วิเคราะห์คดีบทละคร “พญาระกา” หม่อมของพระเจ้าอาหนีมาวังพระเจ้าหลานจึงเป็นเรื่อง!

กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ คดี พญาระกา
(ซ้าย) กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (ขวา) กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, พฤศจิกายน 2555)

เมื่อเอ่ยถึงคดี พญาระกา [1] นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษา น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก คดีนี้เป็นคดีสำคัญระหว่าง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ (พ.ศ. 2404-74) พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พ.ศ. 2417-63) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สืบเนื่องมาจากกรมพระนราธิปฯ ทรงพระนิพนธ์บทละครเรื่อง ปักษีปกรณัม หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า พญาระกา พาดพิงไปถึงกรณีที่หม่อมพักตร์ซึ่งเป็นตัวละครตัวหนึ่งของพระองค์หลบหนีไปจากวัง ไปพึ่งพระบารมีของ กรมหมื่นราชบุรีฯ (พระอิสริยยศในขณะนั้น)

วิธีที่ทรงพระนิพนธ์ก็คือใช้ความเปรียบกล่าวถึงนางไก่ผู้มักมากในกามคุณหนีเร่ร่อนไปพึ่งบุญผู้อื่น ท้ายที่สุดก็ไปอยู่กับชู้เดิม แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ จึงไปหาพญาแร้งผู้พิพากษาให้ช่วยตัดสินความ

บทละครเรื่องนี้ กรมพระนราธิปฯ ทรงส่งไปทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต รอเพื่อที่จะโปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปแสดงถวายเท่านั้น แต่ปรากฏว่ามีผู้นำบทละครเรื่องนี้ไปถวายกรมหมื่นราชบุรีฯ ทอดพระเนตรทำให้พระองค์ทรงน้อยพระทัยยิ่งนัก ทรงเข้าใจว่าพระองค์ทรงถูกทำให้เสื่อมเสียเกียรติยศ จึงทำหนังสือกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม พร้อมกับผู้พิพากษาซึ่งเป็นลูกศิษย์และผู้ใกล้ชิดพระองค์ รวม 28 คน ผลของเรื่องนี้เป็นที่ทราบกันดี แทบจะไม่ต้องนำมากล่าวในที่นี้ แต่ผู้เขียนจะขอคัดข้อเขียนของ ศาสตราจารย์นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ซึ่งสรุปไว้ได้อย่างดียิ่งดังนี้

– โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมราชบุรี ออกจากตำแหน่งเสนาบดียุติธรรม แต่ไม่ใช่เพราะทูลลาออกตามจดหมายทูลลา แต่ให้ออกเพราะประชวรโรคสมอง กรมราชบุรีฯ ออกจากราชการก่อนสวรรคต

– รัชกาลที่ 6 เมื่อครองราชย์แล้ว โปรดเกล้าฯ ให้กรมราชบุรีกลับเข้ารับราชการในกระทรวงเกษตราธิการ

– ผู้พิพากษาจำนวนหนึ่งใน 28 คน ขอพระราชทานอภัยโทษ ก็โปรดเกล้าฯ ให้กลับมาทำงาน

– เสด็จในกรม กรมพระนราฯ ท่านทำหนังสือแก้คดีอธิบายว่าท่านมิได้ทรงหมิ่นประมาทกรมราชบุรี คณะกรรมการ และพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 6 ชี้ว่าข้อแก้ตัวนั้นฟังไม่ขึ้น ตัดสินว่าทรงหมิ่นประมาทจริง จึงทรง “ติดสนม” โปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปประทับ “สบาย” ในวังหลวง (คล้ายกับกักบริเวณ หม่อมโอรสธิดาเข้าไปเฝ้าได้ตามสมควร) ประทับสบาย ๆ ตามพระเกียรติยศกรมหมื่นของท่าน พระราชทานอภัยโทษ กลับมาอยู่วังถนนเฟื่องนคร จึงทรงห่างจากการละคร เสด็จไปทรงบุกเบิกสถานที่ตากอากาศ บ้านชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

