แรกมีปี่พาทย์มอญในงานพระศพสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

“ปี่พาทย์มอญ” มีขึ้นในงานศพเป็นครั้งแรกในพระราชพิธีพระบรมศพของ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงเรื่อง แรกมีปี่พาทย์มอญในงานศพ  ในสาส์นสมเด็จ กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม จึงขอคัดมาให้อ่านกัน ดังนี้

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

เรื่องที่ชอบใช้ปี่พาทย์มอญในงานศพนั้น หม่อมฉันเคยได้ยินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเล่า ว่าปี่พาทย์มอญทำในงานหลวงครั้งแรกเมื่องานพระศพสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ด้วยทูลกระหม่อมทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระเทพศิรินทราฯ ทรงเป็นเชื้อมอญ แต่จะเป็นทางไหนหม่อมฉันไม่ทราบ เคยได้ยินแต่ชื่อพระญาติคน 1 เรียกว่า “ท้าวทรงกันดาล ทองมอญ” ว่าเพราะเป็นมอญ พระองค์ท่านคงจะทรงทราบกันดีกว่า คงเป็นเพราะเหตุนั้น งานพระศพพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้มีปี่พาทย์มอญเพิ่มขึ้น โดยเป็นเชื้อสายของสมเด็จพระเทพศิรินทราฯ

ภายนอกอาจจะเอาอย่างงานพระศพหลวงไปเพิ่ม หรือไปหาเฉพาะปี่พาทย์มอญมาทำในงานศพโดยไม่รู้เหตุเดิม แล้วทำตามกันต่อมา จนเลยเข้าใจว่างานศพต้องมีปี่พาทย์มอญจึงจะเป็นศพผู้ดี เหมือนกับเผาศพชอบจุดพลุญี่ปุ่นกันแพร่หลายอยู่คราวหนึ่ง

อันที่จริงปี่พาทย์มอญ มอญเขาก็ใช้ทั้งในงานมงคลและงานศพเหมือนกันปี่พาทย์ไทย กลองคู่กับปี่ชวาและฆ้องประสมกันซึ่งเรียกว่าบัวลอย ก็ใช้ทั้งในงานศพและงานมงคล เช่น ในงานมหรสพ ไต่ลวด ลอดบ่วง และนอนหอกนอนดาบในสนามหลวง ที่สุดจนกลองชนะก็ใช้ทั้งในงานมงคลและงานศพ เครื่องประโคมที่ใช้เฉพาะงานศพเห็นมีอย่างเดียวแต่ปี่พาทย์นางหงส์ อันมีผู้คิดกลองคู่บัวลอยเข้าประสมวงกับปี่พาทย์ พวกปี่พาทย์เห็นว่าเพลงนางหงส์เข้ากับกลองคู่ดี จึงใช้เพลงนั้น เลยกลายเป็นชื่อเครื่องประโคมอย่างนั้น ดังเช่นท่านทรงพระดำริ

เมื่อครั้งงานศพหม่อมเฉื่อยของหม่อมฉัน เจ้าพระยาเทเวศร์ ท่านจัดปี่พาทย์นางหงส์อย่างประณีตไปช่วยที่สุสานหลวง ณ วัดเทพศิรินทร์ ท่านเพิ่มกลองมลายูขึ้นเป็น 6 ใบ ปี่พาทย์ก็คือวงหลวงเสนาะและพระประดิษฐ์ (ตาด) ทำไพเราะจับใจคนฟังทั้งนั้น จนหม่อมฉันออกปากเสียดายว่ามีกังวลด้วยงานศพ มิฉะนั้นก็จะนั่งฟังให้เพลิดเพลิน

ดำรงราชานุภาพ

16 กรกฎาคม 2483

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ตุลาคม 2559