ชาวสวนเข้าส้วมอย่างไร ถกวัฒนธรรมส้วมจากสวนจีนถึงชนดั้งเดิม วัสดุชำระคมแค่ไหน

จิตรกรรมที่วัดสุทัศน์

การขับถ่ายของเสียของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่มีมาพร้อมกับการเกิดของมนุษย์ขึ้นมาในโลก มนุษย์ในทุกวัฒนธรรมจะมีวิธีการ สถานที่ การสำรวม การเก็บและการทำลายของเสียรวมถึงวิธีการใช้ประโยชน์จากสิ่งปฏิกูลในร่างกายที่แตกต่างกัน เนื่องจากสถานที่ คติความเชื่อและเทคโนโลยีที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่ทำให้การขับถ่ายของเสียจากร่างกายมนุษย์วัติปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้การขับถ่ายจึงเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์(และชาวสวน)

วัฒนธรรมการขับถ่ายของชาวสวนก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเพราะชาวสวนนั้นมีความแตกต่างหลากหลายไปตามประเภทของสวนและกลุ่มชาติพันธุ์ ในที่นี้จะเล่าถึงวัฒนธรรมขับถ่ายของชาวสวนฝั่งธนบุรีในอดีตที่สามารถแบ่งประเภทได้ดังนี้

1. ชาวสวนดั้งเดิม เป็นชาวสวนที่มีอาชีพทำสวนสืบมาหลายชั่วอายุคน มิได้ละทิ้งอาชีพทำสวนอย่างสิ้นเชิง

2. ชาวสวนดั้งเดิม ทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพเสริม ชาวสวนมักปลูกมะพร้าวไว้ตามถนนหรือขวางเมื่อมะพร้าวออกจั่นที่ 1-4 ประกอบกับมะพร้าวยังต้นไม่สูง จั่นที่ 1 และ 2 ยังไม่ติดผล จึงทำน้ำตาลจากมะพร้าวเป็นอาชีพเสริม ขายทั้งน้ำตาลสด น้ำตาลลวกและน้ำตาลปึกน้ำตาลปี๊บ

3. ชาวสวนผสมชาวนา เป็นชาวสวนที่มีนาเป็นสมบัติตกทอดมา ทำทั้งสวนทั้งนา หรือทำสวนอย่างเดียวส่วนนาให้ผู้อื่นเช่าทำ

4. ชาวสวนใหม่ ทำนาไม่ได้ผลจึงให้คนอื่นยกนาให้เป็นสวน เมื่อหมดสัญญาเช่า ก็จะดำรงชีวิตด้วยการทำสวนต่อ

5. ชาวสวนคนจีน สมัยก่อนคนจีนไม่มีกรรมสิทธิ์ในการยึดครองที่ดิน อาชีพเดิมเป็นชาวสวน จึงดำเนินชีวิตเป็นชาวสวนโดยการเช่าสวนของคนไทยที่มีสวนมาก หรือลูกหลานเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอย่างอื่น

การขับถ่ายของชาวสวนในอดีตที่เป็นแบบธรรมชาติ ไม่มีวิธีการและอุปกรณ์สมัยใหม่เข้ามาเกี่ยวข้องสถานที่ขับถ่ายที่เลิกจากการถ่ายลงน้ำแล้ว จะเรียกสถานที่ขับถ่ายว่าเวจ ซึ่งเป็นคำโบราณ ถ้าเป็นสถานที่ขับถ่ายของพระสงฆ์นอกจากเรียกว่าถานแล้วยังเรียกว่าเวจกุฎีอีกด้วย เวจของชาวสวนประเภทต่างๆ นั้นจะมีลักษณะคล้ายกันจะมีแตกต่างกันเฉพาะเวจชาวชวนของคนไทยกับคนจีน

การขับถ่ายของชาวสวนหลังจากการถ่ายลงน้ำ หรือถ่ายใส่กาบปูเลที่ทำจากกาบหมากแล้วจึงทิ้งน้ำ ซึ่งจะเป็นการถ่ายในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันจะถ่ายเวจที่อยู่กลางสวนซึ่งอยู่ห่างจากบ้านพอสมควร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีเวจเล็กๆ สำหรับเด็กๆ อยู่ใกล้บ้านด้วย

เวจของชาวสวนทั่วๆ ไป จะเป็นการสร้างอย่างง่ายๆ ด้วยวัสดุที่มีในสวน โดยตั้งเสาตอม่อสูงจากพื้นประมาณ 40-50 เซนติเมตร จำนวนสองคู่ ปลายเสามีง่ามหรือบากให้เป็นง่าม เสาแต่ละต้นปักห่างกันสองเมตร นำโคนต้นหมากแก่จัดมาวางพาดขนานกันห่างประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อเป็นที่นั่งถ่าย ฝาโดยรอบใช้ทางมะพร้าวแห้งมากรุให้หนาจนไม่สามารถมองผ่านได้ ด้านข้างติดกับฝาด้านกว้างเป็นช่องทางเข้าออกโดยใช้ทางหมากแห้งห้อยปิด เวลาจะเข้าออกใช้วิธีแหวกให้เป็นช่อง เมื่อผ่านแล้วทางหมากจะปิดตามเดิม เวจนี้จะไม่มีหลังคา จะปลูกอยู่ใต้ต้นข่อย ต้นตะขบไทย หรือต้นมะหวด พุ่มใบของต้นไม้ดังกลาวจะบังแดดไปในตัว

