ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2553 |
---|---|
ผู้เขียน | วารยา |
เผยแพร่ |
อาณาจักร อียิปต์ ประกาศศักดาให้โลกรับรู้ เมื่อพวกเขาทิ้งมรดกไว้ให้ลูกหลานเป็นปิระมิดขนาดมหึมา สิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมทั้งหลุมฝังศพ อียิปต์ มีคนที่ใส่ใจเรื่องชีวิตหลังความตาย และเฟ้นหากรรมวิธีต่างๆ เพื่อความสุขในภพหน้า และเพื่อฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง ทว่าพวกเขากลับไม่เคยสนใจระบบประปา เพื่ออำนวยความสะดวก หรือจัดการของเสียให้ชาวเมืองเลย
แล้วชาวอียิปต์ทำอย่างไรล่ะ ?
เมื่อพวกเขาต้องการปลดทุกข์ ชนชั้นสูงในอียิปต์จะนั่งทำธุระบนหินปูนขาวที่เจาะรูไว้ ซึ่งของเสียที่ขับถ่ายออกมาจะตกลงไปในโถ และคนรับใช้จะนำโถอึนั้นไปจัดการอีกที ส่วนชาวบ้านจะนั่งทำธุระส่วนตัวข้างแม่น้ำไนล์ หรือไม่ก็ถ่ายลงไปในแม่น้ำเสียเลย (เพิ่มเติม : หรือนั่งยองๆ ถ่ายที่นอกบ้าน ของเสียที่ถูกปล่อยโดยรอบจะถูกจัดการโดยสัตว์กินซาก กลุ่มสัตว์ฟันแทะ สัตว์กินซากที่มักพบในทะเลทรายซาฮาร่า คือ ด้วงกินอึ ที่เรียกว่า โคเลออปเทอรา สคาราไบอิได Coleoptera scarabaeidae ซึ่งทุกวันนี้ก็มีด้วงอึกันทั่วโลก
สำหรับด้วงชนิดนี้จะหากองอึ และปั้นเป็นก้อนกลมกลิ้งก้อนอึกลับรัง กองอึจะถูกใช้เป็นที่ออกไข่ของตัวเมีย ตัวอ่อนที่ฟักแล้วจะฝังตัวในก้อนอึโดยอาศัยอึเป็นแหล่งอาหารนั่นเอง ชาวอียิปต์ยังบูชาแมลงสคารับ เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่)
สุขอนามัยดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับอารยธรรมอียิปต์ (ราว 3,000-550 ปีก่อนคริสตกาล) อารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กันก็คือเมโสโปเตเมีย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศอิรัก บริเวณนี้เปลี่ยนอำนาจการปกครองจากเผ่าหนึ่งไปยังอีกเผ่า มีการสู้รบกันต่อเนื่องยาวนาน ไม่ว่าจะเป็น สุเมเรีย บาบิโลเนีย อัสซีเรีย และฮิตไทต์
ชาวเมโสโปเตเมียเป็นพวกมองโลกในแง่ร้าย ต่างจากชาวอียิปต์ที่จินตนาการถึงชีวิตหลังความตายอันสวยงาม พวกเขาก็เลยใส่ใจกับสุขอนามัยที่อยู่เฉพาะหน้ามากกว่า ซึ่งผู้ปกครองอาณาจักรนี้หลายคนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ชาวฮิตไทต์เชื่อว่าน้ำมักจะมีจุลินทรีย์และความสกปรกปนเปื้อนอยู่ ฉะนั้นเมื่อต้องนำน้ำไปถวายกษัตริย์ บรรดาข้ารับใช้ต้องมั่นใจว่ากรองสิ่งสกปรกทุกอย่างออกแล้ว เพราะเมื่อกษัตริย์เจอเส้นผมแม้เพียงเส้นเดียวในน้ำดื่ม คนที่ดูแลเรื่องนี้ก็อาจถูกสั่งตัดคอได้
เนบูคัดเนซซาร์ (Nebuchadnezzar) กษัตริย์บาบิโลเนีย ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 630-562 ปีก่อนคริสตกาล เป็นผู้ปกครองที่มีวิสัยทัศน์คนหนึ่ง พระองค์คลั่งไคล้การรักษาความสะอาดอย่างยิ่ง และสั่งให้สร้างวางท่อน้ำ ขุดคลอง และสร้างถังเก็บน้ำไว้ในเมือง สำหรับชาวบาบิโลเนียที่มีฐานะจะสร้างห้องส้วมไว้ในบ้าน โถส้วมจะวางไว้บนท่อดินเผาที่จะระบายของเสียออกไปรวมกับส่วนอื่นๆ ของเมือง
ส่วนชาวบ้านที่ยากจนจะขับถ่ายกลางแจ้ง แต่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องเชื้อโรคแต่อย่างใด เพราะอากาศที่ร้อนระอุทำลายเชื้อโรคไปอย่างรวดเร็ว ผู้ชายนั่งท่องบทกวี ส่วนผู้หญิงจัดการสิ่งปฏิกูล
เป็นที่รู้กันดีว่าชาวกรีกเป็นพวกนิยมสุนทรีย์ และมีศิลปะในหัวใจ ชนชั้นสูงชาวเอเธนส์มีความเป็นเลิศในการร่ายบทกวี ทำงานศิลปะ ออกแบบสถาปัตยกรรม ถกเรื่องปรัชญา เขียนบทละคร ขบคิดสูตรคณิตศาสตร์ คิดค้นด้านการแพทย์ และจัดตั้งรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่พวกเขากลับจัดการเรื่องสิ่งปฏิกูลที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วเมืองได้ไม่ดีนัก
