“กัญชา” ยาเสพติด ที่สมัย “พระนารายณ์” ใช้เป็นยารักษาโรค

ต้นอ่อน ของ กัญชา
ต้นอ่อนของกัญชา ในเรือนเพาะขององค์การเภสัชกรรม (GPO) ที่ชลบุรี ถ่ายเมื่อ ตุลาคม 2020 ภาพจาก MLADEN ANTONOV / AFP

“กัญชา” (อดีต) ยาเสพติด ที่เคยเป็นยารักษาโรค มีใช้กันมาตั้งแต่สมัย กรุงศรีอยุธยา ระบุไว้ในตำราแพทย์โบราณหลายสำนัก เช่น ตำราพระโอสถพระนารายณ์

ข้อมูลของ United Nations กัญชาถูกจัดเป็นยาเสพติดกลุ่ม narcotic drug ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 และการใช้กัญชาเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในเกือบทุกประเทศ

แต่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มมองกัญชาในมุมที่เปลี่ยนไป โดยมีการทบทวนว่ากัญชามีประโยชน์ และโทษอย่างไร

พ.ศ. 2513 เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ มี Coffee Shop สำหรับสูบกระท่อมและกัญชา

พ.ศ. 2553 โปรตุเกสปรับลดโทษการสูบกัญชามาเป็นค่าปรับ (decriminalize)

พ.ศ. 2555 สหรัฐอเมริกามีการลงมติในรัฐโคโลราโด และรัฐวอชิงตัน ให้มีกฎหมายยอมรับกัญชาเพื่อความบันเทิง

พ.ศ. 2558 ในเดือนพฤษภาคม สหรัฐอเมริกาออกกฎหมายให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้

กัญชาถูกนำมาใช้ในการรักษาหรือบรรเทาโรคหลายชนิด ด้วยวิธีการต่างๆ

ในประเทศไทยมีการตื่นตัวเรื่องการใช้กัญชาในการรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ทั้งในรูปแบบงานวิจัย และการทดลองใช้ส่วนบุคคล อยู่เป็นระยะ

ในมุมของกฎหมายในอดีตนั้น กัญชาเป็น “ยาเสพติด” และ “ผิดกฎหมาย” ตามกฎหมายไทย “กัญชา” จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522  การผลิต, นำเข้า, ส่งออก, ครอบครอง, จำหน่าย, เสพ ฯลฯ เป็นสิ่งผิดกฎหมายและมีโทษปรับ โทษจำคุก หรือทั้งปรับและจำ

แต่นับตั้งแต่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 กฎหมายไทยได้ปลดล็อก “กัญชา” ไม่ถือเป็นยาเสพติด (เว้นสารสกัดจากกัญชง กัญชาที่มีปริมาณ THC เกิน 0.2% ที่ถือเป็นยาเสพติด) และยกเลิกความผิดฐานผลิต นำเข้า ส่งออก มีไว้ในครอบครอง จำหน่าย มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ หรือเสพพืชกัญชา รวมถึงการสูบ ไม่ถือว่าเป็นความผิด

ภาพต้น กัญชา ในโคลอมเบีย (ภาพจาก AFP PHOTO / LUIS ROBAYO)

ย้อนไปในอดีต “กัญชา” คือตัวยาที่ใช้ในตำรับยาต่างๆ ตั้งแต่สมัย กรุงศรีอยุธยา

ตำรายาไทยโบราณบันทึกว่า “กัญชา” หรือบางตำราเรียก “กันชา” ในตำรับยา โดยบางตำรับกัญชาเป็นตัวยาหลักของตำรับยานั้น ขณะที่บางตำรับยากัญชาเป็นส่วนประกอบร่วม เช่น ตำราพระโอสถพระนารายณ์, ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ ฯลฯ

สำหรับ ตำราพระโอสถพระนารายณ์ หรือคัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ ซึ่งเป็นหลักฐานทางการแพทย์ไทยชิ้นสำคัญ ที่เหลือสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเกี่ยวกับตำรายานี้ไว้ว่า

“ที่เรียกว่าตำราพระโอสถพระนารายณ์ เพราะมีตำราพระโอสถซึ่งหมอหลวงได้ประกอบถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หลายขนานปรากฏชื่อหมอและวันคืนที่ได้ตั้งพระโอสถนั้นๆ จดไว้ชัดเจน อยู่ในระหว่างปีกุนจุลศักราช 1021 (พ.ศ. 2202) จนปีฉลู จุลศักราช 1023 (พ.ศ. 2204) คือระหว่างปีที่ 3 จนถึงปีที่5 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช”

โดยขอยกตัวอย่างยาบางขนานที่ใช้ “กัญชา” เป็นตัวยา ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ ดังนี้

ยาขนานที่ 11 ชื่อ อัคคินีวคณะ

“อัคคินีวคณะ เอา กัญชา ยิงสม สิ่งละส่วน เปลือกอบเชย ใบกระวาน กานพลู สะค้าน สิ่งละ 2 ส่วน ขิงแห้ง 3 รากเจตมูลเพลิง ดีปลี สิ่งละส่วน น้ำตาลกรวด 6 ส่วน กระทำเปนจุณน้ำผึ้งรวงเป็นกระสาย บดเสวยหนักสลึง 1 แก้อาเจียน 4 ประการ ด้วยติกกะขาคินีกำเริบ แลวิสมามันทาคินีอันทุพล จึงคลื่นเหียนอาเจียน มิให้เสวยพระกระยาหาร เสวยมีรศชูกำลังยิ่งนัก

