พิสูจน์ตัวตนขันที จากมหาดเล็กเกาหลี ถึงนักเทษขันที ในวรรณคดีไทยอภิลักษณ์

ภาพ ขันทีแขก ที่วาดเป็นฉากกั้นเขตพระราชฐานราชสำนักอยุธยา ลักษณะสำคัญที่สังเกตได้คือ เป็นบุคคลที่แต่งตัวโพกผ้า สวมเสื้อคลุมแบบแขกเทศ และมีไม้เท้าที่ไว้คอยกำกับหรือตีบรรดานางกำนัลที่ออกนอกรีตนอกรอย บางครั้งก็ใช้ไล่พวกหนุ่มๆ ที่อแบมาลอบมองหรือเกี้ยวพาราสีนางใน (ภาพจาก หอเขียน วังสวนผักกาด กรุงเทพฯ)
ภาพขันทีแขกที่วาดเป็นฉากกั้นเขตพระราชฐานราชสำนักอยุธยา ลักษณะสำคัญที่สังเกตได้คือ เป็นบุคคลที่แต่งตัวโพกผ้า สวมเสื้อคลุมแบบแขกเทศ และมีไม้เท้าที่ไว้คอยกำกับหรือตีบรรดานางกำนัลที่ออกนอกรีตนอกรอย บางครั้งก็ใช้ไล่พวกหนุ่มๆ ที่อแบมาลอบมองหรือเกี้ยวพาราสีนางใน (ภาพจาก หอเขียน วังสวนผักกาด กรุงเทพฯ)

หลายคนคงเป็นแฟนภาพยนตร์จีน และคงจะคุ้นเคยกับตัวละครตัวหนึ่งที่มักเรียกกันว่า “กงกง” ทั้ง เฉินกงกง หลี่กงกง เหล่านี้ทราบกันดีว่าหมายถึง “ขันที” ในราชสำนักฝ่ายในของจีน ความเข้าใจนี้ยังทำให้เลยเข้าใจไปด้วยว่า “ขันที” มีเฉพาะในเมืองจีนเท่านั้น กระทั่งเมื่อละครเกาหลีเรื่องบันทึกรักคิมชูซอน สุภาพบุรุษมหาขันที ได้ลงจอโทรทัศน์ พรมแดนความรู้เรื่องขันทีจึงกว้างขวางขึ้น ทำให้ทราบว่าในราชสำนักเกาหลีก็มีขันทีกับเขาด้วย

แท้จริงแล้ว ไม่เพียงประเทศจีน หรือเกาหลีเท่านั้นที่มีขันที ในประเทศฝ่ายตะวันออกกลาง และในฟากฝั่งตะวันตกก็มีข้าราชสำนักในตำแหน่งขันทีนี้ ที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือ เคยมีขันทีในพระราชสำนักสยามด้วยเมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว

“ขันที” : ชายที่ต้องสูญเสียความเป็นชาย

ด้วยเหตุที่เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “ขันที” หลายคนมักไปนึกถึงขันทีจีน จึงอาจพาให้เข้าใจว่าคำว่าขันทีมีที่มาจากภาษาจีน แต่ในความเห็นของนักวิชาการหาได้มีท่านผู้ใดกล่าวว่ามาจากภาษาจีนเลย ในทางตรงกันข้ามกลับกล่าวไปในทางเดียวกันว่าน่าจะมีที่มาจากภาษาแขก ซึ่งบ้างก็ว่ามาจากภาษาของพวกแขกอินเดีย บ้างก็ว่ามาจากภาษาของพวกแขกอาหรับ เดิมนักวิชาการสันนิษฐานว่าที่มาของคำขันทีว่าน่าจะมาจากคำภาษาเปอร์เซียว่า ขะซี (khaziiy) ต่อมาพระยาอนุมานราชธน สันนิษฐานว่า คำว่าขันทีน่าจะเพี้ยนมาจากคำภาษาสันสกฤตว่า ขณฺฑ มาเป็นคำ ขันที หมายถึง ชายที่ถูกตอน1

