เผยแพร่ |
---|
เรื่องราวของพระนางเจ้าแอนน์ พระราชินีแห่งอังกฤษซึ่งครองราชย์ในช่วงศตวรรษที่ 18 ถูกหยิบยกมาสร้างเป็นสื่อบันเทิงเผยแพร่ในช่วงปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่อง The Favourite ได้รับความสนใจทั้งจากคนในวงการแผ่นฟิล์มและผู้สนใจรายอื่น นอกเหนือจากเรื่องความสัมพันธ์กับคนสนิทในราชสำนักแล้ว บรรยากาศทางการเมืองของอังกฤษในช่วงหลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ก็เป็นรอยต่อห้วงสำคัญอีกช่วงหนึ่ง
พระนางทรงเป็นราชวงศ์สจวร์ตพระองค์สุดท้ายในบัลลังก์การปกครองของอังกฤษ พระนางขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ ค.ศ. 1702 ขณะที่ทรงมีพระชนมายุ 37 พรรษา เรื่องราวของพระนางถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ The Favourite ซึ่งคว้ารางวัลจากหลายเวทีทั้งในสหราชอาณาจักรและอีกหลายเวทีในยุโรป แม้ว่าจะพลาดรางวัลออสการ์ในปี 2019 แต่ก็ยังเป็นผลงานที่ทำให้เรื่องราวของพระนางได้รับความสนใจ
พระนางเป็นพระธิดาของพระเจ้าเจมส์ ดยุคแห่งยอร์ก ซึ่งต่อมาเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 2 กับแอนน์ ไฮด์ พระนางเจ้าแอนน์ ทรงเป็นพระขนิษฐาของพระนางเจ้าแมรี่ที่ 2 ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายจอร์จ แห่งเดนมาร์ก มีพระโอรส 1 พระองค์คือ เจ้าชายวิลเลียม (สิ้นพระชนม์ขณะพระชนมายุ 11 ชันษา) ในภาพยนตร์เล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงอำนาจและความสัมพันธ์ในราชสำนักระหว่างตัวละคร 3 คนคือพระนางเจ้าแอนน์, อาร์เกล มาแชม (Abigail Masham) (อ้างอิงตัวสะกดจาก สมเกียรติ วันทะนะ, 2560) และซาราห์ เชอร์ชิล (Sarah Churchill) ดัชเชสแห่งมาร์ลโบโร (Duchess of Marlborough) นางสนองพระโอษฐ์ที่พระนางทรงไว้วางพระทัยอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางบริบทความสัมพันธ์นี้ ยังมีสถานการณ์สงครามแย่งชิงราชสมบัติสเปนเกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากรัชสมัยพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ซึ่งภายหลังพระนางทรงเป็นที่รู้จักในฐานะสมัยที่ปิดฉากสงครามชิงราชสมบัติสเปน (ค.ศ. 1702-1713)
ในปีค.ศ. 1702 อังกฤษ ฮอลแลนด์ และออสเตรีย ซึ่งอยู่ในสภาพพันธมิตรใหญ่พร้อมพันธมิตรเสริมอื่นอีกหลายประเทศร่วมกันประกาศสงครามกับฝรั่งเศส อันเป็นผลสืบเนื่องจากที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสส่งกองทัพเข้ายึดครองเขตเนเธอร์แลนด์ของสเปน (ซึ่งเกี่ยวโยงกับสัญญาลับระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรีย และอีกหลายกรณี) ทำให้พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 กษัตริย์แห่งอังกฤษ และฮอลแลนด์ ในเวลานั้นทำสัญญาเป็นพันธมิตรใหญ่กับออสเตรีย ในค.ศ. 1701 รับรองสิทธิของออสเตรียในดินแดนราชอาณาจักรสเปนทั้งหมด (สืบเนื่องจากข้อตกลงลับระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส เมื่อค.ศ.1699)
สงครามการแบ่งราชสมบัติสเปนกินระยะเวลายาวนานถึง 10 ปี และจบลงด้วยสนธิสัญญาอูเทรคท์ (The Treaty of Utrecht) ซึ่งคู่สงครามทำสัญญาร่วมกันหลายข้อลงวันที่เมื่อปีค.ศ. 1713
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่อังกฤษประกาศสงครามกับฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1702 จอห์น เชอร์ชิล ดยุคแห่งมาร์ลโบโร สามีของซาราห์ เชอร์ชิล (นางสนองพระโอษฐ์ซึ่งพระนางเจ้าแอนน์ ทรงไว้วางพระทัยตั้งแต่ครองราชย์) เป็นผู้บัญชาการกองทัพพันธมิตรอังกฤษ ฮอลแลนด์ และเยอรมนี กองทัพพันธมิตรได้ชัยสำคัญหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม สงครามสำคัญที่มาลปลาเกว็ต (Malplaquet) ค.ศ. 1709 ทำให้กองทัพอังกฤษเสียกำลังพลถึง 2 หมื่นราย เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่มาร์ลโบโร ไม่ได้รับความนิยมมากนักเมื่อเทียบกับชัยชนะที่ได้จากการรบครั้งสำคัญ