ข้าพระพุทธเจ้า ขุนประสิทธิโอสถจีน ประกอบทูลเกล้าฯถวาย ครั้งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าเมืองลพบุรี เสวยเพลาเข้าอัตรา ดีนักแลฯ” [เน้นโดยผู้เขียน]

ยาขนานที่ 43 ชื่อทิพกาศ

“ทิพกาศ เอา ยาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน พิมเสน สิ่งละส่วน การบูร 4 ส่วน ฝิ่น 8 ส่วน ใบกัญชา 16 ส่วน สุราเปนกระสาย บดทำแท่ง น้ำกระสายใช้ให้ชอบโรคร้อนแลเย็น กินพอควร แก้สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสาย กินข้าวมิได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแล ฯ” [เน้นโดยผู้เขียน]

ยาขนานที่ 44 ชื่อยาสุขไสยาศน์

“สุขไสยาศน์ เอาการบูรส่วน 1 ใบสะเดา 2 ส่วน สหัศคุณเทศ 3 ส่วน สมุลแว้ง 4 ส่วน เทียนดำ 5 ส่วน โกฏกระดูก 6 ส่วน ลูกจันทน์ 7 ส่วน ดอกบุนนาค 8 ส่วน พริกไทย 9 ส่วน ขิงแห้ง 10 ส่วน ดีปลี 11 ส่วน ใบกัญชา 12 ส่วน ทำเป็นจุณละลายน้ำผึ้ง เมื่อจะกินเสกด้วยสัพพีติโย 3 จบ แล้วกินพอควร แก้สรรพโรคทั้งปวงหายสิ้น มีกำลังกินเข้าได้นอนเป็นศุขนักแล ฯ” [เน้นโดยผู้เขียน]

ยาขนานลำดับที่ 55 ยามหาวัฒนะ

“มหาวัฒนะ เอา ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู สิ่งละส่วน เทียนดำ เทียนขาว เทียนแดง เทียนสัตบุษ เทียนเยาวภานี โกฏสอ โกฏเขมา โกฏกัตรา โกฏพุงปลา บอระเพ็ด ใบกัญชา สหัสคุณทั้ง 2 ลูกพิลังกาสา รากไคร้เครือ แห้วหมูใหญ่ ขมิ้นอ้อย พริกหอม พริกหาง สิ่งละ 2 ส่วน ดีปลีเท่ายาทั้งนั้น จึงเอาใบกระเพราแห้ง 2 เท่าดีปลีทำเป็นจุณละลายน้ำผึ้งรวเป็นลูกกลอนกินหนักสลึง 1 กินไปทุกวันให้ได้เดือน 1 จึงจะรู้จักคุณยาเห็นประจักษ์อันวิเศษ แก้ฉันวุตติโรค 96 ประการให้กับพยาธิทั้งหลายทุกประการดีนักแล ฯ” [เน้นโดยผู้เขียน]

อย่างไรก็ดี มีข่าวเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ว่า ต่างชาติกำลังจดทะเบียนสิทธิบัตรกัญชา

กัญชาตัวยาในอดีตกลายเป็นยาเสพติดในปัจจุบันได้อย่างไร แล้วกัญชาใน “อนาคต” จะเป็นอย่างไรต่อ

ขออ้างอิงเทียบคียงจากพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชหัตถเลขาในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2433 ความตอนหนึ่งว่า

“…ขอเตือนว่า หมอฝรั่งนั้นดีจริง แต่ควรให้ยาไทยสูญหฤาหาไม่ หมอไทยจะควรไม่ให้มีต่อไปภายน่าหฤาควรจะมีไว้บ้าง ถ้าส่วนตัวฉันเองยังสมัคกินยาไทยแลยังวางใจหฤาอุ่นใจในหมอไทยมาก ถ้าหมอไทยจะรักษาอย่างฝรั่งหมด ดูเยือกเยนเหมือนเหนอื่น ไม่เหนพระสงฆ์เลยเหมือนกัน แต่ตัวฉันก็อายุมากแล้ว เหนจะไม่ได้อยู่ไปจนหมอไทยหมดดอก คนภายน่าจะพอใจอย่างฝรั่งทั่วกันไป จะไม่เดือดร้อนเช่นฉันดอกกระมัง เปนแต่ลองเตือนดูตามหัวเก่าๆ ทีหนึ่งเท่านั้น…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

วีรยา ถาอุปชิต และคณะ. การใช้กัญชาทางการแพทย์, วารศาสตร์เภสัชอีสาน ปีที่ 13 ฉบับพิเศษ ม.ค.-มี.ค. 2560

คัมภีร์ธาตุพระนาราณ์ ฉบับใบลาน (ตำราพระโอสถพระนารายณ์), สำนักคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2561 แก้ไขปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 9 มิถุนายน 2565