“มัซซีนี” นักเคลื่อนไหวรวมชาติอิตาลี ต้องลี้ภัยเพราะโทษประหาร ครั้งแล้วครั้งเล่า!

จูเซปเป มัซซีนี
ภาพประกอบ - จูเซปเป มัซซีนี (Giuseppe Mazzini)

จูเซปเป มัซซีนี (Giuseppe Mazzini) นักเคลื่อนไหวและผู้นำของการปฏิวัติเพื่อรวมชาติอิตาลี เขาเป็นผู้ก่อตั้งสมาคม อิตาลีหนุ่ม (The Young Italy) หนึ่งในกลุ่มนักต่อสู้เพื่อการรวมชาติอิตาลีในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลักการและแนวทางของมัซซีนียังมีอิทธิพลต่อขบวนการเสรีนิยมและกลุ่มชาตินิยมในอิตาลีและชาติยุโรปอื่น ๆ ด้วย

การรวมชาติอิตาลี (Unification of Italy) เป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งของประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่ บริเวณคาบสมุทรอิตาลีเคยเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิโรมัน ก่อนถูกแบ่งเป็น นครรัฐ (City States) ในยุคกลาง กระทั่งพวกเขากลายเป็นผู้นำทางการค้าและศูนย์กลางการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) อย่างไรก็ตาม ความไม่เป็นเอกภาพของอิตาลีทำให้ดินแดนนี้มักอยู่ใต้อิทธิพลของชาติมหาอำนาจที่อยู่รายล้อมอยู่เสมอ

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 อิตาลีกลายเป็น “อาณาจักรอิตาลี” ส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฝรั่งเศสของนโปเลียน มีรัฐบาลกลางซึ่งเป็นตัวแทนจากฝรั่งเศส ชาวอิตาลีจึงได้สัมผัสเอกภาพในดินแดนของพวกเขาเป็นครั้งแรก แนวคิดเสรีนิยมและชาตินิยมแพร่หลายมากขึ้น แต่หลังนโปเลียนหมดอำนาจลง ดินแดนอิตาลีก็แปรสภาพเป็นหลายนครรัฐอีกครั้ง ความแตกแยกดังกล่าวปลุกแนวคิดชาตินิยมที่ต้องการรวมอิตาลีเป็นหนึ่งเดียวกันขึ้นมา

กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อการรวมชาติอิตาลีที่สำคัญคือ สมาคมคาร์โบนารี หรือ สมาคมเผาถ่าน (Carbonari / Charcoal-burners) ที่มีอุดมการณ์เสรีนิยม สนับสนุนระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ และมุ่งกำจัดอำนาจของต่างชาติ จูเซปเป มัซซีนี เข้าสู่แวดวงของการเคลื่อนไหวเพื่อการรวมชาติด้วยการเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมนี้

สมาคมคาร์โบนารีเคยก่อการปฏิวัติขึ้นในรัฐเนเปิลส์ ค.ศ. 1820 และรัฐปีดมอนต์ ค.ศ. 1821 แต่การก่อปฏิวัติในรัฐทั้ง 2 ล้มเหลวเนื่องจากถูกกองกำลังทหารของออสเตรียปราบปรามอย่างหนัก ต่อมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1830 เป็นแรงบันดาลใจให้สมาคมคาร์โบนารีก่อการลุกฮือในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1831 ที่รัฐโมดีนาและปาร์มาเพื่อกำจัดอำนาจของออสเตรียจากตอนเหนือของอิตาลี แต่ก็ถูกปราบปรามอย่างราบคาบอีกครั้งในปีต่อมา

ด้วยเหตุนี้ จูเซปเป มัซซีนี จึงตั้งสมาคมอิตาลีหนุ่มและยุโรปหนุ่ม (Young Europe) ขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1831 โดยแนวทางปฏิวัติจะไม่ใช้วิธีก่อจลาจลเพียงอย่างเดียวเหมือนสมาคมคาร์โบนารี แต่ปลูกฝังความรู้สึกรักชาติในจิตใจผู้คนด้วย

