“พระเจ้าหยางตี้” กับตำนานเสวยสุขลากนางในเข้าศาลาเมื่อมีอารมณ์ ยุคเสื่อมราชวงศ์สุย

ภาพวาด พระเจ้าหยางตี้
ภาพเขียนพระเจ้าหยางตี้ โดย Yen Li-pen (600-673) ประกอบกับฉากหลังตกแต่งเพิ่มเติม

ในสมัยราชวงศ์สุยของจีน ถือเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่มีผลต่อการวางระบบในราชวงศ์ต่อมา อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยของ “พระเจ้าหยางตี้” จักรพรรดิองค์ที่ 2 ของราชวงศ์ พระองค์กลับเป็นที่จดจำว่าเป็นองค์จักรพรรดิที่มัวเมาในสุรานารี ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และกลายเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่เริ่มต้นความรุนแรง จนนำมาสู่จุดสิ้นสุดของราชวงศ์สุย

ราชวงศ์สุยครองอำนาจในจีนระหว่างคริสต์ศักราช 581-618 ดำเนินการสืบทอดนโยบายของบรรพบุรุษ และยังมีส่วนบุกเบิกเส้นทางในอนาคตของจีนอีกราชวงศ์หนึ่ง ในช่วงต้นราชวงศ์ค่อนข้างมั่นคง เศรษฐกิจรุ่งเรืองในระดับหนึ่ง แต่ในช่วงปลายของรัชสมัยพระเจ้าเหวินตี้ แผ่นดินเริ่มวุ่นวาย และนำมาสู่การขึ้นครองราชย์ของหยางกว่าง พระราชโอรสองค์ที่ 2 ของพระองค์ กลายมาเป็นพระเจ้าหยางตี้ ช่วงเวลานั้นถูกนักประวัติศาสตร์มองว่าเป็นอีกช่วงหนึ่งที่นำมาสู่ความขัดแย้ง และจุดจบของราชวงศ์ในที่สุด

รัชสมัยพระเจ้าเหวินตี้ พระนางตู๋กูฮองเฮาให้กำเนิดโอรส 5 พระองค์ องค์โตคือ หยางหย่ง องค์รองคือ หยางกว่าง หยางหย่งเป็นรัชทายาทที่เกิดจากพระมเหสี และได้เข้าร่วมบริหารประเทศ ประกอบความดีความชอบหลายประการ แต่ หลี่เฉวียน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จีนชี้ว่า หยางหย่งมีข้อเสียคือ เอาแต่ใจ หรูหราฟุ่มเฟือย และลุ่มหลงกับนางสนม

ส่วนหยางกว่างเป็นเจ้าครองแคว้นจิ้น เป็นคนที่รูปลักษณ์ภายนอกดี และเงียบขรึม ซึ่งอาจมองได้ว่าเขาเป็นนักวางแผน หลี่เฉวี่ยนบรรยายว่า หยางกว่างแสร้งทำเป็นสุภาพบุรุษผู้ขยันขันแข็ง ไม่ชอบสุรานารี หยางกว่างจึงเป็นที่โปรดปรานของพระบิดาและพระมารดา เมื่อครั้งนำทัพไปปราบราชวงศ์เฉินทางตอนใต้ ก็ฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองไว้ด้วย

ในช่วงศักราชเหรินโซ่วปีที่ 4 พระเจ้าสุยเหวินตี้ประชวรหนักและสิ้นพระชนม์ ในเวลานั้นมีเพียงคนสนิทของหยางกว่างปรนนิบัติรับใช้ในห้องที่ประทับของพระเจ้าเหวินตี้ในวังเพียงลำพัง หลังจากที่เขาขับไล่ขันทีและนางสนมกำนัลไปจนหมด แม้สาเหตุของการสิ้นพระชนม์ยังไม่สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจน แต่ว่ากันว่าหยางกว่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสิ้นพระชนม์ด้วย

ไม่นานหลังพระเจ้าเหวินตี้สิ้นพระชนม์ หยางกว่างขึ้นเป็นจักรพรรดิ กลายเป็น “พระเจ้าหยางตี้” บริหารกิจการบ้านเมือง

ส่วนชะตากรรมขององค์ชายคนโตนั้น หลี่เฉวียน นักเขียนที่ศึกษาข้อมูลประวัติศาสตร์จีนบรรยายว่า หยางกว่างปลอมแปลงราชโองการของพระเจ้าเหวินตี้ และให้ประหารหยางหย่งด้วยการแขวนคอ

