ความทุกข์ของรัชกาลที่ 5 เมื่อต้นรัชกาล

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงฉายกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

“ส่วนตัวพ่อเองยังเป็นเด็กอายุเพียงเท่านี้ ไม่มีความสามารถรอบรู้ในราชการอันใดที่จะทำตามหน้าที่ แม้แต่เพียงที่ทูลกระหม่อมทรงประพฤติมาแล้วได้ ยังซ้ำเจ็บเกือบจะถึงแก่ความตาย อันไม่มีผู้ใดสักคนเดียวซึ่งเชื่อว่าจะรอด ยังซ้ำถูกอันตรายอันใหญ่คือทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคตในเวลานั้น เปรียบเหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมติกษัตริย์ เหลือที่จะพรรณนาถึงความทุกข์อันต้องเป็นกำพร้าในอายุเพียงเท่านั้น และความหนักของมงกุฎอันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้างทั้งภายในภายนอก หมายเอาทั้งในกรุงเองและต่างประเทศ ทั้งโรคภัยในกายเบียดเบียนแสนสาหัส”

ความขนาดยาวที่ยกมาข้างต้นนี้เป็นพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีถึง เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรส เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ร.ศ. 112 เนื่องในวโรกาสที่เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศมีพระชนมายุเท่ากับพระองค์ในคราที่ขึ้นเสวยราชสมบัติ[1]

เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

เนื้อความฉบับเต็มในพระบรมราโชวาทฉบับนี้นอกจากจะเป็นการสั่งสอนดังเช่นบิดากับบุตรแล้ว ยังมีพระราชปารภถึงความทุกข์ยากในช่วงต้นรัชกาลของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์อีกด้วย ทำให้เห็นถึงสภาพบ้านเมืองสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี จากข้อความที่ยกมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าต้นรัชกาลของพระองค์นั้น เป็นเวลาที่พระองค์ทรงประสบเคราะห์กรรมอย่างแสนสาหัสไม่ว่าจะเป็น

1.ทรงประชวรด้วยโรคภัยหลังสด็จกลับจากทอดพระเนตรสุริยุปราคากับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา ซึ่งประชวรหนักมากจนไม่มีใครสักคนเชื่อว่าจะรอด จนมีข่าวว่าเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพิ่งประชวรได้ 1 เดือนจึงยังทรงอ่อนเพลียมากจนถึงกับทรงพระดำเนินไม่ได้ ต้องหามพระองค์ขึ้นพระที่นั่งเพื่อที่จะเสด็จไปสรงน้ำพระบรมศพของพระราชบิดา พอทอดพระเนตรเห็นพระบรมศพก็ทำได้แค่ทรงยกพระหัถต์ขึ้นถวายบังคมเท่านั้น แล้วก็ทรงสลบแน่นิ่งไป เจ้านายผู้ใหญ่ซึ่งเสด็จอยู่ที่นั่นกับแพทย์ที่ตามเสด็จ เข้าไปช่วยกันแก้จนทรงฟื้นขึ้น[2] จากนั้นจึงเชิญเสด็จกลับด้วยเกรงว่าจะเป็นอันตรายกว่าเดิม

2.พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชบิดาเสด็จสวรรคต ในขณะที่พระองค์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ทรงผลให้พระราชอำนาจของพระองค์ไม่มั่นคง ดังนั้นพระองค์จึงเปรียบเปรยตัวพระองค์เองว่า “เปรียบเหมือนคนที่ศรีษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างขึ้นตั้งไว้ในที่สมมติกษัตริย์ เหลือที่จะพรรณาถึงความทุกข์อันต้องเป็นกำพร้าในอายุเพียงเท่านี้” ทั้งในตอนนั้นด้านการเมืองการปกครองของพระองค์ก็ยังไม่สามารถทำได้ จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในขณะนั้น

3.ความวุ่นวายทั้งการเมืองภายในและภัยจากภายนอกซึ่งก็คือการล่าอาณานิคมของตะวันตก

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

จะเห็นได้ว่าในช่วงต้นรัชกาลพระองค์ไม่มีอำนาจเลย เพราะอำนาจทั้งหลายตกอยู่กับผู้สำเร็จราชการเสียส่วนมาก ดังข้อความของพระองค์ที่ว่า  “…มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อคือเจ้านายทั้งปวง ก็ตกอยู่ใต้อำนาจสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทุกพระองค์ …. ฝ่ายข้าราชการถึงว่ามีผู้ที่รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้างก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก” ดังนั้นในช่วงนี้พระองค์จึงต้องเรียนรู้และใช้กุศโลบายทางการเมืองทั้งนิ่งไว้ก่อนรวมถึงปฏิบัติพระองค์ให้เป็นที่รักของขุนนางเพื่อที่จะรวบรวมกลุ่มของพระองค์เพื่อการสนับสนุนฐานอำนาจของพระองค์ให้มั่นคงขึ้น

