พลโท พระศิลปศัสตราคม นายทหารที่ด่าคนเชิญไปนั่งในองค์กรเพื่อรอรับเงินเดือน/เบี้ยประชุม

พลโท ศิลปศัสตราคม ครอบครัว
ภาพครอบครัวของพลโท ศิลปศัสตราคม พ.ศ. 2479 (ภาพจาก หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลโท และพลอากาศโท พระศิลปศัสตราคม)

พลโท พระศิลปศัสตราคม นายทหาร ที่ด่าคนเชิญไปนั่งในองค์กรเพื่อรอรับ เงินเดือน เบี้ยประชุม

ปฏิเสธได้ยากว่า “ตำแหน่ง” ในองค์กรขนาดใหญ่หรือมีชื่อเสียงล้วนมีผลตอบแทนให้กับบุคคลที่รับตำแหน่งงานอย่างงดงาม และมีคนจำนวนมากที่เข้าไปนั่งในตำแหน่งอย่าง “กรรมการ” หรือ “ประธานกรรมการ” โดยที่ในความจริงแล้วไม่ได้ตรากตรำทำงาน แค่มีชื่อใส่ไว้เพื่อรับผลตอบแทน (หรือผลตอบแทนพระคุณ) ในรูปแบบ เงินเดือน หรือเบี้ยประชุม แต่อย่างน้อยยังมีนายทหารซึ่งมีจุดยืนไม่เป็น “ลูกจ้าง” ในลักษณะนั้น

สำหรับการเป็นนายทหารอาชีพแล้ว ไม่ว่ากองทัพของประเทศไหนก็ตามย่อมยึดถือเรื่องเกียรติยศ และศักดิ์ศรี เป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า พฤติกรรมของคนก็มีหลากหลาย บางรายอาจไม่ได้ยึดคติที่เป็นมาตรฐานของชุมชนนั้น แต่ไม่ใช่สำหรับพลโท (พลอากาศโท) ศิลปศัสตราคม

พลโท และพลอากาศโท พระศิลปศัสตราคม (ภักดิ์ เกษสำลี) อาจไม่ได้รับพระราชทานยศสูงสุดในทางทหาร เหมือนกับที่ลูกศิษย์ของท่านได้รับ แต่ในแวดวงทหารแล้ว ล้วนมีเสียงยกย่องให้ท่านควรเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับนายทหารและอนุชนรุ่นหลัง

พลโท ศิลปศัสตราคม เป็นทหารผ่านราชการสงคราม 3 ครั้ง ซึ่งรวมถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์ “รามาธิบดี” และเหรียญกล้าหาญ “ครัวซ์ เดอ แกร์” จากรัฐบาลฝรั่งเศส ภายหลังยังเป็น “เสนาธิการทหาร” อันถือเป็นตำแหน่งสูงสุดในด้านการวางแผน หรือสมองของกองทัพในช่วงเวลาที่ไทยอยู่ในภาวะสงคราม ขณะที่ในด้านราชการเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ก็ยังก้าวขึ้นเป็นสมุหราชองครักษ์

นอกจากด้านการทหาร ในทางการเมืองก็ยังเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และสมาชิกวุฒิสภาอีกหนึ่งสมัย

พลโท ศิลปศัสตราคม เป็นบุตรเพียงคนเดียวของจมื่นทิพรักษา (เจือ เกษสำลี) และนางทิพรักษา (ลม้าย เกษสำลี) กำเนิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2435 (ท่านมีพี่น้องร่วมบิดาอีก 9 คน เป็นชาย 3 หญิง 6)

หน้าที่การงานในวิชาการทหารเริ่มต้นเมื่อสมัครเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2451 เริ่มต้นรับยศเป็นนักเรียนทำการนายร้อย สังกัดกรมบัญชาการโรงเรียนทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2452 โดยรับพระราชทานเงินเดือน 45 บาท

พลโท พระศิลปศัสตราคม (ภักดิ์ เกษสำลี) ในเครื่องแบบนักเรียนนายร้อยเยอรมัน

ด้วยความสามารถที่โดดเด่นทำให้กระทรวงกลาโหมคัดเลือกท่านไปศึกษาวิชาทหารบกที่ประเทศเยอรมนี เมื่อ พ.ศ. 2452 กระทั่งเยอรมนีประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในยุโรป กระทรวงกลาโหมสั่งย้ายไปศึกษาวิชาทหารพรานภูเขาที่สวิตเซอร์แลนด์