– หม่อมพักตร์หายสาบสูญไปไม่มีข่าวจนทุกวันนี้

– ผู้พิพากษาคนหนึ่งชื่อขุนหลวงพระยาไกรสี (นายเทียม) ซึ่งถูกถอด ศพถูกซ่อนไว้ที่ป่าช้าวัดกัลยาณมิตรจนถึงสมัยรัชกาลที่ 9 ลูกหลานจึงได้พบศพ จึงนำมาเผา

– รายละเอียดเรื่องคดีพญาระกานี้ยืดยาวและซับซ้อนต้องอ่านหนังสือหลายเล่ม [2]

บทละครเรื่องนี้เข้าใจว่าถูกทำลาย จึงไม่ปรากฏต้นฉบับหลงเหลืออยู่ จนเวลาผ่านมาถึง 102 ปี ศาสตราจารย์นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ได้นำบทละครรำเรื่องนี้ออกเผยแพร่โดยแสดงปาฐกถาเรื่อง “ค้นพบบทละครเรื่องพญาระกา” ในการประชุมของราชบัณฑิตยสถาน เมื่อวันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555 ปาฐกถาครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้ฟัง เพราะเป็นเรื่องลี้ลับ ผู้เขียนได้กราบขออนุญาตคุณหมอเรียบเรียงบทความนี้เพื่อประโยชน์แก่ผู้อ่านที่สนใจ อนึ่งคุณหมอได้กรุณามอบบทละครเรื่องนี้ให้ผู้เขียน 1 ชุด เพื่อใช้ประโยชน์ในการเรียบเรียงนี้ด้วย

ความเป็นมาของบทละครเรื่องพญาระกาบทละครเรื่องนี้อยู่ในบันทึกส่วนพระองค์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาตกเป็นสมบัติส่วนตัวของคุณหมอ ซึ่งได้มอบให้ คุณเสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ เป็นผู้คัดลอกและพิมพ์ตามต้นฉบับเดิม รายละเอียดมีดังนี้บทละครมี 4 องก์ แต่ละองก์มีชื่อกำกับอยู่ ดังนี้

องก์ที่ 1 พิศม์มาตุคาม 146 คำกลอน
องก์ที่ 2 สงครามนกเค้าแมว 102 คำกลอน
องก์ที่ 3 แกล้วเกินกล้า 246 คำกลอน
องก์ที่ 4 พิพากษาสมสมัค 26 คำกลอน รวม 520 คำ
(ไม่นับรวม บทดอกสร้อย ฉุยฉาย แม่ศรี และสร้อยแขกสาหร่าย)

ที่มาของบทละครนี้ กรมพระนราธิปฯ ทรงอ้างว่ามาจากนิทานปรัมปราเรื่อง Chantecler ของนาย Edmond Restand เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส บทละครเรื่องนี้เข้าใจว่าทรงพระนิพนธ์ระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม พ.ศ. 2453 นับถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลากว่า 102 ปี [3]

เนื้อเรื่องย่อของปักษีปกรณัม เรื่องพญาระกา

องก์ที่ 1 ตอนพิศม์มาตุคาม

กล่าวถึงพญาระกาผู้ยิ่งใหญ่ (กรมพระนราธิปฯ ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2404 ปีระกา) มีอำนาจถึงกับขันเรียกพระอาทิตย์ให้ขึ้นในยามเช้าได้ ดังความว่า

อมหิทธิฤทธิลือชื่อระกา
เนาท้องนาผาศุขสนุกครัน
เชื่ออำนาจอาจจะหน่วงดวงอาทิตย์
ขึ้นตามจิตรพิศสงทะนงขัน [4]

กล่าวถึงนางไก่ญี่ปุ่นมีลักษณะ “หงอนดกปรกเกษี” นางไม่สมใจกับรสรักที่ได้รับ จึงเตร่ไปมองหาไก่หนุ่มๆ เพื่อทอดสะพาน ฝ่ายไก่ชนตัวหนึ่งเฝ้ามองดูพฤติกรรมของพญาระกาอย่างอิจฉา เพราะพญาระกามีบริวาร (เมียน้อย) อยู่มาก ตนเองนั้นได้แต่ “เลียบชายโคกขันโจ้กโอ้กอยู่แต่ไกล ไม่กล้าไปใกล้เคียงค่อยเลี่ยงมอง” เมื่อได้โอกาสก็เข้าเกี้ยวนางไก่ในทันที โดยมีข้อเสนอว่า

