มานุษยวิทยาว่าด้วย “ขี้” อุจจาระไม่ใช่แค่ของเสีย คือเครื่องมือทางวัฒนธรรมถึงการเมือง

ภาพเขียน ลายรดน้ำ ขี้ วัดพิชยญาติการาม
ภาพเขียนลายรดน้ำ “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” ที่บานแผะประตูของพระอุโบสถ วัดพิชยญาติการาม

บทความของธีรยุทธ บุญมี เรื่อง “มานุษยวิทยาว่าด้วย ‘ขี้’” เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2550 อธิบายพฤติกรรมของคนไทยและในวัฒนธรรมอื่นที่ใช้อุจจาระหรือสิ่งของที่ร่างกายขับจากภายในสู่ภายนอก สืบเนื่องจากกรณีนักการเมืองชื่อดังอย่าง อุทัย พิมพ์ใจชน ถูกเนติบัณฑิตนำถุงใส่อุจจาระปาใส่ เมื่อ พ.ศ. 2537 ซึ่งผู้เขียนบทความชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ใช้ขี้เป็นเครื่องมือบางอย่างทางสังคมมานานแล้ว มีปรากฏในกฎหมายตราสามดวง และกฎหมายมังรายศาสตร์ของภาคเหนือ ขณะที่ขี้สำหรับชาวไทยในปัจจุบันก็ถูกจัดระเบียบเช่นกัน

…ในแวดวงวิชาการทางจิตวิทยาหรือมานุษยวิทยายิ่งคุ้นกับเรื่อง “ขี้” มากขึ้นไปอีก เพราะเราต้องศึกษาขี้ รวมทั้งสิ่งอื่น ๆ ที่ถูกขับถ่ายออกมาทางทวารต่าง ๆ หรือออกมาจากร่างกายด้วย เช่น เลือด น้ำลาย ปัสสาวะ ขี้ไคล ผม เล็บ ที่ถูกใช้ในพิธีกรรมของชาติต่าง ๆ ทั้งที่เป็นพิธีกรรมที่จะนํามาซึ่งสิ่งที่ดี หรือพิธีกรรมที่จะนํามาซึ่งสิ่งไม่ดี ขี้วัวในอินเดียถือกันว่าขลังและบริสุทธิ์ จนใช้ผสมน้ำชําระล้างตัวของพราหมณ์ที่ถือว่ามีวรรณะสูงอยู่แล้ว น้ำลายของหลวงพ่อคูณก็ถือว่าสะอาดและศักดิ์สิทธิ์

ในอีกหลายวัฒนธรรมก็มีความเชื่อว่าน้ำลายก็สามารถให้ศีลให้พรได้ (Marry Douglas 1979 : 80) เลือดในศาสนาฮีบรูถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ของไทยก็ถือว่าโลหิตของพระมหากษัตริย์นั้นศักดิ์สิทธิ์ ให้ตกกระทบแผ่นดินไม่ได้ เลือดที่ออกมาตามผิวหนังเมื่อผสมกับว่านยา ดีหมี ฯลฯ สักเป็นลวดลายก็มีความขลังขึ้นมาได้

และจะว่าไปแล้ว การบูชาศิวลึงค์ของลัทธิไศวนิกายที่เห็นอยู่ตามปราสาทหินต่าง ๆ ในประเทศไทยหรือเขมรนั้น ในสมัยโบราณพราหมณ์ผู้ทำพิธีจะเอาน้ำบริสุทธิ์ไปรดตรงศิวลึงค์กับฐานโยนี ให้ไหลไปตามท่อโสมสูตร ให้ประชาชนที่หลงใหลรอคอยอยู่ข้างนอกได้นำไปแบ่งปันกันไปอาบไปกิน น้ำโสมานี้คือภาพจำลองของน้ำกามที่หลั่งมาจากการร่วมเพศของเทพทั้งหลายนั่นเอง

แต่ส่วนใหญ่ของที่ออกมาจากร่างกายมักถูกใช้ในพิธีกรรมที่ไม่ดี เช่น ใช้ทําเสน่ห์ยาแฝด น้ำมันพราย ทําคุณไสย คนอินเดียถือว่าน้ำลายสกปรกมาก อินเดียนแดงเผ่าอาปาชีสาขาหนึ่งเชื่อว่า หมอผีของศัตรู สามารถเอาอุจจาระ ปัสสาวะ ของคนไปทําคุณไสยได้ ถือเป็นความลับสุดยอด และทําด้วยความระมัดระวังยิ่งกว่าเวลาไปซุ่มโจมตีคนผิวขาวเสียอีก