สอดคล้องกับความคิดของ ศาสตราจารย์ ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร ที่กล่าวอธิบายไว้โดยละเอียดว่า คำว่า ขณฺฑ แปลว่า ทำลาย ขณฺฑธารา แปลว่า มีด หรือ ดาบ ศาสตราจารย์ MacDonell ผู้แต่ง A Practical sanskrit Dictionary ซึ่งผู้เขียนมีอยู่ในขณะเขียนเรื่องนี้ ให้ความหมายของ khanda ว่า “incomplete, deficient, break or cut in pieces, destroy, cause to cease” ความหมายที่ให้นี้พอจะทำให้ลากไปได้ว่า “ไม่สมบูรณ์, ขาดหายไป, ทำลายหรือตัดออกเป็นชิ้น” ผู้เขียนเลยขอสันนิษฐานว่า ขันที เป็นการเขียนแบบไทย สะดวกสำหรับคำว่า ขณฺฑี ในภาษาสันสกฤต2

คำอธิบายข้างต้นดูจะมีความน่าเชื่อถือมากในขณะนี้ อนึ่ง คำ “ขันที” นี้ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของคำ “ขันที” ไว้ว่าหมายถึง ชายที่ถูกตอน บางประเทศทางเอเชียสมัยโบราณใช้สำหรับควบคุมฝ่ายใน ซึ่งตรงกับคำในภาษาจีนว่า ไท้เจี๋ยน หรือไท้ก๋ำ หรือเรียกว่ายุนุค (Eunuch) ในภาษาละติน และอาหรับ โดยมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า “ยูโนคอส” (eunouchos) แปลว่า ผู้ดูแลรักษาเตียง3

แม้แต่มอญก็มีคำเรียกขันทีว่า กมฺนุย (อ่านว่า ก็อมนอย) แปลโดยศัพท์ว่า ขันทีที่ปราศจากความรู้สึกทางเพศ

อ่านเพิ่มเติมบันทึกเรื่องไฟราคะทางเพศของ “ขันที” และวิธีงอกอวัยวะกลับมาที่รุนแรงตามความเชื่อ

สโมสรขันที : ว่าด้วยชีวิต และความเป็นอยู่ของขันทีนานาชาติ

มีนักวิชาการหลายท่านได้ศึกษาถึงความเป็นอยู่ของ “ขันที” ต่างชาติไว้ไม่น้อย ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงพอเป็นสังเขปเพื่อให้เห็นภาพรวม หรือมิติความเป็นสากลของข้าราชสำนักฝ่ายในที่เป็นชาย ซึ่งเรียกกันว่าขันที

ในวัฒนธรรมต่างๆ โดยเหตุที่ว่าในวัฒนธรรมตะวันตกเรียก “ขันที” ว่า ยูนุก (Eunuch) ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า “ยูโนคอส” (eunouchos) แปลว่า ผู้ดูแลรักษาเตียง ยูนุกในวัฒนธรรมตะวันตกจึงหมายถึงผู้มีหน้าที่คอยดูแลหรือเป็นผู้รับใช้ของกษัตริย์และข้าราชสำนักฝ่ายใน เชื่อกันว่าขันทีมีกำเนิดครั้งแรกที่เมืองละกาสช์ (Lagash) ของสุเมเรียน (Sumerian) ในเมโสโปเตเมีย เมื่อราว 2,000 ปีก่อนคริสตกาล และเป็นกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทแพร่หลายอยู่ในราชสำนักของเมโสโปเตเมียและอียิปต์แต่โบราณ4

ในระยะแรก ยูนุกจะคัดเลือกมาจากทาสหรือเชลยซึ่งอายุน้อย แต่ก็มีบางส่วนที่ถูกตอนเป็นขันทีเมื่อเป็นหนุ่มแล้ว การตัดอวัยวะเพศของขันทีมีทั้งตัดเฉพาะส่วนลึงค์ หรือตัดหมดทั้งองคชาต ตามธรรมเนียมจีน อวัยวะที่ถูกตัดจะได้รับการเก็บรักษาไว้ เพื่อนำไปฝังร่วมกับศพเมื่อขันทีผู้นั้นสิ้นชีวิตไปแล้ว อย่างไรก็ดีในยุคปลายสมัยโรมัน คำว่ายูนุกยังหมายถึงชายที่เป็นหมันโดยธรรมชาติ และไม่อาจให้กำเนิดบุตรได้5

วัฒนธรรมการใช้ยูนุกหรือขันทีจากเมโสโปเตเมีย ได้แตกแขนงออกเป็น 2 ทาง สายแรกแพร่หลายไปตามเส้นทางสายไหมสู่จีนในสมัยราชวงศ์สุย (Sui Dynasty ค.ศ. 519-618) และได้กลายเป็นสถาบันใหญ่ในระบบการปกครองฝ่ายในสืบเนื่องจนถึง ค.ศ. 1912 จึงได้ยกเลิกระบบขันทีในประเทศจีน

สายที่ 2 แพร่หลายเข้าไปในดินแดนเอเชียตะวันตกและเอเชียใต้ สู่เปอร์เซียโบราณ และจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือไบแซนไทน์ (Byzantine) และเมื่อมุสลิมเรืองอำนาจในเอเชียตะวันตก และยึดครองดินแดนของเปอร์เซียและไบแซนไทน์ พวกเขาได้รับเอาวัฒนธรรมที่เจริญกว่าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโลกอิสลาม ยูนุกจึงปรากฏอยู่ในราชสำนักจักรวรรดิมุสลิมในคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 อย่างออตโตมาน-เตอร์ก (Ottoman-Turk) ซาฟาวี (Safavids) ของอิหร่าน และมูกัล (Mughal) ของอินเดีย

ช่วงเวลานั้น ทั้ง 3 จักรวรรดิล้วนได้รับการยกย่องว่าเป็นราชสำนักที่เจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกับราชสำนักจีน6 และด้วยเหตุประการฉะนี้ ธรรมเนียมการมีขันทีในราชสำนักฝ่ายในจึงได้แพร่หลายจากจักรวรรดิทั้งสามเข้ามาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา

เปิดบันทึก “ขันที” ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

รูปขันทีกำลังไล่ตีขุนนางหนุ่มที่มาแอบดูนางใน (ภาพลายรดน้ำบนฝาผนังขอเขียน วังสวนผักกาด)

แม้ว่าเราจะไม่พบข้อมูลหรือบันทึกโดยตรงเกี่ยวกับขันทีในเมืองไทย จนทำให้คนส่วนใหญ่พากันคิดว่าในเมืองไทยไม่เคยมีขันที แต่กระนั้นก็ตามเรายังคงพอมีเอกสารประวัติศาสตร์บางอย่างที่พอจะทำให้เห็น “ร่องรอย” ของขันทีในเมืองไทยได้ เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยานั้นหากจะกล่าวถึงขันที มักจะเรียกว่า “นักเทษขันที” (บางครั้งเขียน นักเทศขันที ก็มี) ซึ่งนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่า นักเทษ และขันทีนี้ คงเป็นขุนนางชายที่ถูกตอนเหมือนกัน หากแต่มีหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่ง ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร กล่าวว่า ฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่า นักเทษ (นักเทศ) นั้นรับราชการฝ่ายขวา ส่วนอีกฝ่ายที่เรียกว่า ขันทีนั้นรับราชการฝ่ายซ้าย7

หนึ่งในบรรดาเอกสารสำคัญที่กล่าวถึงขันที ในเมืองไทยไว้ก็คือ กฎมณเทียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา มีเนื้อความกล่าวถึงขันทีไว้ว่า

“…ถ้าเสดจ์ขนานหน้าวังตำรวจในลง ถ้าเสดจ์ในสระแก้วหฤๅไทยราชภักดีลง ถ้าเสดจ์หนไนมกอกน้ำออกมา ขุนสนมแลกันยุบาดราชเสวก แลมหาดเลกนักเทษลง ถ้าเสดจ์หนเรือแลประเทียบฝ่ายในลงก็ดี แต่นักเทษขันทีแลทนายเรือลง… …อนึ่ง พระราชกุมารพระราชบุตรี นักเทษขันทีจ่าในเรือนค่อมเตี้ย ออกไปนอกขนอนนอกด่านผิดอายการ… …ฝ่ายเฉนียงนอก พระศรีมโนราช แลพระศรีอไภย ขุนราซาข่าน ขุนมโน บหลัดทัง 4 นักเทษแลขันที หมื่นศรีเสารักษหมื่นสรรเพช นายจ่านายกำนัล มหาดเลกเตี้ยค่อม”

จากความข้างต้นไม่เพียงจะเห็นบทบาทหน้าที่ของขันทีในพระราชสำนักเท่านั้น หากแต่ยังให้ราชทินนามของข้าราชสำนักในตำแหน่งนักเทษขันทีด้วย โดยในที่นี้ได้มีการระบุชื่อข้าราชการฝ่ายนักเทษขันทีคือ