แม้นยี่ปุ่นกรุณาเมตตาตอบ
พี่ใคร่ลอบพาพชธูไปสู่สม
เข้าหนอนกินถิ่นพี่มีอุดม
อย่าปรารมภ์ร้อนใจเกรงไภยเลย

นางไก่ญี่ปุ่นก็ยอมตกลงโดยดี เพราะธรรมชาติของเธอชอบเช่นนั้น

นกเอี้ยง ผู้ประสงค์ดีแต่หวังร้าย ซึ่งเป็นลักษณะและคุณสมบัติของตัวละครหลายตัวในบทละครเรื่องนี้ รับรู้เหตุการณ์จึงรีบมา “เพ็ดทูล” พญาระกาในทันที พญาระกาโกรธแค้นแสนสาหัส ถึงกับ “หัวอกเต้นขนโป่งโก่งกรรฐาหมายแทงเนื้อเถือฉีกกางปีกรา” ผลก็คือคู่สมรสใหม่แตกกระเจิง นางไก่ญี่ปุ่นหนีเตลิดมาถึงบึงน้ำขังซึ่งเป็นที่อยู่ของนกกระทุง ผู้มีนิสัยตามที่พรรณนาไว้ว่า “สันดารยุ่งอยากสนุกขยุกแหย่” ก็รีบรับอาสาช่วยนางไก่ในทันที แต่ลุงห่านผู้หวังดีอีกเช่นกัน ก็รีบแจ้งข่าวถึงอิทธิฤทธิ์ของพญาระกาให้นกกระทุงรู้โดยด่วน “ลุงกระทุงที่แสนดี” จำต้องปฏิเสธนางไก่แสนสวย นางไก่กระเซอะกระเซิงไปหาพญาเหยี่ยว

พญาเหยี่ยวจึงรีบพานางไปหานกเค้าแมว นกเค้าแมวเมื่อเห็นรูปลักษณ์ของนางไก่ที่มีการพรรณนาไว้ว่า “เห็นไก่นางอล่างฉ่างโฉมปรางทอง” ก็รีบรับไว้อย่างเต็มใจ เพราะ

พิศภักตร์น่ารักภักตรีเอี่ยมโอ่
ไม่โม่โท่สกปรกเหมือนนกผี
พิศองค์อาบองค์พงศ์ผู้ดี
น้ำจริตผิดกะอีนกขี้ริ้ว
พิศเกษน่ารักหยักโศก
ไม่โสโครกเล็บผีขี้ปะติ๋ว
ไม่เคยรับอับจิตรสุดบิดพลิ้ว
พล่านคึกคักยักคิ้วคเยอกาม

นางไก่แก้วญี่ปุ่นก็ตกเป็นภรรยาของนกเค้าแมวอย่างเต็มใจ เพราะต้องการจะหาที่พึ่ง แต่เรื่องก็ไม่จบเท่านั้นเพราะนางนกเค้าแมวได้ข่าว จึงรีบมาจัดการโดยบริภาษสามีอย่างเต็มแรงว่า

ฉามีชื่อเขาลือกันลั่นแคว้น
ดูช่างแสนสิ้นคิดแม้ฤทธิมี
คบอีไก่ไพร่เหี้ยเมียของเขา
ตามืดเมาเจ้ากำหนัดทำบัดสี
เสียแรงปลอดยอดปัญญาวิชาดี
กะเท่านี้ไม่รู้ยั้งชั่งกะไร

แต่เรื่องไม่เป็นไปตามที่นางนกเค้าแมวภรรยาหลวงคาดไว้ สามีที่เคยอยู่ในโอวาทกลับฮึกเหิม เข้าตบตีภรรยาหลวงอวดภรรยาน้อย จนภรรยาหลวงพ่ายแพ้ไป

