หลวงวิจิตรวาทการ เผย โดนด่าโง่ เมินซื้อยาญี่ปุ่นมาขายในไทยฟันกำไร 5 หมื่นบ./เดือน

หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ)

“ทุจริตคอร์รัปชั่น” เป็นเรื่องผิดปกติอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นการทำงานประเภทใดก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วความผิดนี้สำหรับบางคนกลับเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปได้ ดังเช่นประสบการณ์ของหลวงวิจิตรวาทการเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างพ.ศ. 2485 ถึง 2486 ตามด้วยเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2486 ซึ่งมีข้อมูลที่สามารถนำมาใช้หาผลประโยชน์ให้ตัวเองได้ แต่กลับไม่ทำจนโดนหาว่า “โง่”

เส้นทางชีวิตของพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ มีหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงในตำแหน่งปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี ยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการรัฐประหารเมื่อพ.ศ. 2501 นอกจากบทบาททางการเมืองแล้วยังมีผลงานในเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปศาสตร์การดนตรี และด้านอื่นๆ ไปจนถึงถูกดำเนินคดีในข้อหาอาชญากรสงครามหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2

ช่วงเวลาหนึ่งหลวงวิจิตรวาทการดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่าง เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2485 ถึง ตุลาคม พ.ศ. 2486 ตามด้วยตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2486

นับตั้งแต่ช่วงเมื่อพ.ศ. 2484 เป็นต้นมานับว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการสงคราม และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยต้องทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับฝ่ายญี่ปุ่น การทำงานของหลวงวิจิตรวาทการยังช่วยเหลือในด้านการต่างประเทศต่างๆ ในช่วงที่ทำงานในยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งย่อมทำให้ได้รับทราบข้อมูลความเคลื่อนไหวภายในต่างๆ เป็นอย่างดี

จากการบอกเล่าของหลวงวิจิตรวาทการ ในการปาฐกถาที่วัดมหาธาตุ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2489 อันเป็นสถานที่ซึ่งเคยใช้เวลาในวัยเด็กศึกษาทางธรรมตั้งแต่อายุ 13-20 ปี หลวงวิจิตรวาทการ เล่าว่า ไม่ได้ใช้ข้อมูลเหล่านี้มาหาผลประโยชน์เนื่องจากรำลึกถึงการอบรมสั่งสอนจากวัดมหาธาตุนี้โดยเฉพาะเรื่องความซื่อสัตย์ ไม่อาศัยอำนาจหน้าที่แสวงหาลาภยศแม้ว่าการกระทำนั้นจะถูกกฎหมายก็ตาม

ข้อความตอนหนึ่งในปาฐกถา มีว่า

“..แม้จะไม่เป็นการทุจริตผิดกฎหมายและมีสิ่งที่จูงใจให้ทำก็ได้งดเว้นไม่กระทำ เช่น ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ระหว่างที่ต้องติดต่อกับญี่ปุ่นแต่ประเทศเดียว ข้าพเจ้าทราบก่อนใครๆ ว่าเรือบรรทุกสินค้าของญี่ปุ่นจะเข้ามาถึงเมื่อไร และมีสินค้าอะไรอยู่ในเรือบ้าง เพียงแต่กระซิบบอกเพื่อนๆ ที่เป็นพ่อค้าให้ทราบหรือขอซื้อเป็นของตัวเองสักคราวละ 5 ตันเท่านั้นก็มั่งมีถมไป แต่การอบรมในสำนัก ห้ามใจไม่ให้ข้าพเจ้าทำ เพื่อนฝูงเขาว่าข้าพเจ้าโง่ แต่ข้าพเจ้าก็พอใจที่มิได้ทำอะไรผิดทางอบรมของสำนัก

อนึ่ง ในสมัยที่เป็นเอกอัครราชทูตประจำอยู่ที่โตเกียวเป็นสมัยที่ประเทศไทยต้องการยามากที่สุด ยาหลอดเล็กๆ ซึ่งซื้อในโตเกียวได้ด้วยราคา 10 เยน หรือ 15 เยน สามารถขายในประเทศไทยเป็นเงิน 50 หรือ 60 บาท แปลว่ากำไร 5 เท่า ยา 500 หลอด จะเป็นแต่เพียงห่อๆ หนึ่งซึ่งข้าพเจ้าสามารถจะฝากเครื่องบินญี่ปุ่นเข้ามาได้ทุกสัปดาห์

ถ้าข้าพเจ้าทำ ข้าพเจ้าสามารถหาเงินได้อย่างน้อยเดือนละ 50,000 บาท 2 ปีที่อยู่ญี่ปุ่นจะทำให้ข้าพเจ้ามีเงินจำนวนล้านแต่เสียงของสำนักคอยกระซิบห้ามมิให้ข้าพเจ้าทำ และในเวลานั้นข้าพเจ้าก็ภูมิใจว่าไม่เคยใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างไร…”

หลวงวิจิตรวาทการ ยังเล่าว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลควง อภัยวงศ์ เข้ามาทำหน้าที่แทนรัฐบาลพิบูลสงคราม สภาผู้แทนราษฎรยังตั้งคณะกรรมการสอบสวนพฤติกรรมการเงินของรัฐมนตรีชุดเก่า ซึ่งคณะกรรมการได้ตรวจสอบหลวงวิจิตรวาทการย้อนไปถึงเมื่อเป็นอธิบดีกรมศิลปกร

“คณะกรรมการลงความเห็นว่า ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตลอดมา ข้าพเจ้าเก็บโทรเลขฉบับนี้ไว้บนที่บูชา เก็บไว้เป็นประกาศนียบัตรเพื่อเกียรติประวัติประจำตระกูลสำหรับลูกหลานของข้าพเจ้าต่อไปในอนาคต…”

อ่านเพิ่มเติม


อ้างอิง :

“ประวัติ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ”. วิจิตรอนุสรณ์ (คณะรัฐมนตรี). ใน หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ.

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหารในการเมืองสมัยใหม่. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2561


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กรกฎาคม 2562