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2457 ไทยยังประกาศตนเป็นกลาง กระทั่ง พ.ศ. 2460 จึงเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร กระทรวงกลาโหมประกาศเรียกพลอาสาส่งไปร่วมรบในสมรภูมิยุโรป ในช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2460 รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนทำการนายร้อยภักดิ์ เกษสำลี เป็นนายร้อยตรี สังกัดกรมทหารบกกราบที่ 3 รับราชการอยู่กับผู้ช่วยทูตในราชการทหารบกในยุโรป ทำหน้าที่เตรียมการและประสานงานก่อนที่กองทหารอาสาจะเดินทางออกจากไทย จึงอาจกล่าวได้ว่า ท่านร่วมราชการสงครามตั้งแต่ต้น

ก่อนที่ทหารอาสาจะเดินทางไปถึง นายร้อยตรีภักดิ์ เกษสำลี ถูกย้ายจากกองทูตทหาร ไปประจำการกองทหารบกรถยนต์ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้บังคับการกองย่อยที่ 2 ได้รับการฝึกที่โรงเรียนการยนต์ จากนั้นจึงถูกส่งไปปฏิบัติการส่งกำลังบำรุงในแนวรบด้านกองทัพฝรั่งเศส เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2461

ในบันทึกของพลอากาศเอก หะริน หงสกุล อดีตประธานวุฒิสภา บรรยายว่า กองย่อยที่ 2 ของกองทหารบกรถยนต์ ติดตามกองทหารฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วด้วยความกล้าหาญ และฝ่าอันตราย ลำเลียงทหาร กระสุน เสบียงอาหาร ยุทโธปกรณ์ อย่างต่อเนื่องจวบจนได้ชัย และเซ็นสัญญาสงบศึกกันเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461

รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนยศเป็นนายร้อยโท เมื่อภารกิจผ่านพ้นโดยเรียบร้อย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีแก่นายทหารหลายนาย กลุ่มแรกมี 3 นาย คือ นายร้อยโท เภา เพียรเลิศ (พลเอก พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ), นายร้อยโท ภักดิ์ เกษสำลี (พลโท และพลอากาศโท พระศิลปศัสตราคม) และนายธงไชย โชติกเสถียร (พลเอก หลวงสุรณรงค์ องคมนตรี) คำประกาศเกียรติคุณตอนหนึ่ง มีว่า

“เพราะได้ทำน่าที่ล่ามประจำกองย่อยต่างๆ ในกองทหารบกรถยนต์ ซึ่งไปราชการสงครามในทวีปยุโรป ได้ปฏิบัติการตามน่าที่ของตนประจำไปกับกองทหาร ตลอดจนในสนามรบ เข้าผ่านลูกกระสุนของข้าศึกด้วยความองอาจไม่ย่อท้อ และน่าที่ล่ามนั้นสำหรับราชการครั้งนี้สำคัญผิดปกติ เหตุว่า ต้องเป็นผู้เชื่อมต่อความเข้าใจระหว่างทหารฝ่ายสัมพันธมิตรกับทหารไทยซึ่งพูดต่างภาษากัน ถ้าไม่มีล่ามแล้ว กองทหารไทยก็มิสามารถกระทำกิจการสงครามได้ผลดีเลย และล่ามทั้งสามนี้เป็นผู้ปฏิบัติการได้ผลดียิ่ง เพราะความอุตสาหะวิริยภาพ”

ภายหลังเดินทางกลับประเทศไทยก็รับราชการได้รับบรรจุเข้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2462 และก้าวหน้าต่อมาในหน้าที่ราชการ อาทิ เป็นราชองครักษ์เวรเมื่อ พ.ศ. 2472 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระศิลปศัสตราคมเมื่อ พ.ศ. 2474 และย้ายมาประจำกรมอากาศยานเมื่อ พ.ศ. 2476 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ถึงแม้ท่านมิได้เป็น “ผู้ก่อการ” ด้วย แต่ก็ถือเป็นนายทหารที่ศึกษาในกองทัพบกเยอรมันเช่นเดียวกับนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา การคัดเลือกท่านมาประจำการที่กรมอากาศยานในช่วงที่กรมฯ อยู่ในสภาพ “บ้านแตกสาแหรกขาด” หลังกองทหารฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลรวมกำลังและตั้งกองบัญชาการที่นครราชสีมา อันเป็นที่ตั้งของกองบิน เมื่อฝ่ายรัฐบาลชนะ นายทหารก็มีหลบหนีบ้าง และถูกจับบ้างจึงเป็นทางเลือกของรัฐบาลที่เห็นว่าเหมาะและควร

