“ภรรยาพระราชทาน” นโยบายใช้ผู้หญิงเพื่อความมั่นคง สู่กฎหมายที่ “เมียหลวง” ต้องหลบ

ภาพประกอบเนื้อหา - ฉากเกี้ยวพาราสีในจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดวัง จังหวัดพัทลุง เขียนขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4

“ใครซื่อเจ้าเติมนาง” ไม่ใช่เรื่องพูดกันสนุกๆ หาก แต่เป็นธรรมเนียมนนิยมอย่างหนึ่งในราชสำนักสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กล่าวคือ ผู้ใดทำความดีความชอบ จงรักภักดีเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ก็จะพระราชทานผู้หญิงเป็นบำเหน็จรางวัล หญิงนั้นได้ชื่อว่าเป็น “นางพระราชทาน” หรือ “เมียนาง” ซึ่งเรารู้จักในนาม “ภรรยาพระราชทาน” นั่นเอง

ในกฎหมายตราสามดวงได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ผู้ใดชนช้างมีไชย แลข้าศึกขาดหัวช้าง บำเหน็จได้พานทอง ร่มคันทอง คานหามทอง แลเมียนาง” [1]

Advertisement

ธรรมเนียมการพระราชทานหญิงให้เป็นรางวัลนี้ ปรากฏหลักฐานในวรรณคดีหลายเล่ม เรื่องแรกคือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นวรรณคดีที่แต่งด้วยบทกลอนชิ้นแรกของไทยใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒสัตยา มีข้อความตอนแรกเกี่ยวกับการสร้างโลก การสาบแช่งผู้ทรยศต่อพระเจ้าแผ่นดิน

ตอนท้ายให้พรผู้จงรักภักดีและกล่าวว่าผู้ใดซื่อสัตย์พระเจ้าแผ่นดินจะพระราชทานสิ่งต่างๆ เป็นรางวัล พร้อมกับคำที่ว่า “ใครซื่อเจ้าเติมนาง” เพราะฉะนั้นย่อมเชื่อได้ว่าธรรมเนียมอย่างนี้ในสมัยอยุธยาตอนต้นก็มีใช้แล้ว

เรื่องขุนช้างขุนแผน อันเป็นวรรณคดีสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของไทย ซึ่งเนื้อเรื่องได้มาจากสมัยอยุธยาและหลายๆ ตอนมาเขียนกันในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น พระไวย บุตรชายของขุนแผนกับนางวันทอง ได้นางสร้อยฟ้า พระราชธิดาเจ้าเชียงใหม่มาเป็นเมียนาง หรือเมียพระราชทาน ทั้งนี้เพราะสามารถรบชนะพระเจ้าเชียงใหม่ ดังข้อความว่า

“อ้ายหมื่น ไวยกูก็ให้มียศศักดิ์

พร้อมพรักข้าไทเป็นถ้วนฉี่

ยังเสียอยู่แต่เมียมันไม่มี

จะยกอีสร้อยฟ้าให้แก่มัน

จะให้สมกับที่มีความชอบ

ให้ประกอบยศยิ่งทุกสิ่งสรรค์

เป็นขุนนางไม่มีเมียก็เสียครัน

จะให้มันมีเมียเสียสักคน” [2]

ครั้นขุนแผนกราบบังคมทูลว่า พระไวยได้เสียกับศรีมาลา และหมั้นหมายกันไว้แล้ว กลับตรัสว่า

“จึงตรัสว่า อ้ายพลายงามเป็นหมื่นไวย มีเมียสักเท่าไรก็ควรที่

ได้สักสิบคนนั้นมันยิ่งดี…” [3]

ส่วนเรื่องราชาธิราชนั้น สมิงนครอินทร์ ทหารเอกผู้หนึ่งของพระเจ้าราชาธิราชทำศึกชนะ สามารถประหารชีวิตมังมหานรธาได้ พระเจ้าราชาธิราชโปรดให้นางอุตละหยิบหมากในพานพระศรีมาประทานให้ ภายหลังสมิงนครอินทร์แกล้งลองพระทัยว่าชอบนางอุตละ พระเจ้าราชาธิราชก็พระราชทานให้ พร้อมกับตรัสว่า

