ผู้เขียน | บุญพิทักษ์ เสนีบุรพทิศ |
---|---|
เผยแพร่ |
“แล้วแต่ปุ๊” คงเป็นวลีจับใจผู้ชมภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง แต่ในความเป็นจริงเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นภาพ “มายาคติ” ที่ครอบงำการรับรู้เกี่ยวกับ นักเลง – อันธพาล ในช่วงปลายทศวรรษ 2490 ถึงต้นทศวรรษ 2500 เสียจนกลายเป็นความจริงที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนในปัจจุบันไปเสียแล้ว ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงเรื่องราวของกลุ่มนักเลง – อันธพาล เหล่านั้นจะไม่ได้เป็นไปตามที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวก็ตาม
นักเลง – อันธพาล
คำว่า “นักเลง” หรือ “อันธพาล” นั้นมักถูกสื่อความหมายออกมาในแง่ลบ แต่การนิยามความหมายนั้นผู้นิยามมักเป็นผู้ที่ไม่ได้อยู่ในวงการของนักเลงหรืออันธพาล แต่หากมองจากสายตาของกลุ่มผู้ที่อยูในวงการแล้วจะไม่ปรากฎคำว่านักเลงหรืออันธพาลที่ให้ความหมายไปในแง่ลบแต่อย่างใด แต่จะพบคำว่า “นักเพลง” หรือ “จิ๊กโก๋” ที่มีความหมายที่ค่อนข้างที่จะเบาลงมามาก
จากคำบอกเล่าของ ปุ๊ กรุงเกษม หนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นได้เล่าว่า ชีวิตของเหล่าวัยรุ่นชายในช่วงนั้นล้วนแต่มีความคลั่งไคล้ในวัฒนธรรมตะวันตก และชอบฟังดนตรีตะวันตกเป็นชีวิตจิตใจ และชอบการเที่ยวไปตามสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือสถานบันเทิงต่างๆ เช่น ถนนสิบสามห้างบางลำภู วังบูรพา ซึ่งล้วนเป็นแหล่งพบปะกันของบรรดาวัยรุ่นขาโจ๋ในสมัยนั้น ทำให้ในหลายครั้งเกิดเหตุทะเลาะวิวาทกันของเหล่าวัยรุ่นกลุ่มต่างๆ ที่เกิดการขัดแย้งกันทั้งในกรณีที่เจอกันครั้งแรกแล้วไม่ชอบหน้ากันหรือเป็นคู่อริเก่ากันมาก่อน
การทะเลาะวิวาทนั้นมีอาวุธส่วนมากเป็นไม้และมีด แต่ไม่มีอาวุธปืนเข้าไปเกี่ยวเหมือนในภาพยนตร์แต่อย่างใด กลุ่มวัยรุ่นอันตรายที่มีชื่อเสียงโด่งดังในช่วงเวลานั้นได้แก่ แดง ไบเลย์ ปุ๊ ระเบิดขวด ดำ เอสโซ่ ปุ๊ กรุงเกษม จ๊อด เฮาดี้ หล่อ ปังตอ ตุ๋ย ระเบิดขวด ฯลฯ กลุ่มขาโจ๋นี้ยังถือได้ว่าเป็นเพียงแค่นักเลง “รุ่นเล็ก” ที่นิยมเสียงดนตรี และการเที่ยวกับกลุ่มเพื่อนฝูงรักในศักดิ์ศรีรักเพื่อนพ้องและนิยมการแต่งกายให้ดูดีเท่านั้น ไม่ได้เป็นถึงผู้มีอิทธิพลหรือนักเลงมืออาชีพที่มีหน้าที่ในการคุมกิจการเถื่อนต่างๆ แต่อย่างใด
สภาพสังคมไทยในช่วงปลายทศวรรษ 2490 – 2500
ช่วงปลายทศวรรษ 2490 – 2500 สังคมไทยอยู่ในขณะของการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเมือง-เศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก การขยายตัวของเศรษฐกิจทั้งในด้านการค้าและบริการภายใต้เศรษฐกิจรูปแบบ “เสรีนิยม” ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญในหลากหลายด้าน ทั้งการศึกษา การแพทย์ สินค้าและบริการต่างๆ ฯลฯ อีกทั้งกรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่มีประชากรที่หลากหลาย ทั้งชนชั้นสูง ชนชั้นกลางที่ขยายตัวมากขึ้น หรือชนชั้นล่างที่อพยพมาจากต่างจังหวัด เพื่อมาขายแรงงานในเมืองกรุง
วัฒนธรรมต่างชาติโดยเฉพาะวัฒนธรรมอเมริกัน ได้แพร่หลายในสังคมไทยช่วงหลังสงรามโลกครั้งที่ 2 เรื่อยมาจนถึงช่วงหลังสงครามเย็น การรับวัฒนธรรมอเมริกันนี้แสดงออกทั้งด้านการแต่งกาย การไว้ทรงผมให้เหมือนกับดาราฝรั่งโดยเฉพาะเจมส์ ดีน และเอลวิส เพรสลีย์ รวมทั้งการฟังเพลงร็อคแอนด์โรล วัฒนธรรมอเมริกันได้รับความนิยมในหมู่กลุ่มวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ อย่างรวดเร็ว และกลายเป็นค่านิยมของวัยรุ่นไทยในยุคนั้น
ถึงแม้ว่าปัญหาเรื่องการยกพวกตีกันของนักเลง – อันธพาล ในช่วงนั้นจะไม่ได้เป็นปัญหาระดับชาติที่ร้ายแรงมากนัก แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้นในพ.ศ. 2501 ปัญหานักเลง-อันธพาล ถูกยกขึ้นมาเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการปราบปรามอย่างเด็ดขาดเพื่อสร้างความสงบสุขในสังคม
การสิ้นสุดของนักเลง – อันธพาล
ภายหลังการรัฐประหารและขึ้นสู่อำนาจของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลัง พ.ศ. 2501 ได้มีการจัดระบบระเบียบสังคมกันอย่างจริงจัง การปราบปรามนักเลง – อันธพาล เป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญอย่างหนึ่ง ระเบียบข้อบังคับมากมายถูกนำมาใช้ในการจับกุมและปราบปรามบรรดากลุ่มวัยรุ่นต่างๆ นักเลงที่มีชื่อเสียงต่างถูกจับเข้าคุมขังคุกที่ลาดยาวกันเป็นจำนวนมาก จนถือได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของกลุ่มนักเลง – อันธพาล ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก
อ่านเพิ่มเติม :
- “กรมการนักเลงโต” เมื่อสยามต้องใช้ “นักเลง-โจรผู้ร้าย” ปกครองเป็นผู้คุมกฎ
- จุดกำเนิดเจ้าพ่อตะวันออก “ผู้มีอิทธิพล” จากผลพวงนักเลงโต-อั้งยี่ อยุธยาถึงปัจจุบัน
- ปราบนักเลง-อันธพาลแบบ “จอมพลสฤษดิ์” ในวิถีพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปุ๊กรุงเกษม. ย้อนตำนานโก๋หลังวัง เดินอย่างปุ๊. กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาสน์, 2559.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 พฤษภาคม 2562