การปฏิบัติหน้าที่ในกรมอากาศยานเรียกว่าทำได้อย่างยอดเยี่ยม ช่วยวางรากฐานสำคัญในกรมอากาศยาน ช่วยแปลตำราภาษาต่างประเทศ ตรวจแก้ตำราที่นายทหารรับการศึกษาจากต่างประเทศ อบรมทหารที่จะออกไปศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศด้วย

หน้าที่ในกองทัพอากาศมายุติลงในพ.ศ. 2482 ซึ่งไทยมีข้อพิพาทเรื่องดินแดนอินโดจีนกับฝรั่งเศส รัฐบาลต้องการมันสมองจึงย้ายท่านไปเป็นรองเสนาธิการทหาร หน้าที่การงานยังเจริญก้าวหน้าตามลำดับ และในพ.ศ. 2487 เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชองครักษ์พิเศษ ต่อมาในพ.ศ. 2489 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นสมุหราชองครักษ์ (ในรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9)

ท่านเกษียณอายุราชการเมื่อ 1 มกราคม พ.ศ. 2491 และใช้ชีวิตอย่างสงบโดยนิยมปลูกต้นไม้ และยังถูกดึงไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อ พ.ศ. 2494 ขณะที่ออกจากราชการนั้นมีเงินเดือนขั้น 55 อันเป็นขั้นสูงสุดของข้าราชการทหารก็ได้รับเพียงเดือนละ 1,000 บาท หากเป็นเงินบำนาญตามพระราชบัญญัติในสมัยนั้นก็อยู่ที่ 600 บาท จึงเรียกได้ว่าชีวิตข้าราชการบำนาญของท่านก็ค่อนข้างมัธยัสถ์

ถึงแม้จะมีภาวะเงินเฟ้อ และค่าครองชีพ แต่คนรอบข้างท่านล้วนแทบไม่เคยได้ยินท่านปริปาก ในบันทึกประวัติที่จัดพิมพ์อยู่ในอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลโท และพลอากาศโท พระศิลปศัสตราคม (ภักดิ์ เกษสำลี) เขียนโดยพลอากาศเอก หะริน หงสกุล บรรยายว่า เคยได้ยินลูกศิษย์และอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านหลายคนที่อยู่ในฐานะจะสนองพระเดชพระคุณได้ เคยกราบเรียนเชิญท่านเป็นกรรมการ หรือประธานกรรมการของบริษัท หรือองค์การที่ลูกศิษย์หรืออดีตผู้ใต้บังคับบัญชาเหล่านั้นมีอิทธิพลอยู่

แน่นอนว่า การณ์นี้เป็นที่เข้าใจดี คือการเรียนเชิญย่อมไม่รบกวนให้ท่านไปตรากตรำทำงานใด แต่แค่เอาชื่อท่านใส่ไว้ เป็นหนทางตอบแทนพระคุณอันตามมาด้วยเงินเดือนหรือเบี้ยประชุม อย่างไรก็ตาม พลอากาศเอก หะริน บรรยายว่า เรื่องนี้ทำให้ท่านโกรธอย่างมาก และดุแถมด้วยว่า

“คุณคิดว่าผมเป็นคนอย่างไร ผมเคยเป็นสมุหราชองครักษ์มาแล้ว มีเจ้านายโดยตรงพระองค์เดียว คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คุณคิดหรือว่าผมจะไปเป็นลูกจ้างใครได้อีก”

ชีวิตช่วงวัยเกษียณของท่านยังคงออกไปพบปะรับประทานอาหารกับนายทหารนอกราชการ หรือเมื่อปีใหม่ที่มีการบำเพ็ญกุศลและรดน้ำขอพรอดีตผู้บังคับบัญชาในกองทัพอากาศ ท่านก็ไปร่วมด้วย จนท่านลาจากไปเมื่อ พ.ศ. 2525 จากอาการหลอดเลือดหัวใจตีบ ในวัย 90 ปี ท่านเป็นผู้ที่ได้รับยอมรับว่า ตลอด 90 ปีถือเป็นตัวอย่างของบุรุษที่สร้างตัวเองด้วยความสามารถไปจนถึงตำแหน่งสูงสุดโดยไม่มีความด่างพร้อย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“ประวัติ พลโท และพลอากาศโท พระศิลปศัสตราคม (ภักดิ์ เกษสำลี)” . พลอากาศเอก หะริน หงสกุล. หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลโท และและพลอากาศโท พระศิลปศัสตราคม (ภักดิ์ เกษสำลี), 2526


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มิถุนายน 2562