ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“กัญชา” พืชที่หลายพื้นที่ยังจัดให้เป็นยาเสพติดและเป็นสิ่งผิดกฎหมาย มีผู้รู้เล่าว่าครั้งหนึ่งเพชรบุรีก็เคยเป็นแหล่งส่งออกกัญชาเมื่อ 100 ปีก่อน
ข้อมูลที่ว่ามานี้มาจากการสำรวจตรวจสอบของนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ในบทความ “กัญชากับภูมิปัญญาชาวบ้านไทย” โดยอ้างอิงบันทึกราชการของมณฑลราชบุรีช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ระบุไว้ว่า สินค้า 7 อย่างที่สยามส่งออกไปต่างเมืองเมื่อ พ.ศ. 2441 ได้แก่ ข้าวเปลือก น้ำตาลโตนด หอยแมลงภู่แห้ง ถ่านไม้ซาก ปลาเค็มต่างๆ เกลือ และกัญชา
จากหลักฐานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าครั้งหนึ่ง เพชรบุรีเคยส่งกัญชาเป็นสินค้าส่งออก ซึ่งตามคำบอกเล่าของคุณยายลาภ ชะภูมิ วัย 74 ปี คนอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เล่าว่า สมัยที่ยายยังอยู่ในวัยเด็กนั้น กัญชาถือเป็นพืชที่นิยมปลูกกันเป็นจำนวนมากในอำเภอท่ายาง เพราะในสมัยนั้นการปลูกกัญชายังไม่ผิดกฎหมาย
เหตุที่นิยมปลูกกัญชาก็เพราะว่าเป็นพืชที่ให้กำไรดี ปลูกง่าย เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในเขตอากาศเย็นและเป็นภูเขา กลุ่มคนที่ปลูกกัญชาคือคนจีนไหหลำรุ่นแรกๆ ที่อพยพเข้ามาทำไร่ ส่วนคนที่รับซื้อขายกัญชาก็เป็นพวกจีนไหหลำเช่นกัน
ต่อมาเมื่อรัฐบาลออกกฎหมายให้กัญชาเป็นของผิดกฎหมายในปี พ.ศ. 2477 ทำให้พวกจีนไหหลำต้องเลิกการปลูกกัญชาไป
นอกเหนือจากคำบอกเล่าแล้ว ข้อมูลจากหลักฐานเชิงงานศิลปะและวรรณกรรมเกี่ยวกับกัญชาในเพชรบุรี ยังมีภาพท่าทางลักษณะการเสพกัญชา พบเห็นได้บนฝาผนังวัดหลายแห่ง อาทิ วัดมหาธาตุวรวิหาร คอสองของศาลาการเปรียญวัดเกาะ วัดนาพรม
ขณะที่ในงานวรรณกรรม กัญชาก็ปรากฏในงานให้เห็นกันมากมายเช่นกัน อาทิ เรื่องระเด่นลันได ของพระมหามนตรี (ทรัพย์) ที่แต่งขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ตัวเอกฝ่ายชายทั้งวณิพกกระเด่นลันไดกับท้าวประดู่คนเลี้ยงวัวต่างเมากัญชาเป็นกิจวัตร
ในเรื่องยังเล่าว่า เมื่อท้าวประดู่ภูธร “เสด็จจรจากเวียงไปเลี้ยงวัว” นางประแดะก็ “บรรจงหั่นกัญชาไว้ท่าผัว”
ในขุนช้างขุนแผน ก็กล่าวถึงการสูบกัญชาหลายจุด ตัวอย่างตอนหนึ่งคือเมื่อขุนแผนอาสายกทัพไปรบเชียงใหม่
“…โห่ร้องฆ้องลั่นมาหึ่งหึ่ง นายจันสามพันตำลึงเป็นกองหน้า กองหลังสีอาดราชาอาญา พวกทหารสามสิบห้าต่างคลาไคล บ้างคอนกระสอบหอบกัญชา ตุ้งก่าใส่ย่ามตามเหงื่อไหล”
นิพัทธ์พร ตั้งข้อสังเกตว่า จากข้อความนี้อาจเป็นไปได้ว่า ทหารไทยที่ไปทำสงครามสมัยต้นรัตนโกสินทร์มีกัญชาเป็นหนึ่งในยุทธปัจจัย แถมยังพกตุ้งก่าทำจากกะลามะพร้าวก้นตันเจาะเป็นรู เอาหลอดใส่สำหรับดูดควันติดย่ามด้วยก็เป็นได้ หลักฐานที่เห็นยังมีในส่วนกองทัพของพลายแก้ว หรือศิลปกรรมอย่างปู่ลิงนั่งอัดควันกัญชาในกองทัพพระราม ในภาพชุดจิตรกรรม รามเกียรติ์ ที่วัดพระแก้ว
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของสตรีในวรรณคดี กัญชากลับเป็นสิ่งของเชิงลบต่ออนาคตของลูกสาว เมื่อถึงเวลาหาคู่ครองให้ลูกสาว เรื่องกัญชาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แม่ซักถามประวัติฝ่ายชาย แต่ในขณะเดียวกัน กัญชาก็มีปรากฏในยาไทยหลายขนานรวมถึงตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์
มาถึงในยุคปัจจุบัน “กัญชา” กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อมีข่าวว่ากัญชาจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทั้งการแพทย์ปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ทั้งนี้แนวโน้มดำเนินการในกรอบนี้จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมร่วมกันของภาครัฐ เอกชน รวมถึงภาคประชาชน
อ่านเพิ่มเติม :
- พบ “กัญชา” ถูกฝังพร้อมร่างชายวัยกลางคนเมื่อ 2,500 ปีก่อน ในประเทศจีน
- ฤทธิ์ยาสาย “กัญชา” ทำกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ออกอาการจนพระเณรตกใจทั้งโบสถ์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
นิพทธ์พร เพ็งแก้ว. “กัญชากับภูมิปัญญาชาวบ้านไทย”. สารคดี. ปีที่ 34 ฉบับที่ 404 (ตุลาคม 2561)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2562