ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ทำไม “ควีนเอลิซาเบธ” ประมุขแห่งเครือจักรภพองค์ก่อน ทรงสวมใส่ “ฉลองพระองค์” สีฉูดฉาด?
เสื้อผ้าเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมบุคคลิกภาพของผู้ส่วมใส่ การเลือกเสื้อผ้าจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับวาระโอกาสต่าง ๆ ไม่ว่าจะต้องใส่ออกไปทำงาน เล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม จึงต้องเลือกสวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมตาม “กาลเทศะ”
การแต่งกายสำหรับคนทั่วไปนอกเหนือจะวางบนพื้นฐานเรื่อง “กาลเทศะ” แล้ว ก็ต้องมีเรื่องของแฟชันเข้ามาเกี่ยวข้อง การเลือกใช้รูปแบบเสื้อผ้า เนื้อผ้าแบบใดเหมาะกับสภาพอากาศแบบไหน เครื่องประดับ การแต่งหน้า-ทำผม ฯลฯ ยังรวมไปถึงการเลือกสี เหล่านี้ล้วนสำคัญสำหรับการแต่งกายทั้งสิ้น แต่สำหรับกษัตริย์แห่งอังกฤษแล้ว การแต่งกายของพระองค์ถือเป็นเรื่องสำคัญระดับโลกเลยก็ว่าได้!
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หรือ “ควีนเอลิซาเบธ” (พระราชสมภพ 21 เมษายน พ.ศ. 2469 – สวรรคต 8 กันยายน พ.ศ. 2565) กษัตริย์แห่งเกาะอังกฤษ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการแต่งกายอันโดดเด่นมาตั้งแต่เมื่อแรกครองราชย์ แม้นกาลเวลาผ่านไปหลายสิบปีแล้วควีนก็ยังทรงมี “สไตล์” การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ ทรงพระสิริโฉมงดงามตามวัย ซึ่งเรื่อง “ฉลองพระองค์” ของควีนนี้เป็นที่กล่าวถึงมาโดยตลอด
การแต่งกายของควีนนั้นได้รับการถวายการดูแลโดย แองเจลา เคลลี (Angela Kelly) และทีมงาน เคลลีเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ด้านเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (Personal Assistant and Senior Dresser) มาตั้งแต่ ค.ศ. 2002 (เริ่มทำงานมาตั้งแต่ ค.ศ. 1994) เธอเป็นหนึ่งในข้าราชบริพารไม่กี่คนที่สามารถแตะต้องพระวรกายของควีนได้ ซึ่งทั้งสองมักพูดคุยเรื่องเครื่องแต่งกายกันอย่างใกล้ชิด จนอาจกล่าวว่าเคลลีเป็นพระสหายสนิทคนหนึ่งของควีนก็ว่าได้
การแต่งกายของ ควีนเอลิซาเบธ จะถูกวางแผนหรือเตรียมการไว้อย่างเป็นแบบแผน ทำเป็น “แคตาลอก” ไว้ล่วงหน้าตามหมายกำหนดการที่จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และฉลองพระองค์ของควีนนั้นจะถูกจัดเก็บอย่างดีเพื่อปกป้องการเสื่อมสภาพใด ๆ จากอากาศ แสงแดด แมลง ฯลฯ
การทำงานของเคลลีจะไม่แค่คำนึงถึงกาละเทศะและเรื่องสีของฉลองพระองค์อย่างเดียวเท่านั้น เคลลียังต้องทำการบ้านโดยละเอียด เช่น เธอจะวาดภาพร่างชุดไว้สี่แบบที่แตกต่างกันสำหรับผ้าชิ้นหนึ่ง และใช้พัดลมทดสอบว่าวัสดุจะเคลื่อนที่ในสายลมอย่างไร ก่อนตัดสินใจตัดชุดแบบที่เหมาะสมในขั้นสุดท้าย
นอกจากนี้ยังต้องคำนึงว่า ฉลองพระองค์ ไม่ควรยับ เนื่องจากการประทับพระราชพาหนะเป็นเวลานาน ต้องมีความสะดวกสบาย ใช้งานได้จริง และจะต้องสยายลงอย่างเหมาะสมเมื่อควีนก้าวออกจากพระราชพาหนะ เคลลียังต้องศึกษาสถานที่ที่จะเสด็จฯ เพื่อสร้างชุดที่เหมาะสมสำหรับควีนในแต่ละงานอย่างเพียบพร้อมมากที่สุด
ควีนเอลิซาเบธ ไม่ได้สวมฉลองพระองค์ที่ทำโดยเคลลีแค่คนเดียว ยังมีดีไซเนอร์อีกหลายคนที่ควีนเลือกสวมใส่ชุดของพวกเขา แม้ชุดที่เคลลีสร้างสรรค์มีไม่เพียงกี่ชุด แต่ก็เป็นชุดในงานพิธีสำคัญ เช่น ชุดสีเหลืองอ่อนที่ควีนใส่ในงานแต่งงานของเจ้าชายวิลเลียมกับเคท มิดเดิลตัน เมื่อ ค.ศ. 2011 รวมถึง ชุดสีเขียวมิ้นต์ใน พระราชพิธีเฉลิมฉลอง Diamond Jubilee เมื่อ ค.ศ. 2012
อย่างไรก็ตาม ฉลองพระองค์ของควีนมีแต่โทนสีเข้มหรือสีโทนนีออน เช่นสีเขียวมะนาว สีแดงอมม่วง สีบานเย็น สีน้ำเงินเข้ม แล้วเหตุใดควีนถึงสวมฉลองพระองค์โทนสีฉูดฉาดเหล่านี้?
