
เผยแพร่ |
---|
“หนานอินต๊ะ” ชาวคริสเตียนคนแรกในล้านนาเป็นผู้ที่ชาวบ้านและเจ้านายในเมืองเชียงใหม่ต่างก็รู้จัก “หนาน” คนนี้ดี (“หนาน” เป็นคำนำหน้าชื่อผู้ที่เคยบวชพระมาก่อน ส่วนผู้ที่บวชเณรหากสึกมาแล้วจะเรียกว่า “น้อย”) หนานอินต๊ะเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ความสามารถ เนื่องจากท่านเคยบวชเรียนในพระพุทธศาสนามานับสิบพรรษา
ก่อนที่จะกล่าวถึงหนานอินต๊ะกับการเปลี่ยนศาสนาเป็นคริสเตียนคนแรกในล้านนา เราต้องทำความเข้าใจสภาพสังคมการปกครองในเชียงใหม่และจุดเริ่มต้นของการเข้ามาเผยแผ่ศาสนาของคณะมิชชันนารีเสียก่อน
ดินแดนล้านนาในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้นแม้จะอยู่ภายใต้การปกครองจากสยาม แต่เจ้าหลวงยังมีอำนาจและสิทธิขาดในการปกครองอยู่ไม่น้อย สำหรับเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้นปกครองโดยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (ต่อไปจะเรียกว่าเจ้าหลวงเชียงใหม่) เจ้าชีวิตของชาวเมืองเชียงใหม่ ครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2397
เจ้าหลวงเชียงใหม่จำเป็นต้องเดินทางมากรุงเทพฯทุก ๆ 3 ปี เพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการแด่พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยาม เจ้าหลวงเชียงใหม่จึงมักได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในกรุงเทพฯ อยู่เสมอ พระองค์รู้จักคุ้นเคยกับหมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) เป็นอย่างดี วิทยาการของหมอบรัดเลย์โดยเฉพาะการปลูกฝีเป็นสิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจของเจ้าหลวงเชียงใหม่ที่จะให้คณะมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนา เพราะทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาการของชาวตะวันตกที่จะนำมาพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เจริญขึ้น
เดเนียล แมคกิลวารี (Daniel McGilvary) หนึ่งในคณะมิชชันนารีจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับอนุญาตจากเจ้าหลวงเชียงใหม่ให้ไปเผยแพร่ศาสนาในเชียงใหม่ โดยมีวัตถุระสงค์หลักคือ การศึกษาเพื่อจัดตั้งโรงเรียน การแพทย์เพื่อรักษาคนป่วย และการเผยแผ่ศาสนาคริสต์
เดเนียล แมคกิลวารี พร้อมคณะมิชชันนารีเดินทางถึงเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1867 (พ.ศ. 2410) การมาถึงของคณะมิชชันนารีทำให้ชาวบ้านกระตือรือร้นสนใจคนกลุ่มนี้มากเพราะด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่แตกต่างไปจากพวกตนแล้ว วัฒนธรรมของชาวฝรั่งก็เป็นที่ “ฮือฮา” ไม่น้อย โดยเฉพาะการไม่กินข้าวกับพื้นและไม่กินข้าวด้วยมือเปล่า
เจ้าหลวงเชียงใหม่ได้หารือกับคณะมิชชันนารี ทรงให้ความห่วงใยและอำนวยความสะดวกแก่คณะมิชชันนารีอย่างดี และได้พระราชทานที่ดินไว้ตั้งโบสถ์บริเวณฝั่งตะวันออกริมแม่น้ำปิง ไม่นานนัก ชาวบ้านแห่มาที่ศาลาของคณะมิชชันนารีมากขึ้นเรื่อย ๆ พวกชาวบ้านมาขอรับการรักษา จนมีเสียงเลื่องลือว่า “ยาฝรั่ง” รักษาอาการเจ็บไข้ได้ชะงัดนัก ในสมัยนั้นโรคที่พบมากคือโรคไข้ป่าหรือมาลาเรีย และโรคคอพอก
