ทำไมร.4 ทรงประกาศปราม “หม่อมห้าม” คบคนในวัง และห้ามคนนอกคบคนในวัง

รัชกาลที่ 4 วิ่งเต้นติดสินบน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

สำหรับราษฎรคนทั่วไปในยุคนี้ พื้นที่ในวังแทบเป็นเสมือนพื้นที่หวงห้ามเฉพาะ แต่ในอดีตนั้นเคยมีช่วงเวลาที่ระเบียบไม่ได้เคร่งครัด เจ้านายชั้นสูงพบเห็นคนนอกเข้ามาอาศัยในพระราชวังแบบปะปนกันหลากหลาย ทั้งคนดีและนักเลงทุจริตก็เคยสร้างปัญหาถึงขั้นเหิมเกริมเข้าไปลักขโมยในตำหนักพระองค์เจ้าหญิง หรือบางครั้งนางห้ามก็เข้ามาหยิบยืมเงินทอง นอนค้างในพระบรมมหาราชวังกันหลายเดือน

ข้อความในประกาศพระราชบัญญัติฝ่ายพระบวรราชวัง เรื่องเล่นเบี้ยในพระบวรราชวัง ซึ่งคัดมาจากหมายรับสั่งเดือน 8 อุตราสาฒ ปีฉลู จุลศักราช 1215 (พ.ศ. 2396) บันทึกเรื่องราวว่าด้วยวีรกรรมของคนนอกวังและหม่อมในวังร่วมกันเข้าไปลักทรัพย์ในตำหนักพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงสุด ได้ทรัพย์สิ่งของคิดเป็นทองคำหนัก 18 ตำลึงบาท เมื่อฝ่ายตุลาการสืบความก็ได้เรื่องว่า เป็นฝีมืออีปริก หม่อมหุ่น และหม่อมนวม

ในประกาศระบุข้อความว่าด้วยสาเหตุของพฤติกรรมนี้ว่า “อีปริกภรรยานายนุดอยู่นอกพระบวรราชวังเข้าไปคบหากันกับหม่อมหุ่น หม่อมนวม ในพระบวรราชวังตั้งบ่อนไพ่บ่อนถั่วมาหลายครั้ง เสียหายสิ้นทรัพย์สิ่งของจนเปนหนี้ลง…”

เมื่ออีปริก หม่อมหุ่น หม่อมนวมเห็นว่าพระองค์เจ้าหญิงสุดไม่อยู่ในตำหนัก จึงไปหาลูกกุญแจได้ที่ริมที่นอนของขำข้าหลวง

“อีปริกเอาลูกกุญแจไขประตูตำหนัก ให้หม่อมหุ่นหม่อมนวมเข้าไปในตำหนัก อีปริกลั่นกุญแจประตูไว้ดังเก่า แล้วเอาลูกกุญแจไว้ข้างที่นอนตามเดิม อีปริกจึงมาคอยดูระวังคนข้างนอก หม่อมหุ่นหม่อมนวมจึงลั่นกลอนประตูไว้ แล้วค้นหาลูกกุญแจหีบกำปั่น ได้ลุกกุญแจกำปั่นในหีบหนัง จึงเอาลูกกุญแจไขได้ทรัพย์สิ่งของทองรูปพรรณหลายสิ่งเปนทองคำหนัก 18 ตำลึงบาท

หม่อมหุ่นหม่อมนวมเปิดน่าต่างข้างเฉลียงออกมา แต่กลอนประตูนั้นใส่อยู่หาได้ถอดไม่ หม่อมหุ่นหม่อมนวมพาทองรูปพรรณไปที่เรือนหม่อมหุ่น พอดวงแก้วมารดาหม่อมหุ่นเข้าไปเยี่ยมหม่อมหุ่นอยู่ที่นั้นด้วย หม่อมหุ่นกับหม่อมนวมจึงเอาทองรูปพรรณออกมาตัดแบ่งเปน 4 ส่วน ให้อีปริกส่วนหนึ่ง ดวงแก้วมารดาหม่อมหุ่นส่วนหนึ่ง ยังอิก 2 ส่วนนั้นหม่อมหุ่นหม่อมนวมปันกันคนละส่วน”