การขับถ่ายจะใช้วิธีนั่งยอง สิ่งที่ใช้ชำระหลังขับถ่ายจะเป็นกาบมะพร้าวที่ฉีกออกจากผิว ยีจนอ่อนนุ่ม ด้วยการถ่ายเทอากาศที่ดี พื้นดินแห้ง สิ่งที่ถูกขับถ่ายจะแห้ง กลิ่นจะน้อย และด้วยความยาวของที่นั่ง สิ่งที่ขับถ่ายจะไม่ทับถมกันมากนัก สิ่งที่ขับถ่ายแห้งทำให้เกิดหนอนน้อยมาก

เวจของชาวสวนใหม่นั้นจะมีขนาดเล็กกว่าเวจของชาวสวนโดยทั่วไป มีขนาดประมาณ 1.5 x1.5 เมตร ฝากรุด้วยตับจากสูงไม่พ้นหัว ที่นั่งถ่ายจะเป็นซอไม้ไผ่สีสุก บ้านชาวสวนใหม่จะปลูกอยู่ข้างลำคลอง และมักสร้างตรงกันของฝั่งคลอง ดังนั้นเวจจึงมักสร้างกันคนละฝั่งคลอง ถ้าเข้าทำธุระพร้อมกันก็มักจะพูดคุยถามทุกข์สุขกันไปและทำธุระส่วนตัวไปพร้อมกันด้วย

วัสดุที่ใช้ชำระหลังการขับถ่ายของชาวสวนใหม่มักจะใช้ไม้ไผ่เกรียกให้เป็นชิ้นเล็กๆ แต่ละชิ้นจะมีเหลี่ยมและความคม ดังนั้นชาวสวนใหม่จึงต้องมีสติและความสุขุมรอบคอบในการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว

เวจของชาวสวนจีนนั้นแบ่งเป็นชาวสวนจีนที่ทำสวนผลไม้และทำสวนผักสวนพลูนั้นมีลักษณะที่แตกต่างไปจากชาวสวนคนไทย ชาวสวนคนจีนที่ทำสวนผลไม้นั้นจะเป็นเวจขนาดเล็ก คือ 1.5 x 1.5 เมตรมีฝาทางมะพร้าวโดยรอบไม่มีหลังคา ที่ขับถ่ายขุดหลุมขนาด 1 x1 เมตร ลึก 80 x 80 เซนติเมตร เอาแผ่นไม้กระดานปูพาดปากหลุมเว้นช่องว่างสำหรับขับถ่ายกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร การขุดหลุมลึกจะมีน้ำใต้ดินตามธรรมชาติ บวกกับน้ำฝนและน้ำจากการขับถ่าย สิ่งที่ขับถ่ายอยู่ในหลุมจะเต็มไปด้วยหนอน กลิ่นจะรุนแรงโชยไปไกลมากกว่าเวจชาวสวนไทย ชาวสวนจีนจะใช้กระดาษฟางตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมขนาด 15 x 15 เซนติเมตร เรียงกันเป็นปึกร้อยด้วยเส้นลวดไว้ข้างเวจ

เวจของชาวสวนจีนที่ทำสวนพลูนั้นจะเป็นเวจถาวร เนื่องจากจะต้องเก็บสิ่งปฏิกูลไว้ทำปุ๋ยด้วย ดังนั้นที่สำหรับขับถ่ายจะเป็นตุ่มดินเผาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลา 50-60 เซนติเมตร วางเรียงกัน เวลาถ่ายจะวางเท้าบนปากตุ่มเมื่อสิ่งขับถ่ายเต็มจะย้ายไปอีกตุ่มหนึ่ง ตุ่มที่เต็มจะปิดฝาไว้เพื่อใช้ทำปุ๋ยต่อไป เวจชนิดนี้จะกลิ่นน้อยกว่าเวจของชาวจีนที่ทำสวนผลไม้ แต่ก็จะมีกลิ่นรุนแรงเมื่อเวลาผสมน้ำรดผักหรือพลู

ในปัจจุบันแทบจะไม่เห็นเวจทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว เนื่องจากความเจริญของสังคมมีมากขึ้น เทคโนโลยีและความรู้ด้านสุขอนามัยพัฒนามากขึ้น การขับถ่ายของมนุษย์จึงเปลี่ยนไป แต่นี่ก็ได้แสดงให้เห็นว่าคนในสมัยก่อนนั้นโดยเฉพาะชาวสวนมีวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าส้วมอย่างไร

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 กันยายน 2560