ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

การชักธงชาติไทยคู่กับธงชาติญี่ปุ่นที่สภาผู้แทนราษฎร (พระที่นั่งอนันตสมาคม) เพื่อแสดงความยินดีในผลสำเร็จแห่งการไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส

ความต้องการเรียกร้องดินแดนคืนจากมหาอำนาจตะวันตกของไทย เริ่มปรากฏโอกาสของความเป็นไปได้ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดทางการทหารระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เห็นได้จากเหตุการณ์สงครามอินโดจีน (พ.ศ. 2483) ซึ่งเป็นสงครามระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเพื่อชิงดินแดนในกัมพูชาที่ไทยเคยเสียให้กับฝรั่งเศสเมื่อครั้งระบอบเก่ากลับคืนมา

สงครามครั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดที่ไทยสั่งซื้อผ่านบริษัท โชวะ ฮิโกกิ คาบุชิกิ ไกชู หรือบริษัทอากาศยานโชวะ พร้อมครูฝึกการบินมาสนับสนุนไทยในการรบกับฝรั่งเศสอย่างทันเวลา [1] ในระหว่างการรบกันนั้น จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี ส่ง พล.ต. หลวงพรหมโยธี สมาชิกคณะราษฎรและผู้บัญชาการทหารมณฑลบูรพาเดินทางไปโตเกียว เพื่อขอความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นในการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส [2]

รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง นำไปสู่การเจรจาสันติภาพที่โตเกียวส่งผลให้ไทยได้ดินแดนในอินโดจีนกลับคืนมา ต่อมามีการตั้งเป็นจังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดจำปาศักดิ์ และจังหวัดล้านช้าง เหตุผลที่ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือไทยในครั้งนี้ด้วยหวังว่า ไทยจะให้ความร่วมมือทางการเมืองและเศรษฐกิจกับญี่ปุ่นต่อไป [3]

ความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นครั้งนี้ ยิ่งสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกันมากยิ่งขึ้น จนทั้ง 2 ฝ่าย ยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตจากอัครราชทูตเป็นเอกอัครราชทูต ในปลาย พ.ศ. 2484 ทั้งนี้ การยกระดับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นขึ้น ในครั้งนี้เป็นการที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญไทยเทียบเท่ากับประเทศมหาอำนาจตะวันตก [4]

เมื่อความขัดแย้งระหว่างเหล่ามหาอำนาจพัฒนามาจนถึงช่วงก่อนญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกไทย (วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484) นั้น จอมพล ป. เคยพยายามโน้มน้าวคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน และ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ให้ไทยทำสงครามร่วมกับญี่ปุ่น โดยให้เหตุผลว่าหากไทยเข้าร่วมกับญี่ปุ่นรบกับอังกฤษนั้น ไทยจะได้รับความเสียหายน้อยกว่าการต่อต้าน และหากรบชนะ ไทยจะได้ดินแดนเก่าที่เคยสูญเสียไปกลับคืนมาด้วย แต่ที่ประชุมฯ ไม่มีมติแต่อย่างใด [5]

ไม่นานหลังจากที่ไทยตัดสินใจเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น สร้างความไม่พอใจให้กับปัญญาชนนักหนังสือพิมพ์อยู่บ้างบางส่วน เนื่องจากไทยละทิ้งนโยบายรักษาความเป็นกลาง ส่งผลให้เกิดการต่อต้านด้วยการเผยแพร่ใบปลิว ทำให้รัฐบาลต้องประกาศกฎอัยการศึกษาทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2484 [6] กระนั้นก็ดี สังคมไทยมิได้ต่อต้านแนวทางการพัฒนาประเทศที่ดำเนินมาตั้งแต่รัฐบาลพระยาพหลฯ แต่อย่างใด แต่การพัฒนาประเทศของไทยขณะนั้นดำเนินต่อไปตามโอกาสและข้อจำกัดของสภาพการณ์ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2

ก่อนที่สงครามโลกในเอเชียจะปะทุขึ้น ญี่ปุ่นแสดงความชัดเจนของระเบียบใหม่ในมหาเอเชียบูรพา (New Order in Greater East Asia) ตามนโยบายที่รัฐบาลเจ้าชายโคโนเอะประกาศเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2483 โดยญี่ปุ่นแบ่งศูนย์กลางของโลกออกเป็น 4 แห่ง กล่าวคือ แห่งแรก ทวีปยุโรปและแอฟริกามีศูนย์กลางที่เยอรมนี แห่งที่ 2 ทวีปอเมริกาเหนือและใต้มีศูนย์กลางที่สหรัฐอเมริกา แห่งที่ 3 เอเชียเหนือมีศูนย์กลางที่สหภาพโซเวียต และแห่งที่ 4 ทวีปเอเชียตะวันออก แมนจูเรีย จีน และทะเลใต้มีศูนย์กลางที่ญี่ปุ่น [7]