1. พระศรีมโนราช หรือ ออกพระศรีมโนราชภักดีศรีปลัยวัลย์ เจ้ากรมขันที ศักดินา 1000

2. พระศรีอไภย หรือ ออกพระศรีอภัย (ราชภักดีศรีปลัยวัลย์) เจ้ากรมนักเทษ ศักดินา 1000

3. ขุนราซาข่าน ซึ่งในทำเนียบพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน กรมวัง เขียนเป็น (ออก) หลวงราชาชานภักดี ศักดินา 500 ปลัดกรม และ

4. ขุนมโน ซึ่งในทำเนียบพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนตรงกับ (ออก) หลวงศรีมโนราชภักดีศรีองคเทพรักษาองค ขันที ศักดินา 600

อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า นักเทษขันทีน่าจะมีมากกว่าที่ปรากฏในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ยกเลิกประเพณีใช้นักเทษขันทีในพระราชวังหลวงแล้ว ผู้ชำระกฎหมายจึงไม่ได้เอาใจใส่หรือเห็นความสำคัญ ซึ่งก็เห็นจะเป็นจริงตามนั้น เพราะในสมัยอยุธยาตอนปลายพบชื่อของ ขันทีราขาร และ สังขสุรินทร ในกระบวนแห่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ เพิ่มเติมเข้ามา ดังความปรากฏในพรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา เอกสารจากหอหลวง (ฉบับความสมบูรณ์) ดูในตอนที่ 4 คำให้การเกี่ยวกับเหตุการณ์สมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งกล่าวถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ (พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา) ตอนหนึ่งว่า

“…แล้วถึงทับพระราชธิดานั้นทรงช้างกูบจำลอง กูบทองประดับกระจก แล้วถัดมานั้น พระราชวงษา แลพระสนมกำนันทั้งปวงนั้นขี่กูบทองต่างต่าง บ้างขี่สัปคับทองบ้างเปนชั้นหลั่นตามที่เปนอันมาก จึ่งมีขันทีมีชื่อ คือ ราขาร แลสังขสุรินได้ดูกำกับฝ่ายข้างกรมฝ่าย แลขุนนางกรมฝ่ายในนั้นได้ดูแลข้างพระสนมกำนันทั้งปวงเปนอันมาก แล้วจึ่งถึงช้างเจ้าขรัวนายทั้งสี่คน…”8

นอกจากกฎมณเทียรบาลแล้วยังปรากฏชื่อ ขันที ในกฎหมายตราสามดวงด้วย อาทิ พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน รวมถึงกฎหมายอื่นๆ อีก ซึ่งทั้งหมดก็สะท้อนให้เห็นบทบาทหน้าที่ของนักเทษขันทีไปในทำนองเดียวกัน กล่าวโดยสรุปได้ว่า บทบาทหน้าที่ของนักเทษขันทีในราชสำนักไทย (สมัยอยุธยา) นั้น ถูกจำกัดอยู่ในฐานะผู้รับใช้ฝ่ายในและในการพิธีหลวงเท่านั้น ซึ่งแยกออกจากฝ่ายหน้าอย่างชัดเจน นอกจากนี้ชื่อเรียกนักเทษขันที ยังมีนัยว่าคงเป็นกลุ่มคนที่มาจากภายนอกที่ถูกนำเข้ามา โดยเฉพาะจากอินเดียมากกว่าทางจีน

อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งหน้าที่ขันทีนี้ก็ได้สูญหายไปจากราชสำนักไทยเมื่อสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เพราะในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ให้พนักงานสตรีที่มีรูปร่างกำยำแข็งแรงที่เรียกว่า โขลน ทำหน้าที่รับใช้ใกล้ชิดกับฝ่ายในแทนตำแหน่งขันทีที่มีมาแต่เดิม

อ่านเพิ่มเติม : ขันทีแขกในราชสำนักอยุธยา (ของนำเข้า) จากโลกมุสลิม

แต่งตัวโอ้อวดประกวดกัน ทั้งเตี้ยค่อมกำนัลขันที : ว่าด้วยขันทีในวรรณคดีไทย

ภาพขันทีแขกที่วาดเป็นฉากกั้นเขตพระราชฐานราชสำนักอยุธยา ลักษณะสำคัญที่สังเกตได้คือ เป็นบุคคลที่แต่งตัวโพกผ้า สวมเสื้อคลุมแบบแขกเทศ และมีไม้เท้าที่ไว้คอยกำกับหรือตีบรรดานางกำนัลที่ออกนอกรีตนอกรอย บางครั้งก็ใช้ไล่พวกหนุ่มๆ ที่อแบมาลอบมองหรือเกี้ยวพาราสีนางใน (ภาพจาก หอเขียน วังสวนผักกาด กรุงเทพฯ)

