เผยแพร่ |
---|
หวี ที่เราใช้หวีทุกวันนี้ มีมาแต่เมื่อไหร่นั้น ยังไม่ทราบ
แต่ในดินแดนไทย พบหลักฐานหวีที่เก่าที่สุดในขณะนี้ เป็นหวีทำมาจากงาช้างที่นำเข้ามาจากอินเดีย พบที่เมืองโบราณจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อ พ.ศ. 2511-2512 เมื่อตรวจสอบอายุของหวีปรากฏว่ามีอายุถึง 2,000 ปีมาแล้ว
สภาพของหวีนั้นชำรุดแตกหักตรงบริเวณซี่ และด้านบนมีการทำภาพสลักอยู่ทั้ง 2 ด้าน ลวดลายที่ทำนั้น มีนักวิชาการสันนิษฐานว่า ลวดลายเปรียบเทียบได้กับศิลปะอินเดียภาคใต้ แบบอมราวดี (พุทธศตวรรษที่ 6-8)
ลวดลายนั้นแบ่งเป็น 2 ด้าน
ด้านหนึ่งเป็นรูปหงส์
อีกด้านจะแบ่งเป็นลาย 2 แถว ด้านบนเป็นสัญลักษณ์มงคล 8 อย่างตามคติอินเดีย โดยเรียงลำดับจากซ้ายมาขวา ดังนี้ พระอาทิตย์ (หรือพระจันทร์) หม้อปูรณฆฏะ รวงผึ้ง ศรีวัตสะ ฉัตร สังข์ แส้จามร และพระจันทร์(หรือพระอาทิตย์) และมีลายรูปม้าอยู่ด้านล่าง
นักวิชาการสันนิษฐานว่า เมื่อดูจากลวดลายที่ปรากฏบนหวีนี้แล้ว ผู้ที่ใช้หวีนี้ก็จะเกิดความเป็นสิริมงคลต่อตนเอง แต่ก็อาจจะใช้ประกอบพิธีกรรมก็เป็นได้
อ่านเพิ่มเติม :
- ประโยคจากอักษรแทนเสียงเก่าแก่ที่สุดในโลก “คาถาปัดเป่าเหา” บนหวีเสนียดงาช้าง!
- รัชกาลที่ 4 ทรงขออย่าหวีผม “แสกแยกกลาง ยกเป็นพูเป็นแคม” กลัวคุณมารดาไม่อยู่บนหัว?
อ้างอิง :
หนังสือ มรดก 1,000 ปี เก่าที่สุดในสยาม เขียนโดย ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, (มิวเซียมเพรส.2556)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 กันยายน 2559