‘พนมยงค์’ มาจากไหน? จากผู้ดีกรุงศรีถึงรัฐบุรุษนาม ‘ปรีดี’ เกี่ยวข้องกับ ‘พระเจ้าตาก’ อย่างไร

ปรีดี พนมยงค์

ชีวประวัติของ ปรีดี พนมยงค์ (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443-2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526) รัฐบุรุษอาวุโสของไทย มีหลากหลายเรื่องราวที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คณะราษฎร บทบาททางการเมือง การต่อสู้ของเสรีไทย ฯลฯ หนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ รากเหง้าของตระกูล “พนมยงค์” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากอย่างไม่น่าเชื่อ!

ในหนังสือ “ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์” (พิมพ์ครั้งที่ 2, 2535) ปรีดีได้บันทึกเรื่องราวของต้นตระกูลพนมยงค์ ซึ่งเล่าย้อนสืบไปไกลถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงการจดทะเบียนนามสกุล “พนมยงค์” ของบิดา เมื่อสมัยรัชกาลที่ 6

พนมยงค์ มาจากไหน?

ปรีดีบันทึกไว้ว่า บริเวณนอกกำแพงเมืองทิศเหนือของกรุงศรีอยุธยา มีวัดแห่งหนึ่งตั้งอยู่ ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบต่อกันมาว่า สร้างขึ้นโดยพระนมของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา พระนมผู้นั้นมีนามว่า “ประยงค์” อย่างไรก็ตาม ปรีดีไม่ได้อธิบายว่า พระนมประยงค์ผู้นี้เป็นพระนมของพระมหากษัตริย์พระองค์ใด พระนมประยงค์ตั้งบ้านเรือนบริเวณฝั่งใต้ของคลองเมือง คือตั้งอยู่บริเวณชานกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา (ฝั่งตรงข้ามวัด มีคลองเมืองขวางอยู่) หรือบริเวณอนุสรณ์สถานปรีดีพนมยงค์ในปัจจุบัน ซึ่งก็คือนิวาสถานเดิมของปรีดีนั่นเอง

โดยคำว่าพนมยงค์ ก็มีที่มาจาก “พระนมประยงค์” นั่นเอง

เหตุที่แปลงเสียงพระนมประยงค์เป็นพนมยงค์นั้น ปรีดีอธิบายว่า ในอดีตชาวกรุงศรีอยุธยาออกเสียงเรียกพระนมว่า “พะนม” โดยไม่มี ร. เรือ ควบกล้ำ และเขียนโดยไม่ประวิสรรชนีย์ (-ะ) จึงกลายเป็น “พนม” ส่วนชื่อบุคคล ก็นิยมเรียกแต่ชื่อพยางค์ท้าย ชื่อประยงค์จึงเรียกเพียง “ยงค์” พระนมประยงค์จึงเป็นที่รู้จักกันในนาม “พนมยงค์” และได้เรียกวัดที่พระนมประยงค์สร้างนั้นว่า “วัดพนมยงค์”

แผนที่กรุงศรีอยุธยา โดยพระยาโบราณราชธานินทร์ พ.ศ. 2469

นายเกริ่น รุ่น 1

เวลาล่วงเลยผ่านไป เรือนของพระนมประยงค์ได้ตกทอดถึงลูกหลานหลายชั่วอายุคน จนมาถึงรุ่นของ “นายเกริ่น”

มารดาของนายเกริ่นให้กำเนิดนายเกริ่นในช่วงเหตุการณ์การเสียงกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 บิดาของนายเกริ่นเป็นนายกอง ทำการสู้รบกับพม่าที่ตำบลสีกุกจนสิ้นชีพ เมื่อมารดาของนายเกริ่นทราบข่าวการตายของสามี และเห็นว่าพม่ารุกประชิดกรุงศรีอยุธยามากขึ้นทุกขณะ จึงอพยพพาบุตรและญาติลงเรือพายออกไปทางแม่น้ำป่าสัก ถึงบ้านญาติที่ตำบลท่าหลวง สระบุรี พำนักอยู่ที่นั่นจนกระทั่งพระเจ้าตากนำกำลังขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ มารดานายเกริ่นจึงอพยพกลับมาอยู่นิวาสถานเดิม

