“จำสนม” และวิธีลงพระราชอาญาสมัยร.6 ที่แปลกแต่ไม่รุนแรง-ดูสัญลักษณ์ว่าพระองค์หายกริ้ว

พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 6 ทรงฉายร่วมกับหมู่ราชองครักษ์

ราชสำนักสยามในแต่ละรัชสมัยล้วนมีแบบแผนการปฏิบัติที่โดดเด่นแตกต่างกัน หากพูดถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 รัชสมัยนี้เป็นอีกช่วงหนึ่งที่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบที่น่าสนใจ ภายใต้การปรับเปลี่ยนนี้ก็มีเหตุการณ์ซึ่งถูกกล่าวขานกันต่อมาอย่างเรื่องวิธีลงพระราชอาญา และรูปแบบการลงทัณฑ์ซึ่งสืบเนื่องมาจากรัชสมัยก่อนหน้าพระองค์

หากกล่าวโดยคร่าวแล้ว นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ที่ศึกษาการราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 6 อย่างวรชาติ มีชูบท อธิบายแบบกระชับว่า ราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช มีลักษณะผสมผสานระหว่างตะวันออกกับตะวันตก คือแยกฝ่ายหน้าและฝ่ายในตามโบราณราชประเพณี อย่างไรก็ตาม พระองค์โปรดประทับทางฝ่ายหน้าตามวิถีครอบครัวอังกฤษยุควิคตอเรียที่แยกสังคมชายจากหญิง

เป็นที่ทราบกันดีว่าพระราชสำนักรัตนโกสินทร์ได้รับอิทธิพลมาจากอโยธยา พระราชสำนักฝ่ายในเป็นพื้นที่ส่วนพระองค์สำหรับพระมหากษัตริย์ บุคลากรในราชสำนักฝ่ายในที่ผ่านมามี “นางใน” เป็นพระราชสมบัติส่วนพระองค์ แต่วิทยานิพนธ์เรื่อง “นายใน : ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว” เมื่อปี 2554 โดยชานันท์ ยอดหงษ์ อธิบายสาเหตุที่พระราชสำนักของรัชกาลที่ 6 ไม่ได้มีนางในจำนวนมาก เป็นเพราะพระองค์ทรงรับอุปการะชายหนุ่มเป็นข้าราชบริพารมหาดเล็กรับใช้ส่วนพระองค์แทนการอภิเษกสมรส แต่พระองค์เริ่มมีพระมเหสี พระสนม พระคู่หมั้นเพิ่มขึ้นในช่วง 6 ปีสุดท้ายของรัชกาล

ดังนั้น ในช่วงเวลาหนึ่ง บทบาทหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้กษัตริย์อย่างใกล้ชิดจึงกลายเป็นหน้าที่ของมหาดเล็กชายหนุ่มที่พระองค์ทรงคัดเลือกและอุปการะ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่า “มหาดเล็ก” ไว้ว่า “ข้าราชการในราชสำนักมีหน้าที่รับใช้พระมหากษัตริย์, ผู้ที่รับใช้ประจำเจ้านาย หรือผู้ที่ถวายตัวเป็นผู้รับใช้เจ้านาย.”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงฉายร่วมกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี และพระนางเธอลักษมีลาวัณ

มหาดเล็ก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้ามีพระมหากรุณาแก่มหาดเล็กเด็กๆ เป็นอย่างมาก มีหลักฐานและเหตุการณ์ต่างๆ ที่บ่งชี้ว่า พระองค์ก็ทรงกวดขันเด็กๆ ให้รู้จักรักษาหน้าที่ รู้ผิดชอบด้วยพระองค์เอง หากมีมหาดเล็กที่ออกนอกลู่ทาง พระองค์จะเลือกวิธีลงทัณฑ์เด็กเหล่านั้นด้วยวิธีแปลกๆ ที่ทรงคิดได้ในแต่ละห้วงเวลา

ครั้งหนึ่งเมื่อเสด็จฯ ไปประทับที่นครปฐมในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการอำนวยการบูรณะพระปฐมเจดีย์ พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กเด็กๆ ตามเสด็จไปด้วย วันหนึ่ง ระหว่างทรงเสวยพระกระยาหารกลางวัน กรมวังกราบทูลว่า เด็กๆ ไปสถานีรถไฟ นั่งรุมล้อมอยู่ริมทางรถไฟ พอรถแล่นมาก็เอาสตางค์วางลงที่ราง รถไฟยังไม่ทันหยุดก็เอื้อมมือเข้าไปหยิบสตางค์ ซึ่งทำให้ทรงกริ้วและมีรับสั่งว่า

