ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
หนังสือเป็นแหล่งรวบรวมความรู้แห่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ไม่ว่าจะสนใจหรือค้นหาเรื่องอะไรก็ตาม เชื่อว่าในโลกใบนี้ต้องมีหนังสืออย่างน้อยสัก 1 เล่มที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ค้นหาและสนใจอยู่ และหากคุณเป็นคนที่สนใจกิจกรรมอีกแบบอย่างเรื่องการทำ “รัฐประหาร” หนังสือเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้ก็มีให้คุณอ่านได้เช่นกัน
เมื่อพูดถึงหนังสือหรือคู่มือที่ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับการทำรัฐประหาร ซึ่งเป็นที่พูดถึงมากที่สุดจนถึงในปัจจุบัน นักรัฐศาสตร์หรือคอหนังสือต้องนึกถึงหนังสืออันลือลั่นเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Coup D’etat: The Technique of Revolution แปลเป็นไทยแบบกระชับรวบรัดว่า “เทคนิคการทำรัฐประหาร” เขียนขึ้นโดยคูร์ซิโอ มาลาปาร์เต้ (Curzio Malaparte) นักคิดและนักเขียนชาวอิตาเลียน เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 1931 (พ.ศ. 2474)
ในช่วงยุค 20s มาลาปาร์เต้ เป็นหนึ่งในนักคิดที่หนุนหลังสายอิตาเลียนฟาสซิสต์ (Italian fascism) แม้จะมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันกับผู้นำ แต่ความสัมพันธ์ของเขากับพรรคชาตินิยมฟาสซิสต์ และเบนิโต มุสโสลินี ก็ไม่ค่อยราบรื่นนัก อย่างไรก็ตาม มาลาปาร์เต้ ก็ยังถือเป็นนักเขียนอิตาเลียนที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 20
ในหนังสือดังเล่มอื้อฉาว มาลาปาร์เต้ อดีตทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1 และผู้โลดแล่นในวงการสื่อสารมวลชนซึ่งส่งอิทธิพลทางความคิดในอิตาลีพาผู้อ่านไปศึกษาเทคนิคการทำรัฐประหารผ่านเหตุการณ์อย่างการปฏิวัติบอลเชวิค หรือการล้มล้างราชวงศ์โรมานอฟในรัสเซียด้วยความรุนแรง และลัทธิฟาสซิสต์ในอิตาลี
ในหนังสือเล่มนี้ยังมีน้ำเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และมุสโสลินี นั่นเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เขาถูกปลดออกจากสภาพสมาชิกพรรคฟาสซิสต์ และถูกขับส่งไปอยู่ในเกาะ Lipari (ช่วงนั้นเขายังกล่าวร้ายต่อนายพลกองทัพอากาศชื่อก้องอีกรายด้วย)
ว่ากันว่า ชาวไทยคนแรกๆ ที่ได้จับจองสำเนาหนังสือเล่มนี้คือนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ร่วมคณะราษฎร และมีเรื่องเล่าว่า เมื่อนายปรีดี จะนำเข้าประเทศก็ต้องฉีกปกนำเข้ามา เพื่อลดความเสี่ยงถูกตรวจสอบ แต่ข้อมูลที่แน่ชัดคือ ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 กล่าวคือ ไม่นานนักหลังจากหนังสือตีพิมพ์ออกมา
ขณะที่หนังสือเล่มนี้มีแปลเป็นฉบับภาษาไทยชื่อ “เทคนิคการทำรัฐประหาร” แปลโดยจินดา จินตนเสรี
ภายหลังจากหนังสือของนักเขียนอิตาเลียนอันลือลั่น ยังมีเกี่ยวกับการทำรัฐประหารที่แพร่หลายอีกเล่มคือ Coup d’État: Practical Handbook เขียนโดย เอ็ดเวิร์ด ลุตทวาค (Edward N. Luttwak) หนังสือ Coup d’État: Practical Handbook เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 1968 โดยมักถูกนายทหารและนักการเมืองชื่อดังทั้งในเอเชียและยุโรปอ้างอิงถึง