บ้านเรือนและวัดพนมยงค์ถูกทำลายเนื่องด้วยภัยสงคราม มารดานายเกริ่นจึงปลูกเรือนไม้ไผ่เป็นที่พำนัก จากนั้นทำขนมชนิดต่าง ๆ ขาย จนเป็นที่เลื่องลือว่ามีรสชาติอร่อย เรียกว่า “ขนมบ้านหน้าวัดพนมยงค์” หลังจากบ้านเมืองสงบ บริเวณนั้นก็ฟื้นคืนเป็นย่านตลาด การค้ากลับมาคึกคักอีกครั้ง มารดานายเกริ่นค้าขายดีขึ้น จนปลูกเรือนฝากระดาน ณ บ้านเรือนเดิมได้สำเร็จ พร้อมกับบูรณะวัดพนมยงค์ สร้างโบสถ์ใหม่บนฐานรากของโบสถ์เดิมที่ถูกทำลาย สร้างศาลาการเปรียญกับกุฏิสงฆ์ และนิมนต์พระสงฆ์จากวัดอื่นมาจำพรรษา

เมื่อนายเกริ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่จึงได้แต่งงานกับนางแก้ว บุตรีของหัวหน้าคณะปี่พาทย์ตำบลสวนพริก มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ นางปิ่น (ต่อมาทายาทตั้งนามสกุลพนมยงค์), นางบุญมา (ต่อมาทายาทตั้งนามสกุล ณ ป้อมเพชร์), ทรัพย์ และอ้น

นางปิ่น รุ่น 2

“นางปิ่น” แต่งงานกับ “นายก๊ก” แซ่ตั้ง ซึ่งเป็นชาวจีน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2337 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1) ที่หมู่บ้านเอ้ตัง แขวง (อำเภอ) เท่งไฮ้ เขต (จังหวัด) แต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง นายก๊กผู้นี้มีประวัติที่ไม่ธรรมดา เพราะมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับพระเจ้าตาก ตามที่ปรีดีบันทึกไว้ว่า

“…ตามบันทึกของบรรพบุรุษแซ่ตั้งแห่งหมู่บ้านเอ้ตังดังกล่าวว่า ก๊กเป็นลูกของเส็ง เส็งเป็นลูกของเฮง เฮงไปเมืองไทยเมื่อเส็งยังเล็กอยู่ แม่ของนายเฮงเป็นอาของ ‘แต้อ๋อง’ (จีนแต่จิ๋วเรียกพระเจ้ากรุงธนว่า ‘แต้อ๋อง’) เฮงช่วยแต้อ๋องรบพม่าตาย เส็งส่งก๊กลูกชายไปค้าขายที่เมืองไทย ตามที่บรรพบุรุษได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติม ประกอบด้วยอาศัยเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเฮงปู่ของก๊กดังต่อไปนี้

เฮงได้เข้ามาเมืองไทยในรัชสมัยของพระเจ้าที่นั่งสุริยามรินทร์ ได้พักอยู่กับญาติฝ่ายจีนของพระเจ้าตากในบริเวณคลองสวนพลู (สมัยนั้นเป็นบริเวณที่ชาวจีนอาศัยอยู่) เมื่อกษัตริย์พม่าได้ส่งกองทัพมารุกรานอาณาจักรไทย และสามารถทำลายแนวต้านทานที่มีอยู่ประปรายได้แล้วเคลื่อนกำลังเข้ามาใกล้กรุงฯ นั้น พระมหากษัตริย์จึงได้มีพระบัญชาให้เจ้าหน้าที่รวบรวมราษฎรจำนวนหนึ่งเข้าไปรักษาป้องกันกำแพงกรุงฯ โอกาสนั้นมีชาวจีนจำนวนหนึ่งซึ่งรวมทั้งนายเฮงได้อาสาเข้าร่วมกับราษฎรไทยในการนั้นด้วย ทางการไทยจึงได้มอบจีนเหล่านั้นให้สังกัดอยู่ในกองที่พระยาตากเป็นผู้บังคับบัญชา…”

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังเก่า

ดังนั้น นายก๊กจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้าตาก เพราะย่าทวดมีศักดิ์เป็นอาของพระเจ้าตาก และนายเฮง หรือปู่ของนายก๊ก ก็เคยสนองพระเดชพระคุณรับใช้พระเจ้าตากในคราวกู้กรุงศรีอยุธยา

