายอื่นเพิ่มเติม
หากเอ่ยถึงตัวละครหลักในเรื่องแล้ว ในความเป็นจริง ฮัล ไม่ได้มีสิทธิครองบัลลังก์อังกฤษแบบเต็มตัวแต่แรกด้วยซ้ำ
พระเจ้าเฮนรีที่ 5 ประสูติที่ชายแดนระหว่างเวลส์กับอังกฤษ (ปีที่พระราชสมภพก็ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเป็น 1386 หรือ 87) พระองค์ยังไม่ได้เป็น “เจ้าชาย” แห่งมอนมอธ และเรียกกันว่า “เฮนรีแห่งมอนมอธ” แม้ว่าพระองค์จะสืบสายมาจากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ก็จริง แต่เป็นเพียงทายาทของพระราชโอรสองค์ที่ 3 ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 โอกาสที่ฮัล จะขึ้นครองราชย์ได้ บุคคลที่มีสิทธิก่อนหน้าต้องลาโลกไปแล้วถึง 5 ราย แต่พระราชบิดาของฮัล หรือพระเจ้าเฮนรีที่ 4 (เดิมทีคือ เฮนรีแห่งโบลิงโบรก) ไม่ได้ดำเนินตามประเพณีนั้น พระองค์ยึดครองบัลลังก์จากพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ภายหลังจากเกิดความขัดแย้งภายใน
ความสัมพันธ์ระหว่าง “ฮัล” กับพระเจ้าเฮนรีที่ 4
แม้ว่าพระราชบิดาของฮัล จะได้เป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แต่ดังเช่นในภาพยนตร์ (และบทละครของเชกสเปียร์ ที่ถูกใช้เป็นแหล่งอ้างอิง) หนังเล่าความสัมพันธ์ระหว่างฮัลกับ เฮนรีแห่งโบลิงโบรก (Bolingbroke) ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น ในภาพยนตร์กับบทละครของเชกสเปียร์ ก็มีรายละเอียดในช่วงบั้นปลายของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ซึ่งแตกต่างกัน
ในบท “พระเจ้าเฮนรีที่ 5” ของเชกสเปียร์ พระเจ้าเฮนรีที่ 4 เสียพระทัยเมื่อทอดพระเนตรว่า ฮัล คิดว่าพระองค์สวรรคตแล้วและหยิบมงกุฎของพระองค์ไป ทั้งที่พระองค์แค่บรรทม อย่างไรก็ตาม ทั้งสองพระองค์สามารถคืนดีกันหลังจากฮัล เผยความในใจถึงความรักที่มีต่อพระราชบิดาในซีนหนึ่งจนพระเจ้าเฮนรีที่ 4 พระราชทานมงกุฎของพระองค์ให้ฮัล
ส่วนในภาพยนตร์ ฮัล ไม่ได้ตรัสเรื่องเชิงบวกต่อพระราชบิดาในช่วงบั้นปลาย…
ส่วนข้อมูลตามหลักฐานจริง ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ค่อนข้างซับซ้อน ในวัยเด็ก ฮัลใช้เวลา 2 ปีอยู่ในสถานะ “แขก” หรืออีกนัยหนึ่งคือตัวประกันในราชสำนักของพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ขณะที่ “เฮนรีแห่งโบลิงโบรก” พระราชบิดา (ซึ่งภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แทนพระเจ้าริชาร์ดที่ 2) ถูกพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 เนรเทศจากเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง กระทั่งปี 1399 เฮนรีเดินทางกลับอังกฤษและยึดบัลลังก์จากพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 แล้วขึ้นปกครองในสถานะพระเจ้าเฮนรีที่ 4 นี่เป็นข้อเท็จจริงภูมิหลังหนึ่งซึ่งอาจนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนไม่ราบรื่นระหว่างทั้งสองพระองค์ตามที่คนรุ่นหลังอ้างอิงกันต่อไป
“เพอร์ซีย์” ผู้ห้าวหาญ และโธมัส
ขณะที่ในวัยหนุ่ม ฮัล มีประสบการณ์ในการคุมกำลังทหารออกรบในเวลส์ ร่วมกับพระราชบิดาในการศึกกับ “เฮนรี่ ‘ฮอตสเปอร์’ เพอร์ซีย์” หรือที่เรียกว่า “ยุทธการแห่งชรูว์สเบอรีย์” (Battle of Shrewsbury) เมื่อปี 1403 และในช่วง 18 เดือนระหว่างปี 1410-11 เฮนรี ดูแลราชการแผ่นดินแทนที่พระราชบิดาที่ประชวรด้วย
