“ฮั่นอู่ตี้” กษัตริย์ออกราชโองการตำหนิตัวเอง-ยอมรับผิดฉบับสมบูรณ์ครั้งแรกในจีน

พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ ภาพเขียน
(ซ้าย) พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ [ภาพจาก ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ, 2556] (ขวา) ภาพเขียนพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ [ภาพจาก huaxia.com]

ชีวิตคนทั่วไปคงมีไม่บ่อยครั้งนักที่จะยอมรับผิดและตำหนิการกระทำของตัวเอง นับประสาอะไรกับชนชั้นปกครองที่กุมอำนาจมหาศาลในมือ แต่ในประวัติศาสตร์จีนมีกษัตริย์บางพระองค์ออกราชโองการยอมรับผิด ตำหนิตัวเองในช่วงที่สังคมเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง และถ้าพูดถึงราชโองการยอมรับผิดอย่างเป็นทางการแล้ว ย่อมนึกถึงพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ กษัตริย์ชาวฮั่นในยุคแผ่นดินเข้าสู่ความรุ่งเรือง

ในบรรดาประวัติศาสตร์ว่าด้วยผู้ปกครองแผ่นดินตำหนิตัวเอง นักประวัติศาสตร์จีนยอมรับกันว่า “ราชโองการยอมรับผิดหลุนไถ” ของหลิวเช่อ หรือ พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ เป็นราชโองการยอมรับผิดอย่างเป็นทางการที่เก็บรักษาได้อย่างสมบูรณ์ฉบับแรกของประวัติศาสตร์จีน

Advertisement

พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ตำหนิตัวเอง

หากจะพูดถึงที่มาที่ไปของวาระที่กษัตริย์แดนมังกรต้องออกราชโองการยอมรับผิด ตำหนิการกระทำและตรวจสอบตัวเอง ต้องย้อนกลับพูดถึงบริบทต้นราชวงศ์ฮั่นก่อน

หลี่ เฉวียน ผู้เขียนหนังสือ “ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ” บรรยายบริบททางเศรษฐกิจและการเมืองยุคต้นราชวงศ์ฮั่น ก่อนที่พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ทรงครองราชย์ว่า ผู้ปกครองดำเนินนโยบายลดหย่อนภาระของประชาชน สมัยพระเจ้าฮั่นเหวินตี้ การเกษตรพัฒนาไปมาก ทรงออกประกาศลดภาษีที่นาครึ่งหนึ่งทั่วราชอาณาจักร 2 ครั้ง และงดเว้นภาษีที่นา 12 ปี

ความเข้มงวดด้านเกณฑ์แรงงานและจัดเก็บภาษีที่นาผ่อนปรนลงมาก พระองค์ทรงลดค่าใช้จ่ายในราชสำนัก พระเจ้าจิ่งตี้ที่ครองราชย์ต่อก็ดำเนินนโยบายสืบสานจากกษัตริย์พระองค์ก่อน เศรษฐกิจจีนในรอบ 60-70 ปีช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นจึงเฟื่องฟูอย่างต่อเนื่อง นักประวัติศาสตร์เรียกยุคนี้ว่า “ยุคแห่งความร่มเย็นเป็นสุขในรัชสมัยพระเจ้าฮั่นเหวินตี้และฮั่นจิ่งตี้”

เมื่อพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ขึ้นครองราชย์ เศรษฐกิจก็เริ่มเจริญรุ่งเรืองตามลำดับแล้ว ขุมกำลังเข้มแข็ง แผนการศึกกับเผ่าซงหนูที่เป็นภัยคุกคามเขตชายแดนก็สุกงอม

พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ทรงครองราชย์นานถึง 54 ปี ช่วงเวลานั้นพระองค์ทำสงครามกับชนเผ่าซงหนูกินเวลายาวนานกว่า 40 ปี และยังทำสงครามโจมตีชนกลุ่มน้อยเกาหลี ก่อสร้างขยับขยายขนานใหญ่ สร้างปราสาทราชวัง ระยะเวลา 4 ทศวรรษ พระองค์ทรงใช้ทรัพย์สินที่มั่งคั่งอันมาจากรัชสมัยพระเจ้าเหวินตี้และจิ่งตี้จำนวนมาก สถานะการคลังเริ่มสั่นคลอน พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ออกคำสั่งให้ผู้ผูกขาดอำนาจบริหารเกลือและเหล็กเพิ่มภาษี เรียกเก็บภาษีทรัพย์สินจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมและการค้า ขายตำแหน่งขุนนาง เปิดให้นำเงินมาจ่ายชดเชยแทนความผิดได้ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เริ่มมีกบฎชาวนาเกิดขึ้นหลายแห่ง

หลี่เฉวียน บรรยายว่า ในช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าอู่ตี้ พระองค์เริ่มวิตกกังวลว่าจะไม่สามารถรักษาอำนาจของตัวเองไว้ได้ มาตรการที่นำมาใช้เริ่มจากไม้แข็ง ลงโทษหนักหน่วง ใช้กฎหมายเข้มงวดกวดขันขุนนาง มีบันทึกว่าขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายก็ถูกลงโทษอย่างหนัก แม้แต่รัชทายาทก็ถูกปรักปรำจนสิ้นพระชนม์