ทว่า ปรีดีไม่ได้เล่าว่า นายเฮงได้สิ้นชีพในสมรภูมิใด เล่าเพียงว่า ภายหลังจากย้ายเมืองหลวงมายังกรุงธนบุรีแล้ว มารดาของนายเฮงได้ส่งจดหมายมาถวายพระเจ้าตาก แสดงความยินดีที่ได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทย และได้ถามข่าวคราวของบุตรชายซึ่งขาดการติดต่อมานาน พระเจ้าตากจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตอบไปว่า “…นายเฮงได้สิ้นชีพในการรับใช้พระองค์ต่อสู้กับศัตรูของชาติไทย…” และพระราชทานเงินพดด้วงให้ครอบครัวนายเฮงจำนวนหนึ่ง

ต่อจากนั้น มารดานายเฮงตั้งใจว่า เมื่อนายเส็งผู้เป็นหลานเติบใหญ่จะให้เดินทางมาเมืองไทยเพื่อรับใช้พระเจ้าตาก ทว่า เกิดเหตุการณ์เปลี่ยนราชวงศ์เสียก่อน จึงไม่ได้เดินทางเข้ามา นายเส็งจึงทำมาหากินในเมืองจีนต่อไป กระทั่งเกิดเศรษฐกิจฝืดเคือง นายเส็งจึงส่งนายก๊กผู้เป็นบุตรมาทำมาหากินที่เมืองไทย นายก๊กเดินทางเข้ามาเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 ทำมาหากินอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา โดยได้ใช้เงินพดด้วงที่พระเจ้าตากพระราชทานมาให้ครอบครัวของตนนั้นเป็นเงินทุนตั้งตัวเลี้ยงชีพ

นายก๊กมีความรู้เชี่ยวชาญทำแป้งข้าวหมัก ทำขนมแบบจีน เต้าหู้ และเต้าเจี้ยว หากินเลี้ยงชีพจนซื้อแพได้หลังหนึ่ง จอดอยู่ใกล้วัดพนมยงค์ ทำการค้าขายบริเวณนั้น ไม่ช้าก็ชำระหนี้ที่กู้ยืมมาจดหมด เริ่มมีฐานะเป็นนายทุนขนาดกลางของหัวเมือง จนได้แต่งงานกับนางปิ่น บุตรของนายเกริ่น ทั้งสองช่วยกันทำมาหากิน ขายขนมไทยและจีนอยู่บริเวณวัดพนมยงค์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายเกิด กับนายตั้ว

นายเกิด รุ่น 3

“นายเกิด” เป็นผู้สืบทอดกิจการต่อจากบิดามารดา ทำมาค้าขายเจริญขึ้นกว่าเดิมมาก ต่อมาได้แต่งงานกับนางคุ้ม จากครอบครัวค้าขายเมืองวิเศษชัยชาญ มีบุตรด้วยกัน 8 คน คือ นายแฟง, นายฮวด, นายชุน, นางสาวง้วย, นายฉาย, นายฮ้อ, นายเสียง และนางบุญช่วย

บุตรแต่ละคนของนายเกิดต่างก็ออกไปตั้งบ้านเรือนสร้างครอบครัวของตัวเองในหลายพื้นที่ เวลาต่อมากิจการของนายเกิดกลับทรุดโทรมลง เนื่องจากบริเวณวัดพนมยงค์เสื่อมโทรม เพราะคลองเมืองตื่นเขิน ค้าขายลำบาก เมื่อรัฐบาลได้ตั้งศาลามณฑลที่บริเวณวังจันทรเกษม อีกทั้งมีตลาดใหม่ที่หัวร่อ และโรงบ่อยเบี้ยขึ้นที่นั้น ย่านนั้นจึงเจริญขึ้น ทำให้ย่านวัดพนมยงค์หมดสภาพการเป็นย่านตลาดไป การทำมาหากินของนายเกิดและบุตรหลานผู้สืบกิจการต่อมาจึงฝืดเคืองหนัก

วิถีชีวิตของคนริมน้ำ ที่คลองเจ้าเจ็ด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ภาพจาก “เกิดในเรือ”)

นายเสียง รุ่น 4

“นายเสียง” บิดาของปรีดี เกิดเมื่อ พ.ศ. 2409 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ครั้นนายเสียงอายุ 20 ปี ได้อุปสมบทที่วัดพนมยงค์ 3 พรรษา ลาสิขาบทแล้วได้แต่งงานกับนางลูกจันทน์ บุตรีหลวงพานิชย์พัฒนากร (เบ๊ก) กับนางพานิชย์พัฒนากร (เล็ก กิจจาทร)