ควีนกล่าวว่า “I have to be seen to be believed.” ซึ่งพระองค์ไม่ประสงค์ฉลองพระองค์โทนสีเบจ (Beige) เพราะจะทำให้พระองค์ไม่โดดเด่นและกลืนไปกับฝูงชน และจะฉลองพระองค์สีดำก็ต่อเมื่อมีการไว้ทุกข์เท่านั้น ตามที่ โซฟี เคาน์เตสแห่งเวสเซกซ์ (Sophie, Countess of Wessex) ลูกสะใภ้ของควีนเคยกล่าวไว้ว่า ควีนต้องการเป็นที่โดดเด่นสะดุดตาเวลาอยู่ท่ามกลางฝูงชน เพื่อให้ประชาชนได้พูดว่า “ฉันเห็นควีน” เช่นเวลาที่ควีนเดินผ่านประชาชนจำนวนหลายสิบหลายร้อยคน ก็จะเห็นหมวกของควีน (ที่สีสันเข้ากับชุด) เด่นเป็นสง่า จึงรู้ได้ว่าควีนอยู่ตรงไหน กำลังเดินไปทางไหน
แม้ควีนจะมีฉลองพระองค์สำหรับใส่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจออกงานพิธีต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก แต่ทรงเป็นคนประหยัดมาก Shubhangi Gupta นักศึกษาในประเทศอินเดียแสดงความเห็นว่า ควีนเติบโตภายใต้เงามืดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนชาวอังกฤษต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก มีการแบ่งสันปันส่วนอาหาร ใช้ชีวิตอย่างอัตคัดขัดสน แม้กระทั่งในพระราชสำนักเองก็ต้องเผชิญความยากลำบากเหล่านี้ด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมควีนถึงเป็นคนที่ประหยัดและใช้ชีวิตอย่างสมถะมากพระองค์หนึ่ง
หากสังเกตหรือติดตามพระราชกรณียกิจของควีนจะพบว่า บ่อยครั้งที่เห็นควีนฉลองพระองค์ซ้ำหลายครั้งและบางชุดก็นำกลับมาใช้ใหม่ ตัวอย่างเช่น ชุดสีเหลืองอ่อนที่ควีนใส่ในงานแต่งงานของเจ้าชายวิลเลียมกับเคท มิดเดิลตัน เมื่อ ค.ศ. 2011 ทรงนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งในตอนระหว่างที่พระองค์เสด็จฯ เยือนประเทศออสเตรเลีย มีบางชุดที่ทรงนำกลับมาใช้ซ้ำหลายรอบ ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีก็มี แต่ก็จะมีการปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายอื่น ๆ ไปตามความเหมาะสม เช่น เครื่องประดับ รองเท้า ถุงเท้า กระเป๋า หมวก เป็นต้น (คลิกชมภาพ)
นอกจากฉลองพระองค์ที่ต้องพิถีพิถันอย่างพิเศษแล้ว ยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่ต้องใส่ใจรายละเอียดเป็นพิเศษ เช่น ชุดราตรีไม่ควรประดับลูกปัด เพราะจะหนักและทำให้อึดอัด ร่มต้องเป็นร่มโปร่งแสง รองเท้าต้องดูความเหมาะสมเรื่องสถานที่ที่จะเสด็จฯ เรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวนของอังกฤษ รวมไปถึงทรงผม การแต่งหน้า ผิวพรรณ ผ้าเช็ดหน้า กระเป๋าถือ หมวก เครื่องประดับ สารพัดสิ่งที่ต้องใส่ใจรายละเอียดอย่างมาก
ก่อนที่จะออกมาเป็นฉลองพระองค์ที่แทบจะ “เพอร์เฟกต์” และทุกครั้งเมื่อควีนออกงานพิธีก็มักมีการกล่าวถึง “แฟชั่น” ของควีนอยู่เสมอ ๆ
อ่านเพิ่มเติม :
- รู้ไว้ก่อนดู “The Crown” ซีซั่น 5 ทศวรรษแห่งหายนะ ความร้าวฉาน วิกฤตศรัทธาราชวงศ์
- ความลุ่มหลง-จุดอ่อนของควีนวิกตอเรีย กับข้อสังเกตทอดทิ้งประชาชนจากเรื่องส่วนตัว
อ้างอิง :
Brooke Nelson. (2019). The Real Reason Queen Elizabeth II Wears Neon Outfits All the Time. Access 27 June 2019, from https://www.rd.com/culture/queen-elizabeth-neon-outfits/
As The Queen turns to ‘Cadbury Purple’ at Westminster Abbey, the hidden significance of colour in her wardrobe. Access 27 June 2019, fromHARRIET MALLINSON. (2019). Queen Elizabeth II: Monarch’s secret fashion hack revealed – have you ever spotted it?. Access 26 June 2019, from https://www.express.co.uk/life-style/life/1078486/queen-elizabeth-clothes-style-shoulder-pads
Who Is Angela Kelly, Queen Elizabeth’s Personal Wardrobe Advisor?. Access 27 June 2019, fromMichelle Kapusta. (2018). Is This the Only Person Allowed to Touch Queen Elizabeth II? Who is Angela Kelly?. Access 27 June 2019, from https://www.cheatsheet.com/entertainment/who-is-angela-kelly-and-is-she-the-only-person-allowed-to-touch-queen-elizabeth-ii.html/
Shubhangi Gupta. (2019). What does Queen Elizabeth do with her old clothes?. Access 27 June 2019, from https://www.quora.com/What-does-Queen-Elizabeth-do-with-her-old-clothes
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มิถุนายน 2562