ศักราชเจิงเหอปีที่ 4 (89 ปีก่อนคริสตกาล) เหล่าขุนนางร่วมกันถวายหนังสือ ขอบุกเบิกพื้นที่รกร้างที่หลุนไถ (ปัจจุบันคือพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองหลุนไถมณฑลซินเจียง) และให้จัดกองทัพไปรักษาการณ์ สร้างอุปกรณ์อำนวยความสะดวกทางทหาร และรับสมัครคนต่างท้องที่ไปตั้งถิ่นโดยให้ที่นั่นเป็นฐานบริหารดินแดนทางตะวันตก

ถึงจะดำเนินนโยบายไม้แข็ง แต่ต้องยอมรับว่าพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ทรงมีพระอัจฉริยภาพ เมื่อเห็นว่าบ้านเมืองอยู่ในสถานะล่อแหลม พระองค์รีบทบทวนการกระทำ เริ่มตั้งใจเปลี่ยนแปลงนโยบาย ปฏิรูปการเมือง

หลี่เฉวียน เล่าว่า เมื่อครั้งพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ทรงทอดพระเนตรไปยังพระราชวัง “ซือจื่อกง” ที่สร้างเพื่อระลึกถึงเจ้าชายรัชทายาทที่ถูกปรักปรำจนสิ้นพระชนม์ พระองค์ย้อนนึกถึงการใช้กำลังทหารโจมตีเผ่าซงหนูและดินแดนตะวันตกหลายครั้ง พระองค์จึงเริ่มสงบลง และตระหนักถึงความผิดของตนเอง พระองค์ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของขุนนาง ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ตำหนิความบุ่มบ่ามของขุนนาง พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ทรงเขียนราชโองการแสดงความรู้สึกเสียใจที่กระทำผิดซึ่งภายหลังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ราชโองการยอมรับผิดหลุนไถ”

ในราชโองการของพระเจ้าฮั่นอู่ตี้มีเนื้อหาบรรยายความผิดของพระองค์เอง ทั้งเรื่องขอขึ้นภาษีเมื่อหลายปีก่อนเพื่อให้ชายแดนมีงบพอใช้อันเป็นการเพิ่มความยากลำบากแก่ประชาชน เมื่อมีขุนนางยื่นขอบุกเบิกพื้นที่รกร้าง ให้ส่งกำลังคนไปดูแลพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกลทำให้ทรงนึกถึงช่วงส่งกำลังทหารโจมตีแคว้นเชอซือแถบบริเวณนั้น ถึงจะได้ชัยแต่ก็มีผู้คนล้มตายจากการขาดเสบียงจำนวนมาก หากยังส่งคนไปรักษาการณ์พื้นที่ห่างไกลย่อมเสี่ยงได้รับผลรุนแรงอีก

เนื้อหาในราชโองการยังบรรยายความผิดว่า นับตั้งแต่ที่ครองราชย์มา สิ่งที่ได้กระทำทั้งหมดไม่ถูกตามหลักทำนองคลองธรรมเป็นผลให้ประชาชนได้รับความทุกข์ จนถึงตอนนี้จึงเสียใจ พร้อมให้คำมั่นว่า จะยกเลิกเรื่องที่ทำให้ประชาชนเป็นทุกข์ และสิ้นเปลืองงบประมาณ

เนื้อหาตอนท้ายยังประกาศนโยบายใหม่ว่าด้วยภารกิจเร่งด่วน อาทิ ระงับเก็บภาษีจากประชาชน ทุ่มเทพัฒนาการเกษตร รักษากำลังทางทหารในระดับพอประมาณ และไม่หย่อนยานเท่านั้น

ภายหลังประกาศราชโองการ ทิศทางการเมืองเริ่มกลับไปสู่แนวทางผ่อนคลายต่อประชาชน แนวทางการบริหารงานเน้นการผลิตใกล้เคียงกับยุคต้นราชวงศ์ฮั่นที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง ในวัยชราพระองค์ยังประกาศสิ้นสุดสงคามกับเผ่าซงหนู

หลังผ่านไป 2 ปี พระเจ้าฮั่นอู่ตี้สิ้นพระชนม์ แต่การเปลี่ยนนโยบายของพระองค์ทำให้ผ่านวิกฤตการเมืองมาได้ สภาพสังคมเริ่มคงที่ เศรษฐกิจฟื้นตัว ต่อจากนั้นเป็นรัชสมัยพระเจ้าเจาตี้และพระเจ้าซวนตี้ที่ดำเนินนโยบายสืบเนื่องต่อมาก็ทำให้จีนยุคฮั่นตะวันตกกลับเข้าสู่ยุคเจริญรุ่งเรือง

ซือหม่ากวง ขุนนางที่มีชื่อเสียงของจีนเคยกล่าวถึงพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ว่า “มีความโหดร้ายเหมือนกับฉินสื่อหวง แต่ไม่สูญสิ้นเอกราชเหมือนราชวงศ์ฉิน” เนื่องจากพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ทรงรับรู้ว่ากระทำผิด พระองค์ยอมรับและแก้ไข ขณะที่ฉินสื่อหวง (ปฐมจักพรรดิตลอดกาล) แห่งราชวงศ์ฉิน ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่มีระยะเวลาปกครองสั้น “สองยุคก็ล่มสลาย” นั้น ไม่ฟังความคิดเห็นผู้อื่นและไม่ยอมรับความผิดของตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หลี่เฉวียน. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ. แปลโดย เขมณัฎฐ์ ทรัพย์เกษมชัย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ธันวาคม 2561