เพราะเหตุใด “การจูบ” จึงกลายเป็นเรื่องต้องห้ามในอังกฤษ เมื่อปี 1439

พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ห้าม จูบ ใน อังกฤษ
(ซ้าย) Romeo and Juliet วาดโดย Frank Bernard Dicksee (ขวา) พระเจ้าเฮนรีที่ 6 แห่งอังกฤษ

การ “จูบ” กลายเป็นเรื่องต้องห้ามใน “อังกฤษ” เมื่อปี 1439 ในสมัย “พระเจ้าเฮนรีที่ 6” ได้อย่างไร?

พระเจ้าเฮนรีที่ 6 แห่งอังกฤษ (Henry VI of England) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1421 ที่พระราชวังวินด์เซอร์ กรุงลอนดอน อังกฤษ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเฮนรีที่ 5 แห่งอังกฤษ และพระราชินีแคทเธอรินแห่งวาลัวส์ พระองค์ขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมายุเพียง 9 เดือน ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์นั้นอยู่ในช่วงที่กาฬโรค (Plague) หรือที่เรียกว่า Black Death ระบาดอย่างหนักและได้คร่าชีวิตของผู้คนทั่วโลกไปถึง 100 ล้านคน

Advertisement

ที่มาของคำว่า Black Death นั้น มาจากอาการขั้นสุดท้ายของผู้ป่วยที่ร่างกายจะกลายเป็นสีดำ เนื่องจากมีเลือดออกใต้ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า และในอีกหนึ่งความหมายของ Black Death คือความรู้สึกสะพรึงกลัว และอารมณ์เศร้าหมองของผู้คนในยุคสมัยนั้นที่มีแต่ความหดหู่

กาฬโรคมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อว่า “เยอร์ซีเนีย เพสติส” (Yersinia Pestis) ที่อาศัยอยู่ในสัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก เช่น หนู กระรอก และหมัด คาดว่าเชื้อดังกล่าวอาจเริ่มต้นแพร่มาจากทางตอนใต้ของอินเดียและประเทศจีนตามแนวเส้นทางสายไหม (Silk Road) ซึ่งกองคาราวานพ่อค้าชาวจีน-มองโกลเป็นผู้นำเชื้อเข้ามามายังยุโรป และกระจายไปทั่วทั้งเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

พระเจ้าเฮนรีที่ 6
พระเจ้าเฮนรีที่ 6 (Henry VI)

แม้ว่าการระบาดของกาฬโรคในครั้งนี้จะเป็นการระบาดครั้งที่สอง [เป็นการระบาดครั้งใหญ่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14-15 ส่วนการระบาดครั้งแรกอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6] แต่มันกลับคร่าชีวิตมนุษย์ไปเป็นจำนวนมากยิ่งกว่าการระบาดในครั้งแรก และเป็นเหตุการณ์ที่นักประวัติศาสตร์ยอมรับว่า เป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยประสบ 

เหตุการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ถูกระบุว่าเป็นการติดต่อที่ง่ายและรวดเร็วมาก ดังนั้น พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ทรงมีรับสั่งห้ามไม่ให้มีการ “จูบ” ในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1439 เพื่อเป็นการลดการแพร่เชื้อ

อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับประกาศดังกล่าว เนื่องจากในวัฒนธรรมชาวตะวันตก การจูบคือการทักทายที่แสดงถึงไมตรี หรือเป็นสัญลักษณ์ของการอุทิศตนทางศาสนา เช่น การจูบหนังสือหรือสัญลักษณ์ทางศาสนา นอกจากนี้ยังแสดงถึงความจงรักภักดี เช่น การจูบแหวนที่มือของกษัตริย์ เป็นต้น

ดังนั้น การประกาศห้ามดังกล่าวอาจจะเป็นการขัดต่อจารีตประเพณีหรือหลักศาสนา เพราะตามความเชื่อของคริสต์ศาสนาในช่วงยุคกลางที่ว่า การจูบคือสัญญาณว่าจิตวิญญาณของเรารวมกันเป็นหนึ่ง และจะสามารถขับไล่ความเจ็บปวดทั้งหมดนี้ไปได้ อีกทั้งในสมัยนั้นการแพทย์ยังไม่ได้มีความเจริญก้าวหน้ามากนัก และพระเจ้าเฮนรีที่ 6 เองก็มีพระชนมายุเพียง 17 พรรษา จึงเป็นการยากที่จะทำให้ประชาชนเห็นด้วยกับการกระทำของพระองค์

