ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
รูป “สัตว์ศักดิ์สิทธิ์” ที่สลักอยู่ในกรอบที่ขอบ “สระแก้ว” สระน้ำโบราณ 1,500 ปี เมืองมโหสถ มีหลากหลายชนิด แต่ไม่ได้จัดเรียงเป็นระเบียบ
รูป “สัตว์ศักดิ์สิทธิ์” ที่ สระแก้ว ซึ่งอาจจําแนกออกเป็นชนิดต่างๆ ได้ดังนี้
- ช้าง มีมากที่สุด ที่เดี่ยวๆ และเป็นโขลง หรือรูปแบบพิเศษ คือสลักเป็นสัญลักษณ์ตามคติพราหมณ์, พุทธ
ช้างลักษณะพิเศษ คือ คชลักษมี เป็นรูปช้างสองเชือกหันหน้าเข้าหากัน ชูงวงรดน้ำ ลงบนเทวีลักษมี (ชายาของพระนารายณ์ เป็นเทวีแห่งโชคลาภ) หรือบนหม้อน้ำ เป็นสัญลักษณ์มงคลของอินเดียโบราณ
สื่อถึงความเป็นมงคล ความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างตัวแทนของน้ำเข้ากับสระน้ำศักดิ์สิทธิ์
- เหรา (มกร) เหรา (อ่านว่า เห-รา) หรือมกร (อ่านว่า มะ-กอน หรือ มะ-กะ-ระ) เป็นสัตว์ในเทพนิยายของอินเดียโบราณ เป็นสัญลักษณ์ของน้ำ และความอุดมสมบูรณ์
เกิดจากการผสมของสัตว์หลายๆ อย่าง เช่น ปลา งู ช้าง จระเข้ จึงมีร่างเป็นงูหรือนาคมีหางเป็นปลา ปากยื่นยาว มีฟันแหลมคมคล้ายจระเข้และมีงวง
เหรา หรือมกรที่สระแก้วมีลักษณะต่างๆ กัน เช่น เป็นตัวคล้ายปลามีเกล็ด หรือตัวคล้ายงูหางเป็นลายประดิษฐ์ แต่มีงวงทุกตัว
- สิงห์ เป็นสัตว์แสดงฐานันดรศักดิ์ชั้นสูง หรือเป็นตัวแทนของกษัตริย์
- นาค หรืองูใหญ่ เป็นรูปงูพันเสาเป็นเกลียว แผ่พังพานหันออกมาด้านหน้า เป็นสัญลักษณ์ของน้ำ อาศัยในโลกบาดาลหรือลึกลงไปใต้ดิน
- หมูป่า คือหนึ่งในอวตารของพระวิษณุ ตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ว่าขุดเอาแผ่นดินขึ้นจากโลกบาดาล
- กินรี หรือคนธรรพ์ เป็นอมนุษย์ในเทพนิยายของอินเดียโบราณ อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ที่เชิงเขาพระสุเมรุ มีลักษณะเป็นรูปครึ่งคนครึ่งนก
ชมรายการทอดน่องท่องเที่ยว
อ่านเพิ่มเติม :
หมายเหตุ : คัดความจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ. เมืองมโหสถ ค้าทางทะเล 1,500 ปีมาแล้ว อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี เอกสารประกอบรายการทอดน่องท่องเที่ยว | มกราคม 2562
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2562