ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเคยสัมผัสฤทธิ์ “กัญชา” เมื่อครั้งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และประทับจำพรรษาที่วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างทรงผนวชมีเหตุที่ทรงประชวร จนต้องขอรับยาชนิดหนึ่งมาเสวย ซึ่งยานั้น “เข้าด้วยกัญชา” จนเกิดเหตุการณ์ผิดธรรมดาในโบสถ์ขึ้น
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์และเหตุการณ์เกี่ยวกับบุคคลมากมาย เรื่องราวส่วนใหญ่ล้วนมีเกร็ดน่าสนใจ และสะท้อนสภาพบริบทในยุคสมัยนั้น ไม่เว้นแม้แต่เหตุการณ์ช่วงที่พระองค์ทรงผนวช เมื่อ พ.ศ. 2426 (ยึดตามปีที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึก)
การผนวชเป็นพระภิกษุ
ที่มาที่ไปของการบวชครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เล่าไว้ในบันทึก “ประวัติพระอาจารย์” ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2478 อันเป็นเรื่องราวประวัติพระยาพฤฒาธิบดี ศรีสัตยานุการ (อ่อน โกมลวรรธนะ) ซึ่งถือเป็นพระครูท่านหนึ่งในช่วงที่พระองค์ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อพ.ศ. 2526
พระยาพฤฒาธิบดี ได้รับพระราชทานนาม “พระอมราภิรักขิต” และครองวัดนิเวศน์ เมื่ออายุ 27 ปี บวชได้ 6 พรรษา พระนาม “พระอมราภิรักขิต” นั้น รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานแด่พระมหาอ่อน เมื่อทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระอมราภิรักขิต ตามฉายาของท่านเมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุว่า “อมโร”
ที่มาที่ไปของการบวชครั้งนั้น กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เล่าไว้ว่า พระพุทธเจ้าหลวงทรงเสด็จฯ ไปประทับที่พระราชวังบางปะอินอยู่บ่อยครั้ง เป็นเหตุทำให้ทรงสร้าง “วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ” (ปัจจุบันสะกด วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร) เมื่อสร้างแล้ว การเสด็จฯไปประทับที่พระราชวังบางปะอินก็มักเสด็จฯ ไปที่วัดด้วยทุกครั้ง
เมื่อพ.ศ. 2425 ทรงเสด็จฯ ไปวัดนิเวศน์ ทรงบูชาพระ เมื่อเสด็จไปถึงตำหนักแล้วทรงรำลึกว่าปีนั้น กรมพระยาดำรงราชานุภาพถึงกำหนดอุปสมบทเป็นพระภิกษุ จึงมีพระราชดำรัสว่า “วัดนิเวศน์ฯ นี้ ถ้าเจ้านายพวกเราบวชจะมาอยู่ก็ได้ ตำหนักรักษาก็มี ดูเหมือนจะสบายดี”
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกราบทูลสนองว่า ถ้าทรงบวช ถ้าพระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรดฯ ให้อยู่วัดนิเวศน์ ก็ทรงยินดี รัชกาลที่ 5 ทรงยินดี หลังจากนั้นทรงตรัสบอกสมเด็จพระสังฆราช อย่างไรก็ตาม พระสังฆราชถวายพระพรว่า ปีนั้นพระอมราภิรักขิต (พระยาพฤฒาธิบดีฯ) จะเป็นอาจารย์ให้นิสัยยังไม่ได้ เนื่องจากบวชยังไม่ครบ 10 พรรษา ให้รอไปบวชต่อปีหน้า จึงเลื่อนมาผนวชในพ.ศ. 2426 เมื่อพระชันษา 22 ปี บวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามตามประเพณีเจ้านายทรงผนวช มีพระอมราภิรักขิตที่จะเป็นนิสยาจารย์ลงมานั่งในคณะปรกด้วย
บรรยากาศการประทับจำพรรษาที่ “วัดนิเวศน์”
