“เจ้าศรีอโนชา” เจ้าเมืองเหนือเชื่อมสัมพันธ์สองราชวงศ์ วีรสตรีผู้ปราบกบฏพระยาสรรค์

การเชื่อมสัมพันธไมตรีของรัฐในดินแดนเอเชียอาคเนย์ในอดีตนั้น วิธีการหนึ่งคือการสมรสระหว่างสองฝ่าย ในทางหนึ่งเพื่อสร้างพันธมิตรหรืออีกทางหนึ่งก็เป็นการสมรสไว้เป็นองค์ประกันก็ว่าได้ ในสมัยกรุงธนบุรีก็มีการเชื่อมสัมพันธไมตรีในลักษณะนี้เช่นกัน ระหว่างเจ้าสตรีล้านนาผู้หนึ่งกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเจ้าศรีอโนชากับเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณวาธิราช

เจ้าศรีอโนชาได้สมรสกับพิษณวาธิราช หรือบุญมา (ภายหลังดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งเป็นพระอนุชาธิราชเจ้าในรัชกาลที่ 1 อีกด้วย) เหตุที่ทั้งสองพระองค์ได้สมรสกันนั้นไม่ใช่เหตุผลทางการเมืองอย่างเดียว เพราะเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ได้สู่ขอเจ้าศรีอโนชาด้วยเหตุผลแห่งความสนิทชอบเสน่หา

เจ้าศรีอโนชาบ้างออกพระนามว่า เจ้าศิริรดจา, เจ้าศิริรจนา, เจ้ารจจา หรือเจ้าสัจา คาดว่าประสูติเมื่อ พ.ศ. 2293 เป็นพระราชธิดาของเจ้าฟ้าสิงหราชธานี เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว เจ้าผู้ครองเมืองลำปาง และเป็นพระราชนัดดาใน เจ้าพระยาสุละวะฦาไชยสงคราม (ทิพย์ช้าง) ปฐมวงศ์เจ้าเจ็ดตนหรือราชวงศ์ทิพย์จักร

เจ้าศรีอโนชาเป็นที่ต้องใจของเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ เมื่อครั้งที่ตามเสด็จฯ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกกองทัพขึ้นไปรบพม่าที่ล้านนา เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ได้พบเจ้าศรีอโนชาจึงได้สู่ขอจากเจ้าฟ้าชายแก้ว ตามพงศาวดารโยกนก ความว่า

“…ฝ่ายเจ้าพระยาสุรสีห์มีจิตประดิพัทธ์ในนางศรีอโนชาน้องเจ้ากาวิละ จึงใช้ขุนนางผู้ฉลาดมากล่าวสู่ขอต่อเจ้าฟ้าชายแก้ว ๆ และเจ้าพี่น้องทั้งเจ็ดคน ก็พร้อมใจกันนำนางศรีอโนชาไปยกให้แก่เจ้าพระยาสุรสีห์…”

การถวายเจ้าศรีอโนชาแก่เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ นี้เป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างสองฝ่าย แม้เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ในขณะนั้นยังมิใช่เชื้อพระวงศ์เป็น “เจ้า” แต่ก็เป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างล้านนากับกรุงธนบุรี นอกจากนี้ยังปรากฏอีกว่าเจ้ากาวิละมีพระประสงค์จะยกพระนัดดาของพระองค์ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี อันแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างสองราชวงศ์ และเป็นการผูกมิตรภาพทางการเมืองให้เกิดการไว้วางใจระหว่างกรุงธนบุรีกับล้านนา

ปรากฏใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ความว่า “ในวันนั้นพระยาวิเชียรปราการถวายนัดดานารีเป็นบาทบริจาริกผู้หนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงิน 1 ชั่ง ผ้าสำรับหนึ่ง แล้วส่งตัวนารีผู้นั้นคืน ให้พระยาวิเชียรปราการ” โดยได้ให้เหตุผลว่าเหตุที่ไม่ทรงรับสตรีผู้นั้นเพราะทรงรังเกียจไม่ประสงค์พรากลูกหลานผู้ใด 

อย่างไรก็ตาม “พระยากาวิละ พระยาอุปราชา กราบทูลฯ ว่า บัดนี้เจ้าตัวก็สมัคร บิดามารดาญาติพี่น้องทั้งปวงก็ยอมพร้อมกันอันจะเป็นโทษด้วยพลัดพรากจากบิดามารดาดุจหนึ่งทรงพระกรุณาเห็นหามิได้ ทรงพระดำริเห็นว่า ตั้งใจสามิภักดิ์เป็นแท้แล้ว จึ่งพาตามเสด็จฯ มาด้วย” แต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่เอ่ยถึงเจ้าสตรีผู้นี้

ทั้งนี้ เพ็ญสุภา สุขคตะ ให้ข้อมูลว่า เจ้าศรีอโนชาเคยสมรสกับชายผู้หนึ่งมาก่อนแล้ว ระบุว่า “ขณะนั้นเจ้าศรีอโนชาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ เพิ่งแต่งงานกับเจ้าลาวพุงดำผู้หนึ่ง (คนล้านนานิยมสักหมึกดำ คนสยามจึงเรียกว่าลาวพุงดำ) ทหารได้จับตัวภัสดาของเจ้าศรีอโนชามาถวายเจ้าพระยาสุรสีห์ ครั้นเจ้าพระยาสุรสีห์ได้เห็นเจ้าศรีอโนชา เกิดมีพระทัยปฏิพัทธ์ รับสั่งให้นำตัวภัสดาไปจำตรวนไว้ และเกลี้ยกล่อมเจ้าศรีอโนชาว่าจะทรงเลี้ยงเป็นพระชายา อย่าได้คิดอาลัยกับผัวเดิม

