วิธีรักษาอำนาจฉบับ “มาเคียเวลลี” ผู้ถูกเรียกว่า “เจ้าของศาสตร์ทรราช”

นิโคโล มาเคียเวลลี ผู้เขียน เจ้าชายผู้ปกครอง เซซาเร บอร์เจีย
(ซ้าย) ภาพวาด มาเคียแวลลี โดย Santi di Tito (ขวา) ภาพวาด เซซาเร บอร์เจีย

ในบรรดานักทฤษฎีการเมืองที่นักรัฐศาสตร์ในยุคใหม่ต้องศึกษาแนวคิด ต้องปรากฏชื่อ นิโคโล มาเคียเวลลี (Nicolo Machiavelli) สามัญชนแห่งฟลอเรนซ์ ผู้ถูกเรียกว่า “เจ้าของศาสตร์ทรราช” ซึ่งภายหลังได้มีโอกาสขึ้นเป็นนักการทูต เขาคือผู้เขียนหนังสือ “เจ้าชายผู้ปกครอง” หรือ “The Prince” เล่มน้อยที่เคยถูกศาสนจักรขึ้นบัญชีดำ แต่ทรงอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน

ครั้งหนึ่งมาเคียเวลลีที่รับใช้ฟลอเรนซ์ ถูกจับเข้าคุกและถูกทรมานจากข้อหาวางแผนโค่นล้ม “ตระกูลเมดิชี” หลังจากครอบครัวนี้กลับมาครองอำนาจอีกหน แล้วเทพีแห่งโชคชะตาเล่นกลประการใดทำให้นักทฤษฎีการเมืองผู้เป็นสัญลักษณ์ของเล่ห์เหลี่ยมรอดชีวิตมาได้?

มาเคียเวลลี เป็นเจ้าของแนวคิดที่ชี้ว่า “การเป็นผู้นำในลักษณะน่าหวั่นเกรง ดีกว่าผู้นำซึ่งเป็นคนที่น่ารักใคร่” แม้แต่การตัดสินใจกำจัดศัตรูทางการเมืองด้วยความรุนแรงอย่างการลงมือสังหารนั้น มาเคียเวลลีก็เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็น หากจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่มีเหตุผลเพียงพอ ด้วยแนวคิดเหล่านี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ส่วนหนึ่งของนามที่เป็นคำว่า “มาเคียเวลเลียน” (Machiavellian) จะกลายเป็นคำคุณศัพท์ที่ใช้กันแพร่หลายในยุคหลัง

หากบอกว่าใครสักคนเป็น “มาเคียเวลเลียน” ก็อาจหมายความว่า คุณมีแนวโน้มกำลังถูกเหยียดหยามว่าเป็นพวกเปี่ยมไปด้วยเล่ห์กล ชอบวางแผน และใช้ผู้อื่นเป็นเครื่องมือ

ชีวิตของ นิโคโล มาเคียเวลลี

ประวัติของมาเคียเวลลีนั้น เขาเกิดเมื่อ ค.ศ. 1469 สืบสายมาจากขุนนางในระบบศักดินาสวามิภักดิ์ตระกูลของเขามีบทบาทในทางการเมืองการศาสนาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 แต่นักประวัติศาสตร์ก็มองว่า หากจะจัดสายตระกูลให้อยู่ในกลุ่มพ่อค้าที่มั่งคั่งเป็นชนชั้นสูงก็พอกล่าวได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากตระกูลกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง แต่ไม่เหมือน “ผู้มีอิทธิพล” ซึ่งถูกกีดกันไม่ให้รับตำแหน่งในรัฐบาล

แบร์นาโด พ่อของมาเคียเวลลี เป็นปัญญาชน เป็นนักวิชาการ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย มีทรัพย์สมบัติและครอบครองบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มตึกที่ญาติในตระกูลจับจองกัน แม้จะมีทรัพย์สมบัติที่มีค่าเหนือกว่าทรัพย์ในหมู่ชาวบ้านทั่วไปในเมือง แต่ความเป็นอยู่ของมาเคียเวลลีช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ก็ไม่ได้ถึงกับสุขสบาย ไมล์ส เจ อังเกอร์ ผู้เขียนหนังสือ “มาเคียเวลลี เจ้าทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่” นิยามวิถีชีวิตของแบร์นาโดและลูกชายว่า อยู่ในพื้นที่ชายขอบของความเคารพนบนอบ และมักถูกเยาะเย้ยว่าตระกูลของเขาอยู่ในช่วงขาลง