องก์ที่ 2 ตอนสงครามนกเค้าแมว

กล่าวฝ่ายไก่ชนชู้รักหมายเลข 1 ของนางไก่ หลังจากถูกพญาระกาตบตีจนต้องพ่ายแพ้ไป คิดจะแก้แค้นพญาระกา จึงเข้าไปสวามิภักดิ์กับพญานกเค้าแมวที่มีลักษณะที่ว่า “นกพวกนี้ราตรีเปนที่ชื่น” โดยไปยุแยงว่า

ความศุขท่านนับวันจะวอดแล้ว
ด้วยไก่แก้วชื่อรกาฤทธาชงัด
ขันคอก่งสุริยงก็ส่งแสง
สว่างแจ้งฟ้าดินสิ้นสงัด
พวกค้างคาวเศร้าโทรมโทมนัศ
ไม่กำจัดพวกเค้าแมวจะแพ้วคราง

เหล่าบริวารซึ่งมีนกฮูก นกตู๊ก และนกทึดทือ นกทึดทือ ออกความเห็นที่แยบคายว่า พวกค้างคาวซึ่งเป็นชาวกลางคืน มีหน้าที่รับศึกที่จะมาทางท้องฟ้า ส่วนพวกเขียด กบ จะเป็นฝ่ายทัพเรือ พญาเค้าแมวจึงส่งนกตู๊กไปเทียบเชิญค้างคาวมาเป็นพวก โดยอ้างว่าพญาไก่มีอำนาจที่จะเรียกพระอาทิตย์ขึ้นได้ ดังนั้นพวกกลางคืนจะเดือดร้อนเพราะไม่มีเวลาหาอาหาร ค้างคาวเห็นด้วยกับเหตุผลของนกตู๊กทูตเอก จึงเข้าไปร่วมประชุมกับพญานกเค้าแมว ซึ่งพญานกเค้าแมวก็จัดงานต้อนรับอย่างสมเกียรติ มีนางนกเค้าแมวมาแสดงระบำต้อนรับ ดังความว่า

นางเอย นางเค้าแมว
ตาแจ๋วแหวว หน้าเทล้น เต้นตะเขิ่ง
ปากเป็นกรับขยับเท้าก้าวกะเจิง
แล้วหันเหียนเปลี่ยนเชิงให้ชวนชม
ยักคอย่อขาราปีก
หลบหลีกล้อเล่นให้เห็นสม
ถอยกระถดลดเลี้ยวเกลียวกลม
ยั่วปรีดาสมาคมนิยมเอย

กล่าวฝ่ายผู้เสียประโยชน์คือหนู หากพวกเค้าแมวชนะพวกไก่ก็จะมาเบียดเบียนพวกตน ดังนั้นจำจะต้องให้พญาไก่รู้ตัวให้ได้ พญาไก่เมื่อรู้ข่าวโกรธแค้นยิ่งนักให้รวบรวมบริวารออกปะทะกับศัตรูเต็มกำลัง และก็ไม่ลืมที่จะขันเรียกพระอาทิตย์ขึ้น ผลก็คือ

ตาเอย ตามืด
อึดทึดท้อแท้แพ้สว่าง
ทั้งทัพดินทัพฟ้าเสียท่าทาง
พวกเขียดกบหลบข้างระแนงบัง
พญาระกายกทัพกลับอย่างสง่างาม บริวารต่างแซ่ซ้อง
ชมบารมีกันถ้วนหน้าว่า
ขอโชคบุญขุนรกาพญาไก่
เดโชไชยศักดิ์สิทธิผิดกว่าก่อน
เรืองฤทธิกฤติคุณหมุนสิ่งร้อน
เปนเย็นร้อนผ่อนผันขันโด่งดัง
ฝูงนกกาพึ่งพาบารมี
ได้สุขีดีงามสมความหวัง
เรียกตะวันทันใจอย่าได้พลัง
ร่วมกายทั้งร่วมมโนโหฮิ้วเอย