แต่ถึงกระนั้นพระเจ้าเฮนรีที่ 6 ทรงรู้ได้อย่างไรว่าน้ำลายสามารถแพร่เชื้อได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก เพราะแสดงให้เห็นถึงการจัดการการแพร่ระบาดของคนในสมัยก่อน พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ก็ไม่ได้ทรงรอบรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ หากแต่พระองค์ทรงสังเกตจากประสบการณ์ สังเกตว่าโรคนี้ติดต่ออย่างไร จึงทรงคิดว่าการเว้นระยะห่างน่าจะเป็นการดีที่สุด

บรรยากาศ ของ กรุงลอนดอน ประเทศ อังกฤษ
บรรยากาศของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในช่วง The Great Plague of London ระหว่างค.ศ. 1665-1666 เป็นการระบาดครั้งใหญ่ของกาฬโรคในประเทศอังกฤษ

พระองค์เริ่มจากยกเลิกพิธีการแสดงความเคารพของบรรดาเหล่าอัศวิน ที่เมื่อเข้าเฝ้ากษัตริย์ต้องจูบที่แหวนบนมือของพระองค์ และออกประกาศห้ามประชาชนจูบกัน ไม่ว่าจะเป็นการทักทาย หรือประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อประชาชนจะได้อยู่ห่างกันและลดการสัมผัส  

จะเห็นได้ว่า “Social Distancing” นั้นมีมาตั้งแต่สมัยยุคกลาง แต่อาจไม่ได้รับการสนใจมากนัก เนื่องจากในสมัยนั้นผู้คนยังไม่ตระหนักถึงเรื่องสุขอนามัย และยังไม่รู้จักสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแบคทีเรียหรือไวรัส พวกเขาเชื่อว่ากาฬโรคคือการลงโทษจากเบื้องบน เพราะว่ามนุษย์นั้นมีบาปหนา ทั้งความโลภ เห็นแก่ตัว หลงผิด คิดริษยา ฯลฯ ดังนั้น เพื่อให้โรคร้ายนี้หายไป มนุษย์ต้องทำให้พระเจ้าพึงพอใจเท่านั้นจึงจะสามารถหยุดสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ลงได้

นอกจากนี้ การระบาดของกาฬโรคในยุคนี้ยังได้กำเนิด “หมออีกา” หรือ Plague Doctor ขึ้น ที่เรียกเช่นนี้เพราะว่าลักษณะเครื่องแต่งกายที่คลุมยาวหนาเคลือบด้วยขี้ผึ้ง สวมหน้ากากที่มีจงอยแหลมเหมือนอีกา เพื่อที่จะได้สามารถยัดสมุนไพร และเครื่องหอมต่าง ๆ เช่น สะระแหน่ การบูร กานพลู ไว้ในนั้นได้ ซึ่งวิธีการรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ และปรับสมดุลน้ำในร่างกาย โดยจะเจาะเลือดออก หรือใช้ปลิงดูดเลือดออกมา หมอจะใช้ไม้เท้าในการวินิจฉัยอาการ ดังนั้น อาชีพหมออีกาจึงเป็นอาชีพที่มีค่าจ้างสูงมากเนื่องจากมีความเสี่ยงสูง

“หมออีกา” หรือ Plague Doctor

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Medieval History. 2020. “1439: Kissing Is Banned In England In Response To The Black Plague”. History Dairy. Retrieved June   21, 2021, https://historydaily.org/kissing-ban-england-response-black-plague-1439

Dominick Kirby. 2018. “Why did king Henry VI ban kissing in 1439”.  HWRK.  Retrieved June  21, 2021, https://hwrkmagazine.co.uk/archives/155

Beth Michaels. 2014. “July 16, 1439: Kissing Banned in Endland ”. History & Headlines.  Retrieved June  21, 2021, https://www.historyandheadlines.com/july-16-1439-kissing-banned-england/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2564