“ทุกวันนี้ตัวเราก็เป็นกษัตริย์ใช่จะไร้พระสนมเสมอนางอุตละนี้ก็หามิได้ แม้นจะหาสตรีที่มีลักษณะรูปงามให้ยิ่งกว่านางอุตละนี้ก็ได้ดังความปรารถนา แต่จะหาข้าทหารมีฝีมือเข้มแข็งดุจสมิงนครอินทร์นี้หายากนัก” [4]

สมิงนครอินทร์นั้นภายหลังได้คืนนางอุตละไป พร้อมทั้งขอขมานางด้วย

การที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานนางเป็นรางวัลแก่ข้าราชการผู้ประกอบความชอบนั้น ศิลป์ พิทักษ์ชน หรือจิตร ภูมิศักดิ์ ได้เคยวิจารณ์ไว้ในบทความเรื่อง “โองการแช่งน้ำ” ว่า

“เสร็จแล้วก็หยอดทีเด็ดเข้าให้ว่า ใครซื่อเจ้าเติมนาง ทีเด็ดอันนี้คือใครซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน ท่านจะพระราชทาน ตัวอ่อน ๆ เพิ่มเติมให้เป็นรางวัล สําหรับอยู่งานนวดเฟ้นข้างในจวน นี่คือวัฒนธรรมหรือนัยหนึ่งรูปแบบชีวิตของศักดินา ผู้หญิงของสังคมศักดินาก็คือเครื่องมือบําบัด ความใคร่อันมีชีวิตเป็นเสมือนทรัพย์สิน สิ่งของที่หยิบยื่นให้กันเป็นรางวัล หน้าที่ของเธอก็คือบําเรอความสุขทางกามารมณ์ให้แก่ชาย ไม่ผิดอะไรกับโสเภณี ผิดกันแต่ว่า เป็นโสเภณีผูกขาดที่ไม่สําส่อนเท่านั้น” [5]

จิตร ภูมิศักดิ์ มองเห็นว่าการกระทํา เช่นนี้เป็นลักษณะดูถูกสตรีเพศของศักดินา ที่นำผู้หญิงมาเป็นรางวัลเหมือนทรัพย์สินเงินทอง และเอาผู้หญิงไปเพื่อบําเรอความสุขทางกามารมณ์ หญิงจึงมีลักษณะไม่ต่างไปจากโสเภณีผูกขาด

แท้จริงแล้วเมื่อวิเคราะห์เรื่องนี้โดยละเอียด หาหลักฐานต่าง ๆ มาประกอบจะเห็นได้ว่า “ใครซื่อเจ้าเติมนาง” ไม่ใช่เรื่องที่พระเจ้าแผ่นดินทรงทําไปอย่างสนุก ๆ ไม่มีสาระ นึกจะยกผู้หญิงให้ไปบําเรอกามารมณ์ของใครก็ได้ แต่เรื่องนี้กลับเป็นนโยบายในการบริหารระดับชาติเลยทีเดียว …

สิ่งที่พอจะเป็นหลักฐานยืนยันว่า การพระราชทานนางมี “การเมือง” แอบแฝงอยู่ด้วยแน่นอนนั้น มีประเด็นต่าง ๆ ที่น่าจะนํามาพิจารณาได้ดังนี้

ประการแรก หญิงที่พระเจ้าแผ่นดินนํามาพระราชทานนั้น เป็นนางข้าหลวงที่มาถวายตัวรับใช้อยู่ตามตําหนักมเหสี เจ้าจอม และพระสนมต่าง ๆ หญิงเหล่านี้มักเป็นลูกคหบดี ข้าราชการ ซึ่งปรารถนาจะให้ลูกได้รับการศึกษาอบรมแบบชาววัง

ฉะนั้นจึงมักจะส่งธิดาเข้าไปถวายตัวเป็น “นางข้าหลวง” อยู่กับเจ้านาย พระองค์หญิง หรือท่านผู้ใหญ่ในพระราชวังตั้งแต่ยังเยาว์วัย ข้าราชการที่ถวายธิดาเป็นนางข้าหลวงคนหนึ่งหรือสองคนแล้วก็นิยมส่งธิดาผู้น้องเข้าไปศึกษาอบรมด้วย [6]

หญิงเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนในเรื่องการประกอบอาหาร เย็บปักถักร้อย ขับร้องและฟ้อนรํา มีโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าจอมของพระเจ้าแผ่นดิน นางพระราชทาน หรือลาออกไปแต่งงานตามฐานะสกุล ซึ่งย่อมเป็นที่หมายปองของชายสกุลสูง ด้วยถือว่ามีคุณสมบัติของกุลสตรี

เพราะฉะนั้นบิดา-มารดาจึงนิยมส่งลูกสาวเข้าไปอยู่ในวัง เพราะถ้าพระเจ้าแผ่นดินโปรดก็ได้เป็นเจ้าจอม ตัวเองจะได้เกี่ยวดองกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือถ้าเป็นนางพระราชทาน ก็หมายถึงได้ลูกเขยใหญ่โตเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ถ้ามิใช่ในสองประการแรกก็จะมีลูกข้าราชการชั้นสูงด้วยกันมาสู่ขอ ซึ่งคิดดูแล้วมีแต่ทางได้ไม่มีเสีย

สําหรับพระเจ้าแผ่นดิน การโปรดหญิงคนใดขึ้นเป็นเจ้าจอม นอกจากจะเป็นการชอบพอพระทัยของพระองค์เองแล้ว ย่อมหมายถึงการผูกความจงรักภักดีของครอบครัวนั้นต่อพระองค์ด้วยประการหนึ่ง เพราะฉะนั้น การจะยกหญิงคนใดให้แก่ข้าราชการผู้ใดอาจจะใช้หลักการอันเดียวกันคือ เป็นการผูกพันให้เกิดความจงรักภักดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เพราะภรรยาย่อมต้องมีอิทธิพลต่อทัศนคติของสามี ถ้าได้ส่งคนที่พระองค์ไว้วางพระทัยไปเป็นภรรยาข้าราชการนั้น ๆ ย่อมมีผลดีต่อการสร้างความจงรักภักดีเดิมให้เพิ่มพูน และมั่นคงขึ้นแน่นอน

นอกจากนี้หญิงเหล่านี้ ล้วนเป็นลูกข้าราชการหรือคหบดี การที่พระเจ้าแผ่นดินจะหยิบยกไปบําเรอกามารมณ์ใครเล่น ๆ คงไม่กล้าหักหาญน้ำใจกันถึงเพียงนั้น เพราะถ้าทําดังนั้นย่อมมีแต่ผลเสียแก่พระองค์มากกว่าเป็นแน่

ประการที่สอง พระเจ้าแผ่นดินไทยไม่นิยมพระราชทานพระมเหสี เจ้าจอม หรือพระสนมของพระองค์แก่ผู้ใด ด้วยมีประเพณีถือกันว่าอะไรที่เป็นของใช้ส่วนพระองค์แล้ว ใครไปใช้ร่วมย่อมเป็นเสนียดจัญไร เพราะฉะนั้นจึงพระราชทานได้แต่นางข้าหลวงในตําหนักของพระชายาต่าง ๆ เท่านั้น หญิงเหล่านี้พอเริ่มเติบโตก็ถูกส่งมาอยู่ในวัง

ผู้ใดที่มีโอกาสเข้าไปอยู่รับใช้ในวังก็เท่ากับได้เข้ามหาวิทยาลัยเลยทีเดียว [7] ได้ฝึกหัดวิชาความรู้ไปพร้อมกับการรับใช้เจ้านายย่อมซึมซาบความจงรักภักดีบุญญาธิการ ค่านิยม และทัศนคติต่าง ๆ อันส่งผลประโยชน์ต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คนเรานั้นเมื่อถูกปลูกฝังในทางใดก็ย่อมนิยมชมชอบสิ่งนั้น ยิ่งเป็นการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ๆ สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เขาไม่ต้องการแสวงหาคําตอบเลย เพราะถูกฝึกปรือมาจนกลายเป็น “ทฤษฎีประสานกับการปฏิบัติ” เสียแล้ว เมื่อคนเหล่านี้ถูกส่งไปอยู่กับใครก็ย่อมจะโน้มน้าวให้คนที่อยู่ใกล้มีแต่ความจงรักภักดียิ่ง ๆ ขึ้นไปมิใช่หรือ