องก์ที่ 3 ตอนแกล้วเกินกล้า

นางเป็ดน้อยผู้ริษยาและอยากเข้ามาพัวพันกับพญาระกา แต่กีดขวางที่ตน “ต่ำศักดิ์” จึงกำหนดบทบาทของตนเสียใหม่เป็น “จำจะแสร่เปนแม่สื่อถือความ พยายามยั่วพญาเชิงหาเมีย” นางเป็ดน้อยดำเนินกุศโลบายเดียวกับนางรื่นนางโรยในลิลิตพระลอ ที่ส่งคนไปขับซอชมโฉมนางเพื่อนนางแพง แต่ในที่นี้นางเป็ดน้อยรับหน้าที่เอง โดยพรรณนาโฉมของนางไก่ฟ้าไว้อย่างไพเราะสมกับที่เป็นฝีปากกวีสำคัญ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ดังความว่า

ดอกเอ๋ย
เจ้าดอกมณฑาทิพ
โอ้โฉมนางไก่ฟ้าลอยมาลิบๆ
บุญได้จิบชื่นใจเอย
ดอกเอ๋ย
เจ้าดอกพวาทอง
โอ้โฉมนางไก่ฟ้าสุดหาสอง
บุญใครได้ครองครึ้มใจเอย
ดอกเอ๋ย
เจ้าดอกลดาสวรรค์
โอ้โฉมนางไก่ฟ้าโสภาครัน
บุญใครได้ขวัญรักเจ้าจนวันตายเอย

พญาระกาไก่ปลาบปลื้มเป็นที่ยิ่ง ได้ให้รางวัลนางเป็ดน้อยผู้เป็นสื่อโดยมอบตำแหน่งภรรยาน้อยให้ ฝ่ายภรรยาหลวงนางไก่ต้อยและฝูงนางไก่ แค้นใจนางเป็ดตัวดี จึงชวนกันจิกตีนางเป็ดน้อยอย่างพัลวันโดยไม่เกรงใจผู้เป็นสามีซึ่งเอ็ดตะโรภรรยาทั้งหลายของตน แต่ก็ไม่มีใครฟัง

กล่าวฝ่ายพญาจอ วิ่งหนีควายมาได้อย่างหวุดหวิดมาพักเหนื่อยอยู่ใกล้ๆ กับบริเวณที่เกิดเหตุ ได้ยินเสียงทะเลาะวิวาทกัน ก็มีปฏิกิริยาดังที่พรรณนาไว้ว่า

คั่งแค้นแสนถ่อยหนอยๆ เคราะห์
มาเทลาะหนวกหูอยู่ออกโฉ่
ไม่ขามเข็ดเป็ดไก่อวดไว้โต
กลวงโวเสียเถิดอยากกล้าดี

พญาจอเข้าไปจัดการนางไก่ต้อยเสียจนตายท่ามกลางความเสียใจของไก่ทุกตัว ยกเว้นนางเป็ดแม่สื่อตัวดี บัดนี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่พญาระกาต้องแสวงหาคู่ครองใหม่ นางเป็ดแม่สื่อจึงพาไปพบกับนางเอกคนใหม่ซึ่งสวยงามดังที่พรรณนาไว้ว่า

โฉมฉินเอย
เจ้าจะเยื้องจะย่างเหมือนอย่างกินริน
จะโบกจะบิน
ก็งามสิ้นสารพัด
ทรงเจ้าก็สวยขนสลวยแลวิไลย
จะพิศไหนก็น่ากำหนัด
งามเหมือนดาราตกป่าชัฏ
น่าโสมนัศนักเอย

พญาระกาเมื่อได้พบนางถึงกับตะลึง ได้เกี้ยวพาราสีนางไว้ว่า

ค่อยย่างเยื้องชำเลืองนางย่างกระชั้น
ขยิบขยับรับขวัญขันเสียงหวาน
แม่ไก่ฟ้างามเหมือนมาจากวิมาน
บุญบรรดารดอกจึ่งพบประสรบนวน
(สร้อย) โอ้แม่ชื่นชีวาไก่ฟ้าเอ๋ย
แสนสวยกระไรเลย เห็นโฉมน่าเชยชื่นกระมล
ขอเชิญโฉมบรรโลมชนม์
ห่างเสน่ห์รเหระหน ขอฝากตนจนตายเอย