ในการศึกษาเรื่องราวของขันทีในราชสำนักสยามนั้น นอกจากข้อมูลจากเอกสารประวัติศาสตร์แล้ว นักวิชาการส่วนใหญ่ยังมักใช้ข้อมูลทางด้านงานจิตรกรรมด้วย เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดชัยทิศฝั่งธนบุรี ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดทองธรรมชาติ และที่ยังหลงเหลือหลักฐานให้เห็นชัดเจนคือภาพลายรดน้ำหอเขียน วังสวนผักกาด ซึ่งผาติกรรมมาจากวัดบางกลิ้ง เดิมเป็นพระตำหนักของกษัตริย์หรือเจ้านายในสมัยอยุธยาตอนปลาย ผนังภายในเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับราชสำนัก ปรากฏภาพขันทีแขกอยู่หลายแห่ง

เอกลักษณ์พิเศษคือคนเหล่านี้แต่งตัวโพกผ้า สวมเสื้อคลุมแบบแขกเทศ สัญลักษณ์สำคัญ ได้แก่ ไม้เท้าที่ไว้คอยกำกับหรือตีบรรดาสาวกำนัลที่ออกนอกรีตนอกรอย หรือไว้คอยไล่พวกหนุ่มๆ ที่แอบมาลอบมองหรือเกี้ยวพาราสีนางใน9 ยังมีข้อมูลอีกส่วนหนึ่งที่ได้บันทึกภาพของขันทีในราชสำนักสยามไว้ และไม่ใคร่ได้รับการกล่าวถึงนัก นั่นคือข้อมูลด้านวรรณคดี ในบรรดาวรรณคดีไทยที่กล่าวถึงขันที อาจแบ่งอย่างกว้างๆ ได้เป็น 2 ประเภท คือ วรรณคดีที่รับเรื่องมาจากแขกโดยตรง เป็นเรื่องแขกและมีกลิ่นอายอย่างแขก เช่น เรื่องยุขัน เรื่องนิทราชาคริต อีกประเภทหนึ่งคือวรรณคดีไทยโดยทั่วไปที่รับรู้กันอยู่ในวัฒนธรรมไทยมาแต่เดิม เรื่องศรีธนญไชย เรื่องสังข์ทอง เป็นต้น

วรรณคดีประเภทแรกนั้นปรากฏตัวละคร “ขันที” ในฐานะข้าราชสำนักฝ่ายใน ดังปรากฏในวรรณคดีเรื่องยุขัน10 ซึ่งเป็นวรรณคดีที่รู้จักกันดีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เช่นในตอนที่บรรดาเหล่าข้าราชบริพารตามเสด็จนางประวะลิ่ม พระธิดาของท้าวอุเรเซน แห่งเมืองอุเรเซน ไปเก็บดอกไม้ที่อุทยาน ความว่า

บัดนั้น นางข้าหลวงอึงอื้อหฤทัย แต่งตัวโอ้อวดประกวดกัน ทั้งเตี้ยค่อมกำนัลขันที
เจ้าขรัวนายเถ้าแก่แลจ่าซา เยียดยัดอัดมาอึงมี่
ต่างคนสุขเกษมเปรมปรีดิ์ จะไปเก็บมาลีให้สำราญ

หรือในตอนที่กล่าวถึง นางบุปผา พระมเหสีของท้าวเวณุมาน แห่งเมืองสิบสองเหลี่ยมว่าเป็นพระมเหสีที่มีเหล่าข้าราชสำนักฝ่ายใน อันได้แก่ นางกำนัลและขันที ในครอบครอง ดังคำประพันธ์ว่า

มีพระมเหสีโสภา นามกรบุปผานารี ทรงกัลยาณีมีลักขณ์ ยศศักดิ์สุริยวงศ์เรืองศรี
ครอบครองกำนัลขันที เป็นปิ่นนารีทั้งพารา

ในวรรณคดีเรื่องนิทราชาคริต พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงนำมาจากเรื่องของพวกแขกอาหรับ ในเนื้อเรื่องเรียกขันทีว่า “ยูนุก” ตามคำเรียกของพวกตะวันตก (Eunuch) ดังตอนที่อาบูตื่นมาแล้วพบว่าตนเองเป็นกษัตริย์ (กาหลิบ) จึงถามกับยูนุกเพื่อความแน่ใจว่าตนเป็นใคร ดังนี้

๏ ยูนุกคนหนุ่มน้อย เองบอกแต่จริงถ้อย ที่แท้กูใคร แม่นฤๅ?