ประการสุดท้ายที่กล่าวถึงเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาอย่างยิ่ง นั่นคือหลักฐานทางกฎหมาย ถ้าการพระราชทานหญิงเป็นรางวัลเป็นเรื่องสนุก ๆ ของพระเจ้าแผ่นดิน หรือมองเห็นหญิงเป็นเพียงผู้บําเรอกามารมณ์เท่านั้น ก็คงจะไม่จําเป็นต้องมีกฎหมายมาปกป้องผลประโยชน์ของหญิงเหล่านี้ ตรงกันข้ามกลับมีกฎหมายรับรองสถานภาพปกป้องเมียพระราชทาน หรือเมียนางไว้อย่างน่าคิด ถ้าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เหตุใดพระเจ้าแผ่นดินจะต้องตรากฎหมายออกมาปกป้องผลประโยชน์กันถึงเพียงนี้

เราพึงพิจารณาแง่มุมต่างๆ ของกฎหมายที่เกี่ยวกับ “เมียพระราชทาน” ได้ดังนี้

สิทธิและฐานะของการเป็นภรรยา

ในพระอัยการลักษณะผัวเมีย ซึ่งเป็นกฎหมายตราขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทองนั้น ได้แบ่งภรรยาไว้ 3 ประเภท [8]

1. เมียกลางเมือง หมายถึงเมียหลวง ได้แก่ “หญิงอันบิดามารดากุมมือให้เป็นเมียชาย”

2. เมียกลางนอก หมายถึงเมียน้อย (อนุภรรยา) ซึ่งได้แก่ “ชายขอหญิงมาเป็นอนุภรรยา หลั่นเมียหลวงลงมา”

3. เมียกลางทาสี หมายถึงเมียที่เป็นทาส ได้แก่ “หญิงใดมีทุกข์ยากชายช่วยไถ่ได้มา เป็นหมดหน้าเลี้ยงเป็นเมีย” รองลงมาจากเมียน้อย

นอกจากนี้ในกฎมณเฑียรบาลยังกล่าวถึงพรรยาอีกประเภทหนึ่คือ “เมียนาง” หรือเมียพระราชทาน เมียนางนี้มีตำแหน่งและฐานะสูงกว่าเมียกลางเมือง (เมียหลวง) ผู้ที่ได้รับพระราชทานเมียนางไปจะเอาไปขายเป็นทาสแก่ผู้ใดไม่ได้ ส่วนเมียหลวง เมียน้อย หรือเมียทาส สามีมีสิทธิที่จะเอาไปขายได้ นอกจากนี้ ยังต้องปฏิบัติให้ถูกทำนองคลองธรรมจะทุบตีทารุณอย่างเมียอื่นไม่ได้ มีบทลงโทษไว้ว่า

“อนึ่งเมียแห่งตนนั้น ท้าวพญา ประสาทให้แก่ตน ถ้าแลษัตรีนั้นผิดประการใดแต่ตีด่าให้หลาบ ปราบให้กลัว อย่าให้ล้มตายเสียรูปทรงษัตรีนั้นไป ถ้าหมีได้ทำตามโทษสามสถาน” [9]

แสดงว่าถึงชายใดมีเมียหลวงอยู่แล้ว ถ้าได้เมียพระราชทานมา เมียพระราชทานอยู่ในฐานะที่เหนือเมียทั้งปวง

ศักดินา

เมียของข้าราชการมีส่วนแบ่งของศักดินา ดังนี้

“เมียพระราชทาน และเมียหลวง ศักดินาครึ่งศักดินาผัว เมียน้อยทั้งปวง ศักดินาครึ่งหนึ่งของเมียหลวง เมียทาส ถ้ามีลูก ศักดินาเท่าศักดินาเมียน้อย” [10]