หนานอินต๊ะเข้ามาที่ศาลาเพื่อขอยาแก้ไข้และท่านก็แวะเวียนมาที่นี่เสมอ ๆ จนได้แลกเปลี่ยนความรู้กับคณะมิชชันนารี ท่านสนใจแนวคิดของศาสนาคริสต์มากโดยเฉพาะเรื่องการไถ่บาป ซึ่งประเด็นนี้แตกต่างกับศาสนาพุทธที่บาปกับบุญแยกออกจากกันและไม่สามารถลบล้างได้ หนานอินต๊ะจึงเริ่มสนิทสนมกับเดเนียล แมคกิลวารี มากยิ่งขึ้น

ครั้นเมื่อเกิดสุริยุปราคา เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1868 (พ.ศ. 2441) เดเนียล แมคกิลวารี ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่มีความรู้ในการคำนวณว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ได้อย่างแม่นยำ ก่อนวันที่จะเกิดสุริยุปราคา เดเนียล แมคกิลวารีบอกหนานอินต๊ะว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นเป็นกฎธรรมชาติของพระเจ้า ซึ่งสามารถพิสูจน์และทำนายได้
ในวันถัดจากเหตุการณ์สุริยุปราคา หนานอินต๊ะมาหาเดเนียล แมคกิลวารี แล้วบอกว่า “แม่นแต๊” ซึ่งหมายถึงการคำนวณของเดเนียล แมคกิลวารี นั้นเป็นจริงอย่างที่เคยบอกว่า สุริยุปราคานี้สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักการและมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งต่างจากความเชื่อดั่งเดิมที่ว่าราหูได้กลืนกินพระอาทิตย์
หนานอินต๊ะเลื่อมใสแนวทางของศาสนาคริสต์มากขึ้นจนหันมาสนใจและศึกษาพระคัมภีร์ศาสนาคริสต์อย่างเป็นจริงเป็นจัง กระทั่ง วันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1869 (อาจจะเป็น พ.ศ. 2411 เพราะสมัยนั้นยังนับศักราชแบบเก่า) ได้เข้า “พิธีบัพติศมา” (Baptism) เป็นคนแรกในล้านนา และมีอีก 4 คนที่เข้าพิธีนี้ในวันเดียวกัน คือ น้อยสุริยะ นายบุญมา แสนยาวิชัย และหนานชัย นอกจากนั้น หนานอินต๊ะยังให้ลูกชายสองคนของตนลาผนวชจากบวชเรียนแล้วให้มาเข้ารีตในภายหลังอีกด้วย
บรรยากาศความไม่พอใจเริ่มก่อตัวขึ้นในเชียงใหม่ มีข่าวลือหนาหูว่าที่ฟ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูการเพราะ “เสื้อเมือง” ไม่พอใจของการเข้ามาของคณะมิชชันนารีที่มาท้าทายคติความเชื่อดั้งเดิม ขณะที่เจ้าหลวงเชียงใหม่ก็เริ่มไม่พอพระทัยคนที่หันไปเข้ารีตเพราะส่งผลกระทบต่อระบบระเบียบในสังคม ทั้งการควบคุมกำลังคน และวัฒนธรรมล้านนา การเปลี่ยนศาสนาจึงเสมือนเป็นกบฏต่อแผ่นดิน ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1869 (พ.ศ. 2412) น้อยสุริยะกับหนานชัยซึ่งทั้งสองเป็นคนในสังกัดของเจ้าหลวงเชียงใหม่จึงถูกประหารชีวิต

เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความตึงเครียดในเมืองเชียงใหม่อย่างมาก เดเนียล แมคกิลวารี จึงส่งหนังสือร้องเรียนถึงรัฐบาลสยามผ่านสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำกรุงเทพฯ เพื่อให้ไต่สวนเรื่องนี้ โดยอ้างถึงสิทธิสภาพนอกอาณาเขต แต่รัฐบาลสยามบอกปัดโดยให้เหตุผลว่าอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบ ขณะที่เจ้าหลวงเชียงใหม่ก็ยังไม่พอพระทัยกับการเผยแผ่ศาสนาของคณะมิชชันนารีต่อไป แต่ก็ทรงลดความพิโรธลงบ้างภายหลังที่เดเนียล แมคกิลวารี ไปเข้าเฝ้าเพื่อปรับความเข้าใจ