กล่าวโดยสรุปก็คือ คนเกือบทุกชาติทุกภาษามักถือว่าของที่ถูกขับออกมาทางทวารต่าง ๆ มีอํานาจพิเศษบางอย่างอันจะนํามาซึ่งความเป็นสิริมงคลและไม่เป็นสิริมงคล เพราะฉะนั้น ถ้ามองจากมุมของวัฒนธรรมไทย การที่นักกฎหมายคนนั้นนําเอาถุงไปปาใส่คุณอุทัยก็เพื่อให้เกิดความซวยมากกว่าที่จะให้เกิดความเหม็น

แต่เพราะเหตุใดคนจึงมีความเชื่อเช่นนี้?

นักมานุษยวิทยาเชื่อว่า มนุษย์จะอยู่ในโลกที่มีอะไรต่ออะไรเกิดขึ้นร้อยแปดพันประการทุกวันนี้ไม่ได้ ถ้าไม่จัดสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ให้เป็นระบบระเบียบ เป็นหมวดหมู่ที่จะให้เราเข้าใจมันได้ง่าย ๆ มนุษย์จึงจัดระเบียบให้กับความคิดของคนจัดระเบียบไว้ให้กับวัตถุ พืช สัตว์ เหตุการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้น จัดระเบียบให้กับชนิดของบุคคลพฤติกรรมของบุคคล หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือจัดระเบียบให้กับสังคมนั่นเอง

การจัดระเบียบ เมื่อถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ก็เท่ากับว่ามนุษย์ได้สะสมพลังทางอารมณ์ความรู้สึกหรือความคิดของตน เข้าไปกับโครงสร้างหรือระเบียบดังกล่าว เมื่ออะไรที่มาทำให้ระบบเสียหายไปก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่โต หรือเป็นเรื่องรบกวนจิตใจ ความรู้สึกว่าสกปรก เป็นพิษเป็นโชคลาภแล้วแต่กรณีไป อย่างเช่น มีต้น กล้วยสองต้นออกเครือกลางลําต้น คนไทยก็จะถือเป็นเรื่องผิดปกติ เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ที่จะให้โชคให้ลาภกันไป ทั้งนี้ เพราะมันมาทําลายระเบียบธรรมชาติที่เราสร้างกันมานานลงไป

ระเบียบความคิดที่มนุษย์สร้างให้กับสิ่งต่าง ๆ ถูกรบกวนได้หลายวิธี อย่างง่าย ๆ มีสองวิธี วิธีแรกคือการที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในระบบหรือโครงสร้าง หรือเกิดการผิดที่ผิดทางขึ้น อย่างเช่น โต๊ะทํางานที่มีของเชวง เกลื่อนกลาด มีเศษกระดาษขยําฉีกทิ้งอยู่ ก็จะถูกมองว่ารกรุงรังสกปรก ทั้งที่ตัวของเหล่านั้นจริง ๆ ไม่ได้สกปรก หรือถ้าหากมีคนเผลอเอาชั้นในไปวางไว้บนโต๊ะกินข้าว ก่อนจะกินข้าว เราจะรู้สึกพะอืดพะอมต่อเนื่องยาวนาน มากกว่าปกติ เพราะมันเป็นของที่อยู่ผิดที่ผิดทางอย่างมาก ถึงแม้ตัวมันเองจะไม่ได้ทําให้โต๊ะสกปรกหรือถูกนําออกไปแล้ว โต๊ะถูกเช็ดใหม่แล้วก็ตาม

ไฝหรือขี้แมลงวันบนใบหน้า ลําตัว ก็ถือว่ารบกวนระเบียบความคิดที่มนุษย์ตั้งไว้ จึงจําเป็นต้องมีคําอธิบายเป็นตําราดูไฝ เช่น ถ้าไฝแบบนั้นจะปากจัด อารมณ์ร้าย เจ้าเสน่ห์ หรือมีบุญ มีปัญญา เป็นต้น

ความรู้สึกว่าถูกรบกวนด้วยสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในระเบียบหรือสิ่งที่ผิดทางนี้ ยังถูกใช้ในเรื่องของสังคม ด้วย คนไทยทั่ว ๆ ไปมีแนวโน้มจะไม่ชอบคนแปลกหน้า คนจรจัด สลัม หาบเร่ แผงลอย เด็กขายพวงมาลัย ลักษณะการแต่งเนื้อแต่งตัว เครื่องมือเครื่องไม้ที่ดูมอมแมมอาจเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่เหตุผลลึก ๆ ก็คือ ความผิดที่ผิดทางในทางสังคมของพวกเขา