“เล่นหาที่ตาย ปล่อยให้เล่นอย่างนี้ไม่ได้ น่ากลัวมาก”

วรชาติ มีชูบท อธิบายว่า ทรงลงทัณฑ์กลุ่มเด็กที่ไปเล่นนั้น โปรดให้ยืนเรียงแถวที่เฉลียงตั้งแต่หน้าห้องทรงพระอักษรไปถึงอัฒจันทร์ทางขึ้นพระตำหนัก จากนั้นให้ทำท่าขับรถไฟพร้อมส่งเสียง “ชึ่ก-ชึ่ก-ชึ่ก” อย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ถ้าหยุดจะทรงลงพระราชอาญา “รถไฟ” ขบวนนี้ดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงประมาณบ่าย 3 โมง พระองค์เสด็จขึ้นบนพระตำหนัก เด็กก็เริ่มระดมเสียง “ชึ่ก-ชึ่ก-ชึ่ก” แต่ไม่มีเสียงออกจากลำคอเท่าใดนัก มือก็ทำท่าเปิดปิดคันขับเหมือนขับรถรางอย่างแข็งขันหวังจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ (คงเห็นแต่คนจับรถรางแต่ไม่เคยเห็นการขับรถไฟ)

อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงพระดำเนินผ่านขบวนรถไฟพิเศษ และเพียงชำเลืองพระเนตรพร้อมทรงพระสรวลเล็กๆ เท่านั้น เสด็จเข้าห้องทรงพระอักษรโดยไม่มีรับสั่งใดๆ ขบวนรถไฟพิเศษแล่นไปอีกราวชั่วโมงเศษถึงจะได้รับพระราชทานพระมหากรุณาให้ยุติขบวนพิเศษ

ในหลักฐาน “เอกสารประกาศกระแสพระราชดำริห์ในเรื่องเปนลูกผู้ชาย” ในวชิราวุธานุสรณ์สาร ปีที่ 4 ฉบับที่ 4 (11 พฤศจิกายน 2527) มีพระราชดำริถึงการลงโทษด้วยการตีหรือท่าทีขึงขังว่า

“น่าจะไม่เปนประโยชน์ เพราะลูกผู้ดีไม่ใช่สัตว์เดียรฉานที่จะบังคับบัญชาได้ด้วยอาญา ถึงแม้จะใช้อาญาเท่าใด ถ้าแม้ลูกผู้ดีจะเกิดมีทิฐิมานะขึ้นมาแล้วไซร้ จะห้ามปรามยึดเหนี่ยวไว้ไม่ได้เลย

แต่ถ้าแม้ว่าตัวลูกผู้ดีนั้นรู้สึกเห็นว่าสิ่งใดผิด ก็จะไม่พักให้ใครต้องใช้อาญา คงจะต้องรักตัวรักชื่อเสียงและอดสิ่งที่ชั่วที่ผิดนั้นเสียเอง”

คลิกอ่านเพิ่มเติมพระยาอนิรุทธเทวา มหาดเล็ก “คนโปรด” ในรัชกาลที่ 6 ที่ “งามเหมือนเทวามาจากสวรรค์”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : บทบาท-ความรักของเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) นายในคนโปรดของร.6ที่สตรีหลง

รัชกาลที่ 6 ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับราชองครักษ์ (ภาพจากหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพพระยาอนิรุทธเทวา)

“จำสนม”

ในงานเขียนของวรชาติ มีชูบท ยังมีบันทึกเกี่ยวกับการลงทัณฑ์ข้าราชการในพระราชสำนักอีกรายหนึ่งซึ่งเป็นโขนหลวงที่มีชื่อเสียงคือ “หลวงยงเยี่ยงครู” นามเดิมคือ จิ๋ว รามนัฎ เป็นผู้ฝึกโขนและเรียนหนังสือในสำนักเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ ได้เป็นโขนหลวงตั้งแต่อายุ 9 ปี แต่หลวงยงฯ มีเรื่องระหองระแหงกับน้องชายคือ ขุนชูกรเฉิด (มูล รามนัฎ) ความทราบถึงพระกรรณจึงทรงมีพระประสงค์ดัดนิสัยหลวงยงฯ ให้เลิกประพฤติไม่ดีไม่งาม หลวงยงฯ จึงเป็นอันต้องรับพระราชอาญาจำขังสนม

