นัยของ “พิธีสมรส” ฤๅเป็นผลพวงวัฒนธรรมสร้างชาติ รองรับระบบ “ผัวเดียวเมียเดียว”?

ภาพประกอบเนื้อหา - คู่สมรสของอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเข้าพิธีสมรสหมู่ของชาติ พ.ศ. 2487 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

มโนทัศน์จากตะวันตกว่าด้วยเรื่อง “ผัวเดียวเมียเดียว” ส่งอิทธิพลทางวัฒนธรรมและกระบวนทัศน์ทางการเมืองของผู้นำไทยอย่างมาก ท้ายที่สุดแล้วภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ “ครอบครัว” ในทางกฎหมายก็ยังต้องให้ถือหลัก “ผัวเดียวเมียเดียว” ซึ่งนำมาสู่การสร้างวัฒนธรรมในเชิงเครื่องรองรับหลักการ โดยที่ “พิธีสมรส” ฉบับทางการก็เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมด้วย

ประวัติศาสตร์ของมโนทัศน์แบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” เริ่มต้นเข้ามาจากตะวันตกในรูปแบบที่ถูกผลักให้ตรงกันข้ามกับขนบ “ผัวเดียวหลายเมีย” แต่ชนชั้นปกครองของไทยก็ตระหนักในประเด็นนี้จากสภาพบริบทการแทรกแซงของจักรวรรดินิยม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีพระราชดำรัส เมื่อคราวลงมติกฎหมายครอบครัวว่า ประมวลกฎหมายซึ่งยอมให้มีเมียหลายคน อาจถูกตำหนิติเตียน แต่หากจะให้ปรับเป็นมีเมียคนเดียวก็ยังไม่พร้อม และจะทำให้เกิดความเดือดร้อน

อย่างไรก็ตาม หลังจากการปฏิวัติการปกครอง พ.ศ. 2475 สภาผู้แทนราษฎรลงมติคะแนนเสียงข้างมาก เมื่อต้นพ.ศ. 2477 ให้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีรายละเอียดที่ยึดหลัก “ผัวเดียวเมียเดียว” ภายใต้เงื่อนไขให้มีรับรองบุตรที่เกิดนอกสมรสได้

กระนั้น หลักการ “ผัวเดียวเมียเดียว” ก็จำเป็นต้องมีระบบวัฒนธรรมมารองรับด้วย วิทยานิพนธ์เรื่อง “ผัวเดียวเมียเดียว ในสังคมไทยสมัยใหม่จากทศวรรษ 2410 ถึงทศวรรษ 2480” โดยสุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ นิสิตปริญญาอักษศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่า วัฒนธรรมหนึ่งที่เป็นผลต่อเนื่องจากสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีช่วง พ.ศ. 2481-87 อันเป็นช่วงที่มีโครงการรณรงค์ทางวัฒนธรรมภายใต้แนวคิด “สร้างชาติ” มีเรื่องพิธีสมรสเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ผู้จัดทำวิทยานิพนธ์อ้างอิงข้อมูลว่า พิธีสมรสซึ่งถูกประดิษฐ์สร้างในทศวรรษ 2480 เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นวัฒนธรรมที่ยึดถือปฏิบัติในฐานะการประกาศเริ่มต้นชีวิตสมรส แต่พิธีไม่ได้ยึดโยงกับแนวคิด “สร้างชาติ” อีกต่อไป กลายเป็นแทรกซึมอยู่กับความหมายของการเปลี่ยนผ่านวัย เชื่อมโยงกับการนิยามทางกฎหมายยุคนั้นที่ถือว่าชายหญิงซึ่งแต่งงานก่อนบรรลุนิติภาวะให้ถือว่าพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว

หลังประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ว่าด้วยหลักครอบครัวแบบ “ผัวเดียวเมียเดียว” ความเคลื่อนไหวว่าด้วยองค์ความรู้ธรรมเนียมปฏิบัติในพิธีก็เริ่มตามมา ชาวบ้านเริ่มมีรดน้ำสังข์ลงที่มือบ่าวสาวในพิธีแต่งงาน ตามพระวินิจฉัยของเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระวินิจฉัยว่า เป็นพิธีที่มีครั้งแรกในงานเสกสมรสของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์กับพระองค์เจ้าอรพัทธ์ประไพ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริขึ้น

พระยาอนุมานราชธน ยังบรรยายเกี่ยวกับพิธีแต่งงานทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อ พ.ศ. 2485 อธิบายว่า แบบไหนไม่ใช่ “ความเป็นไทย” อธิบายความหมาย ที่มา และยังชี้ว่าพิธีแต่งงานเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติ พร้อมเสนอว่าควรวางระเบียบแบบแผนพิธีแต่งงานให้มีความก้าวหน้า