ช่วงปลายศตวรรษที่ 15 ตระกูลที่มีอำนาจมากที่สุดคือ ตระกูลเมดิชี อันเป็นตระกูลที่มั่งคั่ง บ้านของตระกูลนี้มักมีลักษณะหรูหรา อันเป็นลักษณะที่จงใจแสดงสถานะความร่ำรวย ขณะที่มาเคียเวลลี บรรยายสถานะของตระกูลของเขาว่าง่อนแง่น บริบทนี้เองอาจมีส่วนสำคัญทำให้เขาแหวกกรอบดั้งเดิม และนำเสนอทางออกใหม่

เมืองฟลอเรนซ์ในสมัยนั้น เป็นสาธารณรัฐอิสระขนาดเล็ก ระบบปกครองของฟลอเรนซ์แตกต่างจากเมืองอื่น สาธารณรัฐฟลอเรนซ์ มีประชากรไม่เกิน 50,000 คน มีการเลือกตั้ง แต่สิทธิเลือกตั้งถูกจำกัดเพียงพ่อค้าที่มีฐานะและช่างฝีมือทั่วไป พลเมืองทั่วไปถูกจำกัดบทบาททางการเมือง

อย่างไรก็ตาม สมัยนั้นถือว่าฟลอเรนซ์เป็นรัฐที่มีประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าอันดับต้นในยุโรปแล้ว ตระกูลเมดิชี พยายามรักษาสถานะ ความงดงาม และความรุ่งเรืองของเมืองด้วยชิ้นงานศิลปะ งานช่าง การก่อสร้างตึกอาคารที่ใหญ่โต อันเป็นการแสดงรสนิยมและความมั่งคั่ง เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ตระกูลเมดิชีใช้เป็นเครื่องมือจรรโลงความรู้สึกของคนในพื้นที่ไม่ให้ขัดข้องใจเพราะสภาพไม่มีสิทธิออกเสียงและวิจารณ์รัฐบาล

ในวัยหนุ่ม มาเคียเวลลี ไม่ได้ยี่หระกับสภาพการมีทรัพย์จำกัด เขาใช้เงินกับการพนันและโสเภณี เวลาว่างที่มีก็พูดคุยกับเพื่อนฝูง งานทางการเมืองชิ้นแรกที่เริ่มต้นคือการรายงานการเทศน์-ปราศรัยของจิโรลาโม ซาโวนาโรลา พระนักเทศนาที่ขึ้นชื่อเรื่องบุญบารมี ว่ากันว่าคำเทศนาของซาโวนาโรลา สร้างทั้งแรงบันดาลใจให้ชาวเมือง และยังสร้างความปั่นป่วนให้ฟลอเรนซ์หลายปี มาเคียเวลลีได้รับคำขอจากริชชาร์โด เบคคี ทูตฟลอเรนซ์ประจำสันตะสำนักให้รายงานคำเทศนานี้

ช่วงฤดูร้อน ปี 1494 พระเจ้าชาร์ลสที่ 8 แห่งฝรั่งเศสเข้ามารุกรานอิตาลี ผู้นำสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ คือ ปิแยโร เด เมดิชี ยอมมอบป้อมปราการสำคัญ และชุมชนแห่งหนึ่งในฟลอเรนซ์ให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับสัญญาว่าพระเจ้าชาร์ลสจะสนับสนุนตระกูลเมดิชีให้ปกครองฟลอเรนซ์ต่อ ประชาชนฟลอเรนซ์ไม่พอใจอย่างมาก ตระกูลเมดิชีต้องหลบหนีออกจากเมือง โดยหอบสมบัติเท่าที่ขนได้ไปด้วย

กองทัพ ฝรั่งเศส พระเจ้าชาร์ลสที่ 8 สู่ เมืองฟลอเรนซ์
กองทัพฝรั่งเศสของพระเจ้าชาร์ลสที่ 8 ยาตราทัพสู่เมืองฟลอเรนซ์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1494, โดยฟรานเชสโก กรานัชชี ปี 1517 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

หลังจากนั้น มาเคียเวลลีรับตำแหน่งรองมุขมนตรีแห่งฟลอเรนซ์ ถือเป็นตำแหน่งสำคัญในสายงานข้าราชการพลเรือนของรัฐบาล และเป็นช่วงที่แนวคิดทางปรัชญาการเมืองของเขาก่อร่างขึ้น อย่างไรก็ตาม มาเคียเวลลีวิจารณ์สถานการณ์การเมืองหลังยุคปิแยโรว่า รัฐบาลใหม่มีข้อด้อยมากกว่าและอ่อนแอเกินจะปกครอง

ช่วงต้นศตวรรษที่ 16 มาเคียเวลลีปฏิบัติงานในทางการทูต โดยระหว่างปี 1503-1506 เขามีบทบาทในการบริหารงานทางการทหารของฟลอเรนซ์ เขาไม่ไว้ใจระบบทหารรับจ้าง และหันมาใช้พลเรือนในกองทัพ นโยบายนี้ประสบความสำเร็จ ทำให้กองทัพพลเรือนเอาชนะเมืองศัตรูคู่อาฆาตอย่างปิซาในปี 1509 ได้