เมื่อครั้งมาประทับจำพรรษาที่วัดนิเวศน์ (สะกดตามพระนิพนธ์) กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า มีเวลาเงียบเหงาเดือนละหลายวัน แต่อยู่ไปไม่นานก็เคยชิน เมื่อชินแล้วจึงรู้สึกว่าสบายกว่าวัดในกรุงเทพฯ ที่บางปะอินก็อากาศดี วัดนิเวศน์อยู่กลางน้ำห่างละแวกบ้าน เงียบสงัด ทิวทัศน์เห็นลำน้ำและไร่นาสุดสายตาชวนเพลินใจ อีกทั้งตัววัดตั้งแต่พระอุโบสถและเสนาสนะ ทรงสร้างอย่างบรรจงและอยู่สบาย
อย่างไรก็ตาม มีข้อขัดข้องเล็กน้อยในบันทึก กล่าวคือ การอยู่ที่วัดนิเวศน์ทำให้ “อด” อาหารที่อยากกิน เนื่องจากอาหารที่ชาวบางปะอินบริโภคแตกต่างกับอาหารที่นิยมบริโภคกันในกรุงเทพฯ
“กับข้าวของชาวบางปะอินก็มีแต่ผักกับปลาเอามาประสมกัน มักปรุงรสด้วยปลาร้ากับพริกและเกลือ รสชาติแปลกไปอีกอย่างหนึ่ง หลายๆ วันจึงมีเจ๊กมาขายหมู หรือเรือชาวกรุงเทพฯ บรรทุกของสวน เช่น มะพร้าว และกล้วย อ้อย ขึ้นไปขายที่บางปะอินสักครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าเคยอยากกินกล้วยน้ำว้าเผาครั้งหนึ่งในเวลาไม่สบาย มารดาให้เที่ยวหาซื้อตลอดถิ่นก็หาไม่ได้…
แต่ความลำบากด้วยเรื่องอดอยากดังกล่าวมา มีแต่แก่ผู้ซึ่งขึ้นไปอยู่ใหม่เช่นข้าพเจ้า ถ้าไปอยู่จนเคยชินแล้ว เช่น เจ้าคุณอมราฯ กับพระสงฆ์ซึ่งขึ้นไปอยู่ด้วยกันจากกรุงเทพฯ ไปอยู่แรมปีก็สิ้นลำบาก บริโภคได้เหมือนคนในท้องถิ่น…”
เมื่อประชวร
กรมพระยาดำรงฯ ทรงขยายความต่อในเรื่องความลำบาก อย่างกรณีเมื่อประชวรขึ้นมาก็หาหมอรักษายาก ต้องอาศัยยากลางบ้าน แล้วแต่บ้านเรือนไหนเชื่อถือยาขนานใดก็ทำเก็บไว้ ใครเจ็บป่วยก็ไปขอมากิน ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า เคยประชวรครั้งหนึ่ง เมื่อถึงเดือนกันยายนแล้ว ปีหนึ่งฝนตกชุกกว่าปกติ พระองค์ทรงทนชื้นไม่ได้ เกิดอาการมือเย็นเท้าเย็นและเมื่อยขบ เสวยอาหารไม่ลง นอนไม่สนิท พระองค์ทรงเชื่อว่าเป็นโรคที่เรียกว่า “โรคกระสาย” ขอรับยาตามกุฏิก็ไม่ถูกโรค
ทรงบ่นกับพระปลัดนากที่เป็นพี่เลี้ยง พระปลัดนากแจ้งว่า “หลวงแพ่งซึ่งอยู่บ้านแป้งตรงวัดข้ามฟาก มียาขนานหนึ่งชื่อว่า ‘ยาอภัยสำลี’ แก้โรคกระสายได้ดี แต่เป็นยาแรงด้วยเข้ากัญชาเท่ายาทั้งหลาย ใครกินมักเสียสติ อาจจะทำอะไรวิปริตไปได้ในเวลาเมื่อฤทธิ์ยาแล่นอยู่ในตัว เจ้าของจึงไม่บอกตำราแก่ผู้อื่น เป็นแต่ทำไว้สำหรับบ้าน ถ้าใคร่ไปขอต่อเห็นว่าเจ็บจริงจึงให้กิน”
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกเรื่องราวในช่วงที่ทรงประชวรไว้ว่า
“ข้าพเจ้าได้ยินเล่าก็ออกคร้ามฤทธิ์ยาอภัยสำลี เกรงว่าถ้ากินเข้าไปเสียสติ เจ้าคุณอมราฯ ท่านจะติโทษได้ จึงนิ่งมาจนถึงกลางเดือนกันยายน อาการโรคกำเริบขึ้นประจวบเวลาเจ้าคุณอมราฯ ลงมากรุงเทพฯ ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชันษา ทางโน้นพระปลัดนากเป็นผู้บัญชาการวัด ข้าพเจ้าไม่สบายเหลือทนจึงบอกพระปลัดว่า ขอลองกินยาอภัยสาลีสักที เผื่อจะถูกโรคบ้าง”
ยาที่ทรงได้มาเป็นยาผงเคล้าน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอน กำหนดให้กินครั้งหนึ่งเท่าเม็ดพุทรา เมื่อทรงจะเสวยยา กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงครั่นคร้ามเล็กน้อย จึงทรงขอให้พระที่สนิทสนมกันฉันด้วยประมาณ 4-5 รูปรวมทั้งท่านปลัดนากด้วย