จากนั้นซักไซ้ไล่เลียงว่าอยู่กินกันมากี่ปี เจ้าศรีอโนชาตอบว่าเพิ่งแต่งงานได้ 8 วันก่อนเมืองเชียงใหม่แตก อนึ่ง หากจะชุบเลี้ยงข้าเจ้าในฐานะบาทบาริจาริกานั้น ขอให้ปล่อยภัสดากลับไปบ้านเมืองของเขาเถิด อย่านำไปเป็นเชลยทางใต้ให้กินแหนงแคลงใจเลย”

เมื่อเจ้าศรีอโนชาได้เสด็จลงมาที่กรุงธนบุรี ถวายงานรับใช้พระยาสุรสีห์แล้วนั้นก็มีพระประสูติกาลพระธิดาพระองค์หนึ่ง คือ เจ้าฟ้าหญิงพิกุลทอง ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2320

ต่อมากเมื่อเกิดเหตุความวุ่นวายในกรุงธนบุรี เจ้าศรีอโนชาถือเป็นวีรสตรีพระองค์หนึ่งในช่วงเปลี่ยนแผ่นดินกรุงธนบุรี พระองค์ได้ช่วยพระยาสุริยอภัยจากนครราชสีมาปราบกบฏพระยาสรรค์ เจ้าศรีอโนชาได้ได้ระดมชาวล้านนาที่อาศัยอยู่ที่บ้านปากเพรียว แขวงเมืองสระบุรี ซึ่งถูกเทครัวมาจากเมืองเหนือ เข้ารวมกับกองทัพพระยาสุริยอภัย เมื่อยกกองทัพเข้าปราบกบฏพระยาสรรค์ เจ้าศรีอโนชาได้บังคับบัญชากองทัพเรือชาวมอญเข้าตีกระหนาบจนฝ่ายกบฏพระยาสรรค์พ่ายแพ้

เมื่อผลัดแผ่นดินเถลิงเจ้าพระยาจักรีเป็นพระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีแล้วนั้น เจ้าศรีอโนชาก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา พระอัครชายาเธอในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

เพ็ญสุภา สุขคตะ อธิบายคำว่า “เจ้าครอก” ว่า “กรณีแรก ใช้เรียกเจ้านายฝ่ายหญิงที่มีชาติวุฒิเชื้อสายเจ้าโดยกำเนิด คือไม่ใช่มีปูมหลังเป็นสามัญชน กรณีที่สอง เจ้านายหญิงองค์นั้นน่าจะมีกองกำลังทัพเป็นของตนเอง”

ส่วนเจ้าฟ้าหญิงพิกุลทองนั้น รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็นเจ้าฟ้าทรงกรม ออกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าหญิงพิกุลทอง กรมขุนศรีสุนทร เมื่อ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2351 เจ้าฟ้าหญิงพิกุลทองจึงนับเป็นเจ้าฟ้าในวังหน้าพระองค์แรกในกรุงรัตนโกสินทร์ที่รับสถาปนาพระอิสริยยศนี้

คลิกอ่านเพิ่มเติม : พระเจ้าตากสินสั่งเฉือนหูพระยากาวิละ เหตุดื้อแพ่ง-เรียกตัวแล้วไม่ยอมมา!!!

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “เจ้าพ่อทิพย์ช้าง” ต้นวงศ์ “เจ้าเจ็ดตน” ผู้ปลดแอกลำปางจากพม่า แต่ภายหลังกลับสวามิภักดิ์พม่า?

คุณงามความดีของเจ้าศรีอโนชานั้นมีส่วนให้ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์จักรีกับราชวงศ์ทิพย์จักรแน่นแฟ้นขึ้น ซึ่งเจ้าศรีอโนชานับเป็นเจ้านายสตรีฝ่ายเหนือพระองค์แรก ๆ ที่ได้สมรสเชื่อมสัมพันธไมตรีกับเจ้านายในพระราชวงศ์จักรี ก่อนที่ยุคต่อมาจะมีเจ้านายสตรีฝ่ายเหนือเช่น เจ้าดารารัศมี จากเชียงใหม่ และเจ้าศรีพรหมา จากเมืองน่าน ก็ได้มาสมรสกับเจ้านายกรุงเทพฯ เช่นกัน

เจ้าศรีอโนชาสิ้นพระชนม์เมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ปรากฏกู่บรรจุอัฐิของพระองค์ตั้งอยู่ติดกับกำแพงด้านนอกของวัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง

 


อ้างอิง :

กรมศิลปากร. (2554). ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ สกสค.

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). (2503). พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางสงวน นพวงศ์ ณ อยุธยา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์

นรินทรเทวี, กรมหลวง. (2526). จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี (พ.ศ. 2310-2381) และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์พระราชทานในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร. ม.ป.พ.

ประชากิจกรจักร, พระยา (แช่ม บุนนาค). (2516). พงศาวดารโยนก. กรุงเทพฯ : บุรินทร์การพิมพ์.

เพ็ญสุภา สุขคตะ. (2561). เจ้าครอกฟ้าศรีอโนชา พระน้องนางแห่งเมืองเหนือกับวีรกรรม “หงายเมือง” จากกรุงธนสู่กรุงเทพฯ ?. เข้าถึงเมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562, จาก https://www.matichonweekly.com/column/article_115059


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ : 11 กรกฎาคม 2562