อย่างไรก็ตาม ในภาพยนตร์ฉายภาพการดวลตัวต่อตัวระหว่างฮัล กับเพอร์ซีย์ แม้ภาพยนตร์จะฉายภาพเพอร์ซีย์ เป็นนักรบที่ห้าวหาญ แต่ในข้อเท็จจริง นักประวัติศาสตร์ชี้ว่าการศึกนั้น เพอร์ซีย์ สิ้นชื่อจากธนู นักวิชาการอธิบายกันว่า เฮนรี เองก็เกือบไม่รอดจากธนูเช่นกัน โดยฮัล บาดเจ็บจากธนูที่สร้างบาดแผลและอาการบาดเจ็บสาหัสบนใบหน้า แต่ด้วยการดูแลอย่างดีทำให้ฮัล รอดมาได้ (แต่แน่นอนว่าต้องทนกับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส) ชัยชนะในศึกครั้งนั้นทำให้บัลลังก์ของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 มั่นคงขึ้น
ในภาพยนตร์ยังเอ่ยถึงโธมัส น้องชายของเฮนรี ด้วย แต่ในประวัติศาสตร์แล้ว โธมัส ไม่ได้เป็นน้องชายวัยเยาว์ตามบุคลิกตัวละครในภาพยนตร์ (จะกล่าวถึงในส่วนต่อไป)
การเมืองและการรบกับฝรั่งเศส
ส่วนในบริบทสถานการณ์ทางการเมืองและความสัมพันธ์กับประเทศคู่ปรับ ช่วงพระเจ้าเฮนรีที่ 5 เป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์ฝรั่งเศสประสบปัญหาขัดแย้งกันเองภายใน ระยะเวลาระหว่างค.ศ. 1407-1435 สถานการณ์ช่วงหนึ่งในเวลานั้นแทบเปรียบเสมือน “เสียงชักชวน” กษัตริย์อังกฤษให้เข้าสถาปนาการปกครองเหนือบัลลังก์แห่งฝรั่งเศสภายหลังพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 5 ในค.ศ. 1413 เมื่อการเจรจากับฝรั่งเศสไม่สามารถลุล่วงได้ และลงเอยด้วยการทำสงคราม เหตุการณ์จึงนำมาสู่การศึกใหญ่ช่วงท้ายภาพยนตร์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์ว่า “ยุทธการแอกินคอร์ท” (Battle of Agincourt) ในปี 1415
ยุทธการนี้เป็นอีกหนึ่งชัยชนะของอังกฤษใน “สงครามร้อยปี” ซึ่งปรากฏอยู่ในผลงานของเชกสเปียร์ โดยหลังจากอังกฤษตัดสินใจทำสงครามกับฝรั่งเศส เมื่อยกทัพมาถึงดินแดนฝรั่งเศสก็สามารถยึดเมืองท่า Harfleur แต่หลังจากนั้นกองทัพอังกฤษก็ประสบปัญหาทหารล้มป่วย ขณะที่กองทัพอังกฤษต้องใช้กำลังพลส่วนหนึ่งไว้รักษาที่มั่นซึ่งยึดไว้ได้ด้วย สถานการณ์นี้ทำให้กองทัพอังกฤษอ่อนกำลังลงทั้งแง่จำนวนและทางข้อได้เปรียบในสงคราม
แต่ในการศึกสำคัญ กองทัพอังกฤษที่นำโดยพระเจ้าเฮนรีที่ 5 ยังมีชัยเหนือกองทัพฝรั่งเศสจนได้ เอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งสหราชอาณาจักร (The U.K.’s National Archives) บรรยายสถานการณ์ในศึกครั้งนั้นคล้ายกับรายละเอียดที่ปรากฏในภาพยนตร์ The King ด้วยสภาพอากาศในช่วงก่อนวันสู้รบซึ่งน่าจะมีฝนตกลงมาจนผิวดินกลายสภาพเป็นโคลน กองทัพฝรั่งเศสที่เคลื่อนทัพไปข้างหน้าไม่สามารถรักษาสมดุลไว้ได้ กองทัพอังกฤษจึงได้เปรียบในการสู้รบและได้ชัยในศึกครั้งนี้
ภาพลักษณ์ของพระเจ้าเฮนรีที่ 5 จากภาพวาดหรือในสื่อบันเทิงจะสะท้อนพระองค์ในแง่ชายหนุ่มร่างผอมบาง แต่หากอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จะพบว่า ตลอดรัชสมัยของพระองค์ พระเจ้าเฮนรีที่ 5 ทรงทำศึกกับฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง นักวิชาการจึงมักขนานนามพระองค์ว่า “กษัตริย์นักรบ” อีกพระองค์หนึ่ง โดยเฉพาะศึกที่ถูกพูดถึงกันมากในครั้งนี้ และปรากฏในภาพยนตร์ อันเป็นศึกที่พระองค์มีกำลังน้อยกว่า คาดว่าทัพฝรั่งเศสมีกำลังพลไม่ต่ำกว่าหมื่นนาย ส่วนทัพของพระเจ้าเฮนรีที่ 5 มีกำลังพลหลักพันปลายๆ ไม่เกินหมื่น อีกทั้งยังอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ ทหารอยู่ในสภาพเหนื่อยล้าจากการเดินทางยาวไกล
