เปิดคดีคนคลั่งไคล้ควีนบุกรุกพระราชวังอังกฤษ ฉกชุดชั้นในสตรี-ประชิดตัวราชินี

ภาพวาดควีนวิกตอเรียที่ 1 โดย Franz Xaver Winterhalter เมื่อ 1859 ฉากหลังเป็นพระราชวังบักกิ้งแฮม

หลายคนเวลานึกถึงสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียของอังกฤษจะนึกถึงราชินีผู้ปกครองอังกฤษที่เป็นสตรีสูงอายุร่างท้วมผู้ทรงอำนาจ แต่ก่อนจะมาเป็นราชินีผู้ทรงอำนาจ ช่วงแรกเริ่มขึ้นเป็นราชินีในวัยแรกรุ่น ทรงเป็นราชินีที่อ่อนวัยและสง่างาม ความงามของพระองค์เป็นที่ชื่นชอบของคนในยุคนั้น หลายคนชื่นชอบพระองค์แต่มีบางคนคลั่งไคล้ราชินีมากเกินไปอย่าง “เอ็ดเวิร์ด โจนส์” หรือรู้จักกันในชื่อเด็กชายโจนส์

เจ้าหนูรายนี้เป็นผู้ลักลอบเข้าสู่พระราชวังบักกิ้งแฮมเพื่อแอบติดตามพระราชินี ลุกล้ำความเป็นส่วนตัวสร้างความวุ่นวายให้กับพระราชินีแบบเกินคาด กลายเป็น “อาชญากร” ที่มีชื่อเสียโด่งดังจากการติดตามองค์ราชินีเข้าไปในวังและเขาผู้นี้เป็นตำนานของ “สตอล์เกอร์” (stalker) หรือผู้แอบติดตามคนอื่นในยุคแรกๆ ที่พบในบันทึกทางประวัติศาสตร์

ผู้คนอังกฤษในช่วงเวลานั้นมีท่าทีไม่ค่อยชื่นชอบการปกครองของกษัตริย์องค์ก่อนหน้าคือพระเจ้าจอร์จที่ 4 และพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 เพราะใช้งบประมาณไปจำนวนมากโดยไม่ได้ผลลัพธ์เป็นที่พอใจ กระทั่งการขึ้นครองราชขององค์ราชินีถึงเปลี่ยนความคิดของคนอังกฤษให้กลับมานิยมราชวงศ์อีกครั้งจากความเห็นใจ เพราะผู้คนเห็นว่าพระองค์ทรงพระเยาว์ ต้องขึ้นครองบัลลังอย่างกะทันหัน

สิ่งพิมพ์ในยุคนั้นพากันเขียนถึงพระองค์ให้เป็นที่สนใจทั้งในแง่ความสามารถและความงาม เรื่องราวของพระองค์ที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นจำนวนมากทำให้เกิดกระแสชื่นชอบพระราชินี สิ่งที่ตามมา (ในยุคนั้น) จึงเกิดพวก “คลั่งราชินี” ขึ้น (ลองนึกภาพเทียบกับพวกคลั่งไคล้คนดังแบบเกินขอบเขตในยุคสมัยใหม่) ซึ่งกลุ่มนี้เองจะเป็นผู้นำปัญหาตามมา

เอ็ดเวิร์ด โจนส์ 

เรื่องของเอ็ดเวิร์ด โจนส์ เริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. 1837/พ.ศ.2380 เป็นปีที่พระราชินีวิกตอเรียผู้ทรงพระเยาว์ขึ้นครองบัลลังก์อังกฤษ ในยุคนั้นการตรวจตราพระราชวังบักกิ้งแฮมอันเป็นที่ประทับไม่ถึงกับแน่นหนา เจ้าหน้าที่ผู้รักษาความปลอดภัยไม่ค่อยใส่ใจในการปฏิบัติหน้าที่ ปัญหาเรื่องการรักษาความปลอดภัยในวังถูกเปิดเผยออกมาจาก “เด็กชายโจนส์” ผู้ที่ชื่นชมความงามและคลั่งไคล้ราชินีซึ่งเขาแอบติดตามพระองค์โดยการลักลอบเข้าไปในพระราชวังบักกิ้งแฮมหลายครั้ง และโจนส์ ถูกจับได้สามครั้งเท่านั้น