“แรกกินยานั้นเมื่อเวลาเย็นก็เฉยๆ ไม่รู้สึกว่ามีพิษสงอย่างไร จนออกนึกทนงใจว่าคงเป็นเพราะกำลังของเราสู้ฤทธิ์ยาได้ ครั้นถึงเวลา 20 นาฬิกา พระสงฆ์สามเณรลงประชุมกันทำวัตรที่ในพระอุโบสถตามเคย ท่านปลัดเป็นผู้นำสวดแทนเจ้าวัด พอขึ้น ‘หน·ท มย°’ เสียงก็แหบต้องกระแอม พอข้าพเจ้าได้ยินเสียงท่านปลัดดัง ‘แอ๊ม’ ก็ให้นึกขันกลั้นหัวเราะไม่อยู่ปล่อยกิ๊กออกมา
พระสงฆ์องค์อื่นที่ได้ฉันยาอภัยสาลีด้วยกันก็เกิดนึกขันที่ข้าพเจ้าหัวเราะ พลอยหัวเราะกันต่อไป เสียงดังกิ๊กกั๊กไปทั้งโบสถ์ ดูเหมือนพระเณรองค์อื่น ๆ ที่ไม่ทราบเรื่องจะพากันตกใจ แต่ท่านปลัดยังมีสติ พอทำวัตรแล้วก็รีบเลิกประชุมไม่สาธยายสวดมนต์ต่อไปตามเคย
ข้าพเจ้ากลับมาถึงตำหนักเมื่อเข้านอนรู้สึกว่าเตียงโคลงเคลงมาเหมือนกับเรือถูกคลื่นในทะเลแต่มีสติเข้าใจว่าเป็นด้วยฤทธิ์ยาอภัยสาลี นิ่งนอนหลับตาอยู่สักครู่หนึ่งก็หลับ คืนนั้นนอนหลับสนิทเหมือนสลบจนรุ่งเช้าตื่นขึ้นรู้สึกแจ่มใส ไปนั่งกินอาหารก็เอร็ดอร่อยแทบลืมอิ่ม ทั้งเวลาเช้าและเพล เลยกลับสบายหายเจ็บ ถึงกระนั้นก็ไม่กล้าลองกินยาอภัยสาลีอีกจนบัดนี้
พระที่ฉันยาอภัยสาลีด้วยกันคืนวันนั้นกลับไปกุฏิก็ไปมีอาการวิปริตต่างๆ แต่อาการขององค์อื่นไม่แปลกเหมือนคุณแช่ม เธอไปนอนไม่หลับ ร้อง ‘ตูมๆ’ เต็มเสียง จนเพื่อนสงฆ์ที่อยู่ใกล้เคียงพากันตกใจไปถาม เธอบอกว่าหายใจไม่ออก ถ้าร้องตูมเสียค่อยหายใจคล่อง ก็พากันเห็นขัน ข้าพเจ้าได้รู้ฤทธิ์ของ กัญชา ในครั้งนั้นว่า มีคุณมหันต์และโทษอนันต์ แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าสบายอย่างไร จึงมีคนชอบสูบกัญชากันจนติด” (เน้นคำโดยกอง บก.ออนไลน์)
ข้อมูลเรื่อง “ยาอภัยสาลี”
เมื่อสืบค้นยา “อภัยสาลี” ของหลวงแพ่ง ยังไม่พบรายละเอียดที่ชัดเจน แต่เมื่อเอ่ยถึงยา “อภัยสาลี” โดยทั่วไป พบบทความของมูลนิธิสุขภาพไทย บรรยายว่า สูตรตำรับยาอภัยสาลี “เป็นสูตรสมุนไพรอัจฉริยะอีกตำรับหนึ่งของภูมิปัญญาการแพทย์แผนโบราณที่นำมารับใช้แก้ปัญหาสุขภาพผู้คนในยุคปัจจุบัน” ใช้เพียงครั้งละ 1.5-2 กรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ก่อนอาหาร (อ้างอิง “อภัยสาลี : ตำรับยาดีของโรงพยาบาลรัฐ รักษาโรคปอดอักเสบเรื้อรัง”)
ขณะที่ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แสดงข้อมูล “ยาอภัยสาลี” โดยมีข้อมูลว่า “ยารักษากลุ่มทางเดินอาหาร – กลุ่มยาขับลม บรรเทาอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ บำบัดโรคลม บรรเทาอาการจุกเสียดแน่น” (อ้างอิง ฐานข้อมูลยาตำรับ)
ในเอกสารบัญชียาหลักแห่งชาติ จากกระทรวงสาธารณสุข อ้างอิง ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติเรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2555 ประกาศ ณ วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 23 มกราคม 2556 ยังปรากฏชื่อ “ยาอภัยสาลี” อยู่ในหมวดยาแผนไทยหรือยาโบราณ / กลุ่มยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร / ประเภทขับลม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ลักษณะเป็นยาลูกกลอน-ยาเม็ด รายละเอียดดังนี้
“สูตรตำรับ ในผงยา 181 กรัม ประกอบด้วย
1. หัศคุณเทศ หนัก 24 กรัม พริกไทยล่อน แก่นจันทน์เทศ หนักสิ่งละ 16 กรัม รากเจตมูลเพลิงแดง หนัก 12 กรัม
2. หัวบุกรอ หนัก 15 กรัม เนื้อลูกสมอไทย เนื้อลูกสมอเทศ หนักสิ่งละ 13 กรัม
3. เทยีนแดง หนัก 11 กรัม เทียนข้าวเปลือก หนัก 10 กรัม เทียนตาตั๊กแตน หนัก 9 กรัม เทียนขาว หนัก 8 กรัม
