เผยแพร่ |
---|
ความเดิมตอนที่แล้ว (คลิกอ่าน : ความโอ้อวดของชาติมหาอำนาจ? เมื่อทหารอังกฤษปฏิบัติการ “ตบตา” ทหารไทย) พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ (ช่วงเวลานั้นมียศเรืออากาศเอก) นายทหารที่ได้รับมอบหมายจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ให้ไปสิงคโปร์เพื่อเก็บข้อมูลและประเมินยุทโธปกรณ์ของกองทัพอังกฤษ เพื่อนำมาประมวลกับยุทธศาสตร์ต่อไปว่า ไทยสามาถหวังพึ่งอังกฤษได้มากน้อยเพียงใดหากญี่ปุ่นบุกประเทศไทย ซึ่งพลอากาศเอก ทวี เห็นว่าการหวังพึ่งอังกฤษคงเป็นไปได้ยาก เพราะอังกฤษยังแทบเอาตัวเองไม่รอด
ซึ่งก็ไม่รอดจริง ๆ เมื่อญี่ปุ่นบุกไทยและมลายูสายฟ้าแลบ รัฐบาลไทยประเมินศักยภาพของตนแล้วก็คงจะสู้ญี่ปุ่นไม่ได้แน่นอน จึงประกาศให้ทหารที่ทำการสู้รบต่อต้านญี่ปุ่นในสมรภูมิให้ยุติการต่อสู้และยินยอมให้ญี่ปุ่นผ่านเข้าไทยแต่โดยดี จอมพล ป. เคยกล่าวกับ พลอากาศเอก ทวี ว่า “ถ้าเราต้านญี่ปุ่นคนเดียวไม่มีใครช่วยเรา ๆ จะสู้เขาได้อย่างไร”
ขณะที่ เซอร์ โยไซร์ ครอสบี้ เอกอัครราชทูตอังกฤษเข้าพบจอมพล ป. พร้อมยื่นโทรเลขจากรัฐบาลอังกฤษ มีใจความว่า “ให้ช่วยตัวเอง เราไม่สามารถจะทำอะไรได้ขณะนี้” คำพูดของทูตคนนี้ที่เคยกล่าวกับรัฐบาลไทยว่า “ถ้าญี่ปุ่นบุกขึ้นไทยแล้วทางอังกฤษจะเข้าทำการช่วยเหลือขัดขวางการบุกทันที” ก็เป็นอันจบสิ้นเมื่อจักรวรรดิญี่ปุ่นผงาดเหนือเอเชียทั้งมวล
ประเทศไทยจึงตกเป็นของญี่ปุ่นอยู่กลาย ๆ และกลายเป็นพันธมิตรกันไปโดยปริยาย จอมพล ป. จึงได้มอบหมายภารกิจให้ พลอากาศเอก ทวี ว่า “คุณทวี ผมจะให้คุณไปอยู่ในกองบัญชาการของกองทัพญี่ปุ่นในมาลายู ถ้าคุณมีทางใดที่ทำให้ทหารญี่ปุ่นเคลื่อนที่ออกไปจากประเทศไทยได้มากที่สุด ก็จะเป็นการดีสำหรับประเทศไทยมาก” จอมพล ป. ต้องการทราบข้อมูลว่าญี่ปุ่นจะมีวิธีปฏิบัติการอย่างไรบ้างเผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย โดยให้ติดตามอยู่กับกองทัพใหญ่ของที่ปุ่นที่นำโดย พลเอก ยามาชิตา
ก่อนออกเดินทาง พลอากาศเอก ทวี เข้าพบพลอากาศตรี หลวงอธึกเทวเดช ผู้บัญชาการทหารอากาศ และนาวาอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศฤทธาคนี เสนาธิการทหารอากาศ เพื่อรายงานเรื่องต่าง ๆ ให้ทราบ ก่อนที่ทั้งสองท่านจะอวยพรให้พลอากาศเอก ทวี ทำงานด้วยความสำเร็จและปลอดภัย เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า “ทหารญี่ปุ่นรุ่นนั้นกำลังกระหายสงครามมีความรุนแรงมาก”
พลอากาศเอก ทวี นั่งเครื่องบินพร้อมทหารญี่ปุ่นมาลงที่สนามบินสงขลา ท่านอธิบายว่าตั้งแต่มาสงขลาก็ไม่พบเห็นเครื่องบินของฝ่ายพันธมิตรเลย จะมีลอบเข้ามาโจมตีในตอนดึก ๆ แต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ฝ่ายญี่ปุ่น ต่อมาจึงเดินทางต่อไปยังอลอร์สตาร์ในดินแดนมลายู ท่านอธิบายว่า บริเวณชายแดนด่านสะเดาไม่มีร่องรอยของการสู้เลย แต่พอเข้าเขตแดนมลายูแล้วนั้น…