นางไก่ฟ้าถึงแม้จะพึงใจพญาระกาอยู่บ้าง แต่ก็ยังรำลึกถึงคำของพญาลอผู้เป็นบิดาว่าหากเป็นพญาระกาจริงแล้วก็ต้องสามารถขันเรียกพระอาทิตย์ให้ขึ้นได้ นางจึงขอให้พญาระกาสำแดงฤทธิ์ให้นางดู ในขณะนั้นเป็นเวลาเที่ยงคืน พญาระกาไม่ลังเลที่จะแสดงอิทธิฤทธิ์ของตน แต่แล้ว

พึ่งสองยามจันทรอร่ามนภาไลย
พญาไก่ขันโจ้กโอ๊กชโงกหัว
ตเบ็งแบบแสบคอจนข้อรัว
ราตรีมัวก็ยังมืดอั้นอื้ดตรอง

นางไก่ฟ้าผิดหวังมาก อีกทั้งก็ได้เสียตัวให้พญาไก่แล้วจึงลอบหนีพญาไก่แล้วมาพบกับพญานกยูง นางก็เหไปพึ่งพญานกยูง พญาระกาตามนางมา พบนางอยู่กับพญานกยูง พญาระกาเกรงบารมีของพญานกยูงจึงถอยกลับ พร้อมทั้งบริภาษนางไก่ฟ้าว่า “นกอัปรีสวยแต่รูปจูบโสมม”

นางเป็ดแม่สื่อไม่ยอมเลิกล้มความพยายามของตนจึงชักชวนพญาระกาไก่ให้ไปหาแม่ไก่งวงแขก ถึงแม้ในบทละครมิได้มีการบรรยายโดยตรงถึงอุปนิสัยของพญาระกาไก่ แต่จากพฤติกรรมก็เห็นได้ชัดว่าพญาระกาผู้นี้เจ้าชู้อย่างไม่เลือกหน้า พอใจสตรีง่ายๆ แม่ไก่งวงแขกถึงแม้จะพอใจพญาระกาอยู่บ้าง แต่ก็เกรงสามีอยู่มิใช่น้อย ยิ่งสามีออกมาช่วยรับแขกอยู่ด้วย พญาระกาจึงต้องถอย แต่เพื่อมิให้เสียเชิงตน ก็อดที่จะตำหนิแม่ไก่งวงแขกว่า “ชักอีไก่แก่แรดเกินแทตย์ทูต ทำปากตูดงวงยื่นน่าคลื่นเหียน”

มาถึงคราวไก่ต๊อกอีก นางก็พร้อมที่จะ “ถวายตัว” ให้พญาระกาตามคำโอ้โลมของแม่สื่อสุดแสบ แต่โชคร้ายของนาง พญาระกาผู้ไม่ละเว้นสตรีใดแม้แต่คราวนี้ถึงกับหลุดปากตำหนินางออกมาว่า

พญาไก่นิ่งพิศพินิจเจ้า
เหมือนปักเป้า … หลิมหัว
โลมาเกาเหมือนเท่าประกระมอมมัว
ทำยิ้มยั่วสกปรกดั่งนกกระทา

ย้อนกลับไปถึงไก่ชน ชู้รักคนแรกของนางไก่ญี่ปุ่นมาพบนางซึ่งหนีกระเจิดกระเจิงมาก็รับเลี้ยงนางไว้ พร้อมทั้งสถาปนาตนเป็นพญาไก่ชน และมีบริวารเดิมของพญาระกามาเข้าด้วย กลุ่มนี้จึงทวีความเข้มแข็ง สามารถขับไล่พญาระกาได้ พญาระกาเมื่อถูกยึดอำนาจ จึงคิดจะไปปรึกษา
นกยางแต่นกยางไล่ตะเพิด จึงคิดจะไปหาพญาแร้งเพื่อให้ตัดสินความ

