“พระธรรมเทศนาบรมราชาภิเษก” คำเทศนาสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์) ครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระธรรมเทศนาเทวตาทิสนกถา ทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตรในพิธีสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระราชวงศ์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2493 อันเป็นพิธีเบื้องปลายในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (ภาพจากหนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2493 สำนักพระราชวังพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. 2533)

ในช่วงเวลาก่อนงาน “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ในวันที่ 4 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ สื่อต่างๆ มีการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชพิธีในมิติที่แตกต่างกัน นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคม 2562 นี้ เตรียมฉลองประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศ ด้วยหลากหลายบทความที่เกี่ยวข้องกับ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” แบบเจาะลึกไม่เหมือนใคร

ขอนำบทความเกี่ยว “ ‘พระธรรมเทศนาบรมราชาภิเษก’ ในฐานะตัวบทว่าด้วยพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์” ของทัตพล พูลสุวรรณ สำนักวรรณกรรมเเละประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร มาเสนอเป็นรายการเรียกน้ำย่อย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนับตั้งแต่สมัยอยุธยาเน้นให้เห็นถึงคติอันเนื่องด้วยศาสนาพราหมณ์เป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ตามคติแบบ “เทวราชา” แม้ว่าในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีการอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรมาประดิษฐานบนพระแท่นมณฑล การนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระปริตรพุทธมนต์ การอัญเชิญพระไชยนำหน้ากระบวนเสด็จ หรือการที่พระราชาคณะถวายน้ำพระพุทธมนต์ก็ตาม หากแต่สิ่งเหล่านี้มีลักษณะของการปฏิบัติเพื่อความเป็นสิริมงคลโดยอาศัยอำนาจแห่งพระรัตนตรัยเท่านั้น

ความคลี่คลายที่สำคัญในขั้นตอนของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ การเพิ่มเติมขั้นตอนการแสดงพระธรรมเทศนาว่าด้วยการปฏิบัติพระองค์ในพระราชสถานะพระมหากษัตริย์ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ภายใต้กรอบคิดแบบมนุษยนิยมซึ่งสัมพันธ์กับสภาพสังคมในช่วงเวลานั้น โดยอาศัยหลักธรรมทางพุทธศาสนา

การแสดงพระธรรมเทศนาเนื่องในการบรมราชาภิเษกนอกจากเป็นไป “…เป็นอย่างครูบาอาจารย์สอนและเตือนพระเจ้าแผ่นดินใหม่ให้รู้จักกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดิน…” ยังพบว่า ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนอกจากพระมหากษัตริย์แล้วยังมีขุนนางตลอดจนข้าราชสำนักร่วมอยู่ในการพระราชพิธี

ดังนั้น “สาร” ในพระธรรมเทศนาจึงไม่ใช่บทสนทนาระหว่างพระมหากษัตริย์กับพระสงฆ์ผู้แสดงพระธรรมเทศนาเท่านั้น

แต่ยังสื่อสารกับบุคคลต่างๆ ที่อยู่ในมหาสมาคมด้วย ดังนั้นพระธรรมเทศนาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะตัวบทที่สื่อสารให้เห็นถึงพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็น “มนุษย์” ที่ทรงภูมิปัญญาความสามารถในการที่จะนำพาราชอาณาจักรให้มีความเจริญรุ่งเรืองได้ด้วยการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ โดยหลักธรรมที่ปรากฏในพระธรรมเทศนาแสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ที่บำเพ็ญพระราชกรณียกิจตามเหตุที่แสดงไว้ในพระธรรมเทศนาแล้วย่อมส่งผลให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง และสงบร่มเย็น จึงเกิดจากการปฏิบัติพระองค์ของพระมหากษัตริย์ตามหลักธรรมทางพุทธศาสนาซึ่งมีความเป็น เหตุ-ผล

การแสดงพระธรรมเทศนาเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งปรากฏหลักฐานว่าธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวจัดขึ้นครั้งแรกในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระดำริว่าจัดขึ้นตามพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยึดถือเป็นแบบแผนสืบเนื่องมาในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกรัชกาล