ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 5 เสด็จอินเดีย ส่งผลต่อการปฏิรูปสยามประเทศมากกว่าการเสด็จยุโรปได้อย่างไร?
โดยทั่วไป ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น มักจะเน้นอยู่ 2 ประการ
1. การเสด็จฯ ยุโรป ทั้งสองครั้งใน พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) และ พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907)
2. การเสด็จฯ ดังกล่าว นำมาซึ่งการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยกลายเป็น “รัฐชาติ” (nation-state) ที่ทันสมัยอย่างในปัจจุบัน (แม้ว่าในรัชสมัยของพระองค์ นามของประเทศ คือ สยาม หรือ Siam หาใช่ประเทศไทย หรือ Thailand ไม่ และธงของประเทศ คือช้างเผือกบนพื้นแดง หาใช่ธงไตรรงค์ไม่ก็ตาม) และที่สำคัญคือ ตีความว่าการเสด็จยุโรปดังกล่าวเป็นวิเทโศบายที่ทำให้สยามรอดพ้นจากการตกเป็น “อาณานิคม” เมืองขึ้นของฝรั่ง มีการยกตัวอย่างพระรูปที่ทรงฉายร่วมกับพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซียมาเป็นข้อสนับสนุน เป็นต้น
สมมุติฐานและข้อสรุปดังกล่าวทั้งสองอาจจะถูกต้องในบางระดับ แต่หากจะศึกษาจากประวัติศาสตร์อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เราอาจจะได้ข้อสรุปใหม่ดังนี้ คือ
1. การเสด็จต่างประเทศในสมัยต้นรัชกาลเมื่อยังเป็นยุวกษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างการเสด็จเมืองขึ้นของอังกฤษ คือ สิงคโปร์ (และชวาของฮอลันดา) พ.ศ. 2413 (นับแบบปฏิทินเก่า) และการเสด็จอินเดีย (กับพม่า) ใน พ.ศ. 2414 มีความสำคัญยิ่งยวดต่อการ “ปฏิรูป” และนโยบายของราชสำนักสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 และต่อๆ มาในสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 (จนถึงก่อนการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475)
2. การปฏิรูปดังกล่าวในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้สยามได้กลายเป็น “รัฐราชวงศ์” หรือ dynastic state ที่มีการ “โยงอำนาจเข้าศุนย์กลางที่องค์พระมหากษัตริย์” กลายเป็นระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ absolutism มากกว่าการเป็น “รัฐชาติ หรือ รัฐประชาชาติ” อันเป็นรูปแบบของรัฐสมัยใหม่นับแต่การปฏิวัติประชาธิปไตยของการปฏิวัตอเมริกัน 1776 (พ.ศ. 2319 ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี-ตากสิน) หรือการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 (พ.ศ. 2332 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์)
กล่าวย้อนกลับไป ก็คือ หนังสือประวัติศาสตร์หรือตำราเรียนที่เกี่ยวกับเรื่องการเสด็จฯ ต่างประเทศของรัชกาลที่ 5 มักจะเน้นเรื่องของการเสด็จยุโรปทั้ง 2 ครั้ง คือ พ.ศ. 2440 และ พ.ศ. 2450 เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 44 พรรษา และ 54 พรรษา ตามลำดับ และโดยทั่วไปอีกเช่นกัน การศึกษาประวัติศาสตร์ว่าด้วยการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น มักจะเน้นให้ความสำคัญกับการที่ได้เสด็จฯ ไปเห็นแบบอย่างของ “นานาอารยะประเทศ” ในยุโรป และทรงนำมาดัดแปลงใช้ในสยามประเทศ
อย่างไรก็ตามน่าเชื่อว่าการเสด็จเยือนอาณานิคมของอังกฤษและฮอลันดารอบๆ สยาม เมื่อมีพระชนมายุได้เพียง 18 และ 19 พรรษาตามลำดับ และการที่ได้ทรงพบเห็นและเรียนรู้จากประสบการณ์ทั้งสองครั้งนั้น น่าจะมีผลต่อการดำเนินงานด้านการปฏิรูปของประเทศอย่างมาก เท่าๆ กับกรณีของยุโรปหรือมากกว่าด้วยซ้ำไป
อ่านเพิ่มเติม :
- ความทุกข์ของรัชกาลที่ 5 เมื่อต้นรัชกาล
- “ยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 5” ความไม่แน่นอนการสืบราชสมบัติ การเมืองใต้อำนาจ “สมเด็จช่วง”
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจาก คำนำเสนอ เขียนโดย ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในหนังสือ ยุวกษัตริย์ รัชกาลที่ 5 เสด็จอินเดีย (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ปรับปรุงใหม่) พิมพ์โดย มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กับ สำนักพิมพ์มติชน]
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ตุลาคม 2561