ในอีกลักษณะหนึ่ง บริเวณที่เป็นชายขอบ เป็นริม เป็นมุมของระเบียบความคิดมนุษย์ มักเป็นจุดที่มนุษย์ไม่สามารถทําให้ชัดเจนได้ หรือเป็นบริเวณที่ระเบียบ ความคิดมนุษย์ไปปะทะกับสิ่งภายนอกที่ล่วงล้ำเข้ามา หรือภายในที่ออกไปข้างนอก มนุษย์ในทุกวัฒนธรรมจึงมองบริเวณชายขอบตัวเองอย่างระแวงสงสัย มองรอยต่อระหว่างภายใน-ภายนอกว่าเป็นบริเวณที่ทําให้เกิดอํานาจหรือลักษณะพิเศษ

หรือเป็นจุดอันตราย เช่น คนไทยรังเกียจสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งอยู่รอยต่อระหว่างบกกับน้ำ และตัวมันเองก็มีรูปร่างพิลึกพิลั่น คือเกิดจากการผสมผสานของหลายระเบียบเข้าด้วยกัน เช่น มีสีเท้าแต่อยู่ในน้ำได้ มีหางมีเกล็ดแต่เดินบนดิน กรณีของตัวเหี้ยคนไทยจะถือนักถือหนาว่าจะนําความซวยมาให้ โดยเฉพาะถ้ามันอยู่ผิดที่ผิดทาง เช่น มาอยู่บนบ้านหรือสถานที่ราชการ ก็ต้องมีพิธีล้างซวยมาช่วย

การปาขี้ที่จริงก็ไม่ต่างจากการนําเอาตัวเหี้ยมาปล่อยตามกระทรวง ซึ่งเป็นวิธีประท้วงทางการเมืองที่มีคนใช้มาแล้วบ่อยครั้ง เหตุการณ์เดียวกันนี้ก็เคยมี (พวกแอฟริกันบางเผ่าก็ถือเอาตัวลีนหรือตัวกินมด ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างจากตัวเหี้ยเท่าใดนัก เป็นสิริมงคลในการทําพิธีกรรม) นอกจากนี้ของที่ถูกขับออกจากภายในร่างกายสู่ภายนอกก็จะถูกมองว่าเป็นสิ่งปฏิกูล ทั้ง ๆ ที่บางอย่างอาจจะไม่มี กลิ่น หรือมีรูปร่างที่น่ารังเกียจแต่อย่างใด

คนไทยเราดูจะมีความคิดเรื่องนี้ชัดเจนกว่าชาติอื่น ๆ เพราะเราจะเรียกทุกอย่างที่ขับออกจากภายในมา ภายนอกว่า “ขี้” หมด นับตั้งแต่หัวจรดเท้า คือตั้งแต่ ขี้หัว รังแค ขี้หู ขี้มูก ขี้ฟัน ขี้ไคล ขี้เกลื้อน ขี้กลาก เป็นต้น ทั้งหมดเป็นของต่ำเป็นของที่มีมลทินทั้งนั้น

มนุษย์ทั่วโลกยังมีนิสัยที่จะเอาระบบทางร่างกายไปเทียบกับระเบียบทางสังคมด้วยเสมอ คือร่างกายเป็น ภาพจําลองของสังคม หรือสังคมเป็นภาพจําลองของร่างกาย

เมื่อสังคมเป็นภาพจําลองที่ฉายออกมาจากร่างกาย การควบคุมทางสังคมจึงมักแสดงออกเป็นสัญลักษณ์เป็นการควบคุมทางร่างกายแทน เช่น การสักของคน ไทย ลาว เขมร พม่า การทาสีตัวของพวกแอฟริกันก็ดี อินเดียนแดงก็ดี ก็เป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมทางสังคม ให้รู้ว่าช่วงใดเป็นช่วงทําสงคราม ช่วงใดเป็นช่วงทําพิธีกรรม ขอฟ้าขอฝน ผมซึ่งยื่นออกจากภายในออกมาภายนอกก็เป็นอีกส่วนที่ถูกควบคุมมาก เช่น สังคมจีนคุมผู้หญิง โดยกําหนดว่าถ้าเป็นเด็กไว้ผมยาวอย่างไร เป็นสาวหรือแต่งงานแล้วไว้ผมยาวอย่างไร