องก์ที่ 4 ตอนพิพากษาสมสมัค

พญาแร้งให้ประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง แล้วตัดสินความว่าทั้งนี้ก็เป็นเพราะทุกคนไม่ร่วมใจกัน ต่างคนต่างทำตามอำเภอใจ ไม่ดำรงอยู่ในศีลธรรม ท้ายที่สุดทุกคนต้องตายดังความว่า

ครั้นได้ความตามรูปสรุปเรื่อง
ที่เข็ญเคืองรบสู้เปนหมู่หย่อม
มูลเหตุสังเวชไม่ร่วมใจพร้อม
ต่างจิตรย่อมต่างใจจะใคร่ทำ
ใครเชื่อฤทธิ์คิดผจญฝืนคนอื่น
ให้ยอมยืนอย่างประสงค์หลงถลำ
เอามุสาลามกยกมากำ
พากันคลำโมหะล้วนอธรรม์
วินิจฉัยใครสมัครรักอย่างไหน
ต่างตามใจตามสุขอย่าปลุกปล้ำ
นิจะศีลภิญโญมโนนำ
ถือประจำจิตรจงคงเจริญ
วายวิบัติขัดเคืองส่อเรื่องร้าย
ก่อโมยพรรค์อันตรายภบสรรเสริญ
ต่างผิดพลั้งแต่ครั้งนั้นขออัญเชิญ
อโหสิดำเนินอนาคต
ไม่ว่าใครได้ชีวิตรคิดว่าตน
หลงกังวนตัณหาเห็นปรากฏ
ที่แท้ธาตุประมาทปั้นเปนหลั่นลด
ล้วนลงท้ายตายหมดเหมือนกันเอย

บทละครเรื่องนี้มีตัวละครมาก อาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ หากนำเสนอแผนผังจะเป็นดังนี้

มูลเหตุของเรื่องก่อนจะเป็นบทละครรำเรื่อง พญาระกา

มูลเหตุของเรื่องก่อนที่จะเป็นบทละครรำเรื่องพญาระกา มีดังนี้ หม่อมพักตร์ผู้เป็นตัวละครสาวของคณะปรีดาลัยของ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ หนีออกจากวังที่ถนนเฟื่องนครด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถทนสวามีผู้ซึ่งเป็นเจ้าของวังได้ หม่อมพักตร์เที่ยวไปขออาศัยอยู่กับคนรู้จัก ทางวังได้ออกค้นหาตัว ค้นตามบ้านต่างๆ ผู้เดือดร้อนจึงถวายฎีกา จึงมีพระราชดำรัสปรามให้เลิกการกระทำเช่นนั้น ท้ายที่สุดหม่อมพักตร์ไปขอพึ่งพิง ณ สถานีตำรวจ บุบผาราม ธนบุรี ตำรวจพยายามอ้อนวอนให้หม่อมพักตร์กลับวัง แต่เธอไม่ยินยอม ต่อเมื่อเวลาใกล้ค่ำ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) จึงต้องไปอ้อนวอนด้วยตนเอง แต่ไม่สำเร็จ หม่อมพักตร์ยืนยันว่าไม่สามารถทนอยู่ในวังแพร่งนราได้อีกต่อไป

ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องหาที่พักให้หม่อมพักตร์ ซึ่งก็มีสถานที่ให้เลือกอยู่ 2 แห่ง คือ วังวรดิศของ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) และวังของ กรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น หม่อมพักตร์เลือกไปพึ่งพิงที่วังของกรมหมื่นราชบุรีฯ (บางข่าวแจ้งว่า กรมหลวงดำรงฯ ทรงปฏิเสธ) ผลก็คงไม่จบอยู่เพียงนั้น กรมพระนราธิปฯ ทรงไม่พอพระทัยยิ่งนัก ด้วยความที่พระองค์ทรงเชี่ยวชาญในด้านกวีนิพนธ์ อีกทั้งต้องทรงพระนิพนธ์บทละครให้แก่คณะละครปรีดาลัยของพระองค์แสดงอยู่เป็นประจำ บทละครเรื่องปักษีปกรณัม (พญาระกา) จึงบังเกิดขึ้น