หลังแต่งงานมีผู้แนะนำให้นายเสียงสมัครทำราชการเพราะมีพื้นฐานรู้หนังสือ แต่นายเสียงชอบอาชีพอิสระ จึงสมัครเรียนปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ ณ สำนักหมออดัมเซ็น (Hans Adamsen หรือพระบำบัดสรรพโรค) เมื่อสอบได้ประกาศนียบัตร ก็ได้ไปทำการปลูกฝีแก่ราษฎร ต่อมาไปทำป่าไม้บริเวณพระพุทธบาท แต่ก็เลิกกิจการเพราะขาดทุนมาก

จากนั้นไปทำนาที่ตำบลท่าหลวง แต่เกิดฝนแล้งติดกัน 2 ปี ทำนาไม่ได้ผล ซ้ำเป็นหนี้ จึงเลิกทำนาที่นั่น หันไปหักร้างถางพงที่ดินร้างที่ตำบลอู่ตะเภา แต่ก็ทำนาไม่ได้ผล ฝนแล้งบ้าง น้ำท่วมบ้าง เพลี้ยกินข้าวบ้าง กระทั่งบริษัทขุดคลองคูนาสยามขุดคลองมาถึงบริเวณที่ดินของนายเสียงที่หักร้างถางพงไว้นั้น ก็ต้องจ่ายเงินให้บริษัทเป็นค่าขุดคลองตามอัตรา นายเสียงไม่มีเงิน จำต้องกู้ยืมเงินมาจ่าย ทำให้ฐานะตกต่ำลงไปอีก จาก “นายทุนน้อยในเมือง” มาเป็น “ชาวนาผู้มีทุนน้อยในชนบท”

กระทั่งรัฐบาลดำเนินโครงการชลประทานป่าสักใต้ ที่นาของนายเสียงได้ประโยชน์ ช่วยให้นายเสียงกลายเป็นชาวนานายทุนน้อยแห่งชนบท”

นายเสียงมีบุตรกับนางลูกจันทน์ 6 คนคือ นางธราทรพิทักษ์ (เก็บ), นายปรีดี, นายหลุย, นางนิติทัณฑ์, ประภาศ (ชื่น), นางเนื่อง ลิมปินันท์ และนายถนอม นอกจากนี้นายเสียงยังมีภรรยาอีกคนหนึ่ง ชื่อนางปุ้ย มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายอรรถกิติกำจร (กลึง) และนางน้อม ตามสกุล

นามสกุล พนมยงค์

สำหรับการจดทะเบียนนามสกุล “พนมยงค์” ปรีดีเล่าว่า บรรดาบุตรชายของนายเกิด (ปู่ของปรีดี) ต่างก็ย้ายไปสร้างครอบครัวที่ตำบลอื่นจังหวัดอื่น กรมการอำเภอจึงตั้งนามสกุลให้ตามตำบลที่อาศัย หลานของนายเกิดบางคนที่กำลังรับราชการทาหาร ก็ได้รับแต่งตั้งนามสกุลจากผู้บังคับบัญชา ส่วนนายเสียงผู้เป็นบิดาของปรีดีนั้น “พระสุวรรณวิมล” เจ้าคณะจังหวัด ซึ่งเป็นผู้รู้เรื่องราวบรรพบุรุษของนายเสียงเป็นอย่างดี จึงบอกให้นายเสียงสมควรตั้งนามสกุลว่า “พนมยงค์”

ศิษย์ของพระสุวรรณวิมลคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้คิดนามสกุลประจำอำเภอรอบกรุง (อำเภอพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน) ก็เห็นชอบกับนามสกุลนี้ จึงจัดการให้กรมการอำเภอจดทะเบียนนามสกุลแก่นายเสียงว่าพนมยงค์ ตระกูลพนมยงค์จึงมีขึ้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา

สรุปลำดับตระกูล “พนมยงค์” ดังนี้ พระนมประยงค์ -> นายเกริ่น (แต่งงานกับนางแก้ว) -> นางปิ่น (แต่งงานกับนายก๊ก) -> นายเกิด (แต่งงานกับนางคุ้ม) -> นายเสียง (แต่งงานกับนางลูกจันทน์) -> ปรีดี พนมยงค์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มิถุนายน 2563