ผู้คนส่วนใหญ่ในเอเธนส์ไม่ได้ดำเนินชีวิตตามหลักประชาธิปไตย ร้อยละ 15 ของพลเมืองเป็นชาย ซึ่งเป็นกลุ่มอภิสิทธิ์ชน ส่วนร้อยละ 85 ที่เหลือ มีทั้งผู้หญิง เด็ก ทาส สามัญชน และคนต่างชาติ แม้ว่าเอเธนส์จะมีโรงอาบน้ำและน้ำพุสาธารณะ แต่ก็ไม่มีน้ำสำหรับใช้ในบ้านเรือน ดังนั้นในขณะที่ผู้ปกครอง หรือชนชั้นสูงผู้ชาย นั่งทอดอารมณ์ในโรงอาบน้ำพร้อมถกปรัชญาไปด้วย ผู้หญิง คนต่างชาติ สามัญชน และทาส กลับต้องหิ้วโถเปล่าวิ่งกลับไปกลับมาระหว่างบ้านกับน้ำพุ และจัดการกับสิ่งปฏิกูลภายในบ้านเรือน
เมืองใหญ่อย่างเอเธนส์และสปาร์ตา เคยประสบกับโรคระบาด เมื่อเชื้อโรคแพร่กระจายไปทั่วเมือง ชาวเอเธนส์กล่าวหาว่าสปาร์ตาวางยาพิษในน้ำ จนกลายเป็นความขัดแย้งลุกลามใหญ่โต อย่างไรก็ตามโรคภัยที่เกิด ไม่ได้เกี่ยวกับยาพิษเลย แต่เป็นผลมาจากจำนวนประชากรที่แออัดและการจัดการของเสียอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ จนทำให้แหล่งน้ำสกปรก และเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงหลายชนิดซึ่งเป็นหาพะนำโรค บทสรุป เพียงส่วนหนึ่งจากเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ ซาราห์ อัลบี เล่าไว้ในหนังสือ Poop Happened : A History of the World from the Bottom Up จะเห็นได้ว่าเรื่องของอึและบรรดาสิ่งปฏิกูลที่มนุษย์สร้างขึ้น ก่อให้เกิดผลเสียต่อเนื่องไปเป็นลูกโซ่มากมาย
ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราควรจะรู้สึกขอบคุณภูมิปัญญาของคนโบราณที่วางรากฐานเรื่องระบบประปาและท่อระบายน้ำเสีย รวมถึงบุคคลร่วมสมัย อาทิ เจ.เอฟ. แบรนเดล (J.F. Brandel) ที่นำส้วมชักโครกแบบวาล์วมาใช้ ในปี ค.ศ. 1738 อเล็กซานเดอร์ คัมมิงส์ (Alexander Cummings) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีหล่อน้ำไว้ในคอห่าน เมื่อไม่ใช้งานก็จะช่วยขจัดกลิ่นพร้อมทั้งสามารถถ่ายเทของเสียออกนอกบ้านได้ ในปี ค.ศ. 1775 โจเซฟ บรามาห์ (Joesph Bramah) ผู้นำวาล์วแบบข้อเหวี่ยงมาใช้แทนวาล์วแบบเลื่อน พัฒนาเทคโนโลยีในการชักโครกโดยใช้น้ำและแรงโน้มถ่วงในการชักสิ่งที่เหลืออยู่ลงไป ในปี ค.ศ. 1778 และ เอส.เอส. เฮลิเออร์ (S.S. Helior) ผู้ประดิษฐ์ส้วมแบบชักโครกชื่อว่า อ็อพทิมส์ (optims) ในปี ค.ศ. 1870
สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ทำให้สุขอนามัยของคนยุคใหม่ดีขึ้น รวมถึงช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ที่อาจนำไปสู่เหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ เช่นในอดีต เมื่อมานึกดูแล้ว ผลงานของพวกเขาก็นับได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์เช่นเดียวกับหลอดไฟฟ้าของ โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) ที่มอบแสงสว่างให้กับคนทั่วโลก โดยไม่ต้องมานั่งหวาดระแวงภัยเมื่อตกกลางคืนอีกต่อไป
อ่านเพิ่มเติม :
- ฟาโรห์ผิวดำแห่งอียิปต์! เมื่อกษัตริย์ชาวนูเบียปกครองดินแดนไอยคุปต์
- เข้าใจผิดกันหมด!? “มัมมี่” ของอียิปต์ ไม่ใช่การรักษาสภาพศพ แต่เพื่อสร้างเทวรูป!
- กิน-ดื่มอย่างอียิปต์ยุคดึกดำบรรพ์ กินอะไร ดื่มอะไร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เอกสารอ้างอิง :
Albee, Sarah. Poop Happened : A History of the World from the Bottom Up. Walker Book, 2010.
http://www.answers.com
http://www.msnbc.msn.com/id/15689591/
http://www.wordplanet.org/ti/05/31.htm
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “ประวัติศาสตร์โลกผ่านโถส้วม : เรื่องขี้ๆ ที่ไม่ธรรมดา” เขียนโดย วารยา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2553
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 สิงหาคม 2562