สิ่งที่ทำให้กองทัพอังกฤษได้เปรียบเสมอคือ “พลธนู” พระเจ้าเฮนรีที่ 5 นิยมให้มีพลธนู 3 นายต่อทหารเดินเท้า 1 นาย ขณะที่อัตราส่วนพลธนูในทัพฝรั่งเศสคาดว่า น่าจะอยู่ที่พลธนู 1 นายต่อทหารเดินเท้า 1 นาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลอย่างมากต่อการรบ พลธนูอังกฤษในยุคกลางเปรียบเสมือน “ปืนกล” ในสมัยใหม่ และมันสร้างความเสียหายให้กองทัพฝรั่งเศสอย่างมากด้วย
ในขณะเดียวกัน การรบก็ไม่ได้สะท้อนถึงความโหดร้ายและรุนแรงของนักปกครองเท่านั้น พระเจ้าเฮนรีที่ 5 ยังแสดงให้เห็นว่า พระองค์ชนะใจผู้ถูกปกครองด้วย
หลุยส์
การรบครั้งนี้ถูกถ่ายทอดด้วยฉากใหญ่ในภาพยนตร์ และมีบทของ “หลุยส์” (Duke of Guyenne) รับบทโดยโรเบิร์ต แพททินสัน หลุยส์ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 และหากย้อนกลับไปในรายละเอียดของภาพยนตร์ (และบทของเชกสเปียร์) ศึกครั้งนี้ถูกบอกเล่าว่าเกิดขึ้นเพราะส่วนหนึ่งมาจากหลุยส์ ส่งลูกบอลไปให้เฮนรีที่ 5 แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งอธิบายว่า ไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ถึงเหตุการณ์นี้ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส ขณะที่หลุยส์ เองก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการรบครั้งนั้น หลุยส์เสียชีวิตจากอาการป่วย
หลังจากได้ชัยในศึกครั้งสำคัญ พระเจ้าเฮนรีที่ 5 สามารถขยายอาณาเขตการครอบครองฝรั่งเศสได้เพิ่มขึ้นอีก กระทั่งในเดือนพฤษภาคมปี 1420 อังกฤษและฝรั่งเศสได้ข้อตกลงเป็นสนธิสัญญาตรัวส์ (Treaty of Troyes) รายละเอียดมีระบุถึงการอภิเษกสมรสระหว่างกษัตริย์เฮนรีที่ 5 กับแคเธอรีนแห่งแวลัวส์ พระธิดาของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 6 ที่ปกครองฝรั่งเศสในเวลานั้น และให้กษัตริย์เฮนรีที่ 5 (และรัชทายาท) มีสถานะเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ฝรั่งเศสต่อจากกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 6
ในภาพยนตร์ฉายภาพพระเจ้าชาร์ลสที่ 6 เล็กน้อย หากขยายความมากขึ้น เชื่อกันว่า ช่วงปลายรัชสมัย พระองค์ประชวรทางจิต มีปัญหาเรื่องความจำ ในบันทึกของโป๊ปที่มีชีวิตอยู่ในยุคสมัยของพระองค์อ้างว่า ช่วงเวลาหนึ่ง กษัตริย์ชาร์ลสที่ 6 คิดว่าร่างกายของตัวเองทำจากแก้ว และพยายามหาทางป้องกันตัวเอง ไม่ให้ “แก้ว” แตกเสียหาย
หลังการอภิเษกสมรสและมีช่วงเวลาฮันนีมูนกันพักหนึ่ง พระเจ้าเฮนรีที่ 5 และแคเธอรีน เสด็จฯ กลับอังกฤษ ประกอบพิธีขึ้นเป็นพระราชินีในเดือนกุมภาพันธ์ 1421 แต่หนึ่งเดือนให้หลัง ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่แคเธอรีนตั้งครรภ์ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันในฝรั่งเศส เมื่อโธมัส ดุ๊กแห่งคลาเรนส์ (Duke of Clarence) สิ้นพระชนม์ในการรบกับกองทัพฝรั่งเศสที่ Bonjou ฝั่งกองทัพฝรั่งเศสจัดตั้งโดยกลุ่มโดแฟง (The Dauphin) ซึ่งเป็นรัชทายาทเดิมผู้ถูกตัดออกจากสิทธิในการครองบัลลังก์ฝรั่งเศสและร่วมมือกับกองทัพชาวสกอต
โธมัส คือเจ้าชายของอังกฤษ โดยพระองค์เป็นพระราชโอรสคนที่ 2 ของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 สันนิษฐานว่า โธมัส อยู่ในวัย 33 ปี พระเจ้าเฮนรีที่ 5 เสด็จฯ มาที่ฝรั่งเศสเพื่อหวังกอบกู้สถานการณ์ทำให้พระองค์ไม่ได้เจอหน้าพระราชโอรสที่ประสูติในเดือนธันวาคม
ภายหลังพระองค์เสด็จถึงก็เริ่มกอบกู้สถานการณ์ได้นับตั้งแต่ปี 1421-1422 แต่เมื่อปี 1422 ซึ่งแคเธอรีน เสด็จฯ มาสมทบกับพระเจ้าเฮนรีที่ 5 กลับกลายเป็นการพบเจอที่ไม่ได้เป็นข่าวดี พระเจ้าเฮนรีที่ 5 ประชวรด้วยอหิวาตกโรค และสวรรคตในวันที่ 31 สิงหาคม 1422
ไม่ถึง 2 เดือนหลังข่าวร้ายของพระเจ้าเฮนรีที่ 5 พระเจ้าชาร์ลสที่ 6 แห่งฝรั่งเศสก็สวรรคตลง การที่กษัตริย์ชาลส์ที่ 6 และกษัตริย์เฮนรีที่ 5 สวรรคตในเวลาไล่เลี่ยกัน ขณะที่กษัตริย์เฮนรีที่ 6 ของอังกฤษยังอยู่ในวัยแบเบาะ มกุฎราชกุมารชาร์ลส์ก็ลุกขึ้นมาอ้างสิทธิสืบบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา ทั้งพระเจ้าเฮนรีที่ 6 (ในวัย 9 เดือน) และชาร์ลสที่ 7 แห่งฝรั่งเศส (ในวัย 17 พรรษา) ต่างอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศส ทั้งสองพระองค์ยังไม่ได้ขึ้นครองบัลลังก์จนกระทั่ง “โจนออฟอาร์ก” (Jeanne d’Arc ในภาษาฝรั่งเศส) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรบจนทำให้ชาร์ลสที่ 7 ประกอบพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสในปี 1429 ภายหลังจากนั้นอีก 4 เดือน เฮนรีที่ 6 จึงประกอบพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์อังกฤษ
คลิกอ่านเพิ่มเติม : 30 พ.ค. 1431: “โจนออฟอาร์ก” ไพร่สาวผู้กอบกู้ฝรั่งเศส ถูกเผาทั้งเป็น
สถานการณ์หลังจากนั้นจึงเริ่มเป็นฝ่ายฝรั่งเศสที่ค่อยๆ ยึดดินแดนคืนจากอังกฤษ ในช่วงหลังของสงครามร้อยปีก็พลิกกลับกลายเป็นช่วงเวลาของฝรั่งเศส หากมองย้อนกลับไป แม้ว่ารัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 5 จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ความสำเร็จในด้านการปกครองและการรบของพระเจ้าเฮนรีที่ 5 เป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์ทั้งผ่านหลักฐานและบันทึกที่อิงประวัติศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทละครของเชกสเปียร์ อันทำให้ผู้คนคุ้นเคยกับภาพจำจากตัวละครในเรื่องได้ง่ายขึ้น
เนื้อเรื่องในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ยังปรากฏในผลงานของเชกสเปียร์เช่นกัน ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจได้เห็นภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวในยุคต่อมาก็เป็นได้
คลิกอ่านเพิ่มเติม : “หย่า-ประหาร-ตาย-รอด” ชะตากรรมพระราชินี 6 พระองค์ในพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ
อ้างอิง :
BICHENO, HUGH. Battle Royal. London : Head of Zeus Ltd, 2015.
BURWICK, KEVIN. “Viewers Are Calling Robert Pattinson’s Accent in Netflix’s The King Terrible and Confusing”. Movieweb. Online. Published 3 NOV 2019. ACCESS 13 NOV 2019. <https://movieweb.com/robert-pattinson-french-accent-the-king-netflix/>
BUNYAN, RACHAEL. “The True Story Behind the Netflix Movie The King”. Time. Online. Published 25 OCT 2019. ACCESS 13 NOV 2019. <https://time.com/5707035/the-king-netflix-true-story/>
LAMANTIA, BROOKE. “So…This Is the True Story of Timothée Chalamet’s New Movie ‘The King’”. Cosmopolitan. Online. Published 1 NOV 2019. ACCESS 13 NOV 2019. <https://www.cosmopolitan.com/entertainment/movies/a29667072/timothee-chalamet-the-king-netflix-true-story/>
NICOLAOU, ELENA. “How Much Of The King Is True?”. Refinery29. Online. Published 11 OCT 2019. ACCESS 13 NOV 2019. <https://www.refinery29.com/en-us/2019/10/8547525/is-netflix-the-king-true-story-real-king-henry-v-shakespeare>
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 11 สิงหาคม 2563