25 มกราคม 2485 ไทยประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และอังกฤษ

โปสเตอร์ โฆษณาชวนเชื่อ ไทย ญี่ปุ่น อังกฤษ
โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อของกองทัพญี่ปุ่นเชื้อเชิญให้คนไทยหันมาร่วมมือกับญี่ปุ่น ต่อต้านอังกฤษ

25 มกราคม 2485 “ไทย” ประกาศสงคราม กับ “สหรัฐฯ” และ “อังกฤษ”

“จากการประกาศของสถานีวิทยุโตเกียวซึ่งบันทึกไว้โดยเดอะยูไนเต็ดเพรสระบุว่า ประเทศไทยได้ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ (อังกฤษ) และสหรัฐอเมริกา พร้อมได้สั่งเคลื่อนกำลังพล 100,000 นายเข้าประชิดชายแดนพม่า” นิวยอร์กไทม์ ลงรายงานเมื่อวันที่ 25 มกราคม 1942 (พ.ศ. 2485)

Advertisement

ก่อนหน้านั้น ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกในหลายจังหวัดในฝั่งอ่าวไทยของประเทศไทยในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 พร้อมบีบให้รัฐบาลไทยยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านดินแดนของไทยเพื่อไปโจมตีพม่า ซึ่งรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ยอมทำตามข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น หลังกองทัพไทยได้ลุกขึ้นต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง

ขณะเดียวกันการร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่นของจอมพล ป. ยังถูกต่อต้านจากคนในรัฐบาลเองทั้งนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังในขณะนั้น และม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ซึ่งออกมาประกาศว่าสถานทูตไทยไม่รับรู้ในสัญญาร่วมมือทางทหารระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น และขอให้คนไทยทั้งชาติพร้อมใจกันกอบกู้เอกราชและอธิปไตย ซึ่งต่อมาทั้งสองได้กลายเป็นผู้นำขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในนาม “เสรีไทย”

ในระยะเริ่มแรกของสงคราม กองทัพญี่ปุ่นมีชัยชนะทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ทำให้รัฐมนตรีบางคน เห็นควรให้ไทย ประกาศสงคราม กับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ด้วยคิดว่า ญี่ปุ่นจะชนะสงคราม ไทยจึงได้ประกาศสงครามในวันที่ 25 มกราคม 2485 ระหว่างสงครามนั้น ญี่ปุ่นได้โอนดินแดนบางแห่ง ที่ยึดได้จากอังกฤษ คืนให้แก่ไทย คือ รัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และสองรัฐในแคว้นไทยใหญ่ คือ เชียงตุง และเมืองพาน

ขณะที่ในหนังสือประกาศสงคราม รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้อ้างเหตุในการประกาศสงครามว่า อังกฤษและสหรัฐฯ ได้รุกรานไทยมาเป็นลำดับ โดยเฉพาะการส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดบ้านเรือนของราษฏร และระดมยิงราษฎรที่ไม่มีอาวุธอย่างทารุณผิดวิสัยอารยชน ถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและมนุษยธรรม ไทยจึงไม่อาจทนดูต่อไปได้

การประกาศสงครามของไทย ทำให้อังกฤษและบางประเทศในเครือจักรภพประกาศสงครามตอบ แต่สหรัฐฯ มิได้ประกาศสงครามกับไทยแต่อย่างใด และยังคงถือว่าไทยเป็นดินแดนที่ตกอยู่ในความครอบครองของญี่ปุ่น และภายหลังการประกาศสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษยังทำให้เกิดความยุ่งยากตามมาหลังสงครามสิ้นสุด เมื่อทั้งสองประเทศประสงค์ที่จะยกเลิกสถานะสงครามระหว่างกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. ตำนานเสรีไทย. 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มกราคม 2561