๏ กราบทูลไปบช้า ข้าแต่พระเจ้าข้า พระเจ้าทรงธรรม ท่านแล?

๏ ป่างนั้นยูนุกสิ้น ทั้งผอง ทราบจิตรอาบูปอง จักผ้าย เคียงเข้าค่อยประคอง จากอาศน์ ยืนหยั่งพื้นภาคลม้าย มาตรท้าวทรงธรรม์?

ในวรรณคดีอีกประเภทหนึ่ง คือ วรรณคดีไทยโดยทั่วไปที่รับรู้กันอยู่ในวัฒนธรรมไทยมาแต่เดิม ก็กล่าวถึงข้าราชสำนักที่เรียกกันว่า “ขันที” ไว้ด้วย ดังตัวอย่างในเรื่องสังข์ทอง ตอนท้าวสามลแต่งตัวออกไปดูหกเขยตีคลี นั่งมองส่องกระจกใส่ชฎา เจ้ามณฑาดูทีดีหรือเอียง ครั้นเสร็จเสด็จลงคชสาร พร้อมเพรียงไพร่พลมนตรี เมียรักร่วมจิตกับธิดา ขี่วอช่อฟ้าหลังคาสี เถ้าแก่กำนัลขันที ตามเสด็จเทวีมาคึกคัก เรื่องศรีทะนนไชยสำนวนกาพย์ ฉบับกรมศิลปากร เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่บันทึกภาพของขันทีไว้ ดังในตอนต้นเรื่องที่ชมพระบารมีพระเจ้าเจษฎา แห่งเมืองอยุธยา กล่าวถึงขันทีที่ทำหน้าที่ของพนักงานดุริยสังคีตของฝ่ายใน ดังความว่า

องค์อัครชาเยศ ทรวดทรงวิเศษ สมศักดิ์แจ่มใส ชื่ออนงคมาลี โฉมศรีประไพ ชาติเชื้อเนื้อไข มัทราชบุรี สนมกำนัล ถ้วนหมื่นหกพัน อเนกนารี แวดล้อมภูเบศ ทวยเทศขันที พิณพาทดีดสี ร้องรับขับขาน

นอกจากนี้ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี วรรณกรรมเรื่องเอกของสุนทรภู่ ตอนที่ 52 ตอนพระอภัยมณีทำศพท้าวสุทัศน์ กวีก็ได้กล่าวถึงพวกขันทีแทรกไว้ด้วยเช่นกัน

พระกลั้นยิ้มพร้อมพักตรเห็นรักเหลือ ช่างชิดเชื้อชมเชยลูกเขยขวัญ จึงว่าพี่นี้ก็รักหล่อนหนักครัน จะหวงกันลูกไว้ทำไมมี แต่จะใคร่ให้งามตามกษัตริย์มอบสมบัติอติเรกภิเษกศรี เดี๋ยวนี้เล่าเขามาอยู่ในบูรี เจ้าพี่ครั้นจะพาธิดาไป เหมือนแกล้งพรากจากกันจะรันทด โศกกำสรดเศร้าหมองไม่ผ่องใส จะให้อยู่ดูเหมือนเช่นเราเป็นใจ จะแกล้งให้ลูกยาเป็นราคี เจ้าอยู่ด้วยช่วยบำรุงกรุงผลึก ทั้งข้าศึกเกรงสง่ามารศรี จัดแต่เหล่าสาวสรรค์พวกขันที ไปกับพี่แต่พอให้ช่วงใช้การ ฯ

