ผู้เขียน | ปาริชาต ปาวิชัย |
---|---|
เผยแพร่ |
20 ปีวิกฤตในจีน ทางการใช้ “คูปอง” จัดสรรปัจจัยพื้นฐานในภาวะอดอยากอันเลวร้ายที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ประเทศ
หากกล่าวถึงประเทศมหาอำนาจในฝั่งเอเชียแล้ว วันนี้ จีนคือหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งโลกตะวันออก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางสำคัญทางการเมือง การปกครอง การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งในแต่ละปีมีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายและท่องเที่ยวในจีนเป็นจำนวนมาก
แต่ใครจะคิดว่าประเทศมหาอำนาจอย่างจีน ครั้งหนึ่งต้องเผชิญกับทุพภิกขภัยอันเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ คร่าชีวิตประชากรจีนนับหลายล้านคน
ช่วง 20 ปีนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ประเทศที่เพิ่งสถาปนาตนเป็นสาธารณรัฐมาไม่นานต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติครั้งร้ายแรง ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม รวมถึงปัญหาทางการเมือง “การปฏิวัติทางวัฒนธรรม” ใน ค.ศ. 1966 ยังเป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าจีนได้เข้าสู่วิกฤตครั้งใหญ่นับตั้งแต่เคยมีมา
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วง ค.ศ. 1960-1966 เป็นเหตุให้ผลิตผลด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมลดลงไปเป็นอันมาก ผู้คนในหลายท้องที่ขาดแคลนเสบียงอาหารและของใช้ต่าง ๆ ในการดำรงชีวิต เนื่องจากข้าวปลาอาหารเครื่องอุปโภคบริโภคหายากเพราะมีจำนวนจำกัดและมีราคาแพง ซึ่งได้ส่งผลกระทบมาจนถึงกลาง ค.ศ. 1980
ในยุคนั้นอาหารหายากชนิดที่ว่าอะไรที่กินได้จะถูกหามากินจนหมด โดยเฉพาะพืชจะถูกนำมากินแทนอาหาร ไม่เว้นแม้แต่รากของต้นข้าวสาลีที่แห้งตายในทุ่ง เปลือกต้นไม้ เปลือกถั่ว ทำให้เป็นโรคหน้าบวมตัวบวมไปตาม ๆ กัน มีข่าวที่ไม่เป็นทางการว่าในขณะนั้นประชาชนจีนอดอยาก เสียชีวิตประมาณ 30,000,000 คน
การขาดแคลนอาหารนำไปสู่ภาวะอดอยากในที่สุด ทางการจีนได้ใช้ระบบซื้อสิ่งของด้วย “คูปอง” เพื่อจัดสรรปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคที่มีอยู่อย่างจำกัด หวังให้ประชากรจีนมีชีวิตอยู่รอดในภาวะอดอยากอันเลวร้ายที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์จีน
“คูปอง” ที่ใช้ซื้อสิ่งของมีอยู่ 2 ชนิด คือ คูปองรายเดือน และคูปองรายปี ทางการจีนจะจ่ายคูปองรายเดือนให้ประชาชนทุก ๆ ต้นเดือน คูปองที่ได้นั้นจะกำหนดระยะเวลาการใช้งานไว้ ซึ่งแต่ละคนจะได้รับคูปองจำนวนจำกัดตามข้อกำหนดของทางการ โดยจะจ่ายให้ประชาชนตามเกณฑ์ของอายุ เพศ และอาชีพ
ทั้งนี้คูปองทุกชนิดจะจ่ายให้เฉพาะคนที่มีสำมะโนครัวในจีนเท่านั้น และมีข้อกำหนดอยู่ว่าคูปองจะใช้ได้เฉพาะเมืองของตน ถ้าจำเป็นต้องใช้คูปองในเมืองอื่นต้องไปขอเปลี่ยนเป็นคูปองอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า คูปองอาหารทั่วประเทศจีน คูปองชนิดนี้ประชาชนสามารถนำไปใช้ได้ทั่วทั้งภายในประเทศ
ประชาชนทั่วไปจะได้รับคูปองสำหรับซื้อสินค้าจำพวกแป้งสาลี แป้งข้าวโพด และข้าวสารคนละ 12-17 กิโลกรัมต่อเดือน คูปองซื้อเนื้อหมู น้ำมัน น้ำตาล และถั่วเหลืองจะได้คนละ 0.25 กิโลกรัม ไข่ไก่แต่ละครอบครัวจะได้รับ 1 กิโลกรัมต่อเดือน
สำหรับไก่โดยทั่วไปจะมีขายในวันตรุษวันสารทเท่านั้น ซึ่งสามารถซื้อได้ไม่เกิน 2-3 ตัว ต่อหนึ่งครอบครัว ส่วนของใช้ประจำวันชนิดอื่น ๆ อาทิ ผ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป สบู่ ไม้ขีดไฟ วิทยุ เป็นต้น ต้องซื้อด้วย คูปองอุตสาหกรรม ที่เรียกว่า คูปองกงเย่จ้วน เป็นคูปองที่ทางการจีนแจกให้ฟรี โดยแต่ละคนจะได้รับ 5 ใบต่อปี
สิรินทร์ พัธโนทัย ขณะอายุ 8 ปี และพี่ชาย ที่ถูกส่งไปประเทศจีนในฐานะ “ตัวประกัน” เพื่อยืนยันว่าไทยและจีนจะเป็นมิตรต่อกัน กล่าวถึงประสบการณ์การใช้ “คูปอง” ของเธอใน “มุกมังกร” ว่า
“…พี่ไวและฉันต่างเข้าแถวรอคิวเลือกอาหารที่ต้องการ ซึ่งจะใส่ในชามกาละมังใบใหญ่ จะต้องใช้คูปองในการซื้ออาหารประเภทแป้ง เช่นหมั่นโถวหรือบะหมี่ เท่าที่ทราบครูส่วนใหญ่ พยายามระมัดระวังการใช้คูปองของตัวเองเพื่อให้พอใช้ตลอดทั้งเดือน”
ต่อมาภายหลังเมื่อ การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรมของจีนสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1976 รัฐบาลจีนเริ่มอนุญาตให้ประชาชนค้าขายส่วนตัวได้ ยอมให้ชาวนาขายผลผลิตของตนเองได้อย่างเสรี เครื่องอุปโภคบริโภคจึงมีขายในท้องตลาดมากขึ้น คูปองที่เคยใช้กันอยู่จึงค่อย ๆ ยกเลิกไป กระทั่งกลาง ค.ศ. 1980 มีประกาศให้ยกเลิกการใช้คูปองนับตั้งแต่นั้นมา
ปัจจุบันแม้ว่าจีนจะไม่มีการใช้ “คูปอง” เช่นในอดีตครั้งเกิดวิกฤตแล้ว แต่กล่าวได้ว่า คูปองได้กลายเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าถึงเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยหนึ่งของจีน
อ่านเพิ่มเติม :
- การปฏิวัติวัฒนธรรม (ที่ถูกทำให้ลืม) ระบอบกวาดล้างคนเห็นต่างแบบจีนๆ
- เหยื่อรายสำคัญของการปฏิวัติวัฒนธรรม ที่บดบังบารมีประธานเหมา-เจียงชิง
- เบื้องหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน “คึกฤทธิ์” พูดอะไรทำให้จีนเครียด
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง
ศรีกานดา ภูมิบริรักษ์. ปักกิ่งในความทรงจำ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557.
สิรินทร์ พัธโนทัย. มุกมังกร. กรุงเทพฯ : เนชั่นพับลิชชิ่ง กรุ๊ป จำกัด, 2538.
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 11 มกราคม 2562