“เจ้าพระคุณเอ๋ย ในชีวิตข้าพเจ้าไม่เคยเห็นอะไรที่น่าสมเพชเช่นนั้นเลย สองข้างทางมีซากศพของพวกฝรั่ง พวกแขกมอรอคโค ประชาชนธรรมดาทั้งหญิงชาย เด็ก คนแก่ นอนตายสองข้างทาง ศพเน่าเปื่อยเหม็นคลุ้งตลบไปทุกแห่ง บางศพขึ้นอืดบางศพเน่าหนอนขึ้น และมีไก่มาจิกกินหนอนที่ตอมอยู่ในศพนั้น”
ศพทหารนายหนึ่งในมือยังถือมีดโกนหนวดอยู่ในที่กำบัง ซึ่งพลอากาศเอก ทวี ระบุว่านี่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมของทหารฝ่ายพันธมิตรและการถูกญี่ปุ่นบุกเข้าโจมตีโดยไม่รู้ตัว การสู้รบในมลายูเป็นไปอย่างดุเดือดไม่น้อย แม้ฝ่ายญี่ปุ่นจะมีความเหนือกว่าในแทบทุก ๆ ด้าน พลอากาศเอก ทวี อธิบายว่า ญี่ปุ่นบุกด้วยเร็วสายฟ้าแลบ กองกำลังส่วนใหญ่เคลื่อนไปตามถนนเลียบชายฝั่งด้านตะวันตก
ส่วนด้านตะวันออกมีกำลังส่วนย่อยบุกขึ้นตามจุดสำคัญ ๆ ตามชายฝั่ง ทหารพันธมิตรไม่มีขวัญกำลังใจต่อสู้ ทหารผิวขาวไม่ยอมรบในแนวหน้า มีแต่เพียงทหารโมรอกโกและทหารแขก โดยตลอดเส้นทางจากอลอร์สตาร์ไปกัวลาลัมเปอร์ ทหารอังกฤษได้ละทิ้งยุทโธปกรณ์ที่แทบไม่เสียหายเลยไว้จำนวนมาก ทั้งปืน ปืนกลหนัก ปืนกลเบา ปืนครก ยานเกราะ รถถัง รถบรรทุก ฯลฯ
ทหารญี่ปุ่นได้พาพลอากาศเอก ทวี ไปดูที่ตั้งปืนกลจุดหนึ่ง ที่นั่นมีศพทหารโมรอกโกและทหารแขก 6 นาย มีโซ่ล่ามไว้กับปืนกล ตายในท่าวิ่งหนี ทหารญี่ปุ่นพูดอ้างว่าทหารอังกฤษเป็นผู้ล่ามโซ่และกระทำการทารุณอย่างนี้ แต่พลอากาศเอก ทวี ไม่ได้พูดตอบอะไร และนึกพิจารณาว่า “ใครเป็นผู้กระทำกันแน่ โซ่นั้นนำไปผูกไว้ก่อนตายหรือเอาไปผูกเมื่อตายแล้ว”
ทหารพันธมิตรบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ทหารบางคนที่ทุกข์ทรมานเกินเยียวยา ญี่ปุ่นก็นำไปสังหารเสียด้วยความปราณี เพราะเห็นว่ายากเกินจะรักษา แต่พลอากาศเอก ทวี เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องทารุณ ไร้มนุษยธรรม และขัดต่อข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับเชลยศึกอย่างมาก ไม่กี่วันจากนั้น กองทัพญี่ปุ่นรุกไล่ลงมาจากทิศเหนือของคาบสมุทรอย่างรวดเร็ว
ขณะที่กองทัพอังกฤษก็ถอยร่นไปตั้งหลักที่สิงคโปร์ อันเป็นฐานทัพของอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกไกล และเป็นที่มั่นสุดท้ายที่เหลืออยู่ ณ เวลานี้ พลอากาศเอก ทวี เปรียบเทียบว่า “สิงคโปร์ในขณะนั้นเปรียบเสมือนก้นถุงของอวนลากปลา” เพราะทหารอังกฤษและประชาชนทั่วไปต่างก็อพยพแออัดอยู่ในเกาะเล็ก ๆ แห่งนั้น
กำลังทหารของอังกฤษทั้งทางเรือและทางอากาศแทบจะสูญสลายเพราะถูกทำลายไปทั้งหมด ญี่ปุ่นจึงโจมตีสิงคโปร์ทางอากาศได้อย่างสะดวก นายพล ยามาชิตาทราบดีว่า สิงคโปร์ต้องพึ่งพาน้ำจืดที่ส่งตรงมาจากแผ่นดินใหญ่ และสิงคโปร์ไม่อาจต้านทานได้นานนัก นายพล ยามาชิตา จึงปิดทางส่งน้ำและยื่นข้อเสนอต่อนายพล เซอร์ เปอร์ซิวาล แม่ทัพของอังกฤษ โดยให้เวลา 24 ชั่วโมงให้ยอมแพ้