อย่างไรก็ตาม ในปี 1512 ตระกูลเมดิชี ที่มีโป๊ปจูเลียสที่ 2 หนุนหลัง ใช้กำลังทหารของสเปนเอาชนะฟลอเรนซ์ได้ หลังการกลับมามีอำนาจของตระกูลเมดิชี มาเคียเวลลีเป็นอีกหนึ่งรายที่ถูกกลุ่มเมดิชีกล่าวหาว่าสมคบคิดกันล้มพวกเมดิชีและยึดอำนาจรัฐบาล อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ไม่พบหลักฐาน หรือข้อพิสูจน์ที่มีน้ำหนักว่ามาเคียเวลลีรู้เห็นกับความเคลื่อนไหว และเมื่อพิจารณาแนวคิดทางการเมืองของมาเคียเวลลีแล้ว ยิ่งทำให้เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ เขาไม่ใช่นักอุดมคติที่เอาตัวเข้าเสี่ยงในแผนการที่รู้ดีว่าจะล้มเหลว

เพื่อนร่วมงานของเขาถูกทรมานจนรับสารภาพ แต่มาเคียเวลลีถูกนำตัวไปขังที่คุก “เล สติงเค” ห้องขังของเขาอยู่ในสภาพน่าหดหู่ และถูกทรมานโดยให้ยืนบนแท่น มัดมือทั้งสองข้างไพล่หลัง มาเคียเวลลีถูกทรมานด้วยวิธีที่เรียกว่า “สตรัปปาโด” โดยร้อยเชือกที่มัดมือกับเชือกที่ผูกผนัง เมื่อมัดแล้วจะกระชากแท่นออกจากใต้เท้า น้ำหนักตัวของเขาจะทิ้งลงมา ขณะเดียวกันแขนทั้งสองข้างที่ถูกมัดจะกระตุกขึ้นไปด้านบน มาเคียเวลลี เส้นเอ็นขาด ข้อต่อหลุดเคลื่อน

เขาถูกทรมาน 6 ครั้งโดยที่ไม่ได้สารภาพอะไร เพราะไม่มีอะไรให้สารภาพ มาเคียเวลลีเชื่อว่า แค่ถูกต้องสงสัยว่าทรยศก็หนักหนาเพียงพอให้โดนโทษประหารชีวิตได้แล้ว เขาเล่าสภาพอันน่าสะพรึงในกลอนสั้นที่แสดงให้เห็นถึงความเด็ดเดี่ยว แถมยังเล่าอย่างติดตลกว่า เสียงที่น่ารำคาญกว่าการกรีดร้องของเพื่อนร่วมห้องขังคือเสียงท่องมนต์คาถาของพวกเคร่งศาสนา ความทุกข์ทรมานที่ได้รับไม่ได้สิ้นสุดลงด้วยบทกวีหรือการเคลื่อนไหว หรือคำร้องของเพื่อนฝูง

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1513 พระสันตะปาปาจูเลียส สิ้นพระชนม์จากการประชวรหนัก คาร์ดินัลในตระกูลเมดิชีวัย 38 ปี ได้รับเลือกตั้งและกลายเป็น พระสันตะปาปาเลโอที่ 10 เป็นครั้งแรกที่ชาวฟลอเรนซ์ขึ้นครองบัลลังก์ดำรงตำแหน่งผู้นำแห่งวาติกัน ซึ่งคนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เมื่อคนจากตระกูลเมดิชีที่ทรงอำนาจ การดำรงตำแหน่งผู้นำแห่งวาติกันย่อมนำมาซึ่งยุครุ่งเรือง สืบเนื่องจากชะตากรรมของสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ในสมัยนั้น มักขึ้นกับนโยบายและลักษณะท่าทีของพระสันตะปาปาผู้ครองบัลลังก์เซนต์ปีเตอร์

ตระกูลเมดิชียินดีปรีดา และปล่อยตัวนักโทษจำนวนมาก กลุ่มที่ได้รับการปล่อยตัวกลุ่มหนึ่งคือผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ารู้เห็นกับแผนการล้มรัฐบาล ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออดีตรองมุขมนตรีแห่งฟลอเรนซ์อย่าง มาเคียเวลลี

พระสันตะปาปาเลโอที่ 10
พระสันตะปาปาเลโอที่ 10

เจ้าชายผู้ปกครอง (The Prince)

มาเคียเวลลีถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 12 มีนาคม และกลับไปดื่มด่ำกับไร่ปศุสัตว์ของตัวเองในซานตันเดรอา เขาถูกเนรเทศจากเมือง และตัดขาดจากการเมือง มาเคียเวลลีใช้เวลาในพื้นที่ชนบท ช่วงเย็นก็จินตนาการถึงบทสนทนากับนักคิดที่ยิ่งใหญ่ในอดีต และนักคิดเหล่านี้จะบอกว่าอะไรคือวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาอำนาจผู้นำ ไนเจล วอร์เบอร์ตัน นักเขียนท่านหนึ่งสันนิษฐานว่า มาเคียเวลลีเขียน เจ้าชายผู้ปกครอง หรือ The Prince เพื่อให้ผู้มีอำนาจประทับใจ เป็นความพยายามให้กลับไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเมืองเพื่อกลับไปฟลอเรนซ์ อย่างไรก็ตาม แผนการไม่เป็นไปตามนั้น เขาลงเอยที่การเป็นนักเขียน และมีผลงานหลายเล่ม

หนังสือ “เจ้าชายผู้ปกครอง” หรือ “The Prince” ที่ตีพิมพ์เมื่อ 1532 เป็นที่โจษจันมาจนถึงปัจจุบัน เขามองว่าเจ้าชายผู้ปรีชาจะต้องเรียนรู้ที่จะ “ไม่เป็นคนดี” โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาอำนาจไว้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม หากสามารถรักษาอำนาจไว้ ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ นักการเมืองจำนวนไม่น้อยอ่านหนังสือเล่มนี้ แต่มีไม่มากนักที่จะยอมรับว่านำมาปฏิบัติ

แนวคิดหลักที่มาเคียเวลลี นำเสนอคือ “ผู้ปกครอง” ต้องมี “ความกล้าหาญ” เขาเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ครึ่งหนึ่งมาจากโอกาส อีกครึ่งหนึ่งมาจากทางเลือกของเราเอง โอกาสเป็นสิ่งที่พัฒนาได้เพื่อให้ประสบความสำเร็จ แต่ในขณะเดียวกัน มาเคียเวลลีก็เชื่อเรื่องโชคว่ามีอิทธิพลสำคัญเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรอโชคชะตาราวกับเป็นเหยื่อของมัน

ผู้นำแบบที่มาเคียเวลลีประทับใจคือ เซซาเร บอร์เจีย บุตรนอกสมรสของพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6

นักประวัติศาสตร์บรรยายว่า บอร์เจียไม่รู้สึกยินดียินร้ายเมื่อต้องหลอกลวงศัตรูและสังหารเพื่อยึดครองดินแดนในอิตาลี ซึ่งมาเคียเวลลีมองว่าเขาทำทุกสิ่งถูกต้อง

บอร์เจีย ค้นพบว่าครอบครัวออร์ซินีวางแผนโค่นล้มเขา บอร์เจียจึงใช้วิธีหลอกลวงตระกูลออร์ซินีให้พวกเขาคิดว่าบอร์เจียไม่รู้แผนการนี้ และออกอุบายนัดพบผู้นำครอบครัว จากนั้นก็สังหารทุกคนที่มาถึง เหตุการณ์นี้หากเป็นในปัจจุบันคงต้องอธิบายว่า มาเคียเวลลี (กดถูกใจ) เห็นด้วยกับแผนการนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ “กล้าหาญ” อย่างน้อยก็ในมุมมองของมาเคียเวลลี

แต่สิ่งที่เกิดไม่ได้หมายความว่ามาเคียเวลลีเห็นด้วยกับการฆ่าฟัน ประเด็นคือเขาเห็นด้วยกับวิธีการ หากมันนำมาสู่ผลลัพธ์ที่เป็นเชิงบวก หากการกำจัดศัตรูช่วยป้องกันการนองเลือดได้ย่อมเป็นสิ่งที่เหมาะสม มาเคียเวลลีไม่เห็นด้วยกับการเข่นฆ่าที่ปราศจากเหตุผล นั่นย่อมเห็นว่า ผู้นำที่ดีในมุมมองของมาเคียเวลลีคือผู้นำที่น่ายำเกรง มากกว่าผู้นำซึ่งเป็นที่รัก

แนวคิดทำนองนี้ ทำให้ มาเคียเวลลี ถูกเรียกเป็นสัญลักษณ์ของเล่ห์เหลี่ยมกลโกง และการใช้คนเป็นเครื่องมือ ในสมัยศตวรรษที่ 16 บรรยากาศของฟลอเรนซ์มีแต่การนองเลือด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

วอร์เบอร์ตัน, ไนเจล. ปราบดา หยุ่น และรติพร ชัยปิยะพร แปล. ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับ กะทัดรัด. กรุงเทพฯ : สำนักหนังสือไต้ฝุ่น, 2556

อังเกอร์, ไมลส์ เจ., ศิริรัตน์ ณ ระนอง แปล. มาเคียแวลลี เจ้าทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2562