ขบวนการอิตาลีหนุ่มลุกฮือขับไล่บรรดาพระราชวงศ์ของออสเตรียที่ปกครองตามรัฐต่าง ๆ ในดินแดนอิตาลี เพื่อกำจัดอำนาจของออสเตรียที่มีอิทธิพลเหนือดินแดนเหล่านี้มานาน มีการตั้งสาขาสมาคมในเมืองต่าง ๆ ของอิตาลีเพื่อกระจายข่าวและเรียกร้องให้พวกชาตินิยมอิตาลีร่วมมือกัน แต่ความล้มเหลวในการก่อรัฐประหารในราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย (Piedmont-Sardinia) ใน ค.ศ. 1832 ส่งผลให้จูเซปเป มัซซีนีถูกศาลตัดสินประหารชีวิต มัซซีนี ซึ่งขณะนั้นอาศัยอยู่ที่ฝรั่งเศสต้องหนีไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์

จูเซปเป มัซซีนี ที่ลี้ภัยอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ไม่ทิ้งความตั้งใจในการรวมชาติอิตาลี ค.ศ. 1833 เขาส่งจดหมายให้ พระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ต (Charles Albert) กษัตริย์ราชวงศ์ซาวอยแห่ง ปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย เพื่อขอพระองค์ให้เป็นผู้นำในการรวมชาติอิตาลีและทำสงครามกับออสเตรีย นอกจากคำขอของมัซซีนีจะถูกปฏิเสธ พระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ตยังออกมาตรการลงโทษกลุ่มขบวนการอิตาลีหนุ่มอีกด้วย

จูเซปเป มัซซีนีจึงปฏิบัติการด้วยวิถีทางของตนเองด้วยการยุยงกองทัพและประชาชนให้ก่อกบฏในเมืองเจนัวและลอมบาร์ดีใน ค.ศ. 1833 และซาวอยใน ค.ศ. 1834 ซึ่งปฏิบัติการล้มเหลวทั้ง 2 แห่ง ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้เขาถูกตัดสินประหารชีวิต ฝรั่งเศสกับปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียยังร่วมกันทำลายขบวนการยุโรปหนุ่มที่กรุงเบิร์น (Berne) ทำให้จูเซปเป มัซซีนีถูกขับไล่ออกจากสวิตเซอร์แลนด์และต้องลี้ภัยไปดินแดนต่าง ๆ จนกระทั่งต้นปี ค.ศ. 1837 เขาได้อาศัยอยู่ที่อังกฤษและขบวนการอิตาลีหนุ่มเป็นอันต้องยุติบทบาทลง

ชัยชนะจากการปฏิวัติ ค.ศ. 1848 ในฝรั่งเศสและเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบสาธารณรัฐสร้างแรงผลักดันให้กลุ่มเสรีนิยมและชาตินิยมในอิตาลีให้ก่อการปฏิวัติและกำจัดอำนาจของออสเตรียอีกครั้ง เกิดการจลาจลในซิซิลี, ทัสกานี และรัฐพระสันตะปาปา ก่อนขยายไปทางตอนเหนือ จูเซปเป มัซซีนีเดินทางกลับอิตาลีและเข้าร่วมกับฝ่ายปฏิวัติที่เมืองมิลาน เขาร่วมกับกลุ่มปฏิวัติขับไล่กองทัพออสเตรียออกจากมิลานได้ เรียกว่าเหตุการณ์ 5 วันแห่งความรุ่งโรจน์ (Five Glorious Days) และสามารถขับไล่กองทัพออสเตรียออกจากเวนิสสำเร็จพร้อมจัดตั้ง สาธารณรัฐวินิเซีย (Venetian Republic) ขึ้นมา

ท่ามกลางกระแสลุกฮือทั่วคาบสมุทรอิตาลี พระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ต แห่งปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ถูกแรงกดดันของชาวอิตาลีรบเร้าจนยอมเป็นผู้นำประกาศสงครามกับออสเตรียในสงครามอิสรภาพอิตาลีในที่สุด

เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1848 ออสเตรียกลับยึดมิลานได้ จูเซปเป มัซซีนี และ จูเซปเป การีบัลดี (Giuseppe Garibaldi) อดีตสมาชิกสมาคมคาร์โบนารีและเพื่อนของมัซซีนีต้องหนีไปสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง

ต้นปี ค.ศ. 1849 กลุ่มปฏิวัติยึดอำนาจในกรุงโรมสำเร็จ ประกาศให้เป็นสาธารณรัฐโรมพร้อมกับยุบอำนาจของสันตะปาปา มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว จูเซปเป มัซซีนี กลับอิตาลีในฐานะ 1 ใน 3 ของคณะบริหารสูงสุด (Triumvirate) ของสาธารณรัฐโรม ช่วงเวลาเดียวกันนั้นกองทัพปีดมอนต์-ซาร์ดิเนียพ่ายแพ้แก่กองทัพออสเตรียอย่างราบคาบในยุทธการที่เมืองโนวารา (Battle of Novara) ในเดือนมีนาคม พระเจ้าชาลส์ อัลเบิร์ต ทรงสละราชบัลลังก์ให้แก่ เจ้าชายวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ 2 (Victor Emmanuel II)

