นั่งรถม้า-นั่งรถวัว พาหนะต่างศักดิ์ศรีในประวัติศาสตร์จีน

แบบจำลองเครื่องปั่นดิน รถเทียมวัว สมัยราชวงศ์ฮั่น

ตอนหนึ่งในพงศาวดารสามก๊กจี่ ก่อนเกิดศึกเซ็กเพ็ก มีขุนนางจำนวนไม่น้อยเสนอให้ซุนกวนอ่อนน้อมต่อโจโฉ แต่โลซกกลับคัดค้านว่า “ตอนนี้หากข้าพเจ้าอ่อนน้อมกับโจโฉ โจโฉก็คงจะส่งกลับภูมิลำเนา ตั้งให้เป็นขุนนางท้องถิ่น ข้าพเจ้าก็จะได้ทำราชการกับโจโฉ นั่งรถวัว มีเจ้าหน้าที่ติดตาม เที่ยวคบหาสมาคมกับเหล่าขุนนางและปัญญาชน และต้องได้ตำแหน่งถึงระดับเจ้าเมืองหรือข้าหลวงมณฑล แต่ถ้าท่านขุนพลยอมอ่อนน้อมต่อโจโฉ จะไปอยู่ที่ไหน?”

“รถวัว” หรือ “รถเทียมวัว” นั้น พงศาวดารซ่งซู บทจารีต 5 บันทึกเรื่องรถวัวไว้ว่า “รถวัวอยู่ในจำพวกรถประทุน เป็นยวดยานที่ท้าวพระยาผู้ยากจนนั่ง ต่อมากลับกลายเป็นทรงเกียรติ ซุนกวนกล่าวว่า รถเทียมแปดโค ก็คือรถวัวแบบนี้”

สาระสำคัญของของข้อความนี้คือ ในยุคราชวงศ์ฮั่น รถวัวเป็นพาหนะที่ขุนนางชั้นสูงผู้ยากจนนั่ง แต่พอถึงปลายราชวงศ์ฮั่นมาจนถึงราชวงศ์เหนือ-ใต้ รถวัวกลับกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสูงศักดิ์ เวลาซุนกวนเดินทางจะนั่งรถเทียมโคแปดตัว

ที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากสถานการณ์เวลานั้น แคว้นกังตั๋งเป็นปฏิปักษ์กับโจโฉซึ่งอยู่ภาคเหนือ การค้าขายม้าของสองฝ่ายนี้ออกจะไม่สะดวก ม้าเป็นพาหนะสำคัญในการศึก ใช้ในสงครามอยู่เสมอ ในชีวิตประจำวันจึงต้องใช้วัวเป็นหลัก ในทางกลับกัน ทางภาคเหนือของโจโฉ ไม่มีเรื่องนั่งรถวัวเวลาเดินทาง

ในสมัยโบราณการนั่งรถวัวกับรถม้าแตกต่างกันอย่างไร?

พงศาวดารซ่งซู บทจารีต 5 บันทึกไว้ว่า “จารีตโบราณ ขบวนเสด็จใหญ่ขุนนาง ผู้ใหญ่นำหน้า ไท่พู (สมุหราชพ่าห์) และต้าเจียงจวิน (แม่ทัพใหญ่) ร่วมขบวนด้วย พร้อมด้วยรถพันม้าหมื่น รถตามเสด็จ 81 คัน สามนตราชสองขบวน 9 คัน แคว้นฉินทำลายแคว้นทั้งเก้าแล้ว รวมรถบริวารทั้งหมด จึงมี 81 คัน ราชวงศ์ฮั่นไม่แก้ไขแบบแผนนี้”