ความหมายของคำว่า “จำสนม” ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 อธิบายความหมายว่า “กักบริเวณในเขตพระราชฐานโดยอยู่ในความดูแลของพวกสนม” วรชาติ มีชูบท อธิบายเพิ่มเคิมว่า คำว่า “สนม” ในบริบทนี้หมายถึง “เขตพระราชฐาน” ดังนั้นจึงมีความหมายโดยรวมว่า กักบริเวณผู้มีฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ตลอดจนข้าทูลละอองธุลีพระบาทเฉพาะฝ่ายหน้าที่ต้องคำพิพากษาศาลรับสั่งกระทรวงวัง หรือต้องพระราชอาญาให้จำขังไว้ในเขตพระราชฐานฝ่ายหน้า

การจำสนมในยุคก่อนปฏิรูปการศาลและระบบราชทัณฑ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากผู้รับโทษเป็นพระราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ต้องทรงถูกพันธนาการด้วยเครื่องสังขลิก (ประกอบด้วย ตรวนใส่เท้า เท้าติดขื่อ โซ่ล่ามคอ คาไม้ใส่คอทับโซ่ สองมือสอดเข้าไปในคา)

บันทึกเกี่ยวกับการลงทัณฑ์ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ครั้งนั้นปรากฏในอนุสรณ์ “ศุกรหัศน์” มีใจความว่า

“…ในคราวไหว้ครูคราวนั้น ผู้มีชื่อของโขนหลวงผู้หนึ่ง คือ หลวงยงเยี่ยงครู กําลังต้องรับพระราชอาญาส่วนพระองค์ให้จําขังสนม ซึ่งไม่ใช่เป็นความผิดร้ายแรงอะไรนัก เป็นอย่างข้ากับเจ้าบ่าวกับนาย ลูกกับพ่อ ครูกับศิษย์ พระเจ้าอยู่หัวกับข้าราชบริพาร ซึ่งถือกันว่า ใครต้องรับพระราชอาญาส่วนพระองค์ เช่น ถูกกริ้ว ถูกเฆี่ยน ถูกขังสนม นับว่าเป็นผู้ที่ยังทรงพระมหากรุณาด้วยพระราชหฤทัยพระเมตตาเอ็นดูอยู่ มิฉะนั้นก็ไม่ทรงชุบเลี้ยงดังนี้

ในพิธีนี้เรียกว่า ยัญญะการ คือ บูชายัญ คือ เจ้าหน้าที่กรมสนมพลเรือน มีพระยาอัพภันตริกามาตย์ เจ้ากรม และพระอินทราทิตย์ พระจันทราทิตย์ ปลัดกรม พร้อมด้วยขุนหมื่นทนายเลือก (อย่าสงสัยอ่านว่าทนาย เลือกอย่างนั้น) 4 คน คือ หมื่นชุมสงคราม 1, หมื่นตามใจไท 1, หมื่นโจมใจอาจ 1, หมื่นฟาดเบื้องหล้า 1.

ท่าน 4 คนนี้แม้มีบรรดาศักดิ์เพียงหมื่น แต่ถือศักดินาสูงมาก ถึงคนละ 400 ซึ่งเท่ากับบรรดาศักดิ์เป็นพระในสมัยนั้น เพราะพวกนี้โดยหน้าที่เป็นเพชฌฆาตสําหรับทุบเจ้าด้วยท่อนจันทน์ เมื่อเวลาเจ้ากระทําผิดต้องรับพระราชอาชญา ถึงกับประหารชีวิต จึงต้องมีเกียรติสูง บรรดาศักดิ์พิเศษเหล่านี้มีแปลกๆ เช่น พันเงิน พันทอง ในกรมอภิรมย์ราชยาน ก็เหมือนกัน คือศักดินาตั้ง 800 เหมือนกัน สําหรับข้าราชการฝ่ายนอก เช่น ข้าราชการมหาดไทยก็มีบรรดาศักดิ์ซึ่งเป็นพันมีศักดินาสูงเหมือนกัน เช่น พันพุฒอนุราช พันเพาอัศวราช เป็นต้น