ฝรั่งเศสตอบรับคำขอจากพระสันตะปาปาไพอัสที่ 9 (Pope Pius IX) ให้ช่วยปราบปรามกลุ่มปฏิวัติ พร้อมกันนั้นออสเตรียและเนเปิลส์ส่งกองทัพมาช่วยฝรั่งเศส และยึดกรุงโรมได้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1849 จากความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้จูเซปเป มัซซีนีต้องหลบหนีกลับไปที่สวิตเซอร์แลนด์อีกครั้ง

ตลอด ค.ศ. 1849-1850 จูเซปเป มัซซีต้องหลบซ่อนตัวจากทางการสวิตเซอร์แลนด์ เขาก่อตั้งสมาคม Friends of Italy ขึ้นที่ลอนดอน เพื่อสร้างแนวร่วมเพื่อการรวมชาติอิตาลีอีกครั้ง สมาคมนี้มีส่วนในการจลาจลสองครั้งใน มานทัว (ค.ศ. 1852) และมิลาน (ค.ศ. 1853) ซึ่งประสบความล้มเหลวทั้งสิ้น

ใน ค.ศ. 1856 จูเซปเป มัซซีนีกลับมาที่เจนัวเพื่อนำการลุกฮืออีกหลายครั้ง ความล้มเหลวที่เมืองคาลาเบรีย ทำให้เขาต้องหลบหนีทางการและถูกตัดสินประหารชีวิตอีกครั้ง จากเหตุการณ์นั้น จูเซปเป มัซซีนี ยุติบทบาทผู้นำการเคลื่อนไหวและเป็นผู้ชมในการปฏิวัติเพื่อการรวมชาติอิตาลีแทน โดย พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ 2 กษัตริย์แห่งราชวงศ์ซาวอยสามารถก่อตั้งราชอาณาจักรอิตาลีสำเร็จใน ค.ศ. 1861 

หลังการก่อตั้งราชอาณาจักรอิตาลี กรุงโรมยังคงเป็นอิสระ จูเซปเป มัซซีนี จึงเข้าร่วมกับจูเซปเป การีบัลดี ในความพยายามปลดปล่อยกรุงโรมเพื่อให้การรวมชาติอิตาลีสมบูรณ์ แต่ก็พบกับความล้มเหลวอีกครั้ง ต่อมา ค.ศ. 1866 หลังจากอาณาจักรอิตาลีเข้าร่วม สงครามออสเตรีย – ปรัสเซีย (Austro-Prussian War) และได้แคว้นเวเนเทีย จูเซปเป มัซซีนีได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งในสภาผู้แทนราษฎรอิตาลี แต่เขาเลือกปฏิเสธ ส่วนหนึ่งเพราะความนิยมในระบอบสาธารณรัฐ แต่สภาผู้แทนราษฎรของอิตาลีอยู่ภายใต้ระบอบราชาธิปไตย เมื่อ ค.ศ. 1870 จูเซปเป มัซซีนียังพยายามก่อกบฏในซิซิลีและถูกคุมขังในเมืองเกตา ก่อนรับอิสรภาพจากการนิรโทษกรรมหลังอิตาลีสามารถผนวกกรุงโรมได้สำเร็จ

กระทั่ง ค.ศ. 1872 จูเซปเป มัซซีนีเสียชีวิตด้วยโรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบที่บ้านในเมืองปิซา ด้วยอายุ 66 ปี งานศพของเขาจัดขึ้นที่เจนัวโดยมีผู้คนเข้าร่วมกว่า 100,000 คน ปิดฉากนักเคลื่อนไหวผู้อุทิศตนให้การปฏิวัติเพื่อรวมชาติอิตาลี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม. (2545). ประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1815-1945. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนส โตร์.

ศฤงคาร พันธุพงศ์. (2555). ประวัติศาสตร์ยุโรป 2 : History of Europe II. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

Gladstone, Aubyn and Rees. (1955).  The Unification of Italy. Oxford: Oxford University Press.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 สิงหาคม 2565