ชาร์ลส ฮูมานา และ หวังอู่ ผู้เขียนหนังสือ “ความลับเรื่องเซ็กซ์ของชาวจีน” (Chinese Sex Secrets) บรรยายว่า หลังจากขึ้นครองราชย์แล้ว พระเจ้าหยางตี้ทรงกำจัดเชื้อพระวงศ์และคนใกล้ชิดที่เข้าข่ายเป็นผู้สามารถแย่งชิงบัลลังก์ของพระองค์จนหมด เมื่อทรงยึดครองบัลลังก์อย่างมั่นคง พระองค์เริ่มหันมาสนใจการปกครองและสร้างสิ่งก่อสร้าง

ช่วงต้นของรัชสมัยพระเจ้าหยางตี้ พระองค์ปฏิรูประบบต่างๆ ตามรากฐานเดิมที่พระเจ้าเหวินตี้วางไว้ อาทิ ระบบขุนนาง การทหาร การเก็บภาษี และเกณฑ์แรงงาน หลี่เฉวียน อธิบายว่า ระบบ 3 กระทรวง 6 ฝ่าย และระบบการสอบขุนนางเคอจวี่ที่วางไว้นั้นก็มั่นคงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ความมั่นคงในระบบเป็นแค่ช่วงเวลาตั้งต้นเท่านั้น และมาสูญเปล่าจากความวุ่นวายทางการเมือง

นอกเหนือจากการวางระบบการปกครอง พระเจ้าหยางตี้ก็เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ริเริ่มสร้างที่ประทับอันยิ่งใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก ทั้งชายและหญิง สิ่งก่อสร้างนี้ถูกเรียกว่า “พระราชวังมังกร” (Dragon Palace) พระราชวังแห่งนี้ตั้งอยู่ในสวนที่มีกำแพงล้อมรอบ กินพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100 ตารางไมล์ ใจกลางของพระราชวังมีทะเลสาบที่ใช้แรงงานขุดสร้างขึ้นเอง กว้าง 5 ลี้ (ประมาณ 2 ไมล์) ขณะที่ 2 ฝั่งของทะเลสาบปลูกสร้างด้วยอาคาร 16 หลัง เพื่อเป็นที่พักของขันทีและนางกำนัล

ชาร์ลส ฮูมานา และหวังอู่ บรรยายเรื่องหลังฉากที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ระหว่างที่พระองค์เสด็จออกจากที่ประทับในพระราชวัง ไม่ว่าจะด้วยทรงม้าหรือเกี้ยว พระเจ้าหยางตี้ต้องมีนางสนมกำนัลคนรับใช้ติดตามไปด้วยราวพันราย

ตำนานเรื่องการเสวยสุขของพระองค์เล่ากันมาว่า เมื่อพระองค์ถูกจู่โจมด้วยอารมณ์ทางเพศที่ไม่สามารถควบคุมได้แบบเร่งด่วน เมื่อนั้น พื้นที่ซุ้มหรือศาลาที่ล้อมรอบด้วยรั้วปลายแหลมจะถูกจำกัดบริเวณให้เป็นที่ส่วนพระองค์ภายในระยะ 2 ลี้

เมื่อถอนพระองค์จากขบวน พระองค์จะมีผู้ติดตามเป็นสตรีที่ได้รับคัดเลือกจำนวนหนึ่งเข้าไปในซุ้มเล็กๆ ด้วย ผู้ติดตามที่เหลือจะตั้งขบวนพิเศษขึ้นภายนอก และเริ่มขับกล่อมร้องและบรรเลงเพลงที่พระองค์ทรงโปรดปราน นักประวัติศาสตร์ทราบกันดีว่า พระองค์ทรงสามารถด้านการประพันธ์ เชี่ยวชาญด้านการดนตรี

เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนผ่านภาพเขียนในศตวรรษที่ 19 ชิ้นหนึ่งที่อยู่ในการครอบครองของมหาวิทยาลัยอินเดียนา ซึ่งสะท้อนเรื่องราว จักรพรรดิ “ผู้ไม่เหน็ดเหนื่อย” พระองค์ทรงยืนหันเข้าหาม้านั่งสูงที่มีหญิงสาวนอนอยู่บนม้านั่ง 2 นาง ด้านข้างพระองค์รายล้อมด้วยสตรีที่ช่วยเหลือพระองค์ ด้านหนึ่งปลดฉลองพระองค์และอีกข้างหนึ่งใช้มือพยุง “แท่งมรกต” ในช่วงเวลาแห่งการเสวยสุขกับสตรี (อ่านเพิ่มเติมจีนคัดนางในอย่างไรที่ว่าโหด จาก 5,000 มีแค่ 50 ได้เป็นสนมจักรพรรดิ ใช้เกณฑ์อะไรตัดตัว)

หลังจากที่สร้างพระราชวังเสร็จสิ้นแล้ว พระองค์ทรงใช้กำลังคนจำนวนมหาศาลเพื่อขุดคลองทงจี้ อันเป็นเส้นทางให้พระองค์เสด็จท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็ว ระหว่างการขุดคลอง หลี่เฉวียน บรรยายว่า มีแรงงานเหนื่อยจนเสียชีวิตจำนวนมาก

ระหว่างการขุดคลอง พระเจ้าหยางตี้มีรับสั่งให้สร้างเรือหลายประเภทที่ใช้เดินทางลงไปทางใต้ เรือที่หรูหราที่สุดเป็นเรือมังกรซึ่งว่ากันว่า ยาว 300 ฟุต สูง 4 ชั้น แบ่งดาดฟ้าเรือออกเป็น 4 จุด ภายในเรือตกแต่งด้วยหยกและทอง เครื่องตกแต่งภายในปกคลุมด้วยหนังเสือ หมี และเสือดาว

เรือมังกรนี้ถูกบรรยายว่า จัดเตรียมบรรทุกขันที นารี นักดนตรี และนักแสดงไปจำนวนมาก อีกทั้งยังบรรทุกทรัพย์สินมีค่าของราชวงศ์อีกไม่น้อยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นพระราชวังลอยน้ำก็ว่าได้ การท่องเที่ยวทางเรือของพระองค์เอิกเกริกอย่างมาก

ว่ากันว่า พระเจ้าสุยหยางตี้รับสั่งให้เมืองและอำเภอต่างๆ ที่อยู่เลียบ 2 ฝั่งคลองในระยะ 500 ลี้ต้องถวายอาหารให้ เมื่อพระองค์เสวยไม่หมดก็จำเป็นต้องโยนทิ้ง บรรดาขุนนางท้องถิ่นก็พยายามสรรหาอาหารมาถวายเพื่อเอาใจ

การเดินทางท่องเที่ยวของพระองค์เป็นไปอย่าง “เอ้อระเหย” ใช้เวลากับการเสวยสุขอย่างเต็มที่ พระองค์เดินทางไปท่องเที่ยวที่ เมืองเจียงตู ถึง 3 ครั้ง การใช้ชีวิตอย่างสุขสบายของพระองค์สวนทางกับการเกณฑ์แรงงาน รวมทั้งเก็บภาษีที่เข้มข้น ทำให้ประชาชนเริ่มแค้นเคืองในพระองค์ เพราะต่างเดือดร้อนกันถ้วนหน้า

สถานการณ์ทางภาคเหนือก็ไม่สู้ดี เมื่อมีกบฏเกิดขึ้นหลายแห่ง เหล่าทหารองครักษ์ของพระองค์ร้อนใจและเป็นห่วงบ้าน หลี่เฉวียน บรรยายว่า หลักฐานทางประวัติศาตร์บันทึกว่า วันที่ 17 เดือน 3 ศักราชต้าเย่ปีที่ 14 (คริสต์ศักราช 618) นายพลตำแหน่งโย่วทุนเว่ยก่อการกบฏ บุกเข้าโจมตีพระตำหนัก ทหารใช้ผ้าแพรรัดคอพระเจ้าหยางตี้ ชะตากรรมของโอรสและพระราชนัดดาของพระองค์ก็ไม่พ้นเคราะห์

นอกจากฝังช่วงเวลาเสวยสุขของ “พระเจ้าหยางตี้” ไปแล้ว ยังเป็นการสิ้นสุดความเป็นเอกภาพทางการเมืองของราชวงศ์สุยด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หลี่เฉวียน. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556

Humana, Charles., Wang Wu. Chinese Sex Secrets : A Look Behind the Screen. Hong Kong: CFW Publications Limited, 1998


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2562