จุดประสงค์ในการเข้าไปภายในวังก็เพื่อแอบมองพระองค์นั่งบัลลังก์ สื่อสิ่งพิมพ์สมัยนั้นรายงานว่า เขาสามารถเข้าไปรื้อค้นของใช้ส่วนพระองค์ การที่เด็กคนนี้ได้แอบดู แอบฟัง รวมทั้งไปรื้อข้าวของส่วนพระองค์กลายเป็นประเด็นใหญ่โต นั่นคือเรื่องความปลอดภัยของพระองค์และการละลาบละล้วงชีวิตส่วนตัวของพระองค์ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับเด็กชายโจนส์ ที่เข้าไปในพระราชวังบักกิ้งแฮม

พระราชวังบักกิ้งแฮม ภาพจาก AFP

ถูกจับครั้งแรก

ในครั้งแรกที่เขาถูกจับได้เมื่อ ค.ศ. 1838/พ.ศ.2381 เขาถูกนำไปขึ้นศาลและถูกนำตัวไปยังเรือนจำท็อตฮิลล์ฟีลด์ส ในข้อหาขโมยดาบและทรัพย์สินอื่นๆ ของขุนนางชาร์ลออกัสตัส เมอร์เรย์ขุนนางที่ดูแลกิจการภายในพระราชวังของพระราชินี แต่ไม่มีการพูดถึงความจริงที่เขาขโมยจดหมายของพระราชินีวิกตอเรีย รูปวาดของพระองค์ และเมื่อเจ้าหน้าที่ถกเสื้อนอกขึ้นก็ยังพบชุดชั้นในสตรีร่วงลงมาด้วย

เด็กชายยอมรับว่าที่แอบเข้าไปเพราะเป็นความต้องการที่จะเห็นพระราชวังมาโดยตลอด จึงแอบเข้าไปทางประตูวาณิช แอบอยู่ข้างหลังชายผู้หนึ่งโดยไม่มีใครเห็น เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนห้าโมงเย็นในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1838/พ.ศ.2381 และถูกจับในวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1838/พ.ศ.2381 เวลาหลายวันนั้นเขาได้เที่ยวสำรวจพระราชวังโดยไม่มีใครรบกวน

นักข่าวหนังสือพิมพ์บรรยายภาพเขาว่าเป็นเด็กชายอายุ 14 ปี ร่างแคระแกร็น หน้าตาน่าเกลียด ลักษณะท่าทางเหมือนคนกวาดปล่องไฟ ภายหลังนักข่าวได้ทราบความจริงว่าเด็กคนนี้คือบุตรชายช่างตัดเสื้อยากจน ที่เมาทุกวัน มีลูกถึงเจ็ดคนอาศัยในย่านเบลล์-ยาร์ด ถนนยอร์ก พวกนักข่าวรู้สึกว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นข่าวที่ผู้คนให้ความสนใจเกี่ยวกับคดีเด็กข้างถนนสกปรกผู้บุกรุกเข้าไปในพระราชวังบักกิ้งแฮมและคอยสอดแนมความลับในนั้น ได้พบเห็นเรื่องต่างๆในที่ประทับส่วนพระองค์ของพระราชินี

เรื่องนี้ถูกแพร่ออกไปกลายเป็นที่สนใจของคนจำนวนมากในอังกฤษ และการพิจารณาคดีดำเนินไปกลายเป็นเรื่องของเด็กไม่รู้ความที่ต้องการเห็นพระราชวังและนำของติดตัวกลับไปเป็นที่ระลึกจึงไม่เจตนาที่จะขโมยของ ศาลจึงตัดสินให้เขาพ้นความผิด

หลังถูกปล่อยตัวออกมาเด็กชายเอ็ดเวิร์ดทำงานเป็นเด็กก่อสร้างอยู่หลายเดือนและหารายได้จุนเจือครอบครัว เมื่อทำงานหนักมาได้สักพักเขาก็ถูกไล่ออกใน ค.ศ. 1839/พ.ศ.2382 ต่อมาใน ค.ศ. 1840/พ.ศ.2383 ก็ไปทำงานเป็นเด็กส่งของที่ร้านเภสัชของมิสเตอร์เดนดัลแต่เพราะความไม่ตรงต่อเวลาและความเกียจคร้านทำให้เขาถูกไล่ออกอีก หลายเดือนที่เขาเอาแต่นั่งๆนอนๆอยู่ในบ้านแทบไม่ทำงานอะไรเลย