4. โกฐเขมา หนัก 9 กรัม โกฐสอ หนัก 8 กรัม
5. เหง้าว่านน้ำหนัก 7 กรัม ดอกกานพลูหนัก 4 กรัม ลูกกระวาน หนัก 3 กรัม ดอกจันทน์หนัก 2 กรัม ลูกจันทน์หนัก 1 กรัม
6. ลูกพิลังกาสา หนัก 6 กรัม
ข้อห้ามใช้
– ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีไข้
คำเตือน
– ควรระวังในการรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulant) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)”
ชื่อยา “อภัยสาลี” ยังปรากฏเป็นหนึ่งในรายชื่อตำรับยาแผนไทยที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกแนะนำเบื้องต้นจากทั้งหมด 16 ตำรับตามรายงานข่าวเรื่อง “อนุญาต 16 ตำรับยาไทยเข้ากัญชา” เผยแพร่เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
รายละเอียดระบุว่า ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้” กำหนดเรื่องตำรับที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัย ในส่วนของแพทย์แผนไทย ประกอบด้วยตำรับที่หมอพื้นบ้านปรุงขึ้นจากองค์ความรู้และภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่ชัดเจน และได้รับการรับรองจากกรมการแพทย์แผนไทย และวัตถุดิบจากกัญชาต้องไม่สามารถแยกเป็นช่อ ดอก ใบเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดได้
รายงานข่าวเรื่องรายชื่อ 16 ตำรับยาไทยเข้ากัญชาแจ้งด้วยว่า ตำรับยาเหล่านี้มีที่มาจากคัมภีร์ธาตุพระนารายน์ ตำรายาศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ เล่ม 1-2 / พระยาพิศณุประสาทเวช เวชศึกษา พระยาพิศณุประสาทเวช เวชศาสตร์วัณ์ณณา อายุรเวทศึกษา (ขุนนิทเทสสุขกิจ) เล่ม 2 และคัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ เล่ม 2 ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อ้างอิง อนุญาต 16 ตำรับยาไทยเข้ากัญชา)
อ่านเพิ่มเติม :
- ดู “กัญชา” ยุคเฟื่องฟูจากชาวจีนในเพชรบุรี-วรรณคดี ฤๅทหารไทยขนกัญชาไปรบด้วย
- “กัญชา” ยาเสพติด ที่สมัย “พระนารายณ์” ใช้เป็นยารักษาโรค
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. “ประวัติอาจารย์”. ใน คนดีที่ข้าพเจ้ารู้จัก. กรุงเทพฯ : ชมรมดำรงวิทยาฯ. ไม่ปรากฏปีที่เผยแพร่
“อภัยสาลี : ตำรับยาดีของโรงพยาบาลรัฐ รักษาโรคปอดอักเสบเรื้อรัง”. ใน มติชน สุดสัปดาห์ อ้างถึง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org. ออนไลน์. เผยแพร่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2561. เข้าถึง 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2562. <https://www.matichonweekly.com/lifestyle/article_12499>
“อนุญาต 16 ตำรับยาไทยเข้ากัญชา”. คมชัดลึก. ออนไลน์. เผยแพร่ 27 กุมภาพันธ์ 2562. เข้าถึง 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2562. <http://www.komchadluek.net/news/edu-health/363898>
อภัยสาลี. ฐานข้อมูลยาตำรับ. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ออนไลน์. เข้าถึง 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2562. <https://home.kku.ac.th/herbalbank/recipe/index.php/data/detail/16>
เผยแพร่ในระบบอออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 4 กรกฎาคม 2562