ในปี ค.ศ. 1870 (พ.ศ. 2413) เจ้าหลวงเชียงใหม่ถูกเรียกตัวลงมากรุงเทพฯ ในวันที่ 29 มิถุนายน ปีเดียวกันนั้น ขณะที่กำลังเสด็จกลับเชียงใหม่ก็ประชวรถึงแก่พิราลัยระหว่างทาง พระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าหลวงเชียงใหม่พระองค์ใหม่ก็อนุญาตให้มิชชันนารีเผยแผ่ศาสนาต่อไปได้โดยรับรองว่าจะไม่มีผู้ใดขัดขวาง
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางศาสนาในเชียงใหม่ยังไม่ยุติ ในปี ค.ศ. 1878 (พ.ศ. 2421) ลูกสาวของหนานอินต๊ะจะแต่งงานกับคริสเตียนคนหนึ่ง อันจะเป็นพิธีแต่งงานแบบคริสต์ครั้งแรกในเชียงใหม่ แต่กลับถูกขัดขวางโดยอุปราชบุญทวงศ์ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างมารดากับพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และเป็นนายในสังกัดของหนานอินต๊ะและครอบครัว ซึ่งเจ้าบุญทวงศ์มีแนวคิดต่อต้านการเผยแผ่ศาสนาคริสต์
เจ้าบุญทวงศ์เรียกเก็บค่าธรรมเนียมเซ่นไหว้ผีในการแต่งงานครั้งนี้ โดยอ้างว่าผีเป็นผู้พิทักษ์ครอบครัว (ของชาวพุทธ) หากผู้ใดที่เปลี่ยนศาสนาไปแล้วความผูกพันธ์นี้ต้องยุติลงและจะต้องเสียค่าธรรมเนียม ฝ่ายของหนานอินต๊ะปฏิเสธที่จะจ่ายเงินทำให้เจ้าบุญทวงศ์ไม่พอใจมาก เพราะเสมือนเป็นการปฏิเสธอำนาจของพระองค์เช่นกัน ดังนั้น เดเนียล แมคกิลวารี จึงให้ระงับงานแต่งงานชั่วคราวและทำหนังสือร้องเรียนถึงรัฐบาลสยาม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผ่านกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำกรุงเทพฯ
หลังจากนั้นไม่นาน รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการเสรีภาพทางศาสนา ค.ศ. 1878 (พ.ศ. 2421) มีพระบรมราชวินิจฉัยว่าการศาสนาไม่ใช่เรื่องขัดขวางงานราชการแผ่นดิน ประชาชนจะนับถือศาสนาใดก็ได้โดยห้ามนายในสังกัดขัดขวาง แม้แต่การทำงานวันอาทิตย์ก็ไม่ให้กดขี่บังคับเว้นแต่เป็นเรื่องการสงคราม ภายหลังจากที่มีพระบรมราชโองการนี้ก็ทำให้ความตึงเครียดในเชียงใหม่คลี่คลายลง ส่งผลให้การทำงานของคณะมิชชันนารีขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว

หนานอินต๊ะยังคงช่วยเดเนียล แมคกิลวารี กับคณะมิชชันนารีเผยแผ่ศาสนาต่อไปอีกหลายปี กระทั่งหนานอินต๊ะเสียชีวิต เมื่อ ค.ศ. 1882 (พ.ศ. 2425) ขณะอายุ 88 ปี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้มีการออกพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456 บรรดาลูกหลานของหนานอินต๊ะจึงได้จดทะเบียนนามสกุลกับทางราชการว่า “อินทพันธุ์” ซึ่งหมายถึงวงศ์ตระกูลของอินทะหรืออินต๊ะนั่นเอง
อ้างอิง:
เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว. (2559). เปิดแผนยึดล้านนา. นนทบุรี: มติชน.
ชัยยศ ชัยนิลพันธ์. (2553). หนานอินต๊ะ ต้นตระกูลอินทพันธุ์ คริสเตียนไทยคนแรกของล้านนา การศึกษาอัตชีวประวัติ และประวัติศาสตร์ของชุมชนคริสเตียนในล้านนา. เชียงใหม่: เชียงใหม่โรงพิมพ์แสงศิลป์. (ฉบับ PDF จาก www.finearts.go.th/chiangmailibrary/2016-08-20-05-05-37/book/338.html?page=1)
ประสิทธิ์ พงศ์อุดม. (2562). ประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนาในเชียงใหม่, จาก http://library.payap.ac.th/christianity/doc/history_christian_chiangmai_lamphun.pdf
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2562