ถูกจับครั้งที่ 2

จนมาถึงวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ.1840/พ.ศ.2383 ผ่านมาได้สองปี ราชินีได้แต่งงานกับเจ้าชายอัลเบิร์ตและประสูติพระธิดา เด็กชายโจนส์เข้าไปในพระราชวังบักกิ้งแฮมอีกเป็นครั้งที่สอง ข่าวถูกแพร่ออกไปครั้งนี้เขาถูกส่งตัวไปที่ศาลหลวงแทนศาลยุติธรรมเพราะไม่อยากให้สาธารณชนรับรู้ความหละหลวมภายในวัง โดยให้ไต่สวนในศาลหลวงข้อหาแอบเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในวังโดยมีจุดประสงค์จะก่ออาชญากรรม

ครั้งนี้เขาถูกตัดสินออกมาว่า ถึงแม้จะไม่มีทรัพย์สินถูกขโมยออกมาแต่ต้องมีการลงโทษให้ไปทำงานหนักในสถานดัดสันดานที่อยู่บนถนนท็อตฮิลล์เป็นเวลาสามเดือน เรื่องนี้ทำให้ชาวลอนดอนอยากรู้เรื่องของเด็กชายโจนส์อย่างมาก พวกนักข่าวจึงสืบหาข่าวเกี่ยวกับเด็กชายลึกลับที่เข้าไปในวังและได้รู้จากพัศดีว่า เขาได้เล่าประสบการณ์ในการเข้าวังจนหมดในเรือนจำท็อตฮิลล์-ฟีลด์ส โดยบอกว่าเขาได้นั่งบนบัลลังก์ ได้เห็นพระราชินีและได้ยินเสียงพระธิดาของราชินีร้องและที่เขาเข้าไปในพระราชวังเพื่อจะเขียนหนังสือเล่าเรื่องคนในวังโดยเฉพาะเรื่องของราชินี

หนังสือพิมพ์พากันเสนอเรื่องเกี่ยวกับเด็กชายโจนส์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นคนดังในสื่อสมัยนั้น ตามที่เดอะไทมส์บอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนฝั่งตะวันตกของเมืองให้ความสนใจมากที่สุด ไม่มีใครพูดเรื่องอื่นและคนทั่วไปมองว่าน่าจะมีบทลงโทษอื่นนอกจากจองจำเป็นเวลาสามเดือน เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครบุกรุกไปในพระราชวังหลวง เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกไม่สบายใจ รวมถึงองค์ราชินีตามที่ปรากฏในบันทึกส่วนพระองค์ว่า

“ตอนตื่นนอน อัลเบิร์ตบอกข้าว่าพบเด็กหนุ่มแอบอยู่ในห้องอยู่ใต้โซฟาในห้องนั่งเล่นของข้า เขาไม่ยอมบอกอะไรและไม่มีอาวุธสักชิ้น เขาบอกว่าไม่มีเจตนาร้ายและที่เข้ามาก็เพราะอยากเห็นพระราชินี! เราเคยได้ยินว่าเขาเคยลอบเข้ามาในวังครั้งหนึ่งแล้ว เขาสติไม่ดีสักเท่าไร มาเพราะความอยากรู้อยากเห็น แต่ถ้าเขาเกิดมาถึงในห้องนอนข้าคงตกใจยิ่งนัก”

เขาถูกปล่อยตัวในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ.1841/พ.ศ.2384 หนังสือพิมพ์หลายฉบับนำเสนอข่าวของเด็กชายโจนส์อย่างสม่ำเสมอ เขาพยายามหางานทำแต่ชื่อเสียงที่เขาแอบเข้าวังครั้งล่าสุดปิดกั้นโอกาสในการทำงานทั้งหมดของเขา

ถูกจับครั้งที่ 3 

และแล้วเขาก็ลอบเข้าพระราชวังอีกเป็นครั้งที่สามตอนตีหนึ่งครึ่งของวันอังคารที่ 16 มีนาคม ค.ศ.1841/พ.ศ.2384