อีกเรื่องหนึ่งคือ บทละครเรื่องพระศรีเมือง วรรณคดีในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนพระศรีเมืองได้นางสุวรรณเกสร ทั้งเจ็ดเสด็จเข้าพระวิสูตร รูดม่านมิดชิดปิดป้อง พระสนมกรมในเนืองนอง เชิญเครื่องเรืองรองกันไป นักเทศขันทีก็พรั่งพร้อม ห้อมล้อมแห่มาอยู่ไสว พระพี่เลี้ยงเคียงวอนางอรไท เสด็จไปยังสวนมาลี แม้ในวรรณคดีชาดก ตัวละครพระโพธิสัตว์ที่ดำรงสถานภาพเป็นกษัตริย์ก็ยังคงมีพวกขันทีแวดล้อมด้วย ดังในพระไตรปิฎก เล่มที่ 28 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 20 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 2 พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี ตอนพระเวสสันดรถูกขับออกจากเมือง พระคันถรจนาจารย์ได้แปลออกเป็นภาษาไทย มีเนื้อความว่า

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชาวนครสีพีพากันขับไล่พระเวสสันดรผู้ไม่มีความผิดเสียจากแว่นแคว้น ก็เปรียบเหมือนช่วยกันตัดต้นไม้อันนำรสที่ต้องการทุกอย่างมาให้ ฉะนั้น เมื่อพระมหาราชาผู้ผดุงสีพีรัฐจะเสด็จออกทั้งคนแก่เด็กและคนปานกลางต่างพากันประคองแขนทั้งสองร้องไห้คร่ำครวญ เมื่อพระมหาราชาผู้ผดุงสีพีรัฐจะเสด็จออก พวกโหรหลวง พวกขันที มหาดเล็กและเด็กชายต่างก็ประคองแขนทั้งสองร้องไห้คร่ำครวญ ไม่เพียงแต่วรรณคดีนิทานเท่านั้น ในวรรณคดีคำสอนก็กล่าวถึงขันทีไว้ด้วยเช่นกัน ดังปรากฏในโคลงโลกนิติ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร กล่าวถึง ขันที ไว้ โดยกวียกเป็นความเปรียบในคำสอนในโคลงโลกนิติที่ว่า มหาราชาพระองค์ใด แม้จะทรงรู้ธรรมคำสอนมากเหลือประมาณ หากแม้นพระองค์มิได้ทรงนำธรรมอันมากทั้งมวลนั้นมาสอนแก่ราษฎรของพระองค์ ก็อุปมาเหมือนดังสตรีผู้เลอโฉมที่มีสามีเป็นชายผู้ปราศจากองคชาต (ขันที) ดังความว่า

๏ ธิรางค์รู้ธรรมแม้ มากหลาย บ่กล่าวให้หญิงชาย
ทั่วรู้ ดุจหญิงสกลกาย งามเลิศ อยู่ร่วมเรือนผัวผู้ โหดแท้ขันที ฯ

แม้ว่าวรรณคดีส่วนใหญ่ที่ยกมาจะเป็นวรรณคดีในชั้นต้นกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ซึ่งเป็นสมัยที่ไม่มีตำแหน่งขันทีแล้ว แต่ก็ยังคงเหลือร่องรอยของขันทีไว้ในวรรณคดี นอกจากนี้ยังทำให้เห็นว่า ขันทีนอกจากจะทำหน้าที่เป็นองครักษ์ของฝ่ายใน ตลอดจนเชิญพระราชเสาวนีย์แล้ว ยังทำหน้าที่สร้างสุนทรียบันเทิงให้กับพระมหากษัตริย์และเจ้านายฝ่ายในด้วย ดังที่กล่าวว่า ทวยเทศขันที พิณพาทดีดสี ร้องรับขับขาน

การที่ในวรรณคดีไทยไม่มีตัวละคร “ขันที” ที่เป็นตัวละครเอก มีเพียงแต่เป็นตัวละครประกอบนั้น อาจเนื่องมาจากค่านิยมและข้อจำกัดในวัฒนธรรมไทย ที่โดยมากในนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ของไทย ตัวละครเอกมักเป็นเจ้าชาย เจ้าหญิง ผู้ร้ายก็มักเป็นตัวละครอมนุษย์ พี่เลี้ยงของเจ้าชายเจ้าหญิงก็ล้วนเป็นชายจริงหญิงแท้ ทั้งกลุ่ม “ขันที” ก็มีเพียงส่วนน้อย รวมทั้งยังถูกยกเลิกไปในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงคงไม่มีการนำมากล่าวถึง นอกจากเพียงมีการกล่าวถึงแทรกไว้ในตอนที่จะกล่าวถึงราชสำนักฝ่ายใน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของฉากในเรื่องให้สมบูรณ์ดูสมจริงและสมกับอำนาจวาสนาของตัวละครเอก ดูละครแล้วย้อนดูตัว ยังคงเป็นวลีเตือนใจที่ทันสมัยอยู่เสมอ…