สาระสำคัญของข้อความก็คือ ในยุคโบราณ (ราชวงศ์โจว) ขบวนเสด็จของกษัตริย์มีรถตาม 81 คัน สามนตราช (เจ้าผู้ครองนคร) มีแค่ 9 คัน ยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตกหลังจากกบฏแคว้นทั้งเจ็ดในถิ่นอู๋และฉู่แล้ว ราชสำนักไม่ยอมให้สามนตราชตั้งขุนนางในแคว้น เช่น อี้ว์สื่อ (ผู้ตรวจราชการ) ถิงเว่ย (ผู้พิพากษา) เอง แต่จะส่งไปจากเมืองหลวง อำนาจและฐานะของสามนตราชจึงตกต่ำลง จากเดิมที่เคยนั่งรถม้า หลังกบฏแคว้นทั้งเจ็ดแล้ว สามนตราชหรือท้าวพระยาชั้นผู้น้อยที่ยากจนส่วนหนึ่งไม่มีกำลังนั่งรถม้าจึงเปลี่ยนเป็นรถวัวแทน

พงศาวดารสื่อจี้ บทห้าราชตระกูล บันทึกไว้ว่า “หลังกบฏอู๋ฉู่ทั้ง 7 แคว้นแล้ว…สามนตราชได้รับแต่เบี้ยหวัดจากภาษี ถูกริบอำนาจไปหมด ต่อมาสามนตราชที่ยากจนบางคนนั่งรถวัว”

ในรัชกาลพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ทำศึกใหญ่กับชนเผ่าซุงหนู เป็นเหตุให้จงหยวน (ศูนย์กลางจีน) ขาดแคลนม้าอย่างมาก พงศาวดารฮั่นซู บรรพของกินของใช้ บันทึกไว้ว่า “ราชรถไม่สามารถหาม้าสีเดียวกันได้ครบสี่ตัว ขุนนางนายทหารบางคนจึงนั่งรถวัวแทนเข้าท้องพระโรง” ขนาดพระมหากษัตริย์ยังหาม้าสีเดียวกันสี่ตัวให้ครบสำรับเทียมราชรถไม่ได้ ขุนนางนายทหารบางส่วนจึงเปลี่ยนไปนั่งรถวัวแทน

พงศาวดารจิ้นซู บรรพอาภรณ์พาหนะ บันทึกไว้ว่า “ผู้สูงศักดิ์ในยุคโบราณไม่นั่งรถวัว ถึงช่วงปลายแห่ง ‘พระราชโองการขยายพระกรุณา’ ของแคว้นสามนตราชของพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ ท้าวพระยาเหล่านี้ตกต่ำอ่อนแอลง พวกที่ยากจนถึงกับต้องนั่งรถวัว แต่ต่อมาค่อยๆ เห็นเป็นมีเกียรติ ตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าเลนเต้และพระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นต้นมา ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ไปจนถึงขุนนางนั่งกันทั่วไป”

บันทึกข้างต้นบอกให้ทราบว่า เดิมทีผู้สูงศักดิ์มิได้นั่งรถวัว นั่งแต่รถม้า หลังจากกบฏแคว้นทั้งเจ็ด พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ออก “พระราชโองการขยายพระกรุณา” แบ่งซอยแคว้นสามนตราชให้กลายเป็นแคว้นเล็ก การตัดทอนกำลังอำนาจของสามนตราชเหล่านี้จนตกต่ำยากจนลง บางคนถึงกับต้องนั่งรถวัวแทนรถม้า หลังจากราชวงศ์ฮั่น และราชวงศ์จิ้นมาถึงราชวงศ์เหนือ-ใต้ การนั่งรถวัวกลายเป็นเรื่องโก้เก๋ทันสมัย พวกผู้ดีมีตระกูลต่างรู้สึกว่าการนั่งรถวัวมีสง่าราศีจึงนิยมเปลี่ยนไปนั่งรถวัวกัน

พงศาวดารราชวงศ์ถังฉบับเก่า (จิ้วถังซู) บรรพอาภรณ์พาหนะ บันทึกไว้ว่า “หลังจากราชวงศ์วุ่ยและจินจนถึงราชวงศ์สุย ขุนนางขี่รถวัวกัน คัมภีร์และประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาตามยุคสมัยนั้น ล้วนมีเรื่องเช่นนั้นอยู่จริง ไม่อาจพูดเป็นอื่นได้”

 


ข้อมูลจาก :

หลี่ฉวนจวิน และคณะ เขียน, ถาวร สิกขโกศล แปล. 101 คำถามสามก๊ก, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มกราคม 2565