ในเรื่องของศักดินา เมียพระราชทานก็ยังถือศักดินาเท่าเมียหลวง ไม่เคยมีส่วนใดที่เสียเปรียบเมียหลวง

การรับมรดกเมื่อสามีสิ้นชีวิต

มีบทบัญญัติไว้ว่าเมียพระราชทานนั้นได้รับมรดกของสามีมากกว่าเมียประเภทอื่นๆ คือ

“ภริยาอันทรงพระกรุณาพระราชทานให้ได้ทรัพย์ 3 ส่วนกึ่ง ภริยาอันสู่ขอมีขันหมาก บิดามารดายกให้ได้ทรัพย์ 3 ส่วน เหตุภริยาอันพระราชทานให้นั้นสูงศักดิ์กว่า ภริยาอันมีขันหมากบิดามารดายกให้ อนุภริยาได้ทรัพย์ 2 ส่วนกึ่ง ภริยาทาสให้ปล่อยเป็นไท” [11]

จากหลักฐานทางกฎหมาย แง่มุมต่าง ๆ ย่อมเห็นได้ชัดว่า เมียพระราชทานนั้นได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายมากกว่าเมียประเภทอื่น ก็ใครเล่าเป็นผู้ตรากฎหมายเหล่านั้น ถ้ามิใช่พระเจ้าแผ่นดิน สิ่งต่าง ๆ ที่ประสานสอดคล้องกันมาโดยลําดับนั้นย่อมชี้ชัดว่า “ใครซื่อเจ้าเดิมนางนั้น เป็นการเติมเพื่อผูกความซื่อให้มั่นคง” เป็นวิธีการอันแนบเนียนที่สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยทรงเลือกเอามาใช้แสดงให้เห็นพระปรีชาญาณอันลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง

ผู้หญิงใครว่าไม่สําคัญ? ในทางการเมือง ผู้หญิงมีบทบาทสําคัญหลายครั้งจนนับไม่ถ้วน พระสุวรรณเทวี เชษฐภคินีในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทําหน้าที่เป็นตัวประกันความจงรักภักดีของไทยที่มีต่อพะม่า พระเจ้าเชียงใหม่ถวายนางสร้อยฟ้าเป็นการไถ่โทษตนต่อพระพันวษา เจ้าราชชายาดารารัศมีในรัชกาลที่ 5 ทําให้เชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรไทยไม่ใช่ประเทศราช

เพราะฉะนั้น “ใครซื่อเจ้าเติมนาง” นี้อาจจะเรียกได้ว่า “เป็นนโยบายที่ใช้ผู้หญิงให้เป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงภายในชาติสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เลยทีเดียวก็ว่าได้”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ทำไมร.4 ทรงประกาศปราม “หม่อมห้าม” คบคนในวัง และห้ามคนนอกคบคนในวัง


เชิงอรรถ

[1] กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1 พิมพ์ครั้งที่ 2 คุรุสภา 2515. หน้า 90.

[2] ขุนช้างขุนแผน เล่ม 2 หน้า 793.

[3] เล่มเดิม. หน้า 794

[4] เจ้าพระยาคลัง (หน). ราชาธิราช. แพร่พิทยา 2515. หน้า 366

[5] ศิลป์ พิทักษ์ชน. “โองการแช่งน้ำ”. ศิลปวรรณกรรมสมัยศักดินา หน้า 113-114.

[6] สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. 42 พระประวัติบุคคลสำคัญ. บรรณาคาร 2509. หน้า 509-526

[7] พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์. เจ้าชีวิต. คลังวิทยา 2505. หน้า 33.

[8] กฎหมายตราสามดวง เล่ม 2 พิมพ์ครั้งที่ 2 คุรุสภา 2515. หน้า 206.

[9] กฎหมายตราสามดวง เล่ม 1 หน้า 116.

[10] จิตร ภูมิศักดิ์. โฉมหน้าศักดินาไทย. โรงพิมพ์รุ่งเรืองศิลป์ 2500. หน้า 148.

[11] กฎหมายตราสามดวง เล่ม 3 พิมพ์ครั้งที่ 2 คุรุสภา 2515. หน้า 26-27.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2528

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการ