นครเชียงใหม่โบราณไม่ได้มีเฉพาะแค่เวียงในคูเมืองเท่านั้น!

นครเชียงใหม่ นครเชียงใหม่โบราณ
ประตูเมืองเชียงใหม่ (ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2442)

นครเชียงใหม่โบราณไม่ได้มีเฉพาะแค่เวียงในคูเมืองเท่านั้น!

“นครเชียงใหม่โบราณ” ในการรับรู้ของคนยุคปัจจุบันมักเข้าใจกันว่า เมืองโบราณนี้อยู่ในเขตรอบคูเมืองที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือหากย้อนไปเก่ากว่านั้นก็จะมีเวียงกุมกามที่เป็นเมืองเก่า แต่ความจริงแล้ว เมืองเชียงใหม่ ยังมี “เขต” อื่น ๆ ประกอบเป็นนครเชียงใหม่อีกหลายเขต

หนังสือ “ล้านนาประเทศ” ของอ.ศรีศักร วัลลิโภดม ให้นิยามคำว่า “เมือง” ว่า เมืองไม่ได้มีเฉพาะเขตที่มีคูดินคูน้ำล้อมรอบเท่านั้น ซึ่งจะต้องอาศัยการศึกษาองค์ประกอบในด้านอื่น ๆ อีก เช่น พฤติกรรมหรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ จึงจะช่วยให้นิยามคำว่าเมืองได้ครอบคลุมในหลาย ๆ มิติ ไม่เฉพาะแต่การพิจารณาจากสิ่งที่มนุษย์ก่อสร้างอย่างเดียว

Advertisement

ในภาพกว้าง ๆ หากมนุษย์มาอาศัยอยู่รวมกัน อ.ศรีศักรจะเรียกว่า “ชุมชน” บางชุมชนมีขนาดเล็กก็อาจเรียกว่า “หมู่บ้าน” บางชุมชนมีขนาดใหญ่ก็อาจเรียกเมืองก็ได้ เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมหรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ในชุมชนนั้น ๆ แล้วพบว่า หากในชุมชนมีโครงสร้างทางสังคมขนาดใหญ่ มีชนชั้นผู้ปกครองกับผู้ถูกปกครอง มีรูปแบบการวางผังเมือง มีศาสนสถานเป็นศูนย์กลางทางสังคม มีระบบชลประทาน เหล่านี้ก็จะนิยามได้ว่าเป็นชุมชนในระดับนคร

คูน้ำคันดินและกำแพง เมืองเชียงใหม่ มองเห็นเทือกเขาดอยสุเทพ ภาพถ่ายของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เมื่อสำรวจครั้งราวต้นทศวรรษที่ ๒๕๑๐

“เวียง” เป็นภาษาล้านนา ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่าเมือง โดยหลาย ๆ เวียงอาจอยู่ในระยะห่างจากกันไม่มาก และขึ้นตรงต่อเวียงใหญ่เวียงหนึ่งที่เป็นศูนย์กลาง ดังนั้นเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในบทความนี้จะกล่าวถึงเวียงในแง่ของชุมชนเมืองขนาดหนึ่ง และเวียงหลาย ๆ แห่งรวมกันจะเรียกว่า “นคร”

ชุมชนขนาดเล็กหรือหมู่บ้าน > เมืองเล็ก ๆ > เมืองใหญ่ ๆ หรือ นคร

เวียงไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ต้องมีการจัดการวางผังเมืองให้เป็นระบบระเบียบเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ เช่น สร้างวัดไว้กลางเวียงเพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน ขุดคลองเชื่อมแม่น้ำกับคูเมือง สร้างกำแพงดินเพื่อป้องกันเวียง เป็นต้น

ในราวพุทธศตวรรษที่ 8 ผังเมืองในสมัยทวราวดี บริเวณตอนบน เช่น ชัยนาท นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ เริ่มมีการแบ่งผังเมืองออกเป็น 2 ชั้น คือชั้นนอกและชั้นใน แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของสังคมมนุษย์ที่เริ่มซับซ้อนมากขึ้น โดยผังเมืองชั้นในนั้นมีหน้าที่พิเศษหรือวัตถุประสงค์บางอย่างที่มนุษย์ให้ความสำคัญ เช่น เป็นเขตประกอบพิธีกรรมทางศานา หรือเป็นเขตอาศัยของเจ้าเมือง

ผังเมืองแบบสี่เหลี่ยมที่มีคูน้ำคูดินล้อมรอบนี้ได้รับอิทธิพลจากขอมราวพุทธศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา ซึ่งยึดจากคติเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของโลก และจะต้องมีศาสนสถานสำคัญอยู่กลางเวียง คติเหล่านี้ส่งผลมาถึงการสร้างเวียงสุโขทัย ซึ่งเป็นต้นแบบของการสร้างเวียงเชียงใหม่อีกทอดหนึ่ง

เวียงเชียงใหม่ถอดแบบจากเวียงสุโขทัย

ศิลาจารึกวัดเชียงมั่น บันทึกว่า พระยาพระร่วงหรือพ่อขุนรามคำแหง พระยามังราย และพระยางำเมือง ได้เสด็จมาร่วมในการวางแผนสร้างเวียงเชียงใหม่ ซึ่งการสร้างเวียงเชียงใหม่ก็ยึดเอาแนวทางการสร้างเวียงสุโขทัยมาแทบทั้งสิ้น 

กล่าวคือ เวียงเชียงใหม่มีผังเมืองแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ยาวด้านละ 1,600 เมตร คล้ายคลึงกับผังเมืองเวียงสุโขทัยที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า แตกต่างกันตรงที่เวียงสุโขทัยมีคูและกำแพงเมือง 3 ชั้น แต่เวียงเชียงใหม่มีเพียงชั้นเดียว