ดังนั้นการเป็นศูนย์กลางอำนาจใหม่ในเอเชียแทนที่มหาอำนาจตะวันตกในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต่อเมื่อญี่ปุ่นต้องมีชัยเหนืออังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ในมาลายา พม่า อินเดีย อินโดจีน และฟิลิปปินส์ ทำให้การโจมตีดินแดนอาณานิคมของมหาอำนาจและการยกพลขึ้นบกที่ไทยของญี่ปุ่นเพื่อไปยังพม่าและอินเดีย จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

หลังจากที่ไทยลงนามในข้อตกลงร่วมรบระหว่างญี่ปุ่น-ไทยในปลาย พ.ศ. 2484 แล้ว ในฐานะพันธมิตรกับญี่ปุ่น ไทยมีหน้าที่ป้องกันแนวรบจากอังกฤษและจีนทางเหนือของไทย รัฐบาลจอมพล ป. จึงส่งทหารบุกเข้ารัฐฉานหรือเชียงตุงของอังกฤษ (พ.ศ. 2485) และเข้ายึดครองดินแดนดังกล่าว ต่อมาเรียกดินแดนนี้ว่า “สหรัฐไทยเดิม” [8] ก่อน พลเอก ฮิเดกิ โตโจ (Hideki Tojo) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางมาเยือนไทยและมอบ “สหรัฐไทยเดิม” และ “สี่รัฐมาลัย” (กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิส) ให้กับไทยเมื่อ พ.ศ. 2486 เพื่อเป็นการตอบแทนไมตรีที่ไทยช่วยเหลือให้ญี่ปุ่นผ่านแดนข้ามไปยังพม่าและมาลายา [9] ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ไทยมีสถานะเสมือนหนึ่งเป็นมหาอำนาจในแหลมทอง โดยมีดินแดนต่างๆ ทั้งที่เคยเป็นของไทยในอดีตและดินแดนใหม่ที่ไทยครอบครองเพิ่มเติมอยู่รายรอบ

ด้วยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-ญี่ปุ่นส่งผลให้จอมพล ป. และสังคมไทยเกิดความมั่นใจในความสามารถที่จะขยายดินแดนไปยังดินแดนประเทศใกล้เคียง อันเคยเป็นอาณานิคมเก่าของไทยที่ผู้ปกครองในระบอบเก่าสูญเสียอำนาจการปกครองไปให้กับมหาอำนาจตะวันตก เช่น อังกฤษและฝรั่งเศสด้วยการทำสงคราม ดังเช่น กรณีพิพาทสงครามอินโดจีน (พ.ศ. 2483-2484) เป็นการรบระหว่างไทยกับฝรั่งเศส โดยญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทไกล่เกลี่ยความขัดแย้งตามคำขอของไทย ส่งผลให้ไทยได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลกใหม่ในเอเชียอย่างรวดเร็ว

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นทางการทหารเพิ่มความใกล้ชิดนับแต่การลงนามในสนธิสัญญาระหว่างไทย-ญี่ปุ่นว่าด้วยความเจริญทางสัมพันธไมตรีและต่างเคารพบูรณภาพอาณาเขตแห่งกันและกัน (พ.ศ. 2483) เหตุการณ์ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก (พ.ศ. 2484) การลงนามในสนธิสัญญาป้องกัน (พ.ศ. 2484) ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2485) การบุกเชียงตุง (พ.ศ. 2485)

ท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล ป. นำแนวคิดบูชิโด เป็นแนวทางสร้าง “วีรธรรมของชาติ” (พ.ศ. 2487) เพื่อเตรียมจิตใจของคนไทยให้พร้อมกับสงคราม ด้วยการส่งเสริมนิสัยประจำชาติของคนไทยให้ประชาชนมีระเบียบวินัย สมกับการเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมสูง จำนวน 14 ประการ ดังนี้

1. ไทยรักชาติยิ่งชีวิต 2. ไทยเป็นนักรบชั้นเยี่ยม 3. ไทยเป็นชาติขยันในกสิกรรมและอุตสาหกรรม 4. ไทยเป็นชาติชอบอยู่ดีกินดี 5. ไทยเป็นชาติชอบแต่งตัวดี 6. ไทยเป็นชาติปากกับใจตรงกัน 7. ไทยเป็นชาติรักสงบ 8. ไทยเป็นชาติบูชาบรรพบุรุษยิ่งชีวิต 9. ไทยเป็นชาติยกย่องเด็กหญิง และคนชรา 10. ไทยเป็นชาติว่าตามกันและตามผู้นำ 11. ไทยเป็นชาติปลูกอาหารไว้กินเอง 12. ไทยเป็นชาติที่ดีต่อมิตรและร้ายที่สุดต่อศัตรู 13. ไทยเป็นชาติซื่อสัตย์กตัญญู และ 14. ไทยเป็นชาติสะสมมรดกไว้ให้ลูกหลาน [10]

…………….