ทางด้านประชาชนในสิงคโปร์ต้องการให้ยอมแพ้ แต่ทหารอังกฤษยังคงยืนยันที่จะต่อสู้ต่อไป เนื่องจากมีคำสั่งจากกรุงลอนดอนให้ทำการสู้รบอย่างถึงที่สุด นายพล เซอร์ เปอร์ซิวาล ต้องกัดฟันไม่รับฟังเสียงเรียกร้องจากประชาชนและเตรียมการรับศึกทหารญี่ปุ่นที่จะต้องบุกข้ามทะเลยึดเกาะสิงคโปร์ในไม่กี่ชั่วโมงนี้
ฝ่ายทหารญี่ปุ่นได้เปรียบมากกว่าเพราะมีข่าวกรองในสิงคโปร์อยู่นานแล้ว และมีสายลับและทหารที่แฝงตัวไปพร้อมกับประชาชนที่อพยพข้ามไปยังสิงคโปร์ นั่นจึงทำให้ นายพล ยามาชิตา ทราบข่าวและความเคลื่อนไหวในสิงคโปร์เป็นอย่างดี และเมื่อครบกำหนดเวลาเส้นตาย นายพล ยามาชิตา ออกคำสั่งให้ทหารส่วนน้อยทำทีจะบุกข้ามช่องแคบทางด้านตะวันออก ซึ่งเป็นด้านที่มีกองทัพอังกฤษรักษาอยู่จำนวนมาก แต่กำลังส่วนใหญ่บุกทางด้านตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มและมีการป้องกันน้อยกว่า
หน่วยกล้าตายของทหารญี่ปุ่นว่ายน้ำข้ามไป แต่ทหารอังกฤษได้ปล่อยน้ำมันลงเต็มช่องแคบแล้วจุดไฟเผา พลอากาศเอก ทวี พรรณาว่า “แสงเพลิงกระจายเต็มบริเวณนั้นเหมือนกับกลางวัน สีแดงพลุ่งเต็มช่องแคบ ข้าพเจ้าได้ยินเสียง บันไซ บันไซ ดังลั่นแล้วค่อย ๆ เงียบลง ๆ จนหมดเสียง นั้นหมายความว่าหน่วยทหารกล้าตายหน่วยแรกได้พลีชีพเพื่อจักรพรรดิ์ของเขาแล้ว” เมื่อน้ำมันของฝ่ายอังกฤษหมด จึงได้เวลาบุกจริง โดยทหารญี่ปุ่นยิงปืนใหญ่ปูพรม ก่อนที่ทหารหน่วยต่อไปจะว่ายน้ำไปยังสิงคโปร์อย่างสบาย
พลอากาศเอก ทวี วิเคราะห์สาเหตุของความพ่ายแพ้ของอังกฤษ สรุปได้ว่า
1. วางยุทธศาสตร์การป้องกันอย่างผิดพลาด ซึ่งจำต้องทำตามคำสั่งจากกรุงลอนดอน
2. วางแผนผิดพลาดเกี่ยวกับเส้นทางที่ข้าศึกจะเข้ามา
3. ประเมินคุณค่าของข้าศึกต่ำจนเกินไป
4. ขาดการส่งกำลังบำรุงอย่างเพียงพอและทันท่วงที
พลอากาศเอก ทวี ไม่ได้ข้ามไปสิงคโปร์ เนื่องจากท่านป่วยเป็นไข้มาลาเรียจึงรีบเดินทางกลับประเทศไทย และต่อมาได้เข้ารายงานให้จอมพล ป. ทราบ พลอากาศเอก ทวีเห็นด้วยกันรัฐบาลไทยและจอมพล ป. ที่ประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เพราะท่านทราบดีว่า ไทยได้ประเมินกำลังของตนแล้วคงไม่อาจต้านทานญี่ปุ่นได้ รัฐบาลไทยทราบข้อมูลดีว่า ญี่ปุ่นมีความคิดจะยึดเอเชีย และอังกฤษก็ไม่ได้เข็มแข็งอย่างที่คิด ประกอบโทรเลขที่รัฐบาลอังกฤษได้ส่งมาแจ้งให้ไทยช่วยเหลือตนเองไปก่อน นั่นจึงหมายความว่าไทยยิ่งเสียเปรียบอย่างมากหากคิดต่อกรญี่ปุ่นเพียงลำพัง
การที่รัฐบาลไทยยอมสยบต่อญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกานี้ พลอากาศเอก ทวี เห็นว่า “ก็เป็นวิธีหนึ่งและวิธีเดียวที่เราจะต้องเอาตัวรอด”
อ้างอิง :
ทวี จุลทรัพย์. (2539). ชาติอยู่เหนือสิ่งใด บันทึกความจำของ พลอากาศเอก ทวี จุลทรัพย์. พิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลอากาศเอก ทวี จุลทรัพย์ วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2539 ณ วัดเทพศิรินทราวาส. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 สิงหาคม 2562