เมื่อพระองค์เจ้าหญิงสุดทราบเรื่องก็กลับเข้ามาในพระบวรราชวัง ตรวจสิ่งของไขลูกกุญแจพบว่าทองรูปพรรณหายไปหลายสิ่ง ความได้ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าเป็นคนนอกพระบวรราชวังเข้ามาคบคนในพระบวรราชวังเป็นผู้ร้าย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบริรักษ์ราชา พระพรหมสุรินทร์ พระพรหมธิบาล พระศรีพิทักษ์ เป็นตุลาการชำระเอาตัวผู้ร้าย ครั้นเมื่อสืบทราบแล้ว ตุลาการให้ชำระเร่งเอาทองรูปพรรณไปถวายพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงสุด และนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท

“…ทรงพระราชดำรัสว่า ในพระบวรราชวังนี้ แต่ก่อนหามีผู้ใดบังคับว่ากล่าวรักษาพระบวรราชวังเด็ดขาดไม่ คนนอกพระราชวังเข้าไปอาศรัยอยู่ในพระบวรราชวังก็มีอยู่มาก ที่เปนคนนักเลงทุจริตก็มี เปนข้าเจ้าบ่าวนายหลบหนีเข้าไปอาศรัยอยู่ก็มีบ้าง คบหากันเข้ากับคนในพระบวรราชวังเล่นเพื่อนตั้งบ่อนถั่วบ่อนแปดเก้าเล่นหวยการพนันต่างๆ จนสิ้นทรัพย์สิ่งสิน เกิดโจรผู้ร้ายมาช้านาน

ครั้นเสด็จขึ้นพระบวรราชาภิเศกแล้ว ตั้งพระไทยอยู่เปนนิจที่จะทำนุบำรุงพระราชวงศานุวงศ์ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยจะให้ถาวรขึ้น สิ่งใดที่ชั่วมาแต่ก่อนมิให้ประพฤติ จะให้ประพฤติแต่การที่สิ่งอันดี เปนผลประโยชน์ต่อไปภายน่า จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งท้าวสัตยานุรักษ์เปนผู้ใหญ่ว่าราชการในพระบวรราชวัง แล้วโปรดตั้งจ่าศาลาจ่าด้าน ทนายเรือน โขลน พระราชทานยศถาศักดิ์ให้ทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อยครบพนักงานอยู่แล้ว หวังพระไทยจะมิให้คนพาลภายนอกเข้ามาคบหากันกับคนในพระบวรราชวังเปนพาลกระทำความชั่วต่อไป

แลท้าวสัตยานุรักษ์กับจ่าศาลาจ่าด้านทนายเรือนโขลนมีความประมาท หาตรวจตราราชการในพระบวรราชวังให้รอบคอบไม่ แลให้อีปริกเข้าไปคบหากันกับหม่อมหุ่นหม่อมนวม ตั้งบ่อนเล่นเบี้ยเสียกันลงจนถึงเปนโจรผู้ร้ายให้เคืองใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทดังนี้ โทษท้าวสัตยานุรักษ์กับจ่าทนายเรือนโขลนมีความผิดอยู่ด้วยกันเปนอันมาก ครั้นจะให้ลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษเล่า ก็ทรงเห็นว่าท้าวสัตยานุรักษ์ทนายเรือนโขลนล่วงพระราชอาญาผิดแต่ครั้งเดียว จึงโปรดพระราชทานโทษให้ภาคทันไว้ครั้งหนึ่งก่อน แต่หม่อมหุ่นหม่อมนวมดวงแก้วอีปริกซึ่งคบหากันเปนผู้ร้ายนั้น จะให้ลงพระราชอาญาตามโทษานุโทษ

จึงมีพระบวรราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า ตั้งแต่ณวันอังคาร เดือน 8 อุตราสาธขึ้น 2 ค่ำ ปีฉลูเบญจศกสืบไป ห้ามมิให้พระองค์เจ้าหม่อมเจ้า เจ้าจอม หม่อมพนักงาน ท้าวนางจ่าโขลน ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย แลข้าเจ้าบ่าวนายที่อยู่ในพระบวรราชวังคบหากันตั้งบ่อนโป บ่อนถั่ว บ่อนกำตัด บ่อนเล่นแปดเก้า แทงหวยแลเล่นการพนันต่างๆ ซึ่งจะให้เสียทรัพย์สิ่งสินแก่กัน นอกจากสงกรานต์ 4 วัน ตรุสจีน 3 วันเปนอันขาดทีเดียว

ให้ท้าวนางจ่าศาลาจ่าด้านทนายเรือนโขลนซึ่งเปนพนักงานรักษาพระบวรราชวังหมั่นตรวจตราดูแลให้รอบคอบจงเปนนิจ อย่าได้มีความประมาท ถ้าผู้ใดมิฟังตามพระราชบัญญัติห้ามปรามขืนคบหาชักชวนกันลักลอบตั้งบ่อนเล่นโป เล่นถั่ว เล่นกำตัด เล่นแปดเก้า แทงหวยแลการพนันต่างๆ ได้เสียทรัพย์สิ่งสินแก่กันต่อไป เจ้าพนักงานจ่าศาลาจ่าด้านทนายเรือนโขลน จับได้ด้านผู้ใดก็ดี แลผู้อื่นจับได้ก็ดี มีผู้มาร้องฟ้องชำระเปนสัจ ก็ให้ปรับไหมผู้ที่เปนนายบ่อนแลเจ้าของที่คนละ 10 ตำลึง ผู้ที่เล่นด้วยกันแลจ่าเจ้าของด้านนั้นคนละ 5 ตำลึง แลทนายเรือนคนละ 3 ตำลึงให้แก่ผู้จับได้แลผู้มาร้องฟ้อง แล้วให้นำเอาข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบใต้ลอองธุลีพระบาท จะได้โปรดเกล้าฯ ให้ลงพระราชอาญาแก่ผู้ทำผิดให้สาหัส ผู้ที่หาความผิดมิได้จะไม่ได้ดูเยี่ยงอย่างกันต่อไป…”

นอกจากนี้ ในประกาศยังระบุว่ามีพระราชบัญญัติห้ามคนนอกพระบวรราชวังเข้ามาคบหาคนในพระบวรราชวัง และลูกหนี้ให้เข้ามาค้าง หรือคิดการไม่อันควรให้เคืองใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท และให้ข้าหลวงผู้ใหญ่น้อยในพระตำหนักพระองค์เจ้าหม่อมเจ้า เจ้าของตำหนัก และพนักงานข้าราชการ ทำบัญชีญาติพี่น้องข้าทาสที่เข้ามาอยู่ด้วย

กรณีที่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยมีญาติพี่น้องหรือเพื่อนนอกพระบวรราชวังจะมาเยี่ยมค้างวันค้างคืน ต้องแจ้งท้าวสัตยานุรักษ์ก่อนจึงจะให้ค้างได้ เมื่อกลับแล้วก็ให้แจ้งอีกหน

ในรัชสมัยของพระองค์ยังมีประกาศให้เจ้านายปราม “หม่อมห้าม” จากการเที่ยวเข้ามาคบหาเจ้านายในพระบรมมหาราชวัง สืบเนื่องมาจาก ยุคนั้นเป็นช่วงที่พระบรมวงศานุวงศ์ หรือเจ้านายมีบุญมีวาสนา มีนางห้ามถึงหลักสิบคนต่อองค์ และต้องยอมรับว่าอุปนิสัยของแต่ละคนก็แตกต่างกัน บางครั้งนางห้ามคบหากับเจ้านายชั้นสูงในพระบรมมหาราชวัง บางรายหยิบยืมเงินทองข้าวของ หรือค้างคืนที่ตำหนักในพระบรมมหาราชวังเป็นสัปดาห์ถึงรายเดือน