ขณะที่รัฐบาลเริ่มมาจัดระเบียบข้อมูลพิธีแต่งงานในช่วงต้น พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูล สงคราม ออกคำสั่งให้กรมศิลปากรพิจารณากำหนดพิธีสมรสขึ้นตามร่างที่สำนักวัฒนธรรมทางระเบียบประเพณีนำเสนอ ไม่นานก็มีออก “ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องกำหนดการพิธีสมรสของคนไทย”

ในประกาศระบุองค์ประกอบพิธีสมรส 4 ข้อ คือ รูปแบบพิธี, สถานประกอบพิธี, การจดทะเบียนสมรส และการแต่งกายของเจ้าบ่าวเจ้าสาว

องค์ประกอบรูปแบบพิธี ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ พิธีการอย่างใหญ่ และพิธีการอย่างย่อ แตกต่างกันที่ประเภทแรกมีทั้งพิธีสงฆ์และหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ ส่วนประเภทหลังไม่มีพิธีสงฆ์

ด้านสถานที่ระบุเรื่องควรมีพระพุทธรูปไว้ ขณะที่เรื่องการแต่งกายมีรายละเอียดทั้งฝ่ายเจ้าบ่าว เจ้าสาว เพื่อนเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าสาว

เดือนเมษยน พ.ศ. 2486 มีออก “ประกาสสภาวัธนธัมแห่งชาติ เรื่องกำหนดการพิธีสมรสของคนไทย” ระบุลำดับขั้นตอน ข้อปฏิบัติอย่างละเอียดตั้งแต่เริ่มพิธีถึงจบพิธี

นอกเหนือจากระเบียบพิธีข้างต้น ยังมีระเบียบพิธีสมรสหมู่ของชาติ (พิธีสมรสหมู่ของชาติจัดเมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2486 มีคู่สมรส 73 คู่) จากองค์การส่งเสริมการสมรส กระทรวงสาธารณสุขได้วางไว้เช่นกัน ซึ่งเป็นต้นแบบที่สภาวัฒนธรรมแห่งชาตินำไปเป็นตัวแบบกำหนดลำดับขั้นตอนและข้อปฏิบัติในพิธีสมรสสำหรับบุคคลทั่วไป

ข้อสังเกตต่อเรื่องกระบวนการสมรสอีกประการคือ ความคิดเห็นจากนายแพทย์พูน ไวทยาการ ประธานกรรมการองค์การส่งเสริมการสมรส ซึ่งเคยชี้แจงว่า ขั้นตอนที่มากมายในพิธีสมรสเป็นอุปสรรคต่อการสมรส มีปัญหาเรื่องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และยังเคยเอ่ยเรื่องเห็นควรให้หาทางให้ผู้ปกครองฝ่ายหญิงไม่เรียกสินสอดทองหมั้นมากเกินไปด้วย

ประการนี้พระยาอนุมานราชธน เคยบรรยายเสียงทางวิทยุเมื่อพ.ศ. 2485 มาแล้ว โดยเห็นว่าควรแก้ไขพิธีอันเกี่ยวกับการสมรส อาทิ การเรียกสินสอดทองหมั้น เห็นว่าไม่ควรทำราวกับเป็นการซื้อขายดังประเพณีของชาวซูลู (Zulu) หรือข้อประตูขันหมาก ซึ่งเห็นว่าเป็นส่วนที่แสดงเค้าความไม่เป็น “อริยชาติ”

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดทำวิทยานิพนธ์ระบุว่า พิธีสมรสยังมีส่วนประกอบเรื่องการจดทะเบียนสมรสซึ่งรัฐกลายเป็นผู้ชี้ขาดความชอบธรรมของการแต่งงานแทนพ่อแม่ ทำให้ผู้ต้องการสมรสมีเสรีภาพในการเลือกคู่มากขึ้น สมรสโดยไม่ต้องผ่านพ่อแม่อีกต่อไป สิทธิ์ของพ่อแม่ลดลงไป ต่างจากกฎหมายครอบครัวก่อนหน้านี้ที่ให้พ่อแม่เป็นผู้มีหน้าที่ประกอบสามีภริยาให้ลูกในฐานะผู้เป็นใหญ่เหนือลูก

ท้ายที่สุดแล้วรายละเอียดเชิงพิธีสมรส อันเป็นผลมาจากแนวคิด “ผัวเดียวเมียเดียว” กลายเป็นหนึ่งในอุดมคติที่พึงปฏิบัติตามรูปแบบผัวเดียวเมียเดียว ครอบครัวที่แตกแยกมักถูกมองในเชิงลบ หรือปัญหาท้องก่อนแต่งถูกรัฐมองว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลลบต่อบริบทโดยรวมไม่ใช่แค่เชิงปัจเจกบุคคลเท่านั้น

 


อ้างอิง : 

สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ.  “‘ผัวเดียวเมียเดียวแห่งชาติ’ : ครอบครัวกับโครงการณรงค์ทางวัฒนธรรมสมัยสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 35 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2557)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561