แต่ก่อนจะดำเนินเรื่องต่อ ผู้เขียนใคร่จะตั้งข้อสังเกตถึงชื่อเรื่องบทละครเรื่องนี้ ท่านผู้นิพนธ์ทรงเรียกชื่องานนิพนธ์ของพระองค์ว่า บทละครเรื่องปักษีปกรณัม (พญาระกา) ชื่อปักษีปกรณัมนี้เป็นชื่อปกรณัมหนึ่งในบรรดาที่มีอยู่ 5 เล่ม ได้แก่ นิทานอิหร่านราชธรรม ปักษีปกรณัมปิศาจปกรณัม เวตาลปกรณัม และ นนทุกปกรณัม ส่วนปักษีปกรณัม มีเนื้อเรื่องว่าด้วยหมู่นกปรึกษากันจะเลือกหัวหน้า ต่างก็เสนอชื่อและคุณสมบัติของผู้ที่ตนเสนอ มีทั้งผู้เห็นด้วยและคัดค้าน โดยยกนิทานสนับสนุน กรมพระนราธิปฯ อาจเคยเห็นปกรณัมเรื่องนี้มาก่อน จึงนำมาใช้เป็นชื่อเรื่องบทละครของพระองค์ หรืออาจเป็นได้ที่พระองค์ไม่มีโอกาสได้เห็นปกรณัมเรื่องโบราณเรื่องนี้ แต่เห็นว่าเป็นเรื่องของนก จึงตั้งชื่อว่า ปักษีปกรณัม

บทวิจารณ์

อาศัยข้อมูลและคำบอกเล่า บทละครเรื่อง พญาระกา กรมพระนราธิปฯ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเพื่อแสดงละครให้ทอดพระเนตร แต่ในทรรศนะของผู้เขียน ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะเนื้อเรื่องบทละครเรื่องนี้แสดงถึงตัวละครที่ไม่มีคุณธรรม ประพฤติผิดศีลข้อ 3 อย่างชัดเจนทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายที่มัวเมาในกามคุณ สำส่อน และเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่ลักษณะบทละครนี้จะแต่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ทอดพระเนตร เว้นแต่เหตุผลประการเดียวคือมุ่งเสียดสีประชดประชันบุคคลหนึ่ง

องก์ที่ 4 น่าจะมีการปรับปรุง แก้ไข หรือดัดแปลงเรื่อง เพราะคำตัดสินของผู้พิพากษาไม่สามารถจะสื่ออะไรได้มากนัก นอกจากจะเตือนสติว่าท้ายที่สุดทุกคนจะพบกับความตายซึ่งแทบจะไม่เกี่ยวข้องกับกรมหมื่นราชบุรีฯเลย และไม่น่าจะมีเหตุผลใดๆ ที่พระองค์จะต้องทรงน้อยพระทัย ทั้งนี้ชวนให้น่าสงสัยว่าน่าจะมีการดัดแปลงบทละครเรื่องนี้ขึ้นใหม่ โดยเฉพาะองก์ที่ 4 ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าจะต้องค้นคว้าศึกษาต่อไป

ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนขอกราบขอบพระคุณ ศาสตราจารย์ นายแพทยพูนพิศ อมาตยกุล ที่กรุณาให้ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียบเรียงบทความนี้โดยอาศัยจากคำบรรยายของท่าน อีกทั้งกรุณามอบต้นฉบับเรื่องพญาระกาไก่ให้ได้ใช้ศึกษาด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ต้นฉบับ (บทละคร) ใช้ว่า พญารกา แต่โดยทั่วไปเขียนพญาระกา

[2] พูนพิศ อมาตยกุล “บันทึกช่วยจำ” บทละครเรื่องปักษีปกรณัม (พญาระกา) ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452)

[3] ข้อมูลจากบทความของ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล

[4] คัดมาจาก บทละครเรื่องปักษีปกรณัม (พญาระกา) ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) ซึ่งมีคำอธิบายว่า “คัดจากสมุดบันทึกลายพระหัตถ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี สมบัติส่วนตัวของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล คัดลอกและพิมพ์ตามต้นฉบับเดิมโดย เสถียร ดวงจันทร์ทิพย์ 30 มีนาคม 2451


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2562