มีรายงานข่าวว่านายพลในโมรอกโกที่พยายามทำรัฐประหารกษัตริย์ฮาสซาน แต่กระทำการล้มเหลวเมื่อค.ศ. 1972 ในร่างไร้วิญญาณของนายพลรายนี้ก็พบหนังสือ Coup d’Etat อยู่ด้วย ภายหลังโครงเนื้อหาในหนังสือยังถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ชื่อ Power Play เมื่อปี ค.ศ. 1978
หนังว่าด้วยประเทศสมมติแห่งหนึ่งในทวีปยุโรป ประเทศในจินตนาการนี้มีนายทหารกลุ่มหนึ่งไม่พอใจการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลจึงนำกำลังหมายเข้ามายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลโดยผู้นำนายทหารตั้งเป้าว่าหลังจากกระทำการสำเร็จจะขึ้นเป็นผู้นำประเทศ อย่างไรก็ตาม บทสรุปสุดท้ายก็ไม่ได้จบแบบสวยงามนัก
เอ็ดเวิร์ด ถูกคอลัมนิสต์ของเดอะ การ์เดียน สื่อชื่อดังจากอังกฤษขนานนามว่าเป็น “มาเคียแวลลีแห่งแมรีแลนด์” (หลายปีหลัง เขาพำนักในเมืองแห่งหนึ่งแถบมลรัฐแมรีแลนด์ในสหรัฐอเมริกา) เนื่องจากบทบาทและผลงานของเขาในแวดวงการเมือง ที่ผ่านมา เขาเคยเป็นที่ปรึกษาให้ผู้นำทางการเมืองหรือแม้แต่รัฐบาลบางประเทศในแถบเอเชียที่ต้องการตั้งหน่วยข่าวกรองก็ยังมาขอคำแนะนำปรึกษาจากเอ็ดเวิร์ด เรียกได้ว่าเป็นนักกลยุทธ์ตัวยงอีกรายในศตวรรษที่ 21
เอ็ดเวิร์ด จบการศึกษาเศรษฐศาสตร์เชิงวิเคราะห์จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics) เมื่อปี 1964 เคยทำงานให้กับกองทัพของประเทศมหาอำนาจแถวหน้าของโลกอย่างบริติช, ฝรั่งเศส และอิสราเอล หนังสือเล่มที่โด่งดังของเขาตีพิมพ์เมื่อตอนที่เขาอายุ 26 ปีขณะเอ็ดเวิร์ด ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านกิจการน้ำมันในลอนดอน
หนังสือเล่มนี้อธิบายรายละเอียดสำคัญว่าว่าด้วยกรรมวิธียึดอำนาจในรูปแบบต่างๆ และประกอบไปด้วยตาราง การจัดกลุ่ม และข้อความจากแถลงการณ์จากการรัฐประหารของกลุ่มชนชาวแอฟริกัน หนังสือได้รับทั้งเสียงชื่นชมและวิจารณ์จากฝ่ายขวาและซ้าย
จากอดีตจวบจนปัจจุบัน หนังสือเกี่ยวกับการทำ “รัฐประหาร” ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดก็หนีไม่พ้น 2 เล่มนี้ แต่ภายภาคหน้าจะมีผู้นำรายไหนได้อ่านเล่มนี้อีกหรือไม่นั้น คงไม่มีผู้ใดให้คำตอบได้อย่างแน่นอน
อ่านเพิ่มเติม :
- วิธีรักษาอำนาจฉบับ “มาเคียเวลลี” ผู้ถูกเรียกว่าเจ้าของศาสตร์ทรราช และผู้นำที่เขาหนุน
- “ทหารสเปน” รัฐประหารยึดอำนาจได้ แต่ไม่ถูกรับรอง สุดท้ายผู้นำต้องมอบตัว
-
เบื้องหลังการ (เกือบจะ) รัฐประหารของอังกฤษ ในซีรีส์ “The Crown”
อ้างอิง :
Meaney, Thomas. “The Machiavelli of Maryland”. The Guardian. Online. Published 9 DEC 2015. Access 22 MAY 2019. <https://www.theguardian.com/world/2015/dec/09/edward-luttwak-machiavelli-of-maryland>
Curzio Malaparte. Britannica. <https://www.britannica.com/biography/Curzio-Malaparte>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 พฤษภาคม 2562