หลังจากรัฐบาลจอมพล ป. สิ้นสุดลง รัฐบาลพลเรือนขึ้นมาประคับประคองความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อไป พร้อมกับความเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่นควบกระทั่งสงครามโลกสิ้นสุดลง ไทยยังคงต้องเผชิญหน้ากับอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร

แม้สหรัฐอเมริกาจะไม่เอาผิดไทยด้วยถือว่าระหว่างสงครามนั้นไทยอยู่ในสถานะประเทศที่ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น ในที่สุดรัฐบาลพลเรือนหลังสงครามประกาศให้คำประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเป็นโมฆะ และเริ่มต้นเจรจากับอังกฤษและฝรั่งเศสในค่าปฏิกรรมสงคราม โดยไทยต้องคืนดินแดนที่ได้มาในช่วงสงครามกลับคืนให้กับอังกฤษและฝรั่งเศส

กล่าวโดยสรุป ไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบโลกใหม่ของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 2475 ติดตามด้วยการมุ่งพัฒนาประเทศขนานใหญ่หรือสร้างชาติ เนื่องจากคณะราษฎรและสังคมไทยภายหลังการปฏิวัติชื่นชมในความก้าวหน้า ในการพัฒนาของญี่ปุ่น จึงมองญี่ปุ่นเป็นตัวแบบการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ทั้งการค้า การอุตสาหกรรม การศึกษา และวัฒนธรรม อีกทั้งในช่วงเวลานั้นไทยต้องการหนีออกห่างจากเขตอำนาจของมหาอำนาจตะวันตกที่เคยอาเปรียบไทยในอดีต

ไทยมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับญี่ปุ่น นำไปสู่การพึ่งพิงวิทยาการสมัยใหม่ในด้านต่างๆ ทั้งในทางวัฒนธรรม การค้า การอุตสาหหกรรม และการทหาร ฯลฯ อันเป็นทางลัดไปสู่ความเป็นประเทศสมัยใหม่ตามแบบญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ไม่แต่เพียงความมุ่งหวังของคระราษฎร ข้าราชการ และปัญญาชนไทยจะสิ้นสุดลงพร้อมๆ กับความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นและการจบสิ้นลงของสงครามเท่านั้น แต่ไทยต้องเผชิญกับปัญหานานัปการภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ยุรารัตน์ พันธุ์ยุรา, “กองทัพอากาศกับการเมืองไทย พ.ศ. 2480-2519” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาคประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531), น. 34.

[2] Edward Thaddeus Flood, “The 1940 Franco-Thai border dispute and Phibun Songkhrarm’s commitment to Japan,” Journal of Southeast Asian History 10, 2 (September 1969): 320.

[3] F.C. Jones, Japan’s New Order in East Asia (London: Oxford University Press, 1956), p. 15. และโปรดดูการขยายอํานาจของไทยออกไปยังอินโดจีนใน Eiji Murashima, “Opposing French colonialism: Thailand and the independence movements in Indo-China in the early 1940’s,” South East Asia Research 13, 3 (November 2005): 333-383.

[4] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประวัติการเมืองไทย (กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2538), น. 231-232.

[5] ปรีดี พนมยงค์, หลักฐานสําคัญบางประการเกี่ยวกับสถานะสงคราม ประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พระนคร: อรุณการพิมพ์, 2521), น. 7-8.

[6] บุปผา ทิพย์สภาพกุล, “ทัศนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อนโยบาย วัฒนธรรมสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2481-2487)” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2529), น. 91.

[7] Japan Information Bureau of War office, “World’s Situation and Object of Disposal of Incident,” Translation office Garzette Weekly (June 3, 1940) อ้างใน สดใส ขันติวรพงศ์, “ประเทศไทยกับปัญหาอินโดจีนฝรั่งเศส ค.ศ. 1937-1947 (พ.ศ. 2480-2490)” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520), น. 92.

[8] Eiji Murashima, “The Commemorative Character of Thai Historiography: The 1942-43 Thai Military Campaign in the Shan State Depicted as a Story of National Salvation and the Restoration of Thai Independence,” Modern Asian Studies 40, 4 (October 2006): 1053-1096.

[9] แถมสุข นุ่มนนท์, เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง (กรุงเทพฯ: ดวงกมล, 2521), น. 34-35.

[10] ผาณิต รวมศิลป์, “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. ๒2487” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521), น. 68-69


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก ณัฐพล ใจจริง. ตามรอยอาทิตย์อุทัย: แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร, สำนักพิมพ์มติชน , พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2565