สังคมไทยก็คุมการไว้ผม ของเด็กชาย เช่น การไว้จุก ตัดผมสั้น ส่วนพวกฮิปปี้ หรือพวกศิลปินที่ไว้ผมยาวก็เพื่อให้ผมเป็นเครื่องสะท้อนว่าตนมีอํานาจในทางธรรมชาติ ในทางสร้างสรรค์ศิลปะ หรืออื่น ๆ ได้มาก

คนไทยก็นิยมเทียบร่างกายกับสังคม และใช้ร่างกายมาเป็นเครื่องควบคุมทางสังคมเช่นกัน เช่น คํา ว่า “หัว” ใช้แทนอํานาจ เช่น หัวหน้า หัวงาน นายหัว แก้วตาใช้แทนสิ่งที่รักมาก หัวใจใช้แทนสิ่งที่มีความ สําคัญ ส่วนช่วงต่ำต่างๆ เช่น ส้นเท้าก็มักใช้เป็นคําด่า แทนสิ่งที่ต่ำ

แต่คําที่ใช้แพร่หลายที่สุดก็คือ “ขี้” ดังได้วิเคราะห์แล้วว่าในวัฒนธรรมไทยหมายถึงสิ่งใดก็ตามที่ผ่านจากชายขอบภายในมาสู่ภายนอก คํานี้ถูกใช้ให้หมายถึงการที่ของต่ำสุดถูกเหยียดหยามจากสังคมมากที่สุด เช่น คําว่า ขี้ข้า ขี้ครอก หรือหมายถึงผู้อยู่ด้อยกว่าเลวกว่า โง่กว่า ต่ำกว่ามากๆ เช่น ขี้มือ ขี้ตื่น ขี้เห่อ ขี้ทูด ขี้ไซ้ขี้ซ้าย

คําว่าขี้ยังเป็นเครื่องมือกํากับพฤติกรรมทางสังคมให้ดูสุดขอบสุดขั้ว จนอาจจะเกิดผลเสีย เป็นอันตรายหรือเกิดความไม่เหมาะสมแก่ชุมชนได้ เช่น ขี้ยา ขี้เหล้า ขี้โมโห ขี้หลี ถ้าเป็นที่เกี่ยวกับพฤติกรรมส่วนตนที่แม้จะสุดโต่ง ก็อาจไม่ถือเป็นเรื่องร้ายแรง มิหนําซ้ำก็อาจจะน่ารักน่าเอ็นดูเสียด้วยซ้ำ เช่น ขี้อ้อน ขี้อาย ขี้ตกใจ ขี้เล่น ขี้… (ดูตาราง)

ตารางจัดกลุ่มคำที่ใช้คำว่า “ขี้”

แต่ถ้าเป็นพฤติกรรมสังคมที่เกี่ยวกับคุณธรรม และมีลักษณะไปอยู่ในที่สุดขอบก็มักจะสื่อความหมายที่ค่อนข้างรุนแรง ถือเป็นการควบคุมทางสังคมขั้นเข้มงวดเลยทีเดียว เช่น คําว่าขี้โกง ขี้ฉ้อ ขี้ฉล ขี้ขลาด ขี้ติด ขี้โกหก ขี้เต๊ะ ขี้จุ๊ เป็นต้น

การใช้ ขี้ หรือคําว่า ขี้ มาขว้างใส่กันจึงเป็นการควบคุมทางสังคมด้วยกันทั้งคู่ เพียงแต่ว่าอย่างหลังอาจเพียงทําให้เกิดอาการเขม่นหรือโกรธเคืองกันเฉย ๆ แต่ถ้าเป็นอย่างแรกต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว

อย่างไรก็ตาม กรณีอาจสะท้อนให้เห็นว่า ถ้า ระบบการเมืองหรือระบบอํานาจรัฐใด ๆ แข็งที่อตายตัวเกินไปจนไม่ตอบสนองต่อความต้องการหรือคํา วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนได้ดีพอ ผู้คนก็จะหาทางเอาเครื่องมือทางสังคม เช่น การชุมนุม การประท้วง หรือเครื่องมือทางวัฒนธรรม เช่น การปล่อยตัวเงิน ตัวทอง การวิพากษ์วิจารณ์ว่าขี้ฉ้อ ขี้ฉล กระทั่งการใช้ของจริงขว้างปาเพื่อประท้วงอันเป็นประเพณีที่มีมานานแล้วมาใช้ได้เสมอ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ธีรยุทธ บุญมี. “มานุษยวิทยาว่าด้วย ‘ขี้’”. ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 29 ฉบับที่ 1 พฤศจิกายน, 2550


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 เมษายน 2562