กระทั่งมีหมายรับสั่ง ลงวันจันทร์ เดือน 8 แรม 1 ค่ำ ปีขาล ฉศก ความว่า

“พระยาบำเรอภักดิ์ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ทุกวันนี้พระบรมวงศานุวงศ์ที่เปนเจ้าต่างกรมแล้ว เจ้ายังไม่ได้ตั้งกรม แลหม่อมเจ้าฝ่ายข้างน่า ต่างองค์มีบุญมีวาสนามาก ได้เปนกรมหลวง กรมขุน กรมหมื่น เปนพระองค์เจ้า เปนหม่อมเจ้า มีนางห้ามองค์ละ 20 คน 14 คน 15 คน 4 คน 5 คน 3 คนก็มีบ้าง

ลางทีห้ามเจ้าต่างกรม ห้ามเจ้ายังไม่ได้ตั้งกรม ห้ามหม่อมเจ้า เข้ามาคบหาชอบอัธยาศรัยกับพระองค์เจ้า เจ้าจอม คุณ หม่อม ในพระบรมมหาราชวังข้างในแล้ว แลหยิบยืมเข้าของทองเงินเนืองๆ ลางทีก็มานอนค้างอยู่ที่ตำหนัก ตึก เรือน พระองค์เจ้า เจ้าจอม คุณหม่อม ในพระบรมมหาราชวัง เดือนหนึ่งสองเดือนบ้าง 7 วัน 8 วันก็มีบ้าง ห้ามเจ้าลางคนเปนคนดีก็มี เปนคนไม่ดีก็มี.

ตั้งแต่ณวันเดือน 8 แรมค่ำ 1 ปีขาลฉศกนี้ ให้เจ้าต่างกรม ยังไม่ได้ตั้งกรม หม่อมเจ้า ห้ามปรามหม่อมห้ามในกรมอย่าให้เที่ยวเข้ามาคบหาพระองค์เจ้า เจ้าจอม คุณ หม่อม พนักงานในพระบรมมหาราชวังต่อไป ถ้าเจ้าต่างกรม ยังไม่ได้ตั้งกรม หม่อมเจ้า มีกิจธุระสิ่งใดๆ ควรจะให้หม่อมห้ามที่ได้ถือน้ำพระพิพัฒสัจจารับพระราชทานเบี้ยหวัดเข้ามาเฝ้าใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ให้มาหาท้าวนางผู้รับสั่งนำเฝ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาตามข้อความ

ถ้าเข้าไปเที่ยวตามอำเภอใจไปหาพระองค์เจ้า เจ้าจอม คุณ หม่อม ในพระบรมมหาราชวัง จะให้จ่า โขลน จับ ถ้าจับได้ที่ตำหนักพระองค์เจ้า ที่เรือนคุณ เรือนหม่อม จะให้ปรับเอาเงินให้กับผู้จับคนละ 10 ตำลึง ถ้าจับได้ที่ตึกเจ้าจอม จะให้ปรับเอาเงินให้กับผู้จับคนละ 1 ชั่ง ถ้าจับได้ที่ถนนน่าตำหนัก น่าตึก น่าเรือน จะให้ปรับเอาเงินให้กับผู้จับคนละ 5 ตำลึงนั้น.

ให้จ่า ทนายเรือน นำหมายนี้ขึ้นกราบเรียน เจ้าคุณ ท้าวนาง หลวงแม่เจ้า ให้หมายห้ามอย่าให้พระองค์เจ้า เจ้าจอม คุณ หม่อม คบหาหม่อมห้ามเจ้าต่างกรม ยังไม่ได้ตั้งกรม หม่อมเจ้า ไว้ไปมาในพระบรมมหาราชวังเปนอันขาดทีเดียวนั้น.

ให้กรมมหาดไทย กลาโหม พระสัสดี หมายให้กราบทูลเจ้าต่างกรม เจ้ายังไม่ได้ตั้งกรม หม่อมเจ้า ให้ทราบจงทั่วทุกกรมทุกวัง อย่าให้ขาดได้ตามรับสั่ง.”

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ประกาศรัชกาลที่ 4 ทักเจ้านาย “อ้วน-ผอม” หวายทวนหลัง 50 ที!


อ้างอิง:

ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2394-2400. องค์การค้าของคุรุสภา. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2527


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562