…ท่านเจ้าพนักงานสนมพลเรือน ก็จับหลวงยงเยี่ยงครูไปมัดไว้ด้วยด้ายดิบ คือ ด้ายอย่างใช้ตราสังศพ ที่เสาหลักกลางโรง มัดอย่างแบบจะประหารชีวิต เมื่อคุณครู พระยานัฏกานุรักษ์รําจบท่าแล้ว ก็พักบนก้นขันสาครใหญ่มีรูป 12 นักษัตร์ คือ รูปปีต่างๆ ตั้งแต่ชวด ฉลู ขาล เถาะ ถึง กุน มีผ้าขาวปู

ขณะนั้นเองล้นเกล้าล้นกระหม่อมก็เสด็จลุกขึ้นประทับยืนด้วยพระอิริยาบถอย่างกริ้วกราดถึงขนาด พระหัตถ์คว้าพระแสงดาบ เข้าใจว่าจะเป็นพระแสงดาบตีนตอง หรือพระแสงสีซึ่งมีชื่อว่า พระแสงดาบคาบค่าย 1 พระแสงดาบใจเพ็ชร 1 พระแสงดาบนาคสามเศียร 1 พระแสงดาบอัษฎาพานร 1 พระแสงดาบคาบค่ายนั้นว่ากันว่าเป็นองค์ซึ่งสมเด็จพระ นเรศวรมหาราชทรงคาบปืนค่ายพม่าในรัชสมัยของพระองค์ พระแสงดาบใจเพ็ชรมีเพ็ชรฝังเป็นประจํายามที่ฝึกตลอดทั้งสองข้างและที่ยอดด้ามที่ปลายฝัก พระแสง ดาบนาคสามเศียร ด้ามเป็นรูปพญานาคแผ่พังพาน 3 หัว พระแสงดาบอัษฎาพานร ลงยาสลักเป็นรูปพญาวานรเสนาพระราม 8 ตัว ทุกองค์เป็นทองคําลงยาที่ด้ามและที่ฝัก แถมประดับเพ็ชร พระแสง 4 นี้ สําหรับหัวหมื่นมหาดเล็กเชิญตามเสด็จพระราชดําเนินในขบวนพยุหยาตราทั้งทางน้ำทางบก

ทางบกเชิญตามพระราชยาน ทางน้ำถ้าประทับในบัลลังก์กัญญา เชิญตามเสด็จลงในพระวิสูตร ถ้าประทับพระราชบัลลังก์บุษบก ต้องเชิญนั่งสี่มุมบุษบก และหัวหมื่นมหาดเล็ก คือ เจ้าหมื่นสรรเพ็ชรภักดี 1 เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ 1 เจ้าหมื่นไวยวรนาถ 1 เจ้าหมื่นเสมอใจราช 1 เป็นผู้เชิญต้องสวมเสื้อครุยด้วยทุกครั้ง

…พระองค์ท่านทรงเป็นนักกระบี่กระบองอยู่แล้ว ทรงฝึกหัดเพลงดาบสองมือ ทั้งทางพื้นดินและหลังม้าอย่างช่ำชอง จึงทรงทําท่าทางได้อย่างเป็นที่น่าหวาดหวั่นในพระบารมี พลางทรงประกาศก้องขึ้นว่า หลวงยงเยี่ยงครูมีความผิดต้องรับพระราชอาญา จะทรงประหารชีวิตบูชายัญ ณ บัดนี้

ใครๆ ทั้งหมดไม่เคยรู้เรื่องตลึงงันไปหมด เงียบราวกับจะได้ยินเสียงหายใจและเสียงครางในลําคอของหลวงยง หลวงยงคอตก ตกจริงๆ ทันใดนั้นก็ทรงพระแสงดาบแกว่งฉวัดเฉวียนด้วยท่าพรหมสี่หน้า อันเป็นท่าครู แล้วก็ย่างสามขุมเข้าวงรําไม้ ครูปี่พาทย์ก็เริ่มบรรเลงเพลงรําดาบ เข้ากับเรื่อง พอเปลี่ยนแปลงก็ทรงย่างเข้าไปจนถึงตัวหลวงยง ทรงเฉือดเฉือนพระแสงสด พระพาหา ทันใดนั้นทุกคนหัวใจแทบหยุด และบัดนั้นเองเสียงมาจากเจ้าคุณครูว่า ‘ช้า ช้า มหาบพิตร ทรงหยุดไว้ก่อน’ ทุกคนพากันถอนหายใจด้วยความโล่งอกจนได้ยินถนัด

ล้นเกล้าฯ ประทับยืนนิ่งด้วยพระพักตร์และพระอิริยาบถดุษณีย์ เสียงจากเจ้าคุณครูต่อไป พร้อมด้วยเดินเข้าไปเฝ้าด้วยท่าทางอย่างมหาฤาษีแบบละคร พลางปาก ก็ถวายพระพรวิงวอนต่อไปว่า ‘ดูกรมหาบพิตร ผู้ทรงพระคุณธรรมอันประเสริฐ มันผู้นี้ (ชี้มือไปที่หลวงยง) มีความผิดขั้นอุกฤษฐ์โทษ แต่มันเป็นศิษย์อาตมา ที่ทําไป ก็ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา อาตมาขอพระราชทานอภัยเสียเถิด ขอพระราชทานชีวิตไว้เพื่อจักได้เป็นมิ่งขวัญอันศุภมงคลแก่พระราชพิธีสืบไป ขอถวายพระพร

ครั้นแล้วล้นเกล้าฯ จึงมีพระราชดํารัสตอบว่า ‘พระคุณเจ้า ผู้บรมครู รูปขอถวายชีวิตมันผู้นี้แด่พระคุณ เพื่อบูชาคุณ ณ กาลบัดนี้’ ทรงผินพระพักตร์ไปทางหลวงยง ‘มึงจงคิดถึงคุณครูตราบเท่าชีวิตของมึง ราชมัณฑ์ปล่อยตัวเป็นอิสสระไปได้ และให้มันรําเพลงถวายครู” แล้วก็พระราชทานพระบรมราโชวาทตามสมควร พนักงานสนมพลเรือนแก้มัด หลวงยงลงนั่งถวายบังคม แล้วร้องไห้ด้วยความยินดี แล้วคลานเข้าไปกราบที่เท้าเจ้าคุณครู เจ้าคุณครูปลอบโยนให้โอวาท แล้วสั่งให้รําเพลงช้า เมื่อพนักงานได้ประคบประหงมนวดทาแข้งขาด้วยน้ำมันพอสมควรแล้ว หลวงยงก็ออกรํา และรำได้อย่างสุดฝีมือ สมชื่อว่า ‘ยงเยี่ยงครู’ ฉะนั้น”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

คนหลวง

การลงพระราชอาญาหรือการถูกกริ้วอีกกรณีที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศิลปะก็ปรากฏกับ “คนหลวง” คำว่า “คนหลวง” ในที่นี้หมายถึงคนหลวงในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งหมายถึงผู้ถวายดอกไม้ธูปเทียนเข้ารับราชการในพระราชสำนักฝ่ายหน้าและฝ่ายใน มีทั้งโอรสธิดาเจ้านาย ข้าราชการ ไปจนถึงพ่อค้าประชาชนทั่วไป ผู้ที่เป็นคนหลวงได้รับการยกเว้นจากเกณฑ์แรงงาน โดยถือว่าขาดจากการปกครองของบิดามารดา มาอยู่ในการชุบเลี้ยงของพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องสักเลขหมู่กรมกองที่แขนเหมือนประชาชน เมื่อได้เรียนรู้ข้อราชการแล้ว จะโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในพระราชสำนัก และยังมีธรรมเนียมว่าเมื่อมีบุตรก็ต้องนำขึ้นถวายตัวเป็นมหาดเล็ก

วรชาติ มีชูบท อธิบายเสริมว่า คนหลวงก็เป็นข้าราชการในพระราชสำนักที่ต้องมีประพฤติดีต้องพระราชนิยม หาไม่แล้วจะถูกกริ้วและทรงลงพระราชอาญาแปลกๆ ในฐานที่ทรงพระกรุณา

วรชาติ ยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งว่า

“…วันหนึ่งในระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ. 2467 ขณะประทับแรมที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เสวยพระกระยาหารค่ำแล้วเสด็จลงพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ทรงเล่นละครปริศนา “ดัมแครมโบ” (Dumb Crambo) ร่วมกับข้าราชบริพาร ดัมแครมโบที่โปรดให้เล่นในคืนนั้นเป็นลิเกปริศนา เมื่อลิเกร้องจบลง พิณพาทย์จะต้องบรรเลงรับ แต่ คืนนั้นมีรับสั่งว่า ‘ไม่ต้อง’

แล้วโปรดให้พวกที่แสดงลิเกทําเพลงด้วยปาก ให้นักดนตรีนั่งนิ่งๆ จนลิเกปริศนานั้นจบลง เมื่อเสด็จขึ้นแล้วบรรดานักดนตรีวงตามเสด็จที่ต้องรับพระราชอาญาให้นั่งเฉยๆ ในคราวนั้นต่างก็กล่าวถึงเหตุที่ต้องรับพระราชอาญาในคราวนั้นว่า น่าจะเป็นเพราะพระเพลงไพเราะ (โสม สุวาทิต) และหลวงชาญเชิงระนาด (เงิน ผลารักษ์) ซึ่งเป็นคนตีระนาดเอกลาไปงานบวชนายบุญธรรม ตราโมท ซึ่งเป็นผู้ตีระนาดทุ้มคู่กับหลวงพวงสําเนียงร้อย (นาค วัฒนวาทิน) จึงทําให้คืนวันนั้นไม่มีผู้ตีระนาดที่ทรงคุ้นหน้า และต้องเลื่อนนายพริ้ง ดนตรีรส ซึ่งปกติเป็นคนตีกลองแขกอยู่แถวหลังขึ้นไปตีระนาดแทน

แต่คนหลวงที่ ‘ถูกกริ้วจริงๆ จะต้องสั่งย้ายให้ไปอยู่ที่อื่น เช่น กระทรวงวัง กรมมหรสพ กรมพระอัศวราช’ ซึ่งมีโอกาสเติบโตในราชการน้อยกว่าอยู่ในกรมมหาดเล็กรับใช้ หรือมีบางรายถึงกับต้องปลดเป็นกองหนุนรับพระราชทานเบี้ยหวัด บําเหน็จบํานาญตามแต่กรณี

‘พอหายกริ้ว ก็ต้องได้รับเครื่องหมายส่วนพระองค์ มีเสมา ว.ป.ร. ลงยาเข็มปรมาภิไธยลงยา ดุมหน้าอกทอง ดุมเสื้อเชิ้ตแหนบปากกระเป๋า เหรียญรัตนาภรณ์ ฯลฯ เป็นเครื่องหมายว่า มิได้ทรงผูกใจเจ็บ แต่ต้องทรงลงพระราชอาญาเพื่อให้หลาบจำ”

อีกประการที่เกิดขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 คือนิยามว่า “เวรถูกกริ้ว” ซึ่งเป็นพวกมหาดเล็กกองตั้งเครื่อง เมื่อถึงเวรถวายงานรับใช้ที่โต๊ะเสวยทั้งกลางวันและกลางคืนก็เป็นอันต้องถูกกริ้วทุกครั้ง วรชาติ มีชูบท บรรยายว่า สาเหตุของการถูกกริ้วนั้น ไม่ได้มาจากความผิดคิดร้ายอะไร แต่มาจากเรื่องทำอะไรก็ตามมักไม่ต้องด้วยพระราชอัธยาศัย และถูกค่อนแคะ

แต่ “เวรถูกกริ้ว” ก็ไม่ได้ถูกย้ายออกจากกรมมหาดเล็กรับใช้ไปที่กรมอื่นเหมือนผู้ที่ถูกกริ้วจริงๆ มิหนำซ้ำยังได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนยศบรรดาศักดิ์ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระราชทานบำเหน็จความชอบตามโอกาส จนเป็นอันกล่าวกันว่า ที่ทรงกริ้วก็เหมือนทรงยั่วให้ผู้ถูกกริ้วโกรธ เพื่อแสดงอุปนิสัยใจคอให้ทรงรู้จักโดยถ่องแท้


อ้างอิง:

ชานันท์ ยอดหงษ์. “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.

วรชาติ มีชูบท. ราชสำนักรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2561.


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 29 กรกฎาคม 2563