ดังข้อความที่ส่งถึงเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฉบับเดียวกันความว่า “…ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งท่านเชื่อเป็นแน่ว่าพ่อเป็นเจว็ดครั้งหนึ่งคราวหนึ่งอย่างเรื่องจีน แต่ถึงดังนั้นพ่อได้แสดงความเคารพนับถืออ่อนน้อมต่อท่านอยู่เสมอ…จนท่านมีเมตตาขึ้นทุกวัน … ส่วนข้าราชการผู้ใหญ่ ซึ่งรู้อยู่ว่า มีความรักใคร่นับถือพ่อมาแต่เดิมก็ได้แสดงความเชื่อถือรักใคร่ยิ่งกว่าแต่ก่อน จนมีความหวังว่าถ้ากระไรคงจะได้ดีสักมือหนึ่ง

อ.ชัยอนันต์ สมุทวนิช กล่าวว่า พระบรมราโชวาทฉบับนี้สะท้อนถึงสภาพการณ์ทางการเมืองในต้นรัชสมัย ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กลุ่มต่างกำลังขัดแย้งกันอย่างรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ เป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระมัดระวังพระองค์อย่างมาก ในการที่จะทรงพยายามดำเนินการเปลี่ยนแปลงสิ่งใด ที่จะกระทบกระเทือนผู้ที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น เป็นเวลาที่ต่างคนต่างระมัดระวังตัว พยายามรักษาตัวให้อยู่ได้ และเป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสังเกตพฤติกรรมของข้าราชการต่างๆ ว่าจะปฏิบัติตัวพระองค์อย่างไร[3]

นี่คือพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ให้ไว้กับเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงความทุกข์ของพระองค์เองแล้ว ยังสอนปรัชญาการปกครองเพื่อเป็นแบบอย่างว่าการเป็นกษัตริย์นั้นไม่ใช่เป็นการนอนสบายกินสบาย ต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อสุขและทุกข์ เพื่อประโยชน์สูงสุด เรียกได้ว่าครั้งนั้นเป็นช่วงแรกแห่งการเรียนรู้ปรับตัวอย่างใหญ่หลวงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ จนกระทั่งเมื่อพระองค์ทรงสร้างฐานอำนาจได้มั่นคงแล้ว บวกกับทรงบรรลุนิติภาวะจึงได้เริ่มดำเนินการทานอำนาจของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ไว้ ไม่ให้มีมากไปกว่าเดิม จากนั้นจึงทรงทำการปฏิรูปการการปกครองในส่วนต่างๆ โดยเริ่มจากการคลังก่อน หลังจากนั้นได้ตั้งสภาที่ปรึกษาราชการ และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ขึ้นภายหลัง

จนกระทั่งพระราชอำนาจของพระองค์สมบูรณ์สามารถบริหารประเทศได้เรียบร้อยจนครบรัชสมัยอันยาวนานของพระองค์

 


เชิงอรรถ :

[1] ขณะนั้นเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศทรงมีพระชนมายุตรงกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงเสวยราชสมบัติเมื่อตอนพระชนมายุ 15 ปี 10 วัน

[2] จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. (2555). เจ้าชีวิต. กรุงเทพ : ริเวอร์ บุ๊คส์. หน้า 222.

[3] ชัยอนันต์ สมุทวนิช, ขัตติยา กรรณสูตร รวบรวม. (2518). เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477. กรุงเทพฯ : โครงการตำราฯ. หน้า 128.

อ้างอิง :

ข. พระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ 5 ฉบับที่ 2

ชัยอนันต์ สมุทวนิช, ขัตติยา กรรณสูตร รวบรวม. (2518). เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477. กรุงเทพฯ : โครงการตำราฯ.

จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. (2555. เจ้าชีวิต. กรุงเทพฯ : ริเวอร์ บุ๊คส์.

สาคชิด อนันท สหาย แต่ง, กัณฐิกา ศรีอุดม แปล. (2546). ร.๕ เสด็จอินเดีย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้า.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2555). พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2559