อ่านเพิ่มเติมชีวิตอาภัพของ “ขันที-นางใน” จากจีนโบราณ และที่มาของคำเรียกตำแหน่ง “มามา”


เชิงอรรถ

1 เสฐียรโกเศศ (นามแฝง). “เรื่องขันที”, ใน ศิลปากร ปีที่ 2 เล่ม 5 (กุมภาพันธ์ 2492), น. 77-78.
2 วินัย พงศ์ศรีเพียร. “ชายคาภาษาไทย”, ใน ภาษาอัชฌาไศรย. (กรุงเทพฯ : กองทุนพลโทดำเนิร เลขะกุล เพื่อประวัติศาสตร์. 2549), น. 46.
3 จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. “ขันทีแขกในราชสำนักอยุธยา”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 21 ฉบับที่ 6 (เมษายน 2543), น. 66-73.
4 เรื่องเดิม. หน้าเดิม.
5 เรื่องเดิม. หน้าเดิม.
6 เรื่องเดิม. หน้าเดิม.
7 ดูเพิ่มเติมใน วินัย พงศ์ศรีเพียร. “ชายคาภาษาไทย”, ใน ภาษาอัชฌาไศรย. (กรุงเทพฯ : กองทุนพลโทดำเนิร เลขะกุล เพื่อประวัติศาสตร์, 2549), น. 47.
8 วินัย พงศ์ศรีเพียร กล่าวว่า ชื่อแรก “ราขาร” นั้นน่าจะจดผิดจาก “ราชาข่าน” ซึ่งเป็นนามที่ทำให้รำลึกถึงวัฒนธรรมขันทีในราชสำนักของสุลต่านในเปอร์เซียและตุรกี ส่วนสังขสุรินทร์ทำให้นึกถึงหน้าที่เป่าสังข์ในราชสำนักคู่กับนักเทษที่ทำหน้าที่ตีกรับ
9 จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. เรื่องเดิม. หน้าเดิม.
10 จีริกัญญา พรมต๊ะ สันนิษฐานว่า จากชื่อเรียกเดิมของบทละครนอก เรื่อง ยุขัน ชื่อเมืองและชื่อตัวละครทำให้สันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของบทละครนอกเรื่อง ยุขัน ว่ามีที่มาจากวรรณกรรมเปอร์เซีย เรื่อง นิทานอิหร่านราชธรรม หรือเรื่องสิบสองเหลี่ยม

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. บทละครนอก เรื่อง ยุขัน. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด, 2548.

จีริกัญญา พรมต๊ะ. “บทละครนอกเรื่องยุขัน”. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2550.

จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์. “ขันทีแขกในราชสำนักอยุธยา”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 21 ฉบับที่ 6 (เมษายน 2543).

_____. มุสลิมสมัยอยุธยา. ในเอกสารประกอบการเสวนา โครงการเสวนาสารวัฒนธรรม (ปีที่ 6) ประจำเดือนมิถุนายน 2547 โดยภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วินัย พงษ์ศรีเพียร. “ชายคาภาษาไทย”, ใน ภาษาอัชฌาไศรย. กรุงเทพฯ : กองทุนพลโทดำเนิร เลขะกุล เพื่อประวัติศาสตร์, 2549.

วินัย พงศ์ศรีเพียร. (บรรณาธิการ). กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ. จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในโอกาสที่กฎหมายตราสามดวงมีอายุครบ 200 ปี และเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติปีที่ 60 พุทธศักราช 2548. กรุงเทพฯ : โครงการวิจัยเมธีวิจัยอาวุโส สกว.

“กฎหมายตราสามดวง : ประมวลกฎหมายไทยในฐานะมรดกโลก”, 2548.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. “ศรีปราชญ์อยู่ที่ไหน ศรีธนญชัยอยู่ที่นั้น”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 20 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม 2541).

เสฐียรโกเศศ (นามแฝง). “เรื่องขันที”, ใน ศิลปากร ปีที่ 2 เล่ม 5 (กุมภาพันธ์ 2492).

Tougher, Shan. Social transformation, gender transformation? : The court eunuch, 300-900, in Leslie Brubaker and Julia M.H. Smith ed. Gender in The Early Medieval World; East and West, 300-900. New York : Cambridge University Press, 1995.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤษภาคม 2562