เวียงเชียงใหม่ตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขาระหว่างดอยสุเทพกับแม่น้ำปิง ในขณะที่เวียงสุโขทัยก็ตั้งอยู่บนที่ราบระหว่างเขาหลวงกับแม่น้ำยม ซึ่งมีลักษณะการเลือกทำเลที่ตั้งที่เหมือนกัน

“เวียงเชียงใหม่” ที่ว่านี้หมายถึงบริเวณเขตหนึ่งของ “นครเชียงใหม่” ที่เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมจัตุรัสมีคูน้ำและกำแพงเมืองล้อมรอบเท่านั้น แต่เวียงเชียงใหม่นี้เป็นเพียงเวียงชั้นใน ซึ่งยังมีเวียงชั้นนอกอยู่อีกชั้นหนึ่งด้วย

แผนที่เมืองนครเชียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๖๖ ของมิชชันนารีอเมริกัน
เพรสไบทีเรียน

“เวียงเชียงใหม่ชั้นนอก” เริ่มจากลำน้ำแม่ข่า ไหลจากแจ่งศรีภูมิทางตะวันออกเฉียงเหนือไหลอ้อมลงมาทางทิศตะวันออก และโอบล้อมเวียงทางทิศใต้ไว้ทั้งหมด แล้วมาจรดที่แจ่งกู่เฮืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เวียงเชียงใหม่ชั้นนอกอาจสร้างมาก่อนเวียงเชียงใหม่ชั้นในก็ได้ เพราะด้วยรูปแบบที่ไม่เป็นระบบระเบียบ ทั้งยังเป็นแต่เพียงกำแพงดิน ซึ่งสะท้อนว่าการก่อสร้างยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อย่างเช่นการสร้างผังเมืองแบบสี่เหลี่ยม หรือการก่อกำแพงเมืองด้วยอิฐ

แต่ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า เวียงเชียงใหม่ชั้นนอกสร้างหลังจากสร้างเวียงเชียงใหม่ชั้นใน เนื่องจากเหตุผลหรือเงื่อนไขบางประการ อาจสร้างคันดินขุดคูน้ำไว้เตรียมรับสงครามเพื่อป้องกันเวียงเชียงใหม่ชั้นในก็เป็นไปได้

นครเชียงใหม่ประกอบจากเวียงหลายเวียง

ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ระบุว่า กำแพงเมืองเวียงเชียงใหม่ชั้นในก่อสร้างด้วยอิฐในรัชสมัยของพระเมืองแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2061 และปรากฏว่าไม่มีการบูรณะกำแพงเมืองอีกเลยจนถึงสมัยพระเจ้ากาวิละ ซึ่งได้บูรณะกำแพงเมืองและคูเมืองใน พ.ศ. 2339-2363 ซึ่งนครเชียงใหม่นอกจากจะมีเวียงเชียงใหม่ชั้นในและเวียงเชียงใหม่ชั้นนอกแล้ว ยังมีเวียงอีก 2 แห่งด้วยกัน คือ เวียงสวนดอก และเวียงเจ็ดลิน

เวียงสวนดอก มีรูปร่างสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีความยาวด้านละ 570 เมตร ล้อมรอบด้วยกำแพงดิน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเวียงเชียงใหม่ ห่างออกไปประมาณ 800 เมตร โดยมีวัดสวนดอกตั้งอยู่ใจกลางเวียง ซึ่งเวียงนี้มีความสำคัญเนื่องจากวัดสวนดอกเป็นวัดสำคัญในการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุก่อนการสร้างวันบนดอยสุเทพ

เวียงเจ็ดลิน มีลักษณะเป็นรูปวงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 900 เมตร มีคูเมืองล้อมรอบและกำแพงดิน 2 ชั้น ห่างจากเวียงเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่บริเวณเชิงเขาทางขึ้นดอยสุเทพ โดยเวียงนี้เป็นที่ประทับของเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ของกษัตริย์เชียงใหม่

แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศของเชียงใหม่ ไม่ทราบปีที่ถ่าย โดยจะเห็นร่องรอยของเวียงสวนดอกค่อนข้างชัดเจน ภาพจากหนังสือ “เมืองและแหล่งชุมชนโบราณล้านนา” โดยคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี พ.ศ. 2539

ดังนั้นแล้ว นครเชียงใหม่โบราณ นั้นไม่อาจจะรวมได้แค่เวียงเชียงใหม่ชั้นในเพียงแค่เวียงเดียวเท่านั้น ต้องยึดเอาเวียงอื่น ๆ เข้าไปด้วย เพราะทั้งเวียงเชียงใหม่ชั้นนอก เวียงสวดดอก และเวียงเจ็ดลิน ต่างก็มีปฏิสัมพันธ์และขึ้นตรงกับเวียงเชียงใหม่ชั้นในโดยประกอบกันเป็น “นครเชียงใหม่” ที่ไม่ได้มีแต่เพียงเวียงในคูเมืองเท่านั้น

เวียงต่าง ๆ ใน เมืองเชียงใหม่
เวียงต่างๆในเชียงใหม่ (ภาพจาก Google Earth)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศรีศักร วัลลิโภดม. (2545). ประวัติศาสตร์โบราณคดี ของ ล้านนาประเทศ. กรุงเทพฯ: มติชน.

คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย. (2539). เมืองและแหล่งชุมชนโบราณในล้านนา. กรุงเทพฯ: ไอเดีย สแควร์.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤษภาคม 2562