เขาถูกนำตัวไปไต่สวนที่กระทรวงมหาดไทย คราวนี้ข่าวไม่ได้รั่วไปถึงนักข่าวและการพิจารณาคดีถูกเก็บเป็นความลับ นักข่าวหลายคนรออยู่หน้ากระทรวงมหาดไทย ทุกคนได้ทราบว่าเด็กชายโจนส์ถูกส่งเข้าสถานดัดสันดานที่ท็อตฮิลล์-ฟิลด์เป็นเวลาสามเดือนโทษฐานเกะกะระรานทำตัวเป็นคนจรจัด เนื่องจากการที่เขาบุกเข้าไปในพระราชวังบักกิ้งแฮมเป็นครั้งที่สาม

เรียกได้ว่าเป็นสถานการณ์พิเศษและกลายเป็นหัวข้อที่ทุกคนให้ความสนใจ ครั้งนี้ทำให้หน่วยงานรักษาความปลอดภัยของวังสลัดพฤติกรรมเฉื่อยชาทิ้งหันมาใส่ใจในการรักษาความปลอดภัยทำทุกอย่างให้แน่ใจว่าในอนาคตจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก โดยปิดทุกช่องทางด้วยลูกกรงเหล็ก จัดกำลังคน แต่งตั้งทหารขึ้นมาสามกลุ่มดูแลประตูเข้าออกทุกช่องทางของพระราชวังบักกิ้งแฮม

หลังจากลอบเข้าพระราชวังสามครั้งเด็กชายโจนส์ถูกรัฐบาลควบคุมตัวไปเพราะไม่อยากเห็นเขาบุกเขาไปในวังไปยังที่ประทับขององค์ราชินีอีก การเข้าไปในแต่ละครั้งสร้างแรงกดดันขึ้นเรื่อยๆ มีความพยายามเกลี้ยกล่อมให้เขาไปทำงานบนเรือหรือย้ายออกนอกประเทศแต่ก็ไม่เป็นผล

เมื่อเขาพ้นโทษจากการเข้าวังเป็นครั้งที่สามในปี ค.ศ.1841/พ.ศ.2384 จึงถูกพาตัวไปและถูกจับส่งขึ้นเรือสินค้าโดยที่เขาไม่สมัครใจและกลับมาลอนดอนอีกครั้งหลังผ่านไปได้หนึ่งปีครึ่ง ต่อมาก็ถูกพาตัวไปอีกเป็นครั้งที่สอง คราวนี้เขาถูกส่งขึ้นไปอยู่บนเรือรบ ผู้บุกรุกพระราชวังที่กลับมาลอนดอนไปเป็นทหารกลายเป็นกะลาสีทั้งที่ไม่เต็มใจนานกว่าห้าปีครึ่ง ในช่วงค.ศ.1842-1848/พ.ศ.2385-2391 เขาไม่เคยได้รับอนุญาตให้ขึ้นบกโดยไม่มีผู้คุ้มกันและมีการเฝ้าระวังอย่างเคร่งครัด ให้เขาประจำอยู่เฉพาะทะเลเมดิเตอร์เรเนียนห่างไกลจากกรุงลอนดอนและพระราชวังบักกิ้งแฮม

คดีอื่นในพระราชวัง

เด็กหนุ่มรายนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่นจากพฤติกรรมซ้ำไปซ้ำมา แต่ในบันทึกยังพบผู้บุกรุกเข้าพระราชวังอีกหลายราย อาทิ ในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1838 ที่เหล่าทหารพระราชวังบักกิ้งแฮมต้องตกใจสุดขีดเมื่อพบชายรายหนึ่งนอนหลับแบบสบายใจบนห้องแสดงภาพเขียนห่างจากห้องบรรทมของพระราชินีเพียงเจ็ดหลาเท่านั้น ชายรายนนี้นามว่า โทมัส ฟลาวเวอร์ เขาเป็นคนที่คลั่งไคล้พระราชินีผู้ทรงพระเยาว์

ฟลาวเวอร์ ให้การว่าเขาเข้าวังมาเพราะต้องการขอแต่งงานกับพระราชินี แต่บังเอิญงีบหลับหลังพยายามค้นหาอยู่นานแต่ก็ไม่พบเสียที ฟลาวเวอร์ ถูกส่งเข้าเรือนจำ เพื่อนของเขาต้องช่วยกันประกันตัวออกมาด้วยเงิน 50 ปอนด์ และตัวเขาจ่ายเองอีก 50 ปอนด์

การบุกรุกเข้าพระราชวังของฟลาวเวอร์ ไม่ปรากฏข้อมูลชัดเจนว่า เขาเข้าไปได้อย่างไร หากพิจารณาจากสภาพวังที่กำแพงเตี้ย กิ่งไม้ทอดเหนือกำแพงหลายแห่ง ในขณะที่ทหารขี้เมาและคนจรจัดก็เข้ามานอนในสวนของพระราชวังเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปในยุคนั้น ย่อมสะท้อนภาพความหละหลวมของการรักษาความปลอดภัยพระราชวังบักกิ้งแฮมในสมัยนั้น

อย่างไรก็ตาม การกระทำของฟลาวเวอร์ เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้การรักษาความปลอดภัยในพระราชวังบักกิ้งแฮมรัดกุมขึ้น เจ้าหน้าที่จัดกำลังตำรวจมาประจำการที่พระราชวังมากขึ้น

ถ้าถามว่า หลังจากนั้นมาเกิดกรณีลักษณะนี้หรือไม่ น่าเสียใจที่ต้องบอกว่าเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ปี 1982 พระราชินีอลิซาเบธที่ 2 ยังคงประสบสถานการณ์บุคคลปริศนารูดเปิดม่านพระบัญชรขณะที่พระองค์ทรงตื่นบรรทม ทีแรกพระองค์ทรงดำริว่าน่าจะเป็นนางกำนัลสักคน แต่โดยทั่วไปแล้วไม่ควรมีใครบังอาจปลุกพระองค์ในเวลาเช้าขนาดนั้น

พระองค์ตรัสด้วยความกริ้วว่า “เจ้าเป็นใคร” พร้อมสังเกตว่า ชายที่ยืนในห้องบรรทมมีท่าทางไม่เรียบร้อย สวมกางเกงยีนส์ เสื้อยืดเก่า ในมือของเขาถือเศษที่เขี่ยบุหรี่ที่แตกแล้ว ผ้าปูพระแท่นของพระองค์เปื้อนด้วยหยดเลือดจากบาดแผลของเขา พระราชินีทรงระงับสติแล้วโทรเรียกเจ้าหน้าที่ให้เรียกตำรวจ

ระหว่างนั้นผู้บุกรุกทรุดตัวนั่งบนพระแท่นแล้วกราบทูลสถานการณ์ในชีวิตของเขาเอง และบอกว่าเดิมทีเขาคิดฆ่าตัวตายในห้องบรรทมแต่เปลี่ยนใจ พระราชินีมีรับสั่งให้เขาเล่าเรื่องครอบครัว เมื่อผู้บุกรุกขอบุหรี่ พระองค์ก็พระราชทานตามที่ขอด้วย

ในที่สุดเกิดมีนางกำนัลเข้ามาที่ห้องบรรทมโดยบังเอิญ นางกำนัลตกใจที่เห็นชายแปลกหน้ามานั่งในห้องในสภาพที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เธอวิ่งออกไปแจ้งมหาดเล็กให้มาจัดการผู้บุกรุก

สรุปว่า ชายรายนี้นามว่า ไมเคิล เฟแกน กรรมกรตกงานชาวไอริชที่ยังอยู่ระหว่างรอรับพิจารณาคดีในศาล และนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาเข้ามาในพระราชวังบักกิ้งแฮม เขาถูกจับได้ที่นอกพระราชวังเมื่อเดือนก่อน

เหตุการณ์นี้ก็ถูกรายงานข่าวออกไปอย่างครึกโครม แม้ว่าเจ้าหน้าที่พยายามปิดข่าว (อีกแล้ว) อย่างดี แต่ด้วยทักษะและความพยายามของนักข่าวอังกฤษ สื่อหลายแห่งต่างรายงานออกไป นักข่าวของเดอะเอกซ์เพรส ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่ากรณีของเฟแกน คือ “เหตุการณ์ไม่ธรรมดาที่เคยเกิดขึ้นในพระราชวังบักกิ้งแฮมเมื่อ 142 ปีก่อน เมื่อพบว่ามีเด็กชายหัวขโมยคนหนึ่งเข้าไปซ่อนตัวในห้องพระสำอางของพระราชินีวิกตอเรีย ห่างจากห้องที่พระราชินีผู้ทรงพระเยาว์บรรทมหลับเพียงไม่กี่ฟุต”

อ่านเพิ่มเติม

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บอนเดสัน, แจน. อายุรี ชีวรุโณทัย แปล. ควีนวิกตอเรียกับเด็กชายใต้โซฟา. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มกราคม 2563