ขณะที่ความสัมพันธ์ของพระนางเจ้าแอนน์ กับซาราห์ เชอร์ชิล เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและดำเนินมาอย่างยาวนานตั้งแต่พระนางเจ้าแอนน์อยู่ในวัยเยาว์ ซึ่งดร. ฮานนาห์ เกรก (Hannah Greig) อาจารย์ผู้บรรยายประวัติศาสตร์สมัยใหม่ในมหาวิทยาลัยยอร์ก และเป็นที่ปรึกษาด้านข้อมูลประวัติศาสตร์ในคณะผู้สร้างภาพยนตร์ The Favourite บรรยายว่า เมื่อพระนางเจ้าแอนน์ ขึ้นครองราชย์ พระนางมอบหมายหน้าที่ต่างๆ ให้กับซาราห์ เชอร์ชิล ซึ่งเชอร์ชิล เองก็ใช้อำนาจที่ได้มาไปให้สนองผลประโยชน์กับกลุ่มทางการเมืองฟากของเธอคือกลุ่มวิกส์ (Whigs) อันเป็นขั้วทางการเมืองที่ขับเคี่ยวกับกลุ่มทอรี (Tory) แย่งชิงอำนาจเพื่อครองเก้าอี้เสนาบดีและคณะรัฐมนตรีในช่วงศตวรรษที่ 1680 ถึง 1850
สมเกียรติ วันทะนะ อธิบายว่า คำว่า “วิกส์” มีรากมาจากศัพท์สกอต ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าชาร์ลสที่ 1 หมายถึงกลุ่มหัวรุนแรงของสกอตโปรเตสแตนท์ หรือโควีแนนเตอร์ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่ต่อต้านไม่ให้เจ้าชายเจมส์ ดยุคแห่งยอร์ก (พระบิดาของพระนางเจ้าแอนน์) มีสิทธิในราชบัลลังก์อังกฤษ เพราะเจ้าชายเจมส์ทรงนับถือคาทอลิก
ขณะที่กลุ่มทอรี ในช่วงค.ศ. 1678-1681 หมายถึงผู้สนับสนุนฝั่งของพระเจ้าชาร์ลสที่ 2 และเจ้าชายเจมส์ ดยุคแห่งยอร์ก ซึ่งเน้นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้น้ำหนักกับกษัตริย์มากกว่าสภา อย่างไรก็ตาม ความหมายของคำว่าวิกส์ แปรผันไปตามบริบท และสถานการณ์
จอห์น เชอร์ชิล สามีของซาราห์ เชอร์ชิล ก็เป็นสมาชิกพรรคทอรีสายกลาง และเป็นหนึ่งในแกนนำคณะรัฐมนตรีของพระนางเจ้าแอนน์ หลังพรรคทอรี ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1705 และในค.ศ. 1707 คณะรัฐบาลชุดนี้ยังผลักดันให้รวมสกอตแลนด์เข้ากับอังกฤษ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในสมัยพระนางเจ้าแอนน์ทรงครองราชย์
หลังจากนั้นน้ำหนักทางการเมืองเริ่มเทกลับไปที่พรรคทอรี ซึ่งชนะเลือกตั้งทั่วไปในค.ศ. 1708 และ 1710 ซึ่งในช่วง 1708 นี่เองที่สถานการณ์ทางการเมืองส่งผลต่อความสัมพันธ์ของพระนางเจ้าแอนน์กับซาราห์ เชอร์ชิล
ฮานนาห์ เกรก ที่ปรึกษาด้านข้อมูลประวัติศาสตร์ อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างพระนางเจ้าแอนน์กับซาราห์ เชอร์ชิล ว่าก่อนที่ซาราห์ จะมีตำแหน่งสูงส่งและมีอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับพระนางเจ้าแอนน์ ดูเหมือนว่าจะมั่นคงแน่นแฟ้นอย่างยิ่ง เมื่อพระนางขึ้นสู่อำนาจ ซาราห์ เป็นผู้มีบทบาทหน้าที่ดูแลหลายด้าน หากไม่ใช่แค่ในเอกสาร เมื่อสังเกตดูในภาพวาดบางชิ้นจะเห็นซาราห์ ครอบครองกุญแจสีทองซึ่งเชื่อว่าเป็นกุญแจเปิดห้องส่วนพระองค์ของพระนางเจ้าแอนน์
แต่เมื่อเวลาผ่านไปความสัมพันธ์ก็เริ่มสั่นคลอนมากขึ้นนับตั้งแต่ช่วงค.ศ. 1708 เป็นต้นมา ด้วยเหตุผลด้านฝั่งฝ่ายทางการเมือง และความแตกต่างด้านลักษณะนิสัยระหว่างผู้หญิง สุดท้ายความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ขาดผึง
พระนางเจ้าแอนน์ ทรงให้อาร์เกล มาแชม ข้าราชบริพารระดับล่างและญาติของดัชเชส แห่งมาร์ลโบโร ขึ้นมาเป็นนางสนองพระโอษฐ์แทน ว่ากันว่า ส่วนหนึ่งนั้นเชื่อมโยงกับนัยว่าซาราห์ เชอร์ชิล หาญกล้ากล่าวหาพระนางว่าเป็นหญิงรักหญิง Ophelia Field ผู้เขียนหนังสือ The Favourite ให้สัมภาษณ์โดยแสดงความคิดเห็นกรณีนี้ว่า เมื่อซาราห์ เริ่มรู้สึกแรงกดดันจากผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่จะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งของเธอ เธอจึงเริ่มบอกว่าความสัมพันธ์ของพระนางเจ้าแอนน์กับผู้หญิงนั้นมีลักษณะเป็นความสัมพันธ์ที่ “ไม่เป็นไปแบบธรรมชาติ” ที่ผ่านมาซาราห์ เขียนจดหมายสื่อสารกับพระนางเจ้าแอนน์ หลายฉบับ และเธอแสดงท่าทีว่า หากเธอไม่ได้เป็น “คนโปรด” อย่างที่ต้องการ เธอจะเปิดโปงเนื้อหาเหล่านี้
ความสัมพันธ์ระหว่างพระนางเจ้าแอนน์ กับซาราห์ ที่แตกหักเป็นผลให้ดยุคแห่งมาร์ลโบโร ถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีในช่วงปลายปี ค.ศ. 1711 ปีต่อมา มาร์ลโบโร ต้องลี้ภัยไปที่ฮอลแลนด์และเยอรมนี กระทั่งในรัชสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 1 จึงกลับมาได้
ช่วงปลายรัชสมัยของพระนางเจ้าแอนน์ พระนางทรงประชวร ในช่วงเวลานั้น ราว ค.ศ. 1713 เฮนรี เซนต์ จอห์น ลอร์ด บอลิงโบรก (Hery St.John, Lord Bolingbroke) คนสำคัญของพรรคทอรี แนะนำให้เจ้าชายเจมส์ พระโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เปลี่ยนศาสนาจากแองกลิคันเป็นคาทอลิก เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนจากชาวอังกฤษให้พระองค์ขึ้นครองราชย์แทนเจ้าชายจอร์จ แห่งฮันโนเวอร์ ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ
ช่วงค.ศ. 1713 ซึ่งเป็นช่วงที่ทำสนธิสัญญาอูเทรคท์ ได้สำเร็จ แต่พระนางที่มีพระอาการประชวรซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการตรากตรำพระวรกายจากการสังสรรค์และอาการป่วยโดยไม่มีวี่แววว่าจะทรงหายก็ชื่นชมช่วงเวลานั้นได้ไม่นานนัก พระนางสิ้นพระชนม์จากอาการเส้นโลหิตในสมองแตก ขณะที่พระชนมายุ 49 พรรษา เจ้าชายจอร์จ แห่งฮันโนเวอร์ทรงเดินทางจากเยอรมนีมาขึ้นครองราชสมบัติในฐานะพระเจ้าจอร์จที่ 1 เป็นกษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์ฮันโนเวอร์ ทรงเข้าพิธีราชาภิเษกเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1714
แม้ว่าบริบทเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจและควรพิจารณาคือองค์ประกอบบางอย่างที่ถูกใส่รายละเอียดในภาพยนตร์เป็นเรื่องที่ถูกแต่งเติมไปตามสไตล์การผลิตสื่อบันเทิง อาทิ การเลี้ยงกระต่ายในห้องบรรทมของพระนางเจ้าแอนน์ ซึ่งดร. ฮานนาห์ เกรก ระบุว่า ในห้องบรรทมของราชวงศ์ไม่เคยมีเลี้ยงกระต่ายมาก่อน ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ยังถือเป็นเครื่องบริโภคและสิ่งรบกวนมากกว่าเป็นสัตว์เลี้ยง
แต่ในสื่อบันเทิงใช้มันในการสื่อสารเชิงสัญญะถึงช่วงเวลาที่ยังทรงพระเยาว์ซึ่งทรงตั้งครรภ์ทารก แต่ต้องประสบกับความผิดหวังเมื่อทรงแท้งในปี ค.ศ. 1687 ก่อนจะให้กำเนิดพระราชโอรสในค.ศ. 1689 แต่พระโอรสก็ทรงสิ้นพระชนม์ในปี 1700
อ้างอิง:
สมเกียรติ วันทะนะ. การสร้างระบอบประชาธิปไตย ของอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี. กรุงเทพฯ : สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560
Greig, Hannah. “The Favourite: the real history behind the new Queen Anne film”. History Extra. Online. 11 FEB 2019. <https://www.historyextra.com/period/stuart/real-history-the-favourite-film-queen-anne-olivia-colman-hannah-greig/>
Winn, James Anderson. “In profile: Queen Anne”. History Extra. Online. 8 JAN 2019. <https://www.historyextra.com/period/stuart/queen-anne-facts-life-favourites-duchess-marlborough-union-england-scotland/>
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2562