จีนเริ่มใช้ “ตะเกียบ” ตั้งแต่เมื่อไหร่ และเกี่ยวข้องอะไรกับ “หยิน-หยาง”

ตะเกียบ
ตะเกียบ (ภาพโดย lpegasu ใน pixabay.com)

ตะเกียบ เป็นเครื่องมือชิ้นเยี่ยมยอดของมนุษย์ชิ้นหนึ่ง นอกจากจะช่วยต่อมือ (นิ้ว) ของเราให้ยาวออกไป (คีบหยิบสิ่งของ, กินอาหารโดยมือไม่เปรอะเปื้อน) แล้ว ยังช่วยในสิ่งที่มือมนุษย์ทำไม่ได้ เช่น หยิบของร้อนๆ ขึ้นมาจากกระทะน้ำมันที่เดือดพล่าน เป็นต้น

คนไทยเรามักจะหัดใช้ตะเกียบแบบลองผิดลองถูก ฝึกคีบไปเรื่อย ๆ จนนิ้วมือคุ้นชินไปเอง ไม่มีใครมาแนะนําหลักการใช้ที่ถูกต้องให้

ในทางวิทยาศาสตร์ การทํางานของตะเกียบใช้หลักของ “คาน” (คานดีดคานงัด) ในทางปรัชญา ตะเกียบ ก็คือ อินกับหยาง คู่ตรงข้ามที่ต้องประกอบส่วนกันและกัน เวลาใช้ตะเกียบข้างหนึ่งจะต้องคงที่ อีกข้างหนึ่งเคลื่อนไหว ตะเกียบข้างที่คงที่คือ “อิน” หรือ “หยิน” ข้างที่เคลื่อนไหวคือ “หยาง” แต่ถ้าตะเกียบสองข้างวางอยู่เฉยๆ ไม่มีมือเข้ามาเคลื่อน ตะเกียบก็ไม่มีบทบาทอะไร

คัมภีร์ “เต๋าเต๊กเก็ง” (เต้าเต๋อจิง) ที่อ้างว่ารจนาโดยเล่าจื้อ (เหลาจื่อ) บทที่ 42 กล่าวไว้ว่า

“เต๋าให้กำเนิดแก่ หนึ่ง”
หนึ่งให้กำเนิด “สอง” (อินกับหยาง)
สองให้กำเนิด “สาม” (อิน, หยาง และเหอ-ซึ่งเกิดจากอินกับหยางทำปฏิกิริยากัน)
สามให้กําเนิดสรรพสิ่งนานา”

ตะเกียบสองข้าง (อิน-หยาง) หาก ไม่มี “เหอ” (มือ) เข้ามาก่อให้เกิดปฏิกิริยา ก็ไม่อาจแสดงบทบาทของตะเกียบ

เช่นนี้เอง ผู้สนใจปรัชญาเต๋าบางท่านจึงถึงกับหลงไปว่า เล่าจื้อได้ความคิดเรื่องนี้มาจากตะเกียบ

ใครที่สนใจแต่เนื้อความปรัชญา ไม่ใส่ใจประวัติศาสตร์, โบราณคดี และประวัติวรรณคดีย่อมจะหลงไปได้ง่ายๆ

ในยุคก่อนราชวงศ์ฉิน (จิ๋นซีฮ่องเต้) นั้น มีตะเกียบใช้กันหรือยัง ? ไม่มีใครยืนยันได้นะครับ แต่ในยุคดังกล่าวมีการกินข้าวด้วยมือ!

คัมภีร์ “หลีจี้” ซึ่งเป็นหนังสือรวบรวมหลักจารีตธรรมด้านต่าง ๆ ก่อนยุคราชวงศ์ฉิน ผู้รวบรวมเป็นคนสมัยไซ่ฮั่น ได้ชําระรวบรวมจากคัมภีร์โบราณที่กระจัดกระจายกันอยู่

จารีตเกี่ยวกับการกิน ตอนหนึ่งมีความว่า “เมื่อกินข้าวร่วมกัน (กับ ผู้อื่น) ไม่ใช้มือที่เปียกเหงื่อ อย่าเลือกหยิบ (เอาบ้างทิ้งบ้าง) อย่าปัดข้าว (ที่ ติดมือ) คืนสู่ (ถาดข้าว)”

จากหลักฐานโบราณคดี ตะเกียบที่เก่าแก่ที่สุดพบตามสุสานยุคราชวงศ์ฮั่น เมื่อพิจารณาหลักฐานดังกล่าว ข้างต้น จึงน่าเชื่อว่า ตะเกียบคงจะเริ่มใช้กันแพร่หลายในยุคราชวงศ์ฮั่น ก่อนหน้านั้น คนทั่วไปคงกินข้าวด้วยมือ

ชนชั้นสูงในยุคก่อนราชวงศ์ฉิน ใช้ตะเกียบหรือไม่? เรื่องนี้ยังเป็นจุดที่สงสัยกันอยู่ ในคัมภีร์ “หานเฟยจื่อ” กล่าวว่า ติวอ๋อง (กษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์ซาง) ริใช้ตะเกียบทําด้วยงาช้าง ขุนนางชื่อฉีจื่อ จึงวิตกกังวล ฉีจื่อวิตกก็เพราะหากใช้ตะเกียบงาช้าง ย่อมต้องใช้ถ้วยชามล้ำค่า เมื่อใช้ถ้วยชามล้ำค่าก็ต้องใส่อาหารที่พิเศษพิสดาร เมื่อประมุขเริ่มฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยอย่างนี้ ราษฎรต้องถูกขูดรีดยับเยินแน่

หานเฟยเป็นคนร่วมสมัยกับจิ๋นซีฮ่องเต้ ยุคหลังจากติวอ๋องถึง 800-900 ปี เรื่องติวอ๋องใช้ตะเกียบงาช้าง เป็นเพียงตํานานดึกดําบรรพ์ ยังเชื่อถือไม่ได้

แต่อย่างน้อยที่สุดก็เชื่อได้ว่า ในสมัยหานเฟย (ปลายยุคจ้านกั๋ว) ชนชั้นสูงคงจะใช้ตะเกียบกินอาหารกันแล้ว มิฉะนั้นจะเกิดตํานานว่าติวอ๋องใช้ตะเกียบงาช้างขึ้นได้อย่างไร

ตะเกียบ ในยุคเริ่มแรกคงนิยมทําจากไม้ไผ่ (จีนกลางเรียกว่า “จู๋” 竹) ในสมัยโบราณเช่นคัมภีร์หานเฟยจื่อ เรียกตะเกียบว่า “จู้” หรือบางทีก็มีอักษรคําว่า “ไม้” 木 ประกอบเข้าไปอีกตัวหนึ่ง นี่แสดงว่า ตะเกียบกับไม้ไผ่นั้นมีความสัมพันธ์กันมาก

แต่ต่อ ๆ มา ผู้คนไม่ค่อยชอบเสียงคําว่า “จู้” เพราะไปคล้าย ๆ เสียงของศัพท์ที่ไม่ค่อยเป็นมงคลอีกหลายตัว คนจีนจึงเรียกตะเกียบว่า ไขว้จื่อ หรือ ไขว้เอ๋อร์ ไขว้-ตัวนี้ มีความหมายว่า บันเทิง หรือ รวดเร็ว นํามาแปลงเป็นคําว่าตะเกียบโดยเติมอักษรที่หมายถึงไม้ไผ่ ๆ เข้าไปข้างบน

มองจากคุณค่าในการใช้งานตะเกียบที่ทําด้วยไม้ไผ่, ไม้เนื้อแข็ง ธรรมดา ๆ ก็สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างดี แต่เพื่อแสดงความมั่งคั่งของตน จึงเกิดตะเกียบวิจิตรพิสดารนานาขึ้นมา ตะเกียบงาช้าง, นอแรด, หยก, อําพัน, เลี่ยมเงิน, เลี่ยมทอง, หยก, อําพัน เลี่ยมเงิน, เลี่ยมทอง, ฝังเพชร, ฝังพลอย ฯลฯ

ตะเกียบสูงค่าที่ประดับตกแต่งเสียวิจิตรเลิศหรู จุดประสงค์หลักคงเอาไว้โชว์กัน เพราะส่วนใหญ่ทําออกมาแล้ว น้ำหนักของตะเกียบไม่เหมาะสมกับการคีบอาหารกินอย่างสะดวก

ในนวนิยายคลาสสิคของจีนเรื่อง “ความฝันในหอแดง” มีฉากกลั่นแกล้งคนแก่ ด้วยการเจาะจงจัดตะเกียบงาช้างเลี่ยมทองวิลิศมาหราให้คนแก่ใช้ ปรากฏว่าคีบเท่าไหร่ ๆ ก็คีบอาหารไม่ได้

วรรณคดีที่ปรากฏเรื่องราวของตะเกียบอีกเรื่องหนึ่ง คือ สามก๊ก นิยายอิงประวัติศาสตร์ของหลัวก้วนจง ตอนโจโฉเชิญเล่าปี่ไปกินเลี้ยง โจโฉแกล้งชวนคุยประเมินสติปัญญา ความสามารถของขุนศึกต่าง ๆ เล่าปี่ระมัดระวังด้วยเกรงว่า โจโฉนั้นระแวงสงสัยตนอยู่ จึงเฉไฉยกยออ้วนเสี้ยวบ้าง เล่าเปียวบ้าง แต่โจโฉโพล่งคําแทงใจเล่าปี่เลยว่า “ผู้ที่จะนับเป็นวีรบุรุษได้มีแต่ท่านกับข้าพเจ้าเท่านั้น” เล่าปี่กลัวโจโฉกําจัดตัวอยู่แล้ว จึงสะดุ้งตกใจถึงขั้น “ตะเกียบหลุดจากมือ” ดีแต่ว่าบังเอิญประจวบเหมาะกับฟ้าร้อง เล่าปี่จึงแก้ตัวได้ว่าตกใจฟ้าร้อง

เกี่ยวกับการใช้ตะเกียบก็มีมารยาทที่พึงทราบไว้บ้าง เช่น เวลาถือตะเกียบอย่าได้กวัดแกว่งชี้โน่นนี่ อย่าเอาตะเกียบวางพาดขวางบนถ้วยแกง อย่าเอาตะเกียบปักลงในถ้วยข้าว อย่าเอาตะเกียบเคาะถ้วยชามเล่น อย่าใช้ตะเกียบคีบอาหารถี่ยิบราวกับกองทหารป่ารัวเอ็ม-16 ปราบประชาชนในเมือง

และที่สําคัญ ขณะแสดงความคารวะผู้อื